Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เราอาจจะเคยได้ยินบ่อยๆ ว่าความสนใจการเมืองหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นสิทธิส่วนบุคคล เมื่อเป็น “สิทธิ” ก็ย่อมเป็นเรื่องที่แต่ละคนจะเลือกเองว่าจะสนใจการเมืองหรือเข้าไปมีส่วนร่วมเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือแสดงออกใดๆ ในทางการเมืองหรือไม่อย่างไร แม้ว่าธรรมชาติของการเคลื่อนไหวทางการเมืองคือการมุ่งสื่อสารสาธารณะเพื่อให้คนส่วนใหญ่ในสังคมเห็นด้วย หรือสนับสนุนข้อเรียกร้องอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่ควรอ้างเพื่อตำหนิปัจเจกบุคคลใดๆ ที่เพิกเฉย หรือเลือกที่จะไม่สนใจการเมืองและข้อเรียกร้องทางการเมืองนั้นๆ เลย

แต่ถ้าเป็นประเด็นที่แคบลงหรือจำเพาะเจาะจงกว่านั้น เช่นการใช้ 112 กดปราบนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่วิจารณ์ปัญหาสถาบันกษัตริย์กับประชาธิปไตย และเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย อย่างการวิจารณ์และข้อเสนอแบบอานนท์ นำภาเป็นต้น เรามีเหตุผลที่จะตั้งคำถามหรือวิจารณ์ “การเพิกเฉย” ต่อการกดปราบเช่นนั้นหรือไม่

ผมตระหนักดีว่าปัญหาเช่นนี้เป็นเรื่องที่เห็นต่างกันหรือถกเถียงกันได้ บทความนี้พยายามจะอภิปรายปัญหานี้ด้วยมุมมองทางปรัชญา โดยน่าจะเริ่มจากการถามตัวเองก่อนว่าเรามีเหตุผลเพื่อที่จะเพิกเฉยต่อการใช้ 112 กดปราบนักเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อให้สังคมเราเป็นประชาธิปไตยหรือไม่

ในทางปรัชญาดูเหมือนจะมีเหตุผลสนับสนุนว่า “เราควรเพิกเฉย” อยู่เหมือนกัน คือเหตุผลที่อ้างอิง “เสรีภาพปัจเจกบุคคล” (individual liberty) เช่นเหตุผลแบบแนวคิด Epicureanism ที่ถือว่าความหมายสำคัญหนึ่งของ “การมีเสรีภาพ” ที่จับต้องได้จริง คือการปฏิเสธที่จะอยู่ใต้อำนาจทางการเมือง ดังนั้น สำหรับพวกเอพิคิวเรียน “เราไม่ควรยุ่งกับการเมืองและการเมืองก็อย่ามายุ่งกับเรา” การต่อสู้เพื่อที่จะมีเสรีภาพได้จริงตามความคิดเช่นนี้ จึงหมายถึง “การไม่เชื่อฟัง” อำนาจทางการเมืองในระดับที่แน่นอนหนึ่ง

ดังเห็นได้ในยุคกรีก พวกเอพิคิวเรียนที่นำโดยนักปรัชญาสุขนิยมอย่างเอพิคิวรัส (Epicurus) ได้แยกตัวออกจากสังคมเมืองไปตั้งชุมชนอิสระของตนเองด้วยการสร้างสวนนอกกำแพงเมือง ณ ที่แห่งนั้นสมาชิกทุกคนของกลุ่มต่างมีส่วนร่วมโดยตรงในการออกเสียงบัญญัติกฎเป็นข้อตกลงในการอยู่ร่วมกัน นี่คือการใช้เสรีภาพที่จับต้องได้ ซึ่งแก่นแกนของเสรีภาพเช่นนี้คือการไม่เชื่อฟังหรือเป็นอิสระจากอำนาจทางการเมืองของรัฐ จึงทำให้ปัจเจกบุคคลสามารถที่จะมีส่วนร่วมโดยตรงในการบัญญัติกฎขึ้นมาใช้ร่วมกันในชุมชนอิสระของตนเองได้จริง

แต่ปัญหาคือ การสร้างชุมชนอิสระเช่นนั้นอาจเป็นไปได้ในสังคมกรีกโบราณ (หรือในที่อื่นๆ) ทว่าในรัฐชาติสมัยใหม่ที่อำนาจรัฐครอบคลุมแทบทุกมิติของวิถีชีวิตปัจเจกบุคคลและสังคม การก่อตั้งชุมชนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองเลยอาจเป็นไปได้ยากยิ่ง แม้จะมีแนวคิดสมัยใหม่ เช่น “ลัทธิปัจเจกชนนิยม” (individualism) ที่ถือว่าปัจเจกบุคคลสำคัญสูงสุดเหนือสังคม หรือ “แนวคิดอิสรนิยม” (libertarianism) ที่ถือว่าเสรีภาพปัจเจกบุคคลสำคัญสูงสุด และมองความเป็นปัจเจกบุคคลอย่างตัดขาดจากสังคม กระทั่งถือว่า “สังคมไม่มีจริง” สิ่งที่สมมติว่าเป็นสังคมเกิดจากการรวมตัวของปัจเจกบุคคลทั้งหลายที่มุ่งปกป้องผลประโยชน์ส่วนตัวของตนเองเท่านั้น ดังนั้น จึงไม่มีใครทำเพื่อผู้อื่นหรือทำเพื่อส่วนรวมอย่างแท้จริง หรือ “แนวคิดอนาธิปไตย” (anarchism) ที่ปฏิเสธรูปแบบอำนาจรัฐสมัยใหม่, ชนชั้น, ทุนนิยม และใฝ่ฝันถึงการสร้างชุมชนเสมอภาคเท่าเทียมที่สมาชิกทุกคนมีส่วนร่วมสร้างข้อตกลงในการอยู่ร่วมกันโดยตรง แต่อย่างไรก็ตาม เราจะเห็นได้ว่า “จุดร่วม” ของแนวคิดเหล่านี้ ก็คือความต้องการมี “เสรีภาพ” จากอำนาจกดขี่ทุกรูปแบบ

ดังนั้น หากบรรดาผู้สมาทานแนวคิดเหล่านี้ซื่อตรงต่ออุดมคติการมีเสรีภาพจากอำนาจกดขี่ทุกรูปแบบ ก็ย่อมไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะเพิกเฉยต่อการใช้ 112 กดปราบ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจละเมิดเสรีภาพ เพราะการเพิกเฉยต่อการใช้อำนาจเช่นนั้นย่อมเป็นการกระทำที่ “ผิด” หรือ “ขัดแย้ง” ต่ออุดมคติหรือหลักการที่ตนยึดถือ และในความเป็นจริงการเพิกเฉยหรือยินยอมให้มีการใช้อำนาจละเมิดสิทธิและเสรีภาพของนักเคลื่อนไหวทางการเมืองบางคนได้ ก็เท่ากับยอมรับว่าทุกคนก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจกดขี่เช่นนั้นด้วย และย่อมเป็นไปได้ที่ใครก็ตามจะถูกใช้ 112 กดปราบเช่นกัน หากเขาลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อที่จะมีเสรีภาพจากอำนาจเช่นนั้น

บางคนอาจโต้แย้งว่าฉันไม่มีทางจะโดน 112 หรอก เพราะฉันจะไม่ลุกขึ้นสู้กับอำนาจกดขี่เช่นนั้นโดยตรง ทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่าสู้ยังไงก็เจ็บตัวและแพ้อยู่ดี ฉันแค่ต้องการใช้ชีวิตในฐานะปัจเจกบุคคลที่มีเสรีภาพทำมาหากิน แสวงหาความสุข และอื่นๆ ในแบบที่ฉันพึงพอใจและสามารถจะทำได้จริงเท่านั้น และนี่ก็คือการต่อสู้เพื่อเสรีภาพในแบบของฉันเอง คนที่ต่อสู้กับอำนาจที่ใช้ 112 กดปราบก็เป็น “เรื่องส่วนตัว” ของเขา ไม่เกี่ยวอะไรกับฉัน เมื่อเขาถูกกดปราบด้วย 112 จากการที่เขาเลือกเอาตัวเองไป “บูชายัญญ์” ต่ออำนาจกดขี่เช่นนั้น ก็ย่อมเป็นความรับผิดชอบของเขาเองที่ต้องรับผลที่ตามมา การเพิกเฉยต่อการใช้ 112 กดปราบก็เป็นสิทธิของฉัน ดังนั้น ใครก็ตามไม่ควรจะอ้างเกณฑ์ตัดสินทางศีลธรรมใดๆ มาตัดสินการเพิกเฉยของฉัน

ข้อโต้แย้งข้างบนดูเหมือนจะมีเหตุผล แต่ความจริงคือเราไม่ได้อ้างเกณฑ์ตัดสินทางศีลธรรมแบบอื่นๆ ไปตัดสินการเพิกเฉยของเขาเลย ตามที่กล่าวไปแล้วเราก็อ้างเกณฑ์ตัดสินทางศีลธรรมที่ตัวเขายึดถือนั่นแหละมาใช้ตั้งคำถามว่าถ้าคุณเชื่ออย่างซื่อตรงว่า “การมีเสรีภาพจากอำนาจกดขี่ทุกรูปแบบเป็นสิ่งที่ดี”การเพิกเฉยต่อการใช้อำนาจกฎขี่แบบใดๆ รวมทั้งการใช้ 112 กดปราบ ก็ย่อมเป็นสิ่งที่ผิดหรือขัดแย้งกับหลักการหรือคุณค่าที่คุณสมาทานใช่หรือไม่

ขยับมาพิจารณาเหตุผลทางศีลธรรมของ “แนวคิดประโยชน์นิยม” (utilitarianism) ของจอห์น สจ๊วต มิลล์ที่ถือว่าเสรีภาพกับการมีชีวิตที่ดีที่ของปัจเจกบุคคลและประโยชน์สุขส่วนรวมไม่อาจแยกขาดจากกันได้ เพื่อสนับสนุนให้ปัจเจกบุคคลมีชีวิตที่ดีในแบบที่เขาเลือกเอง เราจึงควรสนับสนุนเสรีภาพปัจเจกบุคคล และเพื่อสนับสนุนประโยชน์สุขส่วนรวม เราจึงควรสนับสนุนเสรีภาพทางการเมือง ตราบที่การใช้เสรีภาพนั้นๆ ไม่เป็นอันตรายอย่างเป็นภาววิสัยต่อสิทธิและเสรีภาพของคนอื่น หรือทำลายหลักการที่เป็นประโยชน์ส่วนรวม เช่นเราไม่สามารถยอมรับการ “ให้การเท็จ” ในศาลได้ เพราะจะส่งผลเสียหายต่อประโยชน์สุขส่วนรวม แต่ต้องยืนยันเสรีภาพในการวิจารณ์ตรวจสอบบุคคลสาธารณะหรือสถาบันสาธารณะใดๆ เพื่อประโยชน์สาธารณะได้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล และประมุขของรัฐที่เป็นประธานาธิบดีหรือกษัตริย์ก็ตาม

เพราะเสรีภาพที่แท้จริงจะมีได้ ก็ต่อเมื่อประชาชนสามารถตั้งคำถาม วิจารณ์ ตรวจสอบได้ทุกระบบอำนาจ ไม่ว่าอำนาจทางการเมืองหรือศาสนาและอื่นๆ ที่กระทบต่อประโยชน์สาธารณะทั้งด้านบวกและลบ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่โดน 112 ก็คือผู้ที่ต่อสู้เพื่อให้สังคมไทยมีเสรีภาพในความหมายนี้

ดังนั้น การเพิกเฉยต่อการใช้ 112 กดปราบนักเคลื่อนไหวทางการเมืองจึงเป็นสิ่งที่ผิด เพราะแนวคิดประโยชน์นิยมถือว่าการกระทำหรือการละเว้นการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งย่อมมีผลตามมาเสมอ ผลนั้นอาจสนับสนุนประโยชน์สุขส่วนรวม หรือเสียหายต่อประโยชน์สุขส่วนรวมก็ได้ เช่น เมื่อเราเห็นคนกำลังจะจมน้ำ และอยู่ในสถานการณ์ที่สามารถช่วยเซฟชีวิตเขาได้ แต่เราไม่ช่วย เพราะกลัวเสื้อผ้าจะเปียก เปื้อนโคลน หรือทำให้เสียเวลาต้องไปทำงานสาย การละเว้นการกระทำคือการช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ในกรณีนี้ถือว่าผิด เพราะเท่ากับเรายอมรับการเพิกเฉยต่อการช่วยเซฟชีวิตของกันและกัน สังคมที่ยอมรับการเพิกเฉยเช่นนั้น ย่อมไม่ใช่สังคมที่มีความสุข เช่นเดียวกันการเพิกเฉยต่อการปกป้องสิทธิเสรีภาพของนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ถูกกดปราบด้วย 112 (หรือกรณีอื่นๆ) ก็ย่อมเป็นสิ่งที่ผิดเช่นกัน เพราะเท่ากับเรายอมรับโดยปริยายให้การละเมิดเสรีภาพเป็นเรื่องปกติ ซึ่งขัดกับหลักประโยชน์สุขส่วนรวมที่จำเป็นต้องปกป้องเสรีภาพของปัจเจกบุคคล และเสรีภาพทางการเมืองให้คงอยู่หรือให้มีได้จริงในทางปฏิบัติ

เมื่อพิจารณาตามเกณฑ์ตัดสินทางศีลธรรมแบบคานท์ (Kantianism) การเพิกเฉยต่อการเซฟชีวิตของกันและกันในสถานการณ์ที่สามารถช่วยได้ หรือการเพิกเฉยต่อการใช้ 112 กดปราบนักเคลื่อนไหวทางการเมืองและการละเมิดสิทธิเสรีภาพในกรณีอื่นๆ ทั้งๆ ที่เราสามารถแสดงออกถึงการปกป้องสิทธิเสรีภาพของพวกเขาได้โดยช่องทางต่างๆ ย่อมเป็นเรื่องที่ผิด เพราะการเซฟชีวิตกันและกันและการปกป้องสิทธิเสรีภาพของกันและกันเป็น “หน้าที่ทางศีลธรรม” ที่แสดงถึงการดำรงไว้ซึ่งความเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีในตัวเองของตัวเราและทุกคน

มองจากทัศนะแบบจอห์น รอลส์ การเพิกเฉยเช่นนั้นย่อมขัดหลักศีลธรรมสาธารณะที่ต้องสอดคล้องกับหลักความยุติธรรมสาธารณะทางสังคมและการเมือง บทบาททางศีลธรรมสาธารณะของ “พลเมืองเสรีและเสมอภาค” ควรปกป้องสิทธิและเสรีภาพอันเป็นหลักการพื้นฐานที่ขาดไม่ได้ของหลักความยุติธรรมสาธารณะทางสังคมและการเมือง ขณะที่การเพิกเฉยต่อการใช้ 112 กดปราบและการละเมิดสิทธิเสรีภาพของพลเมืองและสิทธิเสรีภาพทางการเมืองในกรณีใดๆ ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ หากเราต้องการสังคมที่มีความเป็นธรรม

แต่เมื่อมองตามสภาพความเป็นจริงของบ้านเราที่คนส่วนใหญ่ถือพุทธ ย่อมเป็นธรรมดาที่คนมักจะใช้ “เหตุผลทางศีลธรรมแบบพุทธ” ในการตัดสินใจกระทำหรือไม่กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งต่อสถานการณ์ตามตัวอย่างที่กล่าวแล้ว ถ้าใช้เหตุผลทางศีลธรรมแบบพุทธที่ถือว่า “การกระทำที่ถูกคือการกระทำที่ช่วยลดความทุกข์หรือเพิ่มความสุข” การเพิกเฉยต่อการเซฟชีวิตของกันและกันจึงผิด เพราะนอกจากไม่ได้ช่วยลดความทุกข์หรือเพิ่มความสุขในสังคมแล้ว ยังเป็นการซ้ำเติมให้เพิ่ม “ทุกข์ทางสังคม” มากขึ้น เช่นเดียวกันการเพิกเฉยต่อการใช้ 112 กดปราบและการละเมิดสิทธิเสรีภาพในกรณีอื่นๆ ก็ย่อมผิดเช่นกัน เพราะนั่นคือการปล่อยปละละเลยให้เกิดการกดขี่ซึ่งก่อทุกข์แก่คนอื่นและส่งผลเป็นทุกข์ทางสังคมในระยะยาว เหตุผลทางศีลธรรมแบบพุทธดังกล่าวนี้เราอาจเห็นได้ในการีความพุทธศาสนาเชื่อมโยงกับคุณค่าสมัยใหม่ หรือปรัชญาศีลธรรมสมัยใหม่ เช่นปรัชญาประโยชน์นิยม และคานเทียนเป็นต้น

ปัญหาคือ ชาวพุทธบ้านเรามีวัฒนธรรมให้ความสำคัญกับ “ทุกข์ส่วนตัว” อย่างละเลย “ทุกข์ทางสังคม” หรือไม่ หรือ “ความสุขส่วนตัว” และ “ประโยชน์สุขส่วนร่วม” ในมุมมองแบบพุทธบ้านเราเป็นความสุขที่ยึดโยงกับเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นคนหรือไม่ ถ้าวัฒนธรรมพุทธบ้านเรามองประโยชน์สุขส่วนตัวและส่วนรวมยึดโยงกับความมั่นคงของชาติ ศาสน์ กษัตริย์เป็นหลัก ความคิดพื้นฐานเช่นนี้ก็ย่อมเอื้อให้เกิด “การเพิกเฉย” ต่อการใหช้ 112 กดปราบ และการละเมิดสิทธิเสรีภาพทางการเมืองในกรณีอื่นๆ ด้วย

ยิ่งกว่านั้น นอกจากจะมีเหตุผลของการเพิกเฉยสำหรับฝ่ายที่ยอมรับการใช้ 112 กดปราบซึ่งเป็นฝ่ายที่ต่อต้านการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์แล้ว พวกเขายังเล่นบท “พลเมืองกระตือรือร้น” (active citizens) ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองมาตลอด ตั้งแต่เริ่มขบวนการ พธม., กปปส. เรื่อยมาถึงการแยกย่อยก่อตั้งกลุ่ม ตั้งเพจต่างๆ ล่าแม่มดฝ่ายตรงข้ามทางอุดมการณ์การเมืองด้วยการใช้ 112 กดปราบ

ในสถานการณ์แช่นนี้ เราจะหาเหตุผลอะไรเล่ามาให้ความชอบธรรมกับการเพิกเฉยต่อการใช้ 112 กดปราบ แน่นอนว่าเราอาจมีวิธีการหรือแนวทางอื่นๆ มากมายในการทำประโยชน์แก่สังคม แต่ถ้าใครที่เห็นคนกำลังจะจมน้ำตายและอยู่ในสถานการณ์ที่ตนสามารถช่วยได้ แต่ไม่ใช่วย โดยการอ้างเหตุผลนานาเช่นว่า ชุดสูทฉันจะเปียกหรือเปื้อนโคลน จะไปทำงานสาย ถึงฉันจะไม่ช่วยคนจนน้ำ ฉันก็ไม่ใช่คนเลวอะไร เพราะฉันก็ยังทำงาน มีรายได้ จ่ายภาษีช่วยเหลือสังคม ฯลฯ

เหตุผลข้างบนก็ไม่ต่างนักหรอกกับเหตุผลของบรรดาผู้มีต้นทุนสูงทางสังคมที่เลือกจะเพิกเฉยต่อการใช้ 112 กดปราบ ทั้งๆ ที่อยู่ในสถานะที่สามารถจะพูดถึง, ส่งเสียง หรือมีส่วนร่วมผ่านช่องทางต่างๆ ที่ปลอดภัยในการปกป้องสิทธิเสรีภาพของผู้ที่ถูกใช้ 112 กดปราบได้ แต่ก็เลือกที่จะเพิกเฉย เพราะไม่อยากแปดเปื้อนการเมือง หรือเพื่อรักษาภาพลักษณ์ที่ดีใดๆ ก็ตาม

ถึงที่สุดแล้ว เหตุผลของการเพิกเฉยต่อการใช้ 112 กดปราบ กลับยิ่งสะท้อน “ความเป็นการเมือง” ของการใช้ 112 กดปราบที่ทำให้ปฏิเสธความจริงว่าคดี 112 “ไม่ใช่คดีการเมือง” หรือนักโทษ 112 “ไม่ใช่นักโทษการเมือง” ทั้งๆ ที่แทบทุกมิติของการมีและการใช้ 112 ล้วนมีความเป็นการเมือง รวมทั้งจุดยืนสนับสนุนการใช้ 112 กดปราบและการเพิกเฉยก็เป็นจุดยืนที่มีความเป็นการเมืองด้วยเช่นกัน

กระทั่งเป็น “การเมืองแห่งความเพิกเฉย” ที่พยายามหาเหตุผลต่างๆ นานามาให้ความชอบธรรมกับการละเว้นการกระทำที่ควรจะทำ อย่างไม่รู้ร้อนรู้หนาวต่อการกดปราบ หรือการละเมิดสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของเพื่อนร่วมสังคมที่สู้เพื่อเสรีภาพ ประชาธิปไตย และความเป็นธรรมเพื่อเราทุกคน

 

 

ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/photo/?fbid=719120068129392&set=a.163415147033223
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net