ทหารพม่า 2 นาย รับสารภาพสังหารหมู่ชาวโรฮิงญาเมื่อ 3 ปีที่แล้ว

องค์กรสิทธิมนุษยชนเปิดเผยว่า 2 ทหารพม่าสารภาพเรื่องสังหารโรฮิงญาในเหตุสังหารหมู่เมื่อ 3 ปีที่แล้ว องค์กรสิทธิฯ ระบุทหารเหล่านี้อาจถูกไต่สวนในศาลอาญาระหว่างประเทศและพวกเขามี "หลักฐานสำคัญ" ที่จะช่วยในการไต่สวนในเรื่องนี้ได้ 


ผู้พลัดถิ่นชาวโรฮิงญา เมื่อ 13 ตุลาคม 2017 (ที่มา: แฟ้มภาพ/Seyyed Mahmoud Hosseini/Tasnim News Agency)

10 ก.ย. 2563 วานนี้ (9 ก.ย.) สำนักข่าวอัลจาซีรารายงานว่า ทหารพม่า 2 นายยอมรับว่าพวกเขาสังหารและฝังศพชาวบ้านโรฮิงญาหลายสิบรายจากเหตุการณ์สังหารหมู่ในปี 2560 เรื่องนี้มาจากการรายงานขององค์กรสิทธิมนุษยชนฟอร์ติฟายไรท์ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ทหารพม่าออกมายอมรับเหตุการณ์อาชญากรรมในครั้งนั้นที่มีทั้งการสังหารหมู่ การข่มขืน และอาชญากรรมอื่นๆ ต่อชาวโรฮิงญา ซึ่งฟอร์ติฟายไรท์ระบุว่าพวกเขามีหลักฐานสำคัญที่จะช่วยในการไต่สวนจากศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ได้

ฟอร์ติฟายไรท์ระบุว่าทหารสองรายที่สารภาพในเรื่องนี้คือ Myo Win Tun และ Zaw Naing Tun ที่มาจากหน่วยทหารราบอาวุธเบาต่างกองพันกันพยายามหนีออกจากประเทศพม่าในเดือนที่แล้ว และเป็นไปได้ว่าน่าจะอยู่ภายใต้การคุมขังของศาลอาญาระหว่างประเทศ ในเมืองเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งกำลังตรวจสอบเรื่องความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญา โดยที่ทหาร 2 นายนี้ยังให้การสารภาพโดยเปิดเผยชื่อของทหารพท่าผู้ร่วมก่อเหตุโดยตรงอีก 19 นายรวมตัวพวกเขาเองและเปิดเผยชื่อผู้บัญชาการ 6 นาย ที่พวกเขาบอกว่าเป็นผู้สั่งหารหรือมีส่วนรู้เห็นในอาชญากรรมต่อชาวโรฮิงญา

อย่างไรก็ตามทางศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) แถลงว่าพวกเขาไม่ได้มีบุคคลเหล่านี้อยู่ภายใต้การคุมขังของพวกเขา อย่างไรก็ตามทาง ICC ก็เคยแถลงเมื่อปี 2562 ว่าพวกเขาจะพิจารณาคดีเรื่องการสังหารหมู่ชาวโรฮิงญาที่เกิดขึ้นโดยมีความเป็นไปได้ว่าคดีนี้จะต้องอาศัยกระบวนการเป็นเวลาอีกหลายปี

ในช่วงเดือน ส.ค. ปี 2560 กองทัพพม่าบุกเข้าโจมตีหมู่บ้านชาวโรฮิงญาโดยอ้างว่าเพื่อโต้ตอบการโจมตีของกลุ่มติดอาวุธ แต่ในการก่อเหตุของฝ่ายกองทัพนั้นมีการสังหารหมู่ประชาชน ข่มขืนประชาชน และเผาทำลายบ้านเรือนประชาชนชาวโรฮิงญาหลายพันหลังคาเรือน การก่อเหตุในครั้งนี้ทำให้ประชาชนชาวโรฮิงญามากกว่า 700,000 รายต้องหนีตายจากพม่าไปยังประเทศใกล้เคียงในแถบนั้นคือบังกลาเทศ

Myo Win Tun ให้การสารภาพว่าผู้บัญชาการจากศูนย์บัญชาการกองทัพภาค 15 ได้ออกคำสั่งว่า "ยิงทุกคนที่คุณเห็นและได้ยิน" ในการปฏิบัติการโจมตีหมู่บ้านชาวโรฮิงญา เขาเล่าว่าในตอนนั้นทหารหน่วนของเขาส่งหารและฝังคนที่มีทั้งผู้หญิง 8 คน เด็ก 7 คน ผู้ชายและคนชรา 15 คน เขาเล่าอีกว่าผู้บัญชาการสั่งให้หน่วยของเขา "กำจัดพวกกาลาร์ให้หมด" ซึ่งกาลาร์เป็นคำที่พวกเชาเรียกเหยียดชาวโรฮิงญา จากนั้นผู้บัญชาการก็ยิงชายคนหนึ่งที่ศรีษะและถีบร่างของเขาลงไปในหลุม นอกจากนี้ยังมีการข่มขืนผู้หญิงก่อนจะสังหารพวกเขา ซึ่ง Myo Win Tun สารภาพว่าได้ก่อเหตุข่มขืนด้วย

พายัม อัควัน ทนายความชาวแคนาดาที่เป็นตัวแทนบังกลาเทศในการฟ้องร้องรัฐบาลพม่าต่อศาลโลกก็เปิดเผยว่าทหาร 2 คนนี้ปรากฏตัวที่ใกล้กับด่านตรวจชายแดนขอร้องให้มีการคุ้มครองรัฐบาลและสารภาพในเรื่องการสังหารหมู่ที่พวกเขามีส่วนกระทำผิด และเท่าที่เขาบอกได้คือในตอนนี้ทหารทั้งสองนายนี้ไม่ได้อยู่ในบังกลาเทศแล้ว

ก่อนหน้านี้กลุ่มกองกำลังอาระกันอาร์มีเปิดเผยว่าทหารสองรายที่ให้สารภาพนี้เป็นคนหนีทัพและไม่ได้ถูกจับเป็นเชลยศึกโโยพวกเขา แต่ก็้างว่าได้มีการส่งตัวทหารสองรายนี้ให้กับศาลโลกแล้ว

ไม่ว่าทหารสองรายนี้จะอยู่ภายใต้การคุมขังของ ICC จริงหรือไม่ แต่สเต็ป แวสเซน ผู้สื่อข่าวอัลจาซีราก็มองว่าจากการที่กองทัพพม่าให้การปฏิเสธเกี่ยวกับอาชญากรรมนี้มาโดยตลอด การที่มีทหาร 2 นายสารภาพในครั้งนี้ก็ถือเป็น "ความคืบหน้าอย่างใหญ่หลวง" สำหรับคดีนี้

เรียบเรียงจาก:
Myanmar troops confirm atrocities against Rohingya: rights group, Aljazeera, 09-09-2020
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท