รัฐสภารับร่างแก้ไข รธน. ฉบับพรรครัฐบาลและฝ่ายค้าน คว่ำร่างฉบับประชาชนเข้าชื่อ

ผลลงมติวาระแรก ที่ประชุมร่วมของสภารับหลักการร่างแก้ไขฯ ฉบับที่ 1 ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน และฉบับที่ 2 พรรคร่วมรัฐบาล แก้ ม.256 เปิดทางตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยผลลงมติผ่านเกณฑ์ ส.ว. หนุน 1 ใน 3 ขณะที่ร่างแก้ไขฯ ฉบับที่ 3 ถึง 6 ของฝ่ายค้าน และฉบับที่ 7 ฉบับล่าชื่อประชาชนที่ริเริ่มโดย iLaw ไม่ได้รับเสียงเกินกึ่งหนึ่ง โดยเพจ iLaw โพสต์คำแถลงผิดหวังรัฐสภาคว่ำร่าง ระบุวันนี้ไม่ใช่วันสุดท้ายที่รัฐสภาต้องตอบคำถามประชาชน และไม่ใช่วันสุดท้ายที่ประชาชนจะต่อสู้

18 พ.ย. 63 ที่อาคารรัฐสภาเกียกกาย มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) "พิจารณารับหลักการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ...." ซึ่งเริ่มประชุมมาตั้งแต่วันที่ 17 พ.ย. นั้น

วันนี้ (18 พ.ย. 63) ที่ประชุมร่วมของสภาเริ่มลงมติตั้งแต่เวลาประมาณ 13.00 น. โดยเป็นการลงมติแบบขานรายชื่อเรียงตามลำดับตัวอักษร สมาชิกหนึ่งคนขานมติทั้ง 7 ญัตติในครั้งเดียว

ผลปรากฏว่าสมาชิกส่วนใหญ่รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ฉบับที่ 1 ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่นำโดยพรรคเพื่อไทย และฉบับที่ 2 ของพรรคร่วมรัฐบาลที่ให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) โดยร่างฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2 ได้รับเสียงเห็นชอบจาก ส.ว.เกิน 1 ใน 3 ที่ว่าผ่านวาระที่ 1 รัฐสภารับหลักการ

ขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 ถึง 6 ของพรรคฝ่ายค้าน และร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 7 ที่ริเริ่มโดย iLaw และมีประชาชนเข้าชื่อเสนอนับแสนรายชื่อ ได้รับเสียงเห็นชอบไม่ถึงครึ่งหนึ่ง และไม่ได้เสียงเห็นชอบจาก ส.ว. เกิน 1 ใน 3 ร่างทั้ง 5 ฉบับที่เหลือจึงตกไป

ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 1 ขั้นตอนรับหลักการ ต้องได้คะแนนเสียงเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภา "ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มีอยู่สองสภา" หรือ 366 เสียงจาก 732 เสียง โดยขณะนี้มี ส.ส. ปฏิบัติหน้าที่ได้ 487 คน และมี ส.ว. ปฏิบัติหน้าที่ได้ 245 คน ในจำนวนนี้ต้องเป็นคะแนนเสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของวุฒิสภาที่มีอยู่ หรือต้องได้เสียงเห็นชอบจาก ส.ว. อย่างน้อย 82 คน

สำหรับรายละเอียดร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ฉบับที่ 1 พรรคเพื่อไทยและฝ่ายค้าน (ยกเว้นพรรคก้าวไกล) เสนอตั้ง ส.ส.ร. 200 คนมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่แตะเนื้อหาหมวด 1 และหมวด 2 เห็นชอบ 577 เสียง ไม่เห็นชอบ 21 งดออกเสียง 121 เสียง ในจำนวนเสียงเห็นชอบ ได้เสียง ส.ว. 127 เสียง ผ่านเกณฑ์ ส.ว. ขั้นต่ำ 82 เสียง

ฉบับที่ 2 พรรคร่วมรัฐบาล เสนอตั้ง ส.ส.ร. 200 คน มาจากการเลือกตั้ง 150 คน สรรหา 50 คน โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่แตะเนื้อหาหมวด 1 และหมวด 2 เห็นชอบ 647 เสียง ไม่เห็นชอบ 17 เสียง งดออกเสียง 55 เสียง ในจำนวนเสียงเห็นชอบ ได้เสียง ส.ว. 176 เสียง ผ่านเกณฑ์ ส.ว. ขั้นต่ำ 82 เสียง

ผลลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7 ร่าง โดยที่ประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 63 (ที่มา: เรียบเรียงโดย https://elect.in.th/con-vote/)

ผลลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยสมาชิกวุฒิสภา เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 63 (ที่มา: เรียบเรียงข้อมูลจาก https://elect.in.th/con-vote/)

ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 ถึง ฉบับที่ 7 ที่ได้เสียงเห็นชอบไม่ถึงกึ่งหนึ่ง และได้เสียง ส.ว. ไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำ 1 ใน 3 มีดังนี้

ฉบับที่ 3 พรรคร่วมฝ่ายค้าน เสนอยกเลิก ม.270 และ ม.271 ตัดอำนาจ ส.ว. ในการติดตามแผนปฏิรูปประเทศ ได้เสียงเห็นชอบ 213 เสียง ไม่เห็นชอบ 34 เสียง งดออกเสียง 472 เสียง

ฉบับที่ 4 พรรคร่วมฝ่ายค้าน เสนอแก้ ม.159 และ ยกเลิก ม. 272 ตัดสิทธิ ส.ว. ลงมติเลือกนายกฯ ได้เสียงเห็นชอบ 266 ไม่เห็นชอบ 21 งดออกเสียง 432 เสียง

ฉบับที่ 5 พรรคร่วมฝ่ายค้าน เสนอยกเลิก ม.279 เพื่อยกเลิกความชอบธรรมของประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เสียงเห็นชอบ 209 ไม่เห็นชอบ 50 เสียง งดออกเสียง 460 เสียง

ฉบับที่ 6 พรรคร่วมฝ่ายค้าน แก้ไขเพิ่มเติม ม.91 ม.92 และ ม.94 และยกเลิก ม.93 ม.101 (4) และ ม.105 วรรคสาม หรือคือการแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้ง 2 ใบ แบ่งเป็นแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ ยกเลิกการเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัตรใบเดียว แบบที่ใช้ในการเลือกตั้งปี 2562 ได้เสียงเห็นชอบ 268 เสียง ไม่เห็นชอบ 19 เสียง งดออกเสียง 432 เสียง

ส่วนฉบับที่ 7 ฉบับที่ริเริ่มโดย iLaw มีประชาชน 98,041 คนร่วมกันเข้าชื่อเป็นผู้เสนอ ได้เสียงเห็นชอบ 212 เสียง ไม่เห็นชอบ 138 เสียง งดออกเสียง 369 เสียง ถือว่าไม่ผ่านวาระแรกเนื่องจากไม่ได้รับเสียงส่วนใหญ่ในสภา และในจำนวนเสียงเห็นชอบมี ส.ว. 3 เสียง จึงไม่ผ่านเกณฑ์ ส.ว. ขั้นต่ำ 82 เสียง

iLaw แถลงผิดหวังรัฐสภาคว่ำร่างแก้ไข

ขณะที่เวลา 17.58 น. วันนี้ในเพจ iLaw ได้โพสต์บทความหัวข้อ #ก่อนท้องฟ้าจะสดใส : วันนี้ไม่ใช่วันสุดท้ายที่ประชาชนจะต่อสู้ เป็นที่น่าผิดหวัง ที่รัฐสภาลงมติไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนเข้าชื่อกันเสนอไว้พิจารณา ระบุเนื้อหาว่า

การพิจารณาลงมติของรัฐสภาที่ผ่านไปในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 เป็นเพียงการลงมติใน “วาระแรก” เท่านั้น หมายความว่า เป็นขั้นตอนของการพิจารณาหลักการที่เสนอเข้ามาซึ่งถ้าหลักการนั้นรับฟังได้ รัฐสภาก็จะนำไปพิจารณาในรายละเอียดต่อไป หากในรายละเอียดนั้นมีสิ่งที่เห็นแตกต่างกัน หรือพบปัญหาในทางเทคนิคกฎหมาย ก็สามารถนำไปแก้ไขได้ในวาระสอง และวาระสาม ซึ่งเป็นทั้งอำนาจและหน้าที่ของรัฐสภา ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของประชาชนผู้เสนอกฎหมาย

ในระหว่างการอภิปรายก่อนลงมติ ก็ยังไม่เห็นสมาชิกรัฐสภาที่อภิปรายได้ชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยกับหลักการใหญ่ของข้อเสนอที่ต้องการ "รื้อ" ถอนอำนาจของระบอบ คสช. "สร้าง" หนทางกลับสู่ประชาธิปไตย และ "ร่าง" รัฐธรรมนูญใหม่ โดยประชาชนทุกคน มีแต่การยกเหตุผล "นอกประเด็น" และปัญหาในทางเทคนิคขึ้นมากล่าวอ้าง

ดังนั้น การลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนตั้งแต่ในวาระแรก จึงนับเป็นการไม่ให้เกียรติต่อเสียงของประชาชนที่ร่วมกันเข้าชื่อเสนอกว่าแสนคน เป็นความน่าเสียดายที่ข้อเสนอของประชาชนที่สะท้อนเจตจำนงค์ร่วมกันไม่ได้ถูกนำไปพิจารณาร่วมกับข้อเสนอของร่างอื่นๆ ที่เสนอโดยพรรคการเมือง นอกจากนั้น ยังนับเป็นการปิดโอกาสที่จะหาทางออกสำหรับปัญหาทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ด้วยกลไกในระบบเพื่อสร้างกติกาใหม่ที่จะหาทางอยู่ร่วมกัน และพาสังคมไปข้างหน้าด้วยกัน

ข้อเสนอของภาคประชาชนที่นำมาเสนอต่อรัฐสภานี้ อาจมีทั้งข้อดีและข้ออ่อนอยู่บ้าง ซึ่งโดยหลักการสำคัญที่ประชาชนต้องการจะเห็นสมาชิกรัฐสภาก็ไม่ได้ให้เหตุผลที่จะปฏิเสธได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล ดังนั้น การลงมติไม่รับหลักการตั้งแต่ในวาระแรก ของรัฐสภาจึงเป็นเหตุการณ์ที่น่าอับอาย 

จากสถานการณ์การตื่นตัวของประชาชนในปัจจุบัน ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ประตูที่จะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เปิดขึ้นแล้ว ไม่ว่ารัฐสภาจะลงมติอย่างไรในวันนี้ก็ไม่อาจปิดประตูบานนี้ได้ แต่เมื่อรัฐสภาแสดงออกว่า ปฏิเสธที่จะทำหน้าที่ ก็เท่ากับผลักดันให้ผู้ที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องใช้กระบวนการและช่องทางอื่นแทน ซึ่งเมื่อองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงไม่ผลักดันข้อเรียกร้องของประชาชน ก็นับเป็นเรื่องน่ากังวลสำหรับอนาคตที่จะเกิดขึ้นต่อไปว่า กลไกแบบใดที่จะเข้ามาทำหน้าที่แทน

การรณรงค์เพื่อรื้อระบอบอำนาจของ คสช. ออกจากรัฐธรรมนูญ เกิดขึ้นมานานแล้ว ไม่ใช่เพียงการเข้าชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญที่อำนวยการโดย iLaw ความตื่นตัว ความตระหนักรู้ และความกระตือรือร้น ได้แผ่กระจาย แทรกซึมเข้าไปในสังคมวงกว้างแล้ว เมื่อประตูสู่การ “สร้างสังคมใหม่" ผ่านการออกแบบรัฐธรรมนูญได้ถูกเปิดขึ้น มันไม่อาจปิดลงได้เพียงเพราะการลงมติไม่กี่ครั้งของสมาชิกรัฐสภา แต่มันจะเดินหน้าต่อไปแบบแนวราบ โดยคนอีกจำนวนนับไม่ถ้วน ด้วยความหวัง ด้วยความจริง ด้วยเหตุผล ซึ่งก็จะเกิดเป็นข้อเรียกร้องที่อย่างไรเสียจะต้องถูกตีกลับมายังรัฐสภาอีกอยู่อย่างแน่นอนในวันข้างหน้า จนกว่าสามัญสำนึกของคนที่อยู่นั่งอยู่ในสภาจะทำงาน

วันนี้จึงไม่ใช่วันสุดท้ายที่สมาชิกรัฐสภาต้องตอบคำถามประชาชน และไม่ใช่วันสุดท้ายที่ประชาชนจะต่อสู้ให้ได้มาซึ่งระบอบการเมืองที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอย่างแท้จริง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท