Skip to main content
sharethis

สภาฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ 406 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง เห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ. ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 14/2559 เรื่อง ศอ.บต. และการกำหนดอำนาจหน้าที่ของ กอ.รมน. จาตุรนต์ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว อภิปรายคำสั่ง คสช. ฉบับนี้ทำให้การทำงานของ ศอ.บต. ขาดความเชื่อมโยงกับประชาชน การยกเลิกคำสั่งมีผลให้ ศอ.บต. ที่แต่งตั้งโดยคำสั่งนี้สิ้นสุดอำนาจลง

 

10 ก.ค. 2567 เดอะสแตนดาร์ดรายงาน ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 3 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 มีมติวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 14/2559 เรื่อง คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และการกำหนดอำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ซึ่งคณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว

จาตุรนต์ ฉายแสง ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว อภิปรายหลักการของร่าง พ.ร.บ. โดยระบุว่า กรรมาธิการได้ใช้ร่าง พ.ร.บ. ที่ ชูศักดิ์ ศิรินิล เสนอมาเป็นร่างหลักในการพิจารณา จากที่มีผู้เสนอมาทั้งหมด ผลการพิจารณาทั้ง 6 มาตรา กรรมาธิการฯ สรุปได้ดังนี้

1) คณะกรรมาธิการฯ เห็นว่า เมื่อมีการยกเลิกคำสั่ง คสช. ดังกล่าว จะมีผลให้ ศอ.บต. ที่แต่งตั้งโดยคำสั่งนั้นสิ้นสุดลง รวมถึงผลของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง ตลอดจนมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เกี่ยวข้อง และอ้างถึงสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และประธานสภาที่ปรึกษาฯ ที่ถูกงดบังคับใช้โดยคำสั่ง คสช. นั้น กลับมามีผลบังคับใช้เช่นเดิม

2) คณะกรรมาธิการฯ ได้เพิ่มบทบัญญัติใหม่ขึ้น 1 มาตรา เพื่อกำหนดกรอบเวลาในการแต่งตั้งสภาที่ปรึกษาฯ ให้ชัดเจน และได้เพิ่มเติมเหตุผล ข้อสังเกต ของร่าง พ.ร.บ. ให้ ครม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงแก้ไข โดยให้มีความสอดคล้องและเหมาะสมกับการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน รวมถึงให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน

จาตุรนต์กล่าวต่อไปถึงที่มาของเหตุผลและข้อสังเกตหลายประการ เนื่องจากคณะกรรมาธิการฯ ได้ศึกษาผลของคำสั่ง คสช. ที่ 14/2559 ทำให้เห็นว่า ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา คำสั่งนี้ทำให้มีคณะกรรมการที่ปรึกษาฯ ซึ่งไม่เชื่อมโยงกับประชาชน ทำให้ประชาชนขาดช่องทางเชื่อมโยงกับการทำงานของ ศอ.บต. อย่างที่เคย นอกจากนี้ คำสั่ง คสช. ดังกล่าวยังปรับบทบาทของ ศอ.บต. ให้ขึ้นตรงกับ กอ.รมน. คณะกรรมาธิการฯ เห็นว่า คำสั่ง คสช. นี้มีผลอย่างมาก ทำให้สภาที่ปรึกษาฯ ไม่สามารถทำหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ศอ.บต. ไม่มีความเชื่อมโยงกับประชาชน และถูกจำกัดบทบาทลงเพราะต้องไปขึ้นตรงกับ กอ.รมน. ทั้งหมดนี้ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. ที่จัดให้มี ศอ.บต. ขึ้น

ที่ประชุมสภาฯ ลงมติเป็นเอกฉันท์ 406 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง เห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ. ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 14/2559 เรื่อง ศอ.บต. และการกำหนดอำนาจหน้าที่ของ กอ.รมน. 

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net