'จาตุรนต์' - 'ส.ส.ก้าวไกล' ออกความเห็นปมบ้านพักทหาร

จาตุรนต์ ฉายแสง ยกกรณีสมัคร-สมชาย เตือนถ้าอยากเห็นระบบยุติธรรมที่ถูกต้อง ขออย่าคาดหวังให้ศาลรัฐธรรมนูญใช้เทคนิคกฎหมายมาแก้ปัญหาการเมือง ส่วนก้าวไกลจี้ประเด็น "ประยุทธ์" อยู่บ้านพักทหารทั้งที่เกษียณอายุแล้วถือว่ารับประโยชน์แน่นอนขัดรัฐธรรมนูญ แต่เชื่อว่าประยุทธ์รอด

1 ธ.ค. 2563 เวลา 11.40 น. ที่ศาลอาญา ถนนรัชดา จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และอดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน หลังเข้าพิจารณาคดี ในคดีหมายเลขดำที่ อ.3055/2562 ระหว่าง พนักงานอัยการฯ โจทก์ กับ จาตุรนต์ ฉายแสง จำเลย ข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.ฯ คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 กรณีแถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2557

แฟ้มภาพ

ในการพิจารณาคดีในวันนี้ จาตุรนต์ เปิดเผยว่า วันนี้เป็นการสืบพยานโจทก์ปากสุดท้ายคือ พนักงานสอบสวน และสืบพยานจำเลยปากแรกคือ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ในฐานที่เคยเป็นพนัหกงวานสอบสวน ผู้บังคับการกองปราบปราม และอดีตผู้บังคับบัญชาการตำรวจแห่งชาติ ส่วนในวันพรุ่งนี้ ตน จะเป็นผู้ขึ้นให้การต่อศาลเอง ทั้งนี้จาตุรนต์ย้ำว่า เวลานี้ไม่มีความกังวลใจใดๆ กับคดีนี้ เพราะดูจากพยานหลักฐาน และการสืบพยานก็ไม่มีอะไรน่าหนักใจ และคาดว่าคงใช้เวลาอีกไม่นานการสืบพยานก็น่าจะเสร็จสิ้น ซึ่งอาจจะมีการนัดฟังคำพิพากษาในช่วงปลายปีนี้

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงการนัดอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีบ้านพักนายทหารของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จาตุรนต์ ระบุว่า ในอดีตนั้นมีการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นคดีในทางเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายเลือกตั้ง และกฎหมายพรรคการเมือง เช่น กรณีของ สมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นเรื่องของการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ซึ่งเป็นเรื่องทางเทคนิค แต่ก็มีผลทำให้สมัคร พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมทั้งคณะรัฐมนตรีทั้งคณะก็พ้นจากตำแหน่งไปพร้อมกัน ส่วนอีกกรณีเป็นเรื่องที่ กรรมการบริหารพรรคทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง จนถูกศาลพิจารณาให้ใบแดง และเป็นเหตุให้ยุบพรรคการเมืองทั้งพรรค รวมทั้งมีผลให้นายกรัฐมนตรีคือ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และรัฐมนตรีทั้งคณะ ต้องพ้นจากตำแหน่ง

“ในเวลานั้นหลายคนมองว่า ศาลรัฐธรรมนูญใช้เรื่องเล็กๆ มาแก้ปัญหาทางการเมืองเพื่อยุติการชุมนุมในขณะนั้น ซึ่งผมคิดว่าการคิดอย่างนั้นไม่น่าจะถูก และถ้าเรื่องเป็นอย่างนั้นจริงๆ ก็ไม่น่าจะถูกต้อง ที่มีการเอาเรื่องทางเทคนิคมาใช้แก้ปัญหาทางการเมือง ส่วนกรณีของ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อมาถึงขั้นนี้แล้วผมขอไม่แสดงความเห็นว่า ถูกผิดอย่างไร แต่เมื่อคนอยากเห็นระบบยุติธรรมถูกต้อง ผมไม่อยากคาดหวังให้เอาเรื่องทางเทคนิคข้อกฎหมายแบบนี้มาแก้ปัญหาทางการเมือง เพราะปัญหาทางการเมืองก็ต้องแก้ด้วยการเมือง ส่วนปัญหาทางเทคนิคกฎหมายถ้าจะมีปัญหาก็ว่ากันไปตามกฎหมาย”

ส่วนกรณีที่ สุดารัตน์ เกยุราพันธ์ พร้อมด้วยสมาชิกพรรคเพื่อไทยรวม 4 คนคือ โภคิน พลกุล , วัฒนา เมืองสุข และ พงศกร อรรณนพพร ลาออกจาการเป็นสมาชิกพรรคไทยนั้น จาตุรนต์ มองว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และน่าติดตาม ซึ่งคงเป็นเรื่องที่ส่งผลต่อพรรคเพื่อไทยไม่น้อย นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องที่น่าติดตามด้วยว่า เกิดอะไรขึ้นกับนักการเมืองที่ลาออกไป แต่ตนไม่ทราบรายละเอียดสาเหตุที่มีการลาออก

สำหรับกรณีการทำกิจกรรมของกลุ่มนักเรียนที่ออกมารณรงค์ใส่ชุดไปรเวทไปโรงเรียนในวันนี้ จาตุรนต์ มองว่า การไม่แต่งชุดนักเรียนไปโรงเรียน เป็นเพียงตัวอย่างของการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของนักเรียนที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้กฎระเบียบที่เคร่งครัดเกินไปกับนักเรียน และจำเป็นต้องย้อนกลับมาดูที่ปัญหาใหญ่ของเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นในโรงเรียนและสถานศึกษา โดยเฉพาะระบบการศึกษาของไทยไม่ได้มุ่งเน้นให้นักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์ กล้าคิดวิเคราะห์ กล้าแสดงออก แต่กลับมุ่งเน้นให้ทำตามระเบียบ คำสั่งที่คร่ำครึ จนกระทั่งลืมไปว่าในโลกปัจจุบันนี้ เราต้องการให้เด็กนักเรียนกล้าคิด กล้าวิเคราะห์ ขณะเดียวกันครูก็ไม่ควรหมกมุ่นเกินไปว่านักเรียนจะทำตามระเบียบหรือไม่ แต่ควรใส่ใจในเรื่องกระบวนการในการเรียนการสอนมากกว่า และหลังจากนี้ทั้งโรงเรียน ครู และนักเรียน ควรที่จะใช้เหตุผลในการพูดคุยกัน เพื่อหาทางออกให้กับปัญหาใหญ่คือ ระบบการศึกษาไทย ที่ไม่เคยได้รับการปฏิรูปมานานนับ 10 ปี

“เราต้องมองว่าการเคลื่อนไหวของนักเรียนนั้นเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ที่เขาต้องการบอกว่าเขาไม่ต้องการอยู่กับระเบียบบที่คร่ำครึ เขาต้องการอะไรที่ทันสมัย ต้องการอะไรที่สร้างสรรค์ ต้องการการเรียนรู้แบบใหม่ ซึ่งตรงนี้ระบบการศึกษาไทยต้องไปแก้ปัญหาให้กับเขา ไม่ใช่ไปเน้นว่าทำอย่างไรจะให้ตัดผมกันให้สั้นมากๆ ทำอย่างไรจะให้แต่งตัวให้ถูกระเบียบ”

วิโรจน์-ธีรัจชัย ยันเกษียณแล้วอยู่บ้านพักทหารถือว่ารับประโยชน์

1ธ.ค. 2563 ทีมสื่อพรรคก้าวไกลรายงานว่า วิโรจน์ ลักขณาอดิศร พร้อมด้วย ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล เเถลงข่าวกรณีศาลรัฐธรรมนูญ นัดอ่านคำวินิจฉัยคำพิพากษากรณีบ้านพักนายทหารของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ธีรัจชัย พันธุมาศ กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 ที่บัญญัติไว้ว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เเละวุฒิสภา ต้องไม่รับเงินหรือประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐเป็นพิเศษ (คำว่าไม่รับเงินคือห้ามรับ เเม้จะมีสิทธิรับก็ตาม ) โดยมาตรา 186 ให้ใช้ตามมาตรา 184 เป็นอนุโลม ซึ่งจากกรณีดังกล่าว มีข้อโต้แย้งอ้างกันว่ากองทัพบกมีระเบียบว่าผู้ที่ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศ จะสามารถพักอาศัยอยู่บ้านพักข้าราชการทหารได้ ซึ่งในประเด็นนี้มีข้อสังเกตคือ

ธีรัจชัยกล่าวต่อว่า แม้ระเบียบของทางกองทัพบกจะเสนอว่าให้ทำได้ แต่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ว่า ส.ส. ส.ว. นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี ได้ถูกบัญญัติห้ามไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน แม้จะมีผู้เสนอมาก็รับประโยชน์อื่นใดเกิน 3,000 บาทไม่ได้ ซึ่งหากมีการคำนวนระยะเวลาการพักอาศัยในบ้านพักราชการของพลเอกประยุทธ์ มีค่าน้ำค่าไฟ รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตลอดระยะเวลาหลายปี มีค่าใช้จ่ายเกิน 3,000 บาทแน่นอน และไม่นับว่า พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่ได้ทำประโยชน์ให้บ้านเมือง แต่มาทำให้ประเทศชาติมีปัญหาซับซ้อนมากขึ้นตั้งแต่เป็นหัวหน้า คสช. จนสืบทอดอำนาจมาเป็นนายกรัฐมนตรี

นายธีรัจชัย ยังกล่าวด้วยว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะได้ใช้อำนาจ กลไกของคณะรัฐประหารวางบุคคลใกล้ชิดมาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งตุลาการในศาลรัฐธรรมนูญหลายคนก็ได้รับการแต่งตั้งและได้รับผลพลอยได้มาจาก คสช. อาทิ การสรรหาโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. โดย คสช.ออกคำสั่งที่ 48/2557 และมี สนช.ซึ่งแต่งตั้งโดยคสช.เป็นผู้พิจารณาเห็นชอบ จึงหวังว่ากระบวนการยุติธรรมต้องไม่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการรักษาอำนาจให้กับผู้มีอำนาจ หรือใช้เป็นทางลงให้กับผู้มีอำนาจ เพราะจะเป็นการทำลายหลักการนิติรัฐของประเทศ ไม่เป็นผลดีต่อความเชื่อมั่นและเชื่อถือในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน

ด้านวิโรจน์ระบุว่ากรณีที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงอยู่อาศัยในบ้านพักสวัสดิการทหาร ตั้งแต่เกษียณในตำแหน่ง ผบ.ทบ. เมื่อ ก.ย. 57 จนถึงปัจจุบัน ก็ประมาณ 6 ปี ซึ่งหากพิจารณาจาก “ระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในอาคาร บ้านพักของข้าราชการและลูกจ้างประจำในกองทัพบก พ.ศ.2553” ในหมวดที่ 3 ในข้อที่ 14.2 ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า บุคคลที่พ้นจากการเป็นข้าราชการไม่ว่ากรณีใดต้องย้ายออกจากบ้านพัก และในข้อที่ 15.1 ยังได้กำชับไว้ด้วยว่า กรณีที่ออกจากราชการไม่ว่ากรณีใด จะต้องย้ายออกจากบ้านพัก ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่ง ถ้ายึดหลักตามนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 58 เป็นต้นไป พล.อ.ประยุทธ์ จะมาอยู่ฟรีในบ้านพักสวัสดิการทหาร ไม่ได้อีกต่อไป นี่เท่ากับว่าจนถึงปัจจุบันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ถือวิสาสะอยู่ในบ้านพักสวัสดิการทหารแบบฟรีๆ ไม่ต้องเสียค่าเช่า มาถึง 5 ปี 8 เดือน ซึ่งจากการหาราคาบ้านเช่า ในย่านกรมทหารราบที่ 1 เขตพญาไท ก็พบว่าค่าเช่าบ้าน อย่างต่ำๆ ก็ต้องมีเดือนละประมาณ 49,000 บาท เท่ากับว่า การอยู่บ้านพักสวัสดิการทหารแบบฟรีๆ มา 5 ปี 8 เดือน ของ พล.อ.ประยุทธ์ นี่มีมูลค่าสูงถึง 3.3 ล้านบาท และจากประกาศของ ป.ป.ช. ก็ได้ห้ามมิให้เจ้าพนักงานรัฐรับทรัพย์ หรือประโยชน์อื่นใดเกิน 3,000 บาท ซึ่งได้ระบุเอาไว้ในข้อที่ 6 (1) อย่างชัดเจน ดังนั้น การอยู่บ้านพักแบบฟรีๆ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงถือเป็นการรับประโยชน์อื่นใดที่เกิน 3,000 บาท แน่นอน

เมื่อมาพิจารณาดูรัฐธรรมนูญ ในหมวดที่ 9 (การขัดกันแห่งผลประโยชน์) มาตรา 184 (3) ซึ่งได้ระบุเอาไว้ว่า ส.ส. และ ส.ว. ต้องไม่รับเงิน หรือประโยชน์ใดๆ จากหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เป็นพิเศษ นอกเหนือไปจากที่หน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจปฏิบัติต่อบุคคลอื่นๆ ในธุรกิจการงานปกติ ซึ่งมาตรา 186 ได้ให้นำเอาความในมาตรา 184 มาบังคับใช้กับรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีด้วย ในส่วนนี้ จึงถือได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ เข้าข่ายการรับประโยชน์อื่นใด อย่างไม่ต้องสงสัยเลย

สำหรับข้อโต้เถียงว่า ทางกองทัพบกมีการยกเว้นให้กับ นายทหารที่เกษียณราชการแล้ว แต่ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติ เช่น นายกรัฐมนตรี, รองนายกรัฐมนตรี, คณะรัฐมนตรี, สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และองคมนตรี ยังสามารถอาศัยอยู่ได้ตามปกติ แต่เป็นการชี้แจงเมื่อเดือน ก.พ. 63 นี้เอง หลังจากที่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ได้สั่งการให้นายทหารที่เกษียณอายุราชการออกจากบ้านพักสวัสดิการ ภายในสิ้นเดือน ก.พ. 63

วิโรจน์กล่าวว่าเป็นการชี้ชัดที่ผ่านมา การที่นายทหารที่เกษียณอายุราชการแล้ว ยังคงพักอาศัยในบ้านพักสวัสดิการ นั้นเป็นการปล่อยปละละเลยของกองทัพเอง สำหรับข้อยกเว้น ก็เพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อเดือน ก.พ. 63 นี้เอง ยิ่งเป็นการผูกมัดว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับประโยชน์อื่นใด มาตั้งแต่ 1 เม.ย. 58 ถึง 29 ก.พ. 63 หรือ 4 ปี 11 เดือน คิดเป็นค่าเช่ามูลค่าเท่ากับ 2.89 ล้านบาท ซึ่งก็เกินกว่า 3,000 บาท อยู่ดี

สำหรับข้ออ้างชี้แจงว่า เหตุที่ไม่ได้ไปอาศัยที่บ้านพิษณุโลก ซึ่งเป็นบ้านพักรับรองนายกรัฐมนตรี เพราะหากไปอยู่ที่บ้านพิษณุโลก ก็ต้องมีการซ่อมแซม ซึ่งสิ้นเปลืองงบประมาณ ในประเด็นนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ต้องชี้แจงให้สังคมทราบด้วยว่า บ้านพักที่ พล.อ.ประยุทธ์ พักอยู่ในปัจจุบัน ที่กรมทหารราบที่ 1 ได้ใช้งบซ่อมแซมหรือไม่ ซ่อมแซมมาแล้วกี่ครั้ง ใช้งบประมาณไปเท่าไหร่ มีการออกแบบ ตกแต่งภายใน ต่อเติม และดัดแปลงต่างๆ จนทำให้บ้านพัก นั้นผิดไปจากแบบของบ้านพักสวัสดิการ หรือไม่ อย่างไร ซึ่งหน่วยงานที่จะตอบคำถามนี้ได้ คือ กรมยุทธโยธาทหารบก นอกจากนี้ ยังต้องตรวจสอบเพิ่มเติมอีกด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีการนำเอาพลทหารไปรับใช้หรือไม่ ถ้ามี มีกี่นาย ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าสาธารณูปโภคต่างๆ พล.อ.ประยุทธ์ จ่ายเองหรือไม่

แม้ว่าหลักฐานทั้งหมด จะมัดแน่น จนดิ้นไม่หลุดขนาดนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยอภินิหารของรัฐธรรมนูญปี 60 ที่ คสช. ได้รังสรรค์ให้มีองคาพยพต่างๆ ขึ้นมา จึงเชื่อได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะรอดพ้นจากข้อกล่าวหานี้ไปได้แน่ๆ เพียงแต่สิ่งที่สังคมจับตา และเงี่ยหูฟัง อย่างใจจดใจจ่อก็คือ เรื่องราวนี้ ที่จะอธิบายว่า พล.อ.ประยุทธ์ นั้นรอดได้อย่างไร วิโรจน์กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท