Skip to main content
sharethis

'ภัควดี วีระภาสพงษ์' ชวนมองการก่อร่างของขบวนการสังคมใหม่ เคลื่อนไหวไร้แกนนำ ภายใต้ระบบเสรีนิยมใหม่ที่การสะสมทุนกระจุกตัวอยู่กับคนเพียงส่วนน้อย คนอีกมากมองไม่เห็นการถูกขูดรีดภายใต้โครงสร้างขนาดใหญ่ กระจายอยู่ทุกที่ ปัญหาจึงหลากหลาย ตั้งแต่ในรั้วโรงเรียนจนถึงสิทธิที่ทำกิน ระบุม็อบปัจจุบัน ต่อสู้ยาวนาน ต้องเพิ่มฐานมวลชน เพิ่มแรงกดดันต่อจนท.รัฐ


ภัควดี วีระภาสพงษ์

 

19 ต.ค. 2563 เมื่อวันที่ 15-18 ต.ค.ที่ผ่าน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิสื่อชาวบ้านมะขามป้อมและเครือข่าย ร่วมจัดงานแลกเปลี่ยนสำหรับผู้สนใจในสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่การต่อสู้ระยะยาวของขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน โดยหนึ่งในกิจกรรมคือการเสวนาเกี่ยวกับ ขบวนการสังคมใหม่ การเคลื่อนไหวไร้แกนนำ โดยภัควดี วีระภาสพงษ์ นักเขียนและนักแปลอิสระซึ่งมีผลงาน อาทิ ความขัดแย้งสิบเจ็ดประการกับจุดจบของระบบทุนนิยม, ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของลัทธิเสรีนิยมใหม่ ฯลฯ

ประชาไทถอดความมาดังนี้

กำเนิดขบวนการสังคมใหม่ เคลื่อนไหวไร้แกนนำ

ภัควดีเริ่มเล่าถึงช่วงเสรีนิยมใหม่อันมี โรนัลด์ เรแกน, เต้ิงเสี่ยวผิง, มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ เป็นผู้นำในประเทศใหญ่ ขระนั้นการประท้วงเกิดขึ้นทั่วโลก เพื่อประท้วงเรื่องการค้าเสรี พลิกโฉมหน้าการประท้วงตอนนั้นไป มีลักษณะไม่มีแกนนำ และรวมตัวหลายกลุ่มที่ไม่น่ามารวมตัวกันได้ เช่น กลุ่มแรงงานกับกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

ขบวนการนี้เรียกว่า 'ขบวนการสังคมใหม่' ยุติลงเมื่อเกิดสงครามอิรัก กฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายถูกใช้เข้มงวด ทำให้ขบวนแผ่วไป พร้อมๆ กับข้อตกลงการค้าเสรีบางอย่างก็ไม่ประสบความสำเร็จ WTO ไม่ได้มีบทบาทมากเหมือนสมัยก่อน จนกระทั่งมาประทุอีกครั้งจากกลุ่ม Occupy Wall Street (เริ่มการประท้วงสถาบันการเงินในสหรัฐบริเวณย่านการเงิน Wall Street) หลังจากนั้นก็หายไปอีก

ในการจัดประเภทแนวคิดของขบวนการพวกนี้ส่วนใหญ่จะถือเป็นกลุ่มที่มีแนวคิดแบบ อนาธิปไตย หรือ anarchist ซึ่งความหมายไม่เหมือนเมื่อก่อน สมัยก่อนคือคนที่มีแนวคิดก่อวินาศกรรมเพื่อทำลายล้างระบบทุนนิยม แต่อนาธิปไตยสมัยใหม่แม้อธิบายโลกด้วยแนวคิดแบบมาร์กซิส วิจารณ์ทุนนิยม แต่สิ่งที่ไม่เหมือนคือเรื่องกระบวนการจัดตั้ง ไม่เอารัฐ ถือว่ารัฐเป็นความชั่วร้ายโดยตัวมันเอง

 

เมื่อเสรีนิยมใหม่ทำให้การรวมตัวของแรงงานเป็นเรื่องยาก

ภัควดีอธิบายว่า แท้จริงขบวนการนี้คือการต่อต้านเสรีนิยมใหม่ ดังนั้นต้องกลับมาดูแนวคิดเสรีนิยมใหม่ ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบอบการสะสมทุน

ประเด็นสำคัญคือ หนึ่ง การแตกสายพานการผลิตไปทั่วโลก สมัยก่อนการผลิตในโลกทุนนิยมเป็นการผลิตเยอะ โรงงานใหญ่ ผลิตครบวงจรในที่เดียว นายทุนขูดรีดแรงงาน เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์

แต่ทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ เนื่องจากเกิดการปฏิวัติเชิงเทคโนโลยีทำให้การติดต่อสื่อสาร ขนส่งได้เร็วขึ้น ทำให้คุณผลิตชิ้นส่วนที่ไหนก็ได้ แล้วเอามาประกอบกัน จึงไม่ต้องผลิตในโรงงานใหญ่ แทนที่สายพานการผลิตจะอยู่ที่เดียว จึงแตกกระจายไปทั่วโลก ทำให้การรวมตัวของแรงงานทำได้ยาก แต่ละที่เป็นแค่กลุ่มย่อยๆ

สอง เรื่องการเงิน กลายเป็นทุนการเงินขึ้นมามีบทบาทสูงมากในโลกและสร้างกำไรมหาศาลให้นายทุน และบางครั้งสร้างผลกำไรได้มากกว่าภาคการผลิต เช่น วิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ นายทุนแทนที่จะเอาเงินลงทุนในภาคการผลิต ก็เอาเงินไปเล่นหุ้น รอเงินปันผล หรือวิธีการอื่นๆ รวมทั้งมีนวัตกรรมด้านการเงินเกิดขึ้นเยอะมาก

สิ่งที่เกิดขึ้นคือเมื่อเปิดเสรีการเงิน ทำให้นายทุนสะสมทุนได้โดยไม่ต้องผลิต เมื่อไม่ต้องผลิตหมายความว่าคนส่วนใหญ่จะไม่มีงานทำ ทำให้ต้องดิ้นรนในรูปแบบต่างๆ เป็นแรงงานนอกระบบ เป็นฟรีแลนซ์ ไม่ใช่พนักงานบริษัทที่จะมีเงินเดือนมั่นคง มีสวัสดิการ งานแบบนี้จะหดตัวลงเรื่อยๆ คนส่วนใหญ่จึงไปเล่นหุ้นเพราะเป็นวิธีการหาเงิน

สาม นโยบายรัดเข็มขัด พอมีภาวะเศรษฐกิจเกิดขึ้น ก็ต้องไปเป็นหนี้ไอเอ็มเอฟ ต้องรัดเข็มขัด คือต้องตัดงบสวัสดิการต่างๆ เพื่อให้เงินไม่เฟ้อ รัฐใช้หนี้ได้ เกิดขึ้นช่วงต้มยำกุ้ง หรือในกรีซ ยิ่งงานไม่มี เงินไม่มี รัฐตัดสวัสดิการ ทำให้เกิดผลกระทบต่อคนจำนวนมาก

สี่ การแปรรูป ทำให้สิ่งที่ไม่เคยเป็นสินค้ากลายเป็นสินค้า ในอดีตการสะสมทุนเกิดในภาคการผลิต บางพื้นที่ไม่ควรเป็นทุนนิยม เช่น การรักษาพยาบาล ป่าไม้ กรมอุทยาน แต่การแปรรูปคือต้องเอาพื้นที่ทั้งหมดนี้มาให้เอกชนจัดการ บางพื้นที่มีแนวคิดว่าป่าไม้ อุทยาน ควรให้เอกชนเข้าไปทำ ดูแลป่าพร้อมสร้างผลผลิต คุกให้เอกชนจัดการ แล้วใช้คนคุกเป็นแรงงานราคาต่ำ มีแนวคิดว่าน่านน้ำประมงก็ควรให้สัมปาน ซึ่งแนวคิดนี้เป็นนโยบายหลักของทักษิณ ชินวัตรในเฟสสอง มีการวิพากษ์วิจารณ์ในกลุ่มสื่อกระแสรอง และเป็นจุดที่เอ็นจีโอบางคนใช้เป็นข้ออ้างในการเข้าร่วมกลุ่มพันธมิตร แต่สุดท้ายก็เป็นการเอาไปให้กลุ่มทุนเดิมทำ ทำให้ไม่ได้เปลี่ยนแปลง

ห้า ความยืดหยุ่นของตลาดแรงงาน ความยืดหยุ่นเหมือนจะเป็นความหมายที่ดี แต่ในที่นี้ไม่ดี ตลาดแรงงานเมื่อก่อนรัฐจะเข้ามากำกับดูแล เกี่ยวกับเรื่องค่าจ้าง สภาพการทำงานต่างๆ ทำให้ค่าแรงค่อนข้างสูง มีกฎระเบียบมาก แต่ความยืดหยุ่นคือลดกฎเกณฑ์เหล่านี้ลง ทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ ลักษณะนี้เกิดในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งอยู่ตามชายแดน เช่น เขตเศรษฐกิจของจีน พม่า และไทยก็พยายามทำ นั่นคือรัฐไม่เข้าไปยุ่ง นายทุนขูดรีดแรงงานยังไงก็ได้ ทุนเข้าไปกำหนดกฎเกณฑ์ทั้งหมดเองได้

และเนื่องจากภาคการผลิตหดตัว มีการขยายตัวของภาคบริการ เช่น การท่องเที่ยว

หก กลับไปสู่การแย่งชิงทรัพยากรแบบสมัยก่อน มีลักษณะอาณานิคม คือการแย่งชิงขูดรีดทรัพยากรจากชาวบ้าน ในสมัยก่อนการสะสมทุนของทุนนิยมยุคแรกๆ ชนชั้นนายทุนมีการกระจายตัวพอสมควร แต่ยุคปัจจุบัน การสะสมทุนทั้งหมดไหลไปอยู่ที่ทุนใหญ่ ซึ่งมีน้อยลงๆ สมัยก่อนภาคใต้มีนายทุนเหมืองรายย่อย แต่ยุคปัจจุบัน เหมืองอัครา หลายบริษัทเข้าไปถือหุ้น ทำให้ความเหลื่อมล้ำปัจจุบันสูงกว่าสมัยก่อนอย่างมาก ทุนไม่กระจายตัวเหมือนยุคก่อนเสรีนิยม

เจ็ด เศรษฐกิจแบบมหรสพ การบริโภคที่บริโภคแล้วหมดไปอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่วัตถุที่จับต้องได้ แต่เป็นภาพน่าตื่นตาตื่นใจ เช่น ภาพยนตร์ คอนเสิร์ต ฟุตบอลโลก โอลิมปิก ยุคปัจจุบันคือ BNK สมัยก่อนสร้างหนังฮอลิวู้ดลงทุนเยอะ แต่ BNK ทุนน้อยลงๆ เป็นการเอาเด็กผู้หญิงที่ไม่ต้องมีความสามารถอะไรมาฝึกฝน ระหว่างฝึกก็หาเงินได้ด้วย ไม่ต้องโฆษณาเอง โอตะโฆษณาให้ ปรากฎการณ์ลักษณะนี้เป็นการสะสมทุนอีกรูปแบบนึง และเป็นสินค้าที่ใช้การไม่ได้อย่างรวดเร็ว เอาเด็กมาเยอะๆ ใครใช้ไม่ได้ก็ ‘แกรท’ ออกไป และเป็นการบริโภครวดเร็ว ช้่วไม่กี่วินาทีของการจับมือ

เมื่อก่อนเป็นการต่อสู้ของชั้นนายทุน กรรมมาชีพ ตอนนี้เกิดภาพแบบเศรษฐกิจนอกระบบ แรงงานนอกระบบ ฟรีแลนซ์ กลายเป็นชนชั้นที่ให้คำจำกัดความยาก ไม่ใช่กรรมาชีพเสียทีเดียว บางคนเป็นแรงงานมีความรู้ แต่เป็นฟรีแลนซ์ ซึ่งไม่สวัสดิการ แม้คนพวกนี้คิดว่าเป็นอิสระ แต่ก็ถูกกดราคา เพราะการศึกษาก็ผลิตคนพวกนี้ออกมาจำนวนมาก แข่งกันเอง และรวมตัวยากเพราะอยู่คนละที่ และอีกประเภทคือ gig economy เช่น food panda, air bnb

 

เสรีนิยมใหม่ทำให้ปัญหาถูกแยกส่วน คนมองไม่เห็นการขูดรีดเชิงโครงสร้าง

ภัควดีชี้ว่า เมื่อสภาพเศรษฐกิจโลกเป็นแบบนี้ ทำให้คนมองไม่เห็นปัญหาโครงสร้าง เพราะแต่ละพื้นที่คนเจอปัญหาไม่เท่ากัน ไม่เหมือนกัน ถึงแม้กำไร การสะสมทุนไหลไปอยู่ในกลุ่มคนจำนวนน้อยมาก แต่การไหลของมันมาจากหลายทิศทาง แล้วคนถูกขูดรีดมองไม่เห็นว่าถูกขูดรีดในโครงสร้างแบบไหน เห็นเฉพาะในส่วนของตัวเอง

เช่น ชิปโทรศัพท์ต้องใช้แร่ตัวนึงที่มีในแอฟริกา แต่ชิปนี้ผลิตที่จีน การออกแบบดีไซน์เกิดขึ้นในซิลิคอนวัลเลย์ แต่ดึงเทคนิเชียนมาจากอินเดีย  เวลามีปัญหาคอลเซ็นเตอร์อยู่ฟิลิปปินส์ ซึ่งปัญหาถูกกระจายไปหมด ทำให้เห็นแต่ปัญหาส่วนตัวเอง

จุดนี้ พอเกิดขบวนการประท้วง มันจึงมาจากหลายเรื่อง ทั้งสิ่งแวดล้อม ปัญหาแรงงาน ปัญหาสิทธิที่ทำกิน ปัญหา LGBT ปัญหาในโรงเรียน ซึ่งคนทั่วไปไม่เข้าใจว่าทำไมพูดหลายเรื่อง แต่คนประท้วงส่วนใหญ่เข้าใจว่าทุกปัญหานี้มันเชื่อมโยงกัน

เนื่องจากปัญหามาจากหลายภาคส่วน มันจึงไม่มีแกนนำ เพราะจะให้คนที่มีปัญหาเรื่องสิทธิที่ทำกินมาพูดเรื่อง lgbt ได้ยังไง มันต้องต่างคนต่างพูด แต่มารวมกันในบางประเด็น คือลักษณะการประท้วงในสมัยนี้

ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดมาจากแนวคิดของทุนนิยมเองที่ต้องการให้คนเป็นปัจเจกบุคคล ไม่อยากให้มีการรวมตัว แต่ละคนเป็นหน่วยของตัวเอง มีชีวิตอยู่ได้ด้วยการบริโภค วิธีคิดแบบนี้ส่งเสริมทุนนิยมอย่างมาก แต่ด้านตีกลับก็ทำให้คนพยายามแสวงหาอัตลักษณ์ตัวเองด้วย การเป็นปัจเจกจึงกลายเป็นการต่อต้านระบบทุนนิยมได้เหมือนกัน

 

ขบวนการสังคมใหม่ทุกประเด็นต้องพูดพร้อมกัน

ภัควดีกล่าวถึงขบวนการสังคมใหม่ โดยเปรียบเทียบกับมาร์กซิสว่า มาร์กซิสมีแนวคิดเดียว มีหัวขบวนตัดสินว่าประเด็นใดสำคัญสุด อย่างพรรคคอมมิวนิสต์ก็มีเฟมินิสต์เกิดขึ้นมา เพราะการกดขี่ในพรรค ทำให้ผู้หญิงตอบโต้ แต่จะถูกปัดตกประเด็น เพราะต้องพูดเรื่องสังคมนิยมก่อน แต่ปัจจุบันทุกอย่างต้องพูดพร้อมกัน

และเนื่องจากได้รับอิทธิพลมาจากอนาธิปไตย จึงมีแนวคิดเรื่องการจัดตั้งในการสร้างความเป็นประชาธิปไตยภายในกระบวนการ สร้างการมีส่วมร่วมของสมาชิก กระบวนการตัดสินใจด้วยการแสวงหาฉันทามติ ไม่ใช้ความรุนแรง วิธีการกับเป้าหมายเป็นอันเดียวกัน ในขณะที่ขบวนการสมัยก่อนเราจะเห็นคนที่เป็นผู้นำ สั่งการจากบนลงล่าง

ด้านยุทธศาสตร์และยุทธวิธี ภัควดีระบุว่าขบวนการสังคมใหม่เน้นเรื่องอำนาจการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร สมัยก่อนมักใช้การจับอาวุธ แต่ยุคปัจจุบัน ช่วงประมาณ 20 ปีที่ผ่านมาก็ใช้อินเตอร์เน็ตสื่อสาร

"การจับอาวุธสู้แทบเป็นไปไม่ได้ เพราะเทคโนโลยีการสงครามของรัฐพัฒนาเร็วมาก รัฐเกือบทั้งหมดในโลกแทบเป็นผู้ผูกขาดความรุนแรงอย่างสิ้นเชิง ไม่มีทางที่เราจะสะสมเงินซื้อปืนไปสู้กับงบประมาณแสนล้านของรัฐที่ลงกับกองทัพ ดังนั้นคนจึงต้องใช้สันติวิธี เพราะคุณไม่มีทางเลือก และในเมื่อไม่มีทางเลือกคุณก็ต้องยึดมั่นในสิ่งที่คุณมีให้ถึงที่สุดด้วย สันติวิธี เช่น นำจำนวนคนเข้าไปสู้ เชิงสัญลักษณ์ ที่เราทำกันอยู่" ภัควดีกล่าว

 

จุดอ่อนคือสับสน ไม่เป็นเอกภาพ สำเร็จน้อย

ภัควดีชี้ว่า มีการวิจารณ์ว่าขบวนการสังคมใหม่นั้นสับสน ไม่มีเอกภาพทางความคิด เพราะดูเหมือนเอาทุกเรื่อง ใ นอเมริกาไม่ได้พูดเรื่องประชาธิปไตย ความเสมอภาค เสรีภาพ เพราะมีอยู่แล้ว จึงพูดประเด็นของแต่ละกลุ่ม แต่ของไทยมีจุดร่วมกันทุกฝ่าย ก็เลยชัดเจน ดังนั้นอันนี้ไม่น่าเป็นข้อวิจารณ์ของขบวนการในไทยได้

ขณะที่เรื่องอัตลักษณ์ เช่น black lives matter ก็ดึงคนเข้าร่วมได้เยอะ แต่ถ้าสนใจเฉพาะประเด็นมากเกินไปก็อาจจะกลายเป็นไม่สนใจในเชิงการเมือง เหมือนกลุ่ม LGBT ในไทยก็ถูกวิจารณ์ว่าเอาแต่ประเด็นตัวเอง

ภัควดีมองว่า มีช่วงนึงคนจำนวนมากสิ้นศรัทธาในพรรคการเมือง ไม่เฉพาะเมืองไทยแต่เกิดทั่วโลก เพราะลัทธิเสรีนิยมใหม่ ระบอบสะสมทุนไม่ได้ให้ความมั่นคงในชีวิตกับเขาเลย ไม่มีสวัสดิการดูแลเขาเลย ซึ่งแง่หนึ่งพรรคการเมืองมันก็มีปัญหาจริงๆ เป็นชนชั้นที่ขูดรีดและสร้างปัญหาจริงๆ และถูกวิจารณ์เยอะว่าไม่ประสบความสำเร็จ  หลังขบวนการประชาชนแผ่วลงหลังสงครามอิรัก ก็ไปมีความหวังในอเมริกาใต้ ที่กลุ่มแรงงานกับชนกลุ่มน้อยรวมตัว ได้รัฐฝ่ายซ้าย แต่ใน 10 ปีนี้ก็แผ่วและหมดพลัง ได้ฝ่ายขวาเป็นรัฐแทน

ขณะเดียวกันที่ฝ่ายขวามีพลังก็เกิดจากลัทธิเสรีนิยมใหม่ เมื่อประชาชนมีความรู้สึกไม่มั่นคง ไม่มีแนวทางต่อสู้ สมัยก่อนมาร์กซิสมีพลัง ทุกคนหันไปหาสิ่งนี้ แต่เมื่อการปฏิวัติสังคมนิยมพ่ายแพ้ เมื่อคนไม่มีทางไป จึงหันไปหาฟาสซิสต์ ซึ่งลัทธินาซีเกิดขึ้นจากสิ่งนี้ ปัจจุบันคนเลยหันไปหาฝ่ายขวาประชานิยมอย่างอเมริกา ฟิลิปปินส์ คนหาแพะที่จะลงโทษ ส่วนใหญ่โทษคนที่สีผิวไม่เหมือนเรา ผู้อพยพ แรงงานข้ามชาติว่าแย่งงาน เมื่อหาแพะ ก็จะมีนักการเมืองใช้จุดพวกนี้เอาใจคนเพื่อเข้าสู่อำนาจ

 

กระบวนการแสวงหาฉันทามติ

ภัควดีระบุว่า ในความเป็นชุมชนสมัยโบราณ ไม่ใช้การโหวต เพราะถ้าเสียงโหวตเป็น 60:40 เสียง 40% อาจพร้อมแยกตัว ทำให้ชุมชนแตก จึงใช้ระบบอาวุโสหรืออย่างอื่นแทน การหาฉันทามติก็เป็นหนึ่งในวิธีของขบวนที่สำคัญ หลักคือต้องคิดเรื่องกลุ่มเป็นตัวตั้ง ปัจเจกบุคคลเป็นรอง สุดท้ายมติอาจจะไม่ใช่ทุกคนที่ชอบ แต่ดีที่สุดสำหรับกลุ่ม ดังนั้นอนาธิปไตยจึงเป็นพวกที่มีการจัดตั้งอย่างสูง กลุ่มมาก่อนปัจเจกบุคคล มีระเบียบวินัยพอสมควร ตรงข้ามกับที่คนเข้าใจที่เสนอให้ตัวเองเป็นเสรีชน

 

ต้องเลือกระหว่างการบล็อกหรือหลีกทาง

ภัควดีกล่าวว่า ในกระบวนการแสวงหาฉันทามติ หากเกิดการไม่เห็นพ้องต้องกันเกิดขึ้น สองประเภทที่ต้องเลือกในการแสดงออกคือ บล็อกหรือคัดค้านเมื่อมติขัดกับหลักจริยธรรมพื้นฐานของกลุ่ม หรือ หลีกทาง แม้ไม่เห็นด้วย แต่ไม่ขัดขวาง เช่น การสาดสีของแอมมี่ The Bottom Blues ถูกวิจารณ์จำนวนมากจนเกิดความปั่นป่วน ดังนั้นต้องคิดก่อนว่าจะบล็อกหรือจะหลีกทาง ซึ่งในกรณีสาดสี ส่วนตัวเธอคิดว่าเป็นเรื่องที่หลีกทางได้  เพราะถ้าไม่แยกสองสิ่งนี้ออกจากกัน คนทำงานจะทำงานไม่ได้ เพราะจะเกิดการวิจารณ์เต็มไปหมด และอาจเสียขบวน

หากเถียงแล้วไม่มีทางออก ให้หยุดก่อน อาจลงมติเสียงข้างมาก จับฉลาก หรือแช่เย็นไว้ก่อน เปิดให้สมาชิกทุกคนแสดงความเห็นอย่างไม่ถูกขัดจังหวะ นำเสนอความคิดตนโดยไม่วิจารณ์ความคิดคนอื่น ถ้ามีความคิดแตกต่างมาก

ส่วนเมื่อไหร่ที่ไม่ควรหาฉันทามติ คือเมื่อไม่มีกลุ่มที่เหนียวแน่น สมาชิกคิดแต่เรื่องตัวเอง ไม่มีทางเลือกที่ดีเพราะสุดท้ายก็จะไม่ดี ไม่มีข้อมูลเพียงพอ

ซึ่งข้อวิจารณ์สำหรับการหาฉันทามตินี้ก็เช่น การมีเผด็จการเสียงส่วนน้อย วีโต้พร่ำเพื่อ หรืออันธพาลจ้องจะเอาชนะให้ได้ทุกเรื่อง คนมีเวลา ประสบการณ์ ครอบงำกลุ่มได้ หรือคนเกรงใจ ไม่พูดตรงไปตรงมา

 

แค่ประชาธิปไตยไม่พอ ต้องกระจายอำนาจ

ภัควดีมองว่า ในขบวนการเคลื่อนไหวขณะนี้ การพูดแค่ว่าต้องการระบอบประชาธิปไตยอาจไม่พอ ส่วนตัวอยากให้มีการนำเสนอหลายๆ แบบ ให้คนเข้าใจว่าระบอบประชาธิปไตยไม่ได้มีแบบเดียว แล้วต้องมาพร้อมกับการกระจายอำนาจ บางคนยังเข้าใจว่า การกระจายอำนาจคือการแบ่งแยกตินแดน คนที่เข้าร่วมม็อบครั้งนี้บางคนก็อาจจะยังเห็นการให้สามจังหวัดชายแดนใต้เป็นเขตปกครองพิเศษคือการแบ่งแยกดินแดน และไม่เห็นด้วยก็ได้

 

ม็อบปัจจุบัน ต่อสู้ยาวนาน ต้องเพิ่มฐานมวลชน เพิ่มแรงกดดันต่อจนท.รัฐ

เมื่อถามว่ามีคำแนะนำต่อการขยับต่อของขบวนตอนนี้อย่างไร ภัควดีตอบว่า อย่างแรกต้องคิดว่าเป็นการต่อสู้ที่ยาวนาน ยืดเยื้อ เรื่องเดียวที่ไม่เห็นด้วยมากที่สุดคือ อย่าพูดในม้วนเดียวจบ ต้องคิดเรื่องการต่อสู้แบบยาว และอาจต้องทำบางประเด็นให้ชัดเจนขึ้นในระยะยาว เช่นเรื่องกระจายอำนาจ ถ้าไม่สร้างความกระจ่างเรื่องนี้ ก็อาจจะมีปัญหาทีหลัง

ต้องเพิ่มฐานมวลชนให้ได้ พูดตามตรงก็อาจต้องมุ่งหวังเหตุการณ์ภายนอก เช่น ม็อบเศรษฐกิจที่จะมาสมทบ แต่ขณะเดียวกันการดึงคนจำนวนมากเข้ามาก็แบบที่มีข้อวิจารณ์ว่าห้ามพูดเรื่องนั้น เรื่องนี้ ซึ่งคิดว่ามันวัดยาก แต่ก็ต้องลองทำไปเรื่อยๆ ถึงจะรู้เอง เช่น ตอนแรกคนบอกห้ามพูดเรื่องสถาบันคนจะมาน้อย แต่ตอนนี้คนมาเยอะขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าถึงจุดหนึ่งคนมาน้อยก็ต้องมาวิเคราะห์ว่าเพราะอะไร ที่สำคัญคือมันเป็นกระบวนการที่ยาว คาดหวังว่าจะชนะวันนี้ พรุ่งนี้ คงยาก

ขณะที่การสื่อสารเนื้อหาอาจจะไม่จำเป็นต้องปราศรัย แต่อยู่ในโซเชียลมีเดีย การตั้งเวทีทุกครั้งใช้ค่าใช้จ่ายเยอะ ขณะที่การมารวมตัวกันเฉยๆ ตอนนี้ โดยมีข้อเรียกร้องชัดเจนก็อาจจะดีกว่า แต่ควรต้องมีการยกระดับ กดดันเจ้าหน้าที่ให้มากขึ้น ให้เขารู้สึกว่าการปฏิบัติตามคำสั่งเจ้านายอย่างเดียว เขาก็จะอยู่ไม่ได้เหมือนกัน เราต้องบีบให้เขาเลือกระหว่างคำสั่งนายกับประชาชนด้วย

ขณะเดียวกัน ภัควดีมองว่า ต้องผลักพรมแดนสันติวิธีให้ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ใช่บีบเข้ามา พื้นที่ปฏิบัติการต้องกว้างที่สุด ไม่ใช่ยับตัวทำไรไม่ได้เลย

“บางทีกลายเป็นว่าสันติวิธีไปพรากอำนาจของคนที่ไม่มีอาวุธ” ภัควดีกล่าว

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net