สนท.ทุบศาลพระภูมิหน้าคุก ร้องปล่อยตัว 'อานนท์--ภาณุพงศ์' นัด 8 ก.ย.ไปถาม 'ประยุทธ์' ที่ทำเนียบฯ

สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาฯ ชุมนุมทวงคืนความยุติธรรม ปล่อยตัว 'อานนท์-ภาณุพงศ์' พร้อมทุบศาลพระภูมิประท้วงเหตุนักศีกษา ประชาชน หลายคน ถูกออกหมายจับและฝากขังจากการปราศรัยในที่ชุมนุม ทั้งที่เป็นสิทธิที่กระทำได้ตามรัฐธรรมนูญ นัด 8 ก.ย.ไปถามประยุทธ์ที่ทำเนียบฯ

6 ก.ย.2563 Banrasdr Photo รายงานว่า วันนี้ (6 ก.ย.63) เมื่อเวลาประมาณ 17.00น. ที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนท.) จัดชุมนุมทวงคืนความยุติธรรมให้เพื่อนๆ พี่ๆ พร้อมกับเรียกร้องให้มีการปล่อยตัว อานนท์ นำภา และ ภาณุพงศ์ จาดนอก ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ โดยมีการทุบศาลพระภูมิ เพื่อแสดงออกเป็นสัญลักษณ์ถึงการที่มีนักศีกษา ประชาชน หลายสิบคน ถูกออกหมายจับและฝากขัง ในคดี ยุยง ปลุกปั่น ตามกฎหมายอาญา มาตรา 116 จากการปราศรัยในที่ชุมนุม ทั้งที่เป็นสิทธิที่กระทำได้ตามรัฐธรรมนูญ

 

(6 กย.)เมื่อเวลาประมาณ 17.00น. ที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนท.)...

โพสต์โดย Banrasdr Photo เมื่อ วันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน 2020

 

มติชนออนไลน์รายงานด้วยว่า ตัวแทนของกลุ่มผู้ชุมนุมได้ประกาศว่าจะมีการชุมนุมบริเวณที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อสอบถามพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะที่กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อยื่นข้อเรียกร้องให้ปล่อยตัวอานนท์ และภาณุพงศ์ ในวันที่ 8 ก.ย.นี้ เวลา 10.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยในวันพรุ่งนี้ (วันที่ 7 ก.ย.) ประเวศ ประภานุกูล ทนายความจะนำมวลชนไปกิจกรรมที่บริเวณหน้าศาลอาญา

ก่อนผู้ชุมนุมจะเลิกกิจกรรมในช่วง 21.00 น.แล้วพากันแยกย้ายกลับที่พักไป

สำหรับการถูกฝากขังของทั้งคู่นี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 3 ก.ย. ที่ผ่านมา ศาลอาญาไต่สวนและมีคำสั่งเพิกถอนประกันอานนท์ ส่วนภาณุพงศ์ ไม่ยอมเพิ่มวงเงินประกันตามคำสั่งศาล ในคดีเยาวชนปลดแอกที่ทั้งคู่ขึ้นกล่าวปราศรัยในที่ชุมนุมเมื่อ 18 ก.ค. 2563 ทำให้ถูกควบคุมตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพช่วงค่ำวันเดียวกัน

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 4 ก.ย.ที่ผ่านมา สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์ขอให้ศาลโปรดเป็นเสาหลักในการดำรงไว้ซึ่งหลักนิติธรรม ถ่วงดุลและยับยั้งไม่ให้กระบวนการยุติธรรมถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือปิดกั้นและคุกคามผู้ที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ โดยมีเนื้อหาระบุว่า 

จากกรณีศาลอาญามีคำสั่งถอนประกันตัวนายอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน เนื่องจากศาลเห็นว่าการขึ้นปราศรัยของนายอานนท์ในการชุมนุมที่เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2563 และในการชุมนุมธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อวันที่ 10 ส.ค.2563 เป็นการกระทำในลักษณะเดียวกันกับการกระทำในคดีเยาวชนปลดแอก ที่ศาลให้ประกันตัวไปเมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2563 ซึ่งนายอานนท์ไม่ขอใช้สิทธิในการประกันตัว และในกรณีนายภานุพงศ์ จาดนอก ศาลพิจารณาเพิ่มหลักทรัพย์ประกันตัวเป็นจำนวนเงิน 200,000 บาท และให้มารายงานตัวทุก 15 วัน ถ้าหากกระทำความผิดตามเงื่อนไขเดิม คือกระทำการใดๆ ในลักษณะเดียวกับการกระทำที่ถูกกล่าวหาในคดีนั้น จะถอนประกันตัวในทันที ซึ่งนายภานุพงศ์ไม่ขอใช้สิทธิเพิ่มวงเงินในการประกันตัว จึงเป็นผลให้ทั้งสองคนต้องถูกควบคุมตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพโดยทันที

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ในฐานะองค์กรกฎหมายที่ทำงานปกป้องและส่งเสริมการรับรองคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสิทธิในกระบวนการยุติธรรมในสังคมไทย จึงมีความเห็นต่อกรณีดังกล่าวว่า

1. การชุมนุมสาธารณะของกลุ่มเยาวชนปลดแอก หรือการชุมนุมสาธารณะที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศนั้น ถือเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก หรือ เสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะโดยสงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต และเป็นสิทธิที่ถูกรับรองไว้ทั้งในมาตรา 34 และ มาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ และในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR) ข้อที่ 19 และข้อที่ 21 ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม และการใช้สิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศได้รับรองไว้ ไม่ควรเป็นพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิด

2. คำสั่งของศาลที่กำหนดเงื่อนไขห้ามแกนนำที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว กระทำการใด ๆ ในลักษณะเดียวกับการกระทำที่ถูกกล่าวหาในคดีนั้น อาจถูกมองได้ว่าเป็นการละเมิดต่อหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าศาลจะพิพากษาถึงที่สุดว่ามีความผิด เนื่องจากยังไม่มีกระบวนการพิจารณาพิพากษาคดีจากศาลว่าการกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิดตามที่ถูกกล่าวหาจริงหรือไม่ อีกทั้งการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวในบริบทที่ผู้ต้องหาทั้งสองมีบทบาทสำคัญในการชุมนุมของประชาชนในช่วงที่ผ่านมาและจะมีต่อไปในอนาคตยังมีผลเป็นการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมของจำเลยทั้งสองและประชาชน อันเป็นเสรีภาพพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศดังกล่าวข้างต้น ทั้งเงื่อนไขดังกล่าวก็ไม่เกี่ยวข้องกับการที่ผู้ต้องหาจะหลบหนีหรือยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานในคดี อันจะมีผลทำให้การดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมเสียหายแต่อย่างใด การกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวในลักษณะดังกล่าวอาจเป็นสิ่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศ  ทั้งยังเป็นการขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตยของประเทศ  การกำหนดเงื่อนไขเช่นนี้ ถือว่าเป็นเงื่อนไขที่ไม่ได้สัดส่วน และเป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควร ซึ่งน่าจะไม่ชอบด้วยมาตรา 112 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 

3. ความผิดที่ได้นำมาใช้กล่าวหานักกิจกรรมประชาธิปไตยที่ออกมาแสดงออกเรียกร้องต่อรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นความผิด ตามมาตรา116 ประมวลกฎหมายอาญา ฝ่าฝืนข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรื่องห้ามชุมนุมมั่วสุม หรือความผิดตามพ.ร.บ.โรคติดต่อฯ เป็นต้น อาจเห็นว่าเป็นความผิดแต่ละส่วนแยกออกจากกัน แต่กลับถูกนำมาใช้ประกอบกันเพื่อยับยั้งและปิดกั้นผู้ที่แสดงออกว่าเห็นต่างจากรัฐบาล ซึ่งการแสดงออกของประชาชนที่ผ่านมายังเป็นการชุมนุมทางการเมืองโดยสงบและโดยปราศจากอาวุธ หากศาลไม่ทำหน้าที่ตรวจสอบเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนแล้ว ในที่สุดจะก่อให้เกิดก่อวิกฤติศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมชั้นพิจารณาคดีเช่นเดียวกับวิกฤติศรัทธาอย่างรุนแรง ที่ประชาชนมีต่อกระบวนการยุติธรรมชั้นเจ้าพนักงานในขณะนี้

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนขอเรียกร้องต่อสถาบันตุลาการ ดังนี้

1. ขอให้ศาลดำรงไว้ซึ่งบทบาทในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน ตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อปิดกั้นประชาชนที่มีความเห็นทางการเมืองต่างจากรัฐบาล โดยขอให้ศาลธำรงไว้ซึ่งหลักนิติธรรมและนิติรัฐ ถ่วงดุลและยับยั้ง ไม่ให้กระบวนการยุติธรรมและกฎหมายถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือของฝ่ายบริหารในการปิดกั้นและคุกคามผู้ที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญ อย่างเช่นที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

2. ขอให้ศาลทบทวนคำสั่งถอนการประกันตัวนายอานนท์ นำภา และนายภานุพงศ์ จาดนอก และพิจารณาให้ปล่อยตัวชั่วคราวนายอานนท์ นำภา และนายภานุพงศ์ จาดนอก โดยปราศจากเงื่อนไขที่ขัดต่อสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ 

ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

4 ก.ย. 2563

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท