Skip to main content
sharethis

'ไทยออยล์' และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ยังหาข้อสรุปไม่ได้แก้ปัญหาค่าจ้างค้างจ่ายให้แรงงานเหมาช่วงอย่างไร แม้ว่าจะผ่านมากว่า 1 สัปดาห์ ด้านคนงานยังคงปักหลักชุมนุมต่อเนื่อง

 

สืบเนื่องจากกรณีเมื่อ 24 ก.ค. 2567 เป็นต้นมา แรงงานเหมาช่วงไทยและเวียดนามภายใต้กิจการบริษัท วัน เทิร์น เท็น จำกัด (One Turn Ten) บริษัท เอ็มโก้ แอลทีดี (ไทยแลนด์) จำกัด (EMCO) และบริษัท ไทยฟง เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป (ไทยแลนด์) (Thai Fong) ซึ่งทั้ง 3 บริษัท ได้มารวมตัวกันหน้าโรงกลั่นฯ ไทยออยล์ ถ.สุขุมวิท อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เพื่อเรียกร้องค่าจ้างจากบริษัทที่เกี่ยวข้องทั้งหมด หลังถูกค้างค่าจ้างตั้งแต่ช่วง 1-5 เดือนที่ผ่านมา 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

ทั้งนี้ บริษัท One Turn Ten , EMCO, และ Thai Fong ทั้ง 3 บริษัท เป็นลูกจ้างเหมาช่วงภายใต้บริษัท บริษัท ซิโนเพค เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด (Sinopec) ที่เป็นผู้รับเหมาช่วงของกิจการร่วมค้า Unincorporated Joint Venture of Petrofac South East Asia Pte. Ltd. (UJV), Saipem Singapore Pte. Ltd. (Saipem) และ Samsung E&A (Thailand) Co., Ltd.  (Samsung) ซึ่งเป็นผู้รับเหมาหลักในการก่อสร้างโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project : CFP) ให้กับ บริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามีการประชุมหารือเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาจ่ายค่าจ้างให้แรงงานเหมาช่วง ตลอดช่วง 25-30 ก.ค.ที่ผ่านมา แต่ผลปรากฏว่ายังไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้ โดยบริษัท One Turn Ten EMCO และ Thai Fong ระบุว่าที่ไม่ได้จ่ายค่าจ้างให้คนงาน เนื่องจากยังไม่ได้รับค่าจ้างจาก Sinopec และ Sinopec อ้างว่ายังไม่ได้ค่าตอบแทนแรงงานจ้างช่วงจาก UJV

31 ก.ค. 2567 ธนพร วิจันทร์ สมาชิกเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน และได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบความเดือดร้อนของแรงงานเมื่อวานนี้ (30 ก.ค.) ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ผู้สื่อข่าววันนี้ (31 ก.ค.) ระบุว่ามีการเจรจากันข้างใน โดยอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานคนใหม่ นั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน และมีทีมที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานลงพื้นที่ไปด้วย โดยตัวแทนลูกจ้างของแต่ละผู้รับเหมา เขายืนยันว่าเขาอยากได้เงินค่าจ้างเป็นก้อนเต็มที่ค้างเขามา 100 เปอร์เซ็นต์

บรรยากาศชุมนุมของแรงงาเหมาช่วงหน้าโรงกลั่นไทยออยล์ (ที่มาเฟซบุ๊ก แรงงานสุเทพ อู่อ้น)

ธนพร กล่าวว่า จากการคุยกับบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP) ยินดีที่จะรับผิดชอบจ่ายให้กับลูกจ้างโดยตรง 100 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างค้างจ่าย โดยจะทยอยจ่ายเป็น 2 งวด คือรอบแรกวันที่ 20 ส.ค.นี้ และรอบที่ 2 คือ วันที่ 21 ส.ค.นี้ แต่ว่าให้บริษัท UJV ทำสัญญาต้องมาผ่อนจ่ายชำระให้ทางไทยออยล์ทีหลัง แต่ทาง UJV ยังติดขัดในเรื่องนี้ เนื่องบริษัทขาดสภาพคล่องที่จะคืนเงินให้กับไทยออยล์ และงานที่ทำกับไทยออยล์ขาดทุน

“คนงานเขายังไม่ไว้ใจเพราะว่าอีกเกือบเดือนหนึ่งถึงจะได้เงินครบ และเราก็ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นระหว่างทาง” ธนพร กล่าว และระบุต่อว่า คนงานตอนนี้ยังปักหลักชุมนุมกันต่อ

ธนพร กล่าวต่อว่า UJV ก่อนหน้านี้มีการจ่ายเงินไปบ้าง แต่เป็นการจ่ายไม่เต็มจำนวน โดยจ่ายเป็นลักษณะ 30-50 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้าง มันก็มีกรณีค้างค่าจ้างและสะสมมาตลอด ซึ่งคนทำงานก็ได้รับเงินไม่พอใช้ในชีวิตประจำวัน และมาหลังๆ นี่คือไม่จ่ายเขาเลยทำให้แรงงานเหมาช่วงต้องออกมาชุมนุมหน้าโรงกลั่นไทยออยล์ รวมแล้วอาจค้างค่าจ้างเป็นแสน

สมาชิกเครือข่ายประชาชนฯ มองว่า ภาครัฐต้องจัดการและใช้อำนาจที่มีตามกฎหมายออกคำสั่งให้นายจ้างต้องจ่าย ยังไงไทยออยล์ต้องรับผิดชอบ ทำยังไงก็ได้ให้คนงานได้รับสิทธิและรายได้ก่อน ไม่ว่าจะเป็นผู้รับเหมากี่เจ้า แต่เขาทำงานให้ไทยออยล์ ไทยออยล์น่าจะต้องรับผิดชอบ

'ขวัญ' แรงงานเหมาช่วงชาวเวียดนาม อายุ 30 กว่าปี กล่าวว่า เขาถูกค้างค่าจ้างมาประมาณ 1 เดือนกว่าแล้ว ก่อนหน้านี้เขาทำงานที่นี่มา 7 เดือนไม่มีปัญหา เพิ่งมามีปัญหาช่วงหลังๆ

สำหรับผลกระทบการใช้ชีวิต ขวัญ บอกว่า ตอนนี้เขามีลูกชาย 1 คนอายุ 3 ขวบ ก็พอไม่ได้ค่าจ้างตามกำหนด ทำให้เขาไม่มีเงินค่านมส่งให้ลูก ส่วนภรรยาก็ไม่ได้ออกไปทำงาน เพราะว่าต้องดูแลลูกอยู่บ้านเพราะลูกยังเล็ก ก็ตอนนี้ไม่มีเงินค่าผ่อนรถ และบ้านด้วย

บรรยากาศชุมนุมของแรงงาเหมาช่วงหน้าโรงกลั่นไทยออยล์ (ที่มาเฟซบุ๊ก แรงงานสุเทพ อู่อ้น)

แรงงานจากฮานอย กล่าวว่า แรงงานทุกคนมีครอบครัว บางคนตอนนี้ต้องออกไปกู้เงินเพื่อมาใช้ในชีวิตประจำวัน แต่บางคนก็กู้ไม่ได้ เพราะว่าต้องมีเงินจ่ายค่ามัดจำ เขาถึงจะให้กู้

แรงงานเวียดนามวัย 30 กว่าปี กล่าวว่าเราอยากได้คำตอบที่ชัดเจนว่า พวกเขาจะได้เงินค้างจ่ายทั้งหมดไหม และจะได้วันไหน แต่ขั้นต่ำคือยังไงนายจ้างก็ต้องจ่ายเงินให้ลูกจ้าง

"คนงานหยุดงานมาเกือบ 10 วันแล้ว ฝั่งบริษัทยังไม่มีคำตอบแน่นอนว่าจะจ่ายให้วันไหน มีข่าวว่าเงินเดือนจะออกหลัง 20 เดือนสิงหา แต่ว่าคนงานกลัวรอไม่ไหว" ขวัญ กล่าว 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net