Skip to main content
sharethis

อดีตลูกจ้างโรงงานสิ่งทอ 3 บริษัท เข้าหารือกับหน่วยงานรัฐ หาทางช่วยแก้ปัญหาถูกนายจ้างลอยแพ ค้างเงินชดเชย และค่าจ้าง ราว 279 ล้านบาท ภาครัฐรับเสนอ ครม.พิจารณางบฯ กลาง (อีกครั้ง) ด้านกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างเลื่อนประชุมพิจารณาขยายวงเงินช่วยเหลือไปเดือน ส.ค. 67

 

24 ก.ค. 2567 เฟซบุ๊ก เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน รายงานบนสื่อโซเชียลมีเดีย เมื่อ 23 ก.ค. 2567 ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุม 3 ชั้น 3 อาคารสำนักงานข้าราชการพลเรือน (เดิม) ธนพร วิจันทร์ เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน และตัวแทนอดีตแรงงานโรงงานสิ่งทอจาก 3 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท บอดี้แฟชั่น แอลฟ่าสปินนิ่ง และเอเอ็มซี สปินนิ่ง ร่วมประชุมกับหลายหน่วยงาน อาทิ สำนักงบฯ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำรวจภูธรตามพื้นที่ที่เกิดเหตุ สำนักงานอัยการ กระทรวงแรงงาน-กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน โดยมีนายมงคลชัย สมอุดร รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในที่ประชุม โดยวาระการประชุมหลักคือการติดตามทวงเงินค่าชดเชย เงินโบนัส ค่าจ้าง และอื่นๆ รวมจำนวนเงินประมาณ 279 ล้านบาท จากนายจ้างทั้ง 3 บริษัท

คดีความของอดีตลูกจ้างบอดี้แฟชั่น ฟ้องนายจ้าง ใกล้หมดอายุความตั้งแต่ปี 2568

เครือข่ายแรงงานฯ ระบุว่า วาระแรกเป็นการติดตามดำเนินคดีกับนายจ้างทั้ง 3 บริษัท เนื่องจากมีพฤติการณ์หลบเลี่ยงการจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้าง ค่าดอกเบี้ย และอื่นๆ ต่ออดีตลูกจ้าง

สำหรับกรณีของแอลฟ่าสปินนิ่ง ตำรวจได้ทำการส่งฟ้องอัยการแล้ว ตั้งแต่เดือน ก.พ. 2567 ด้านกรณีของ เอเอ็มซีสปินนิ่ง ทางตำรวจสัญญาว่าจะสรุปสำนวนเพื่อส่งฟ้องอัยการให้ได้ภายใน 26 ก.ค. 2567 เนื่องจากพยานบางปากเป็นแรงงานข้ามชาติ และอาจเดินทางกลับประเทศต้นทางไปแล้ว สำหรับบอดี้แฟชั่น แม้มีการออกหมายจับนายจ้างต่างชาติ แต่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แจ้งว่า 'อลัน ม่าน เหลียง' นายจ้างสัญชาติมาเลเซีย ได้เดินทางออกจากไทยไปตั้งแต่เมื่อปี 2562 และไม่มีความชัดเจนว่าจะตามตัวกลับมารับผิดชอบได้หรือไม่ ทั้งนี้ คดีประมาณ 10 คดีของบอดี้แฟชั่นกำลังทยอยหมดอายุความตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป โดย สน.บางเสาธง ยินดีว่าจะช่วยเร่งทำสำนวนคดีให้

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างรอประชุมอีกที 21 ส.ค. 67

เครือข่ายสิทธิแรงงานฯ รายงานต่อว่า กรณีข้อเรียกร้องให้มีการปรับแก้ไขระเบียบกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างให้ชดเชยในส่วนของค่าจ้างค้างจ่ายจากเดิม 60 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างค้างจ่าย สมพงษ์ คล้ายแคล้ว หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้แจ้งว่าคณะกรรมการของกองทุนประชุมเพื่อพิจารณาแก้ไขวันที่ 24 ก.ค. 2567 เวลา 9.30 น.

เครือข่ายแรงงานฯ ระบุต่อว่า สมพงษ์ กล่าวว่า ทางที่ประชุมคาดว่าหากมีการขยายวงเงินเพิ่มจาก 60 เปอร์เซ็นต์เป็น 100 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างค้างจ่ายแรงงานที่ถูกลอยแพของทั้ง 3 บริษัท คาดว่าจะสามารถเยียวยาคนงานเพิ่มเติมได้อีกประมาณ 50-60 ล้านบาท ทั้งนี้ เงินจากกองทุนฯ ชดเชยเฉพาะค่าจ้างค้างจ่ายเท่านั้น ไม่รวมเงินชดเชยเลิกจ้าง และดอกเบี้ยจ่ายล่าช้า

อนึ่ง เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า คณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ซึ่งเป็นคณะกรรมการไตรภาคี ประกอบด้วย นายจ้าง ภาครัฐ และลูกจ้าง ได้ผลสรุปว่าวาระพิจารณาขยายวงเงินช่วยเหลือลูกจ้างที่ถูกลอยแพ 3 บริษัทสิ่งทอ เลื่อนไปประชุมวันที่ 21 ส.ค. 2567 

สมพงษ์ คล้ายแคล้ว (ถ่ายโดยแมวซาโบ)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

ยื่นพิจารณางบประมาณกลางอีกครั้ง

ก่อนหน้านี้ กลุ่มเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน และตัวแทนแรงงาน เคยร่วมหารือกับ สมคิด เชื้อคง เลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง รับประสานหน่วยงานต่างๆ ทำความเห็น เพื่อขอเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติงบประมาณรายจ่ายกลาง นำมาช่วยเยียวยาลูกจ้าง 3 บริษัทที่ถูกลอยแพ 

ทั้งนี้ อารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุว่า กระทรวงแรงงานเคยตั้งงบประมาณรวมประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือเยียวยาแรงงาน 3 บริษัทที่ถูกลอยแพ และเติ่มเงินในกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง โดยปัจจุบันมีเงินอยู่ประมาณ 149 ล้านบาท 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

จากการประชุม เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ระบุว่า เมื่อครั้งนั้นเห็นชอบเพียง 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ขณะที่ไม่เห็นชอบ 5 หน่วยงาน และไม่แสดงความคิดเห็น 1 หน่วยงาน ส่งผลให้มติตกไป และไม่ได้ยื่นเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

บรรยากาศการประชุม (ถ่ายโดย แมวซาโบ)

ในที่ประชุมได้มีการหารือถึงขอบเขตของการใช้งบประมาณรายจ่ายกลาง 4 กรณี ประกอบด้วย 1. เป็นรายจ่ายเพื่อการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์อันมีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือความมั่นคงของรัฐ 2. เป็นรายจ่ายที่จำเป็นต้องจ่ายเพื่อการเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง

3. เป็นรายจ่ายที่ได้รับจัดสรรงบประมาณไว้แล้วแต่มีจำนวนไม่เพียงพอและมีความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐต้องใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันงบประมาณโดยเร็ว และ 4. เป็นรายจ่ายที่ไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณ แต่มีภารกิจจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการและต้องใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันงบประมาณโดยเร็ว

เครือข่ายแรงงานฯ รายงานต่อว่า เซีย จำปาทอง รองกรรมาธิการการแรงงาน คนที่ 3 ตั้งข้อสังเกตว่า กรณีของคนงานทั้ง 3 บริษัทถูกลอยแพนั้นอาจเข้าข่ายว่าด้วยสถานการณ์อันมีผลกระทบความสงบเรียบร้อยของประชาชน

วัชรินทร์ (สงวนนามสกุล) ตัวแทนอดีตคนงานแอลฟ่าสปินนิ่ง ตั้งคำถามถึงการใช้งบกลางในการเยียวยาการขาดรายได้ของคนงานข้ามชาติชาวไทยราว 15,000 คน ที่ได้เดินทางกลับมาประเทศไทยจากพื้นที่ความขัดแย้งในอิสราเอลเมื่อเดือน ธ.ค. 2566 ซึ่งได้รับเป็นเงินจำนวนคนละ 50,000 บาท รวมแล้วใช้งบประมาณถึง 750 ล้านบาท ทำไมถึงทำได้

ทั้งนี้ เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ระบุว่า ท้ายสุดทางกลุ่มอดีตคนงาน 3 บริษัทและเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ยังคงต้องติดตามทวงถามการแก้ไขปัญหาจากรัฐบาล รวมถึงความรับผิดชอบจากนายจ้างเองและตัวแบรนด์คู่ค้าของนายจ้างที่ได้ละเมิดสิทธิแรงงานและทำลายจรรยาบรรณทางการค้าอย่างชัดเจน เช่น แบรนด์ชุดชั้นในระดับโลก Victoria's Secret, Triumph, Sloggi, HOMS และอื่นๆ

ธนพร วิจันทร์ สมาชิกเครือข่ายแรงงานฯ ให้สัมภาษณ์หลังหารือ กล่าวว่า สำหรับเรื่องงบประมาณกลาง ได้ขอสรุปวันนี้คือเขาจะส่งให้รัฐมนตรีนำวาระเข้าคณะรัฐมนตรีอีกรอบหนึ่ง ช่วยเคส 279 ล้านบาท และต้องมีมาตรการป้องกันว่า เราเสนอกองทุนประกันความเสี่ยงจากการเลิกจ้าง เก็บจากนายจ้างฝ่ายเดียว หรือเงินจากรัฐ เอาเข้ากองทุนดังกล่าว เพื่อหากมีการเลิกกิจการ จะได้นำเงินส่วนนี้มาจ่ายให้ลูกจ้างได้ และลูกจ้างจะได้ไม่ต้องมาเรียกร้องลักษณะนี้ มันอาจจะยาวนาน แต่อาจไม่ได้เต็มร้อย แต่ว่าวันนี้มีความคืบหน้า

ความล่าช้าคือความอยุธิธรรม

สมาชิกเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน กล่าวต่อว่า จากกรณีที่ทางตำรวจบางเสาธง ชี้แจงความคืบหน้าคดีความในส่วนของบริษัทบอดี้แฟชั่นกำลังจะหมดอายุความปีหน้า (2568) ธนพร มองว่า ส่วนตัวค่อนข้างจะสิ้นหวังในเรื่องการนำตัวนายจ้างมาลงโทษ เพราะมีปัจจัยหลายอย่าง

ธนพร กล่าวว่า ความล่าช้าในการดำเนินการ ส่งผลกระทบต่อลูกจ้างที่ลอยแพ วันนี้ในที่ประชุมมีกรณีที่แรงงานบางคนตอนนี้ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ก็ไม่มีเงินมารักษา เขาก็รอเงินจากส่วนนี้ ซึ่งทำให้ชัดเจนว่า ความล่าช้า แม้ว่าจะมีการดำเนินการ แต่มันก็คือความอยุติธรรม

"ความล่าช้าก็คือความอยุติธรรม เพราะคุณไม่ได้ดำเนินการได้ทันใจ หรือทันต่อสถานการณ์ เขาถูกเลิกจ้างมาหลายปีแล้ว แอลฟ่า (สปินนิ่ง) ถูกเลิกจ้างมา 3 ปีแล้ว และของบอดี้แฟชั่น เลิกจ้างมา 5 ปีแล้ว" ธนพร กล่าว
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net