Skip to main content
sharethis

'แรงงานเพื่อสิทธิประชาชน' หนุนขบวนการนักศึกษาเรียกร้องเพื่อสิทธิ เสรีภาพ ลดช่องว่างทางชนชั้น ย้ำขบวนการแรงงานต้องร่วมปลดแอก ประกาศ 4 จุดยืน ร่างรธน.ใหม่-ยุบสภา-หยุดคุกคาม ปชช.-จัดรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า

16 ส.ค.2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงสายวันนี้ ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว กลุ่มคนงานในชื่อ 'เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน' จัดเสวนา “ทำไมขบวนการแรงงานต้องร่วมปลดแอก” พร้อมประกาศเจตนารมณ์เพื่อสนับสนุนขบวนการนักศึกษาที่ออกมาเรียกร้องเพื่อสิทธิ เสรีภาพ ลดช่องว่างทางชนชั้น

เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน โดยมี ธนพร วิจันทร์ ผู้นำแรงงานหญิง เป็นผู้อ่านประกาศจุดยืน 4 ข้อ คือ 1. หยุดคุกคามนักศึกษาประชาชน ที่ร่วมการรณรงค์เรียกร้องประชาธิปไตย และการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง อันเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่พึงมีของทุกคน 2. จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนและเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่ฉบับที่เป็นอยู่ ซึ่งร่างขึ้นมาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่คนบางกลุ่มและพวกพ้องของตนเอง 3. จัดรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าให้กับประชาชน ตามหลักการจากครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน ควบคู่ไปกับการปฏิรูปภาษีอัตราก้าวหน้า เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและช่องว่างทางชนชั้นในสังคมให้ลดลง และ 4. ยุบสภาโดยทันที และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใต้กติกาที่ยุติธรรม

วงเสวนา เซีย จำปาทอง กรรมกรสิ่งทอ กล่าวถึงปัญหาความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ว่า ตั้งแต่ การเคลื่อนไหวของ กปปส ถึงการรัฐประหาร 57 ตั้ง กมธ. ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา แม้กลุ่มแรงงงานรณรงค์ไม่รับร่าง รัฐธรรมนูญ อย่างเช่นกรณีเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.59 แรงงานและนักกิจกรรมจัดกิจกรรมแจกเอกสารรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญและแบบฟอร์มการขอใช้สิทธิลงประชามตินอกเขตที่ตลาดเคหะบางพลี จ.สมุทรปราการ ก็ถูกจับดำเนินคดี ขึ้นศาลทหาร ซึ่งในจำนวนนั้นเป็นแรงงานสิ่งทอ 3 คน

นอกจากนี้ เชีย ยังกล่าวถึงการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ที่มีปัญหาตั้งแต่ ผลกระทบของมาตรการแก้ covid 19 จนส่งผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงานที่จะมีผลตกงานจำนวนมาก หรือที่ผ่านมาเรียกร้องให้รัฐบาลขึ้นค่าแรงตามนโยบายที่พรรคพลังประชารัฐหาเสียง รัฐมนตรีกระทวงแรงงานก็อ้างว่าไม่ใช่พรรคพลังประชารัฐ ปัญหากระบวนการยุติธรรม เช่น คดี บอส อยู่วิทยา คดีเสือดำการตรวจสอบการทุจริต เช่นกรณีนาฬิกา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือกรณีอุทยานราชภักดิ์

ศิวารินทร์ จันทสิทธิ์ ประธานกลุ่มแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง กล่าวถึงความสำคัญของรัฐสวัสดิการ และเสนอให้ทั้งแรงงานในระบบและนอกระบบควรเรียกร้องให้ประเทศเป็นรัฐสวัสดิการ โดยเหตุที่ต้องเรียกร้องรัฐสวัสดิการ เนื่องจากความไม่มั่นคงในชีวิต ตัวอย่างช่วงโควิดที่มีคนตกงานและผลกระทบจากการตกงาน แต่ถ้าหากเรามีรัฐสวัสดิการคือรัฐบาลต้องจัดหาตั้งแต่เกิดยันตาย ประเทศที่มีรัฐสวัสดิการคุณภาพชีวิตจะดี การจัดรัฐสวัสดิการทุกภาคส่วนจะได้รับการดูแล อันดับต้นๆ น่าจะเป็นเรื่องการดูแลผู้สูงอายุและการศึกษา สำหรับเงินที่นำมาจัดสรรสวัสดิการนั้นมาจากการจัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า เช่น ภาษีที่ดิน เพื่อให้รัฐมีเงินช่วยเหลือ มีค่าครองชีพที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ เป็นต้น

ศรีไพร นนทรีย์ นักจัดตั้งสหภาพแรงงาน กล่าวถึงข้อเสนอการยุบสภาว่า ที่ผ่านมามีการคุกคามคนงานที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้อง รวมทั้งกลุ่มนักกิจกรรมนักศึกษา ตั้งแต่ในยุค คสช. และรัฐบาลยุคนี้ ช่วงที่เข้าจะเห็นสโลแกนเรื่องการจะทำตามสัญญาและคืนความสุขนั่นก็ถามว่าใครได้ความสุขบ้าง เพราะตั้งแต่รัฐประหารเศรษฐกิจแย่ ดังนั้นเศรษฐกิจไม่ใช่เพิ่งแย่มันแย่ตั้งแต่ก่อนมีโควิดแล้ว โดยเฉพาะค่าครองชีพที่สูงขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหา จึงเป็นสิ่งที่ผู้ใช้แรงงานตระหนักถึงความสำคัญที่ควรออกมาร่วมกันเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลนี้ไปได้เสียทีเพื่อให้คนอื่นที่มีฝีมือเข้ามาบริหารประเทศ 

ศรีไพร กล่าวต่อว่า สมัยพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ตอนนั้นเราก็ไม่เชื่อเรื่องค่าแรง 300 บาท ว่าจะทำแต่ก็ทำได้ ส่วนพรรคพลังประชารัฐที่เคยสัญญาเรื่องค่าแรงไว้ช่วงหาเสียงทำไม่ได้และไม่คิดจะให้

นักจัดตั้งสหภาพแรงงาน กล่าวต่อว่า รัฐมนตรีแรงงานคนใหม่ออกมาถามกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตฯ ที่มาเคลื่อนกับนักศึกษาขณะนี้ต้องการอะไร ตนก็สงสัยว่าคนมาเป็นรัฐมนตรีแรงงานกลับไมทราบว่าแรงงานต้องการอะไรได้อย่างไร ถามแบบนี้มันต้องการเบรคคนงานไม่ให้ออกมาเคลื่อนไหวมากกว่า

"รัฐบาลนี้มาทำอะไรไม่ได้ ด่าประชาชน รังแกเด็ก" ศรีไพร กล่าว

อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการรณรงค์แก้รัฐธรรมนูญใหม่นั้น โดยเริ่มจากคำถามที่ว่า "ทำไมแรงงานต้องเข้าร่วมกระบวนการปลดแอก?" มี 2 ประเด็นที่จะอภิปราย 1. การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ต้องการคนจำนวนมาก คนงานเป็นคนส่วนใหญ่จึงสำคัญ 2. เราเองเป็นผู้มีส่วนในการสร้างแอกนั้นมา

อนุสรณ์ ยกคำขวัญในในกลุ่มของมาร์กซิสต์ที่ว่า "ชนชั้นกรรมาชีพไม่มีอะไรจะเสียนอกจากโซ่ตรวน" พร้อมกล่าวต่อว่า โซ่ตรวน คืออะไรนั้น ตนจะกล่าวต่อใน 3 ประเด็น 1. เราส่วนหนึ่งมีส่วนในการสร้างโซ่ตรวนอย่างไร 2. หน้าตาเป็นอย่างไร และ 3. ปลดอย่างไร

สร้างมาอย่างไรนั้น อนุสรณ์ กล่าวว่า เราอย่าลืมไม่ใช่สมัย กปปส. แต่รวมทั้งพันธมิตรฯ เพราะหนึ่งในนั่นเป็นแกนนำสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ที่ขึ้นมาเป็นหัวขบวน ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเคลื่อนของพันธมิตรเป็นส่วนให้เกิดรัฐประหาร
การขึ้นมาของ กปปส. หนึ่งในนั้นก็มีสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ด้วย และเป็นเงื่อนไขให้เกิดรัฐประหาร 57 เรื่องนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรามีส่วนสร้างโซ่ตรวจเป็นรัฐบาลทหาร คสช. ขึ้นมา ซึ่งจะเห็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพจากอำนาจที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด

หลังจากนั้นเขาก็ต้องการอยู่ผ่านรัฐธรรมนูญ ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับพวกเราเลย เราเห็นกระบวนการออกเสียงประชามติทำเหมือนเรามีส่วนร่วมทั้งที่ไม่มีส่วนร่วม ใช้กลไกของรัฐลงไปประชาสัมพันธ์ขณะที่อีกฝากที่เห็นต่างกลับถูกขัดขวางดำเนินคดี เมื่อผ่านประชามติก็ถูกแก้ 2-3 ครั้ง ในบางมาตรา ไม่สามารถนับได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับที่ผ่านประชามติ สิ่งที่เราพบคือเป็นการเปลี่ยนกติกาในการอยู่ร่วมกันหรือจัดสรรผลประโยชน์สถานะของประชาชนไม่ใช่องค์ประธานแห่งสิทธิ แต่อยู่ในฐานะผู้อยู่อาศัย อีกข้อที่เกี่ยวกับแรงงงาน ช่วงยกร่างมีความยบพยามเสนอหมวดสิทธิแรงงาน ซึ่งก็ไม่มีอยู่รวมๆ สิทธิทางสังคม ส่วนค่าแรง ก็เปลี่ยนเป็น "เหมาะสมแห่งการยังชีพ" บรรดาสิทธิในการรวมตัวก็ถูกตัดทิ้ง

อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ก็สร้างเงื่อนไขกลับสู่อำนาจ ตั้งแต่ กกต. เรื่องจัดสูตรจัดสรรปันส่วนเพื่อเอาชนะในเกมการเลือกตั้ง เมื่อเลือกตั้งก็บิดเบือนตีความ จนกลับมาเป็นรัฐบาล เป็นการรัฐประหารใช้เครื่องมือทางกฎหมายที่เขียนขึ้นมาก็ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่สะท้อนอำนาจอธิปไตยที่เป็นของประชาชน

"เป็นรัฐสมคบกับทุนใหญ่แล้วเจียดกำไรมาให้ประชาชนและให้สำนึกบุญคุณตลอด" อนุสรณ์ นิยามรัฐบาลชุดนี้

รัฐสวัสดิการมันเปลี่ยนความหมายเป็นการสงเคราะห์ จะได้ต้องจนและขีดเส้นว่าต้องจนเท่าไหร่ 

แล้วจะปลดโซ่ตรวนอย่างไร อนุสรณ์ กล่าวว่า เขาหว่านล้อมคือชนชั้นนำสามารถปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นล่าง ทำให้เราต้องไปปกป้องชนชั้นนำ ดังนั้นเราต้องขยายฐานความร่วมมือทางชนชั้น และต้องสลายมายาคติโดยเฉพาะน้ำคำของชนชั้นนำ ต้องคิดเรื่องทุนให้มากขึ้น เราอาจอยู่ในการครอบงำตากทุนนิยมศักดินาที่ไม่สามารถท้าทายได้ ข้อเสนอที่ผ่านมาเป็นความจะชี้ชวนให้เห็นว่าทุนนิยมศักดินานั่นเป็นอย่างไร สิ่งแรกคือต้องเห็นศตรูเราหน้าตาเป็นอย่างไร สำหรับวิธีแก้นั้น คือมองไปที่รัฐธรรมนูญในจังหวะก้าวก็คือการเขียนกติกาใหม่ คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.)เป็นการรวมตัวของเครือข่าย หนึ่งในนั้นกลุ่มสหภาพแรงงาน ย่านรังสิตและใกล้เคียง ก็อยู่ด้วย พรรคร่วมฝ่ายค้านก็เรื่อมขยับแก้ ม.256 แล้วของ iLaw ก็ล่ารายชื่อ 50,000 ชื่อรวมกันแก้  ส่วน ครช.นั้น เราเสนอต้องอาศัยกลไกที่พ้นไปจากรัฐธรรมนูญคือ ร่าง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ คำถามเดียว "เห็นควรร่างรัฐธรรมนูญใหม่จากสภาที่มาจากการเลือกตั้งหรือไม่" ดังนั้นมันต้องการฉันทามติของสังคมขนาเใหญ่ว่าเราจะไม่เอากระบวนการที่ไม่ได้มาจากเราด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net