Skip to main content
sharethis

อัยการสูงสุดของศาลอาญาระหว่างประเทศ ฟาตู เบนซูดา ระบุไม่สามารถสั่งฟ้องต่อจีนในกรณีค่ายกักกันอุยกูร์ที่ถูกมองว่าเทียบเท่ากับเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยสาเหตุไม่สามารถฟ้องร้องเรื่องนี้ได้เพราะจีนไม่ได้เป็นผู้ที่ลงนามกับศาลอาญาระหว่างประเทศ

ภาพถ่ายในเดือนเมษายน 2017 แสดงให้เห็นผู้ควบคุมตัวชาวอุยกูร์นั่งฟังคำบรรยาย ภายในสถานกักกันในเมืองโฮตาน (Hotan prefecture) ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ (ที่มา: RFA)

ในกรณีที่มีข้อกล่าวหาว่ารัฐบาลจีนก่อเหตุสังหารหมู่และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติจากการจับชาวอุยกูร์ในมณฑลซินเจียงเข้าค่ายกักกันนั้น ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ก็แถลงว่าพวกเขาไม่สามารถสั่งฟ้องทางการจีนได้

เคยมีกลุ่มชาวอุยกูร์ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศในเรื่องค่ายกักกันนี้เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมาพร้อมหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องการกักกันปรับทัศนคติชาวอุยกูร์และชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมอื่นๆ มากกว่า 1 ล้านคน นอกจากนี้ยังมีการบังคับทำหมันผู้หญิงในค่ายเหล่านี้

อย่างไรก็ตามฟาตู เบนซูดา อัยการสูงสุดของ ICC เปิดเผยในรายงานเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ที่ผ่านมาว่าพวกเขาไม่สามารถดำเนินการสั่งฟ้องได้เพราะเหตุการณ์เกี่ยวกับชาวอุยกูร์ที่เกิดขึ้นนั้นเกิดขึ้นในพื้นที่เขตแดนของจีนและจีนก็ไม่ได้เป็นผู้ลงนามกับศาลอาญาระหว่างประเทศ

เบนซูดาระบุในรายงานประจำปีว่า "เงื่อนไขเบื้องต้นสำหรับการดำเนินการด้านดุลยพินิจทางเขตแดนจากศาลนั้นดูเหมือนจะไม่เป็นไปตาม(พื้นที่)ส่วนใหญ่ที่อาชญากรรมถูกกล่าวหาว่าเกิดขึ้น" สำหรับอีกกรณีหนึ่งที่มีการพูดถึงการสั่งให้ส่งตัวชาวอุยกูร์ที่อยู่ในทาจิกิสถานและกัมพูชากลับประเทศจีนนั้น รายงานฉบับเดียวกันนี้ก็ระบุว่า "ยังไม่มีมูลเหตุให้ต้องเริ่มดำเนินการในตอนนี้"

กลุ่มชาวอุยกูร์โต้แย้งว่าการส่งตัวชาวอุยกูร์กลับประเทศตามที่จีนเรียกร้องนั้นไม่ได้เกิดขึ้นในแผ่นดินจีนดังนั้น ICC จะสามารถดำเนินการได้เพราะเกิดขึ้นในเขตแดนทาจิกิสถานและกัมพูชาที่เป็นสมาชิกของ ICC ทั้งคู่ รายงานของ ICC ระบุอีกว่าทนายความตัวแทนกลุ่มชาวอุยกูร์เรียกร้องให้ศาลพิจารณาใหม่อีกครั้งโดยตั้งอยู่บนมูลฐานของ "ข้อเท็จจริงใหม่หรือหลักฐานใหม่"

กรณีการจับกุมและคุมขังชาวอุยกูร์ในค่ายกักกันมากกว่า 1 ล้านคนนั้นเคยมีการรายงานเรื่องนี้จากสหประชาชาติ แต่ทางการจีนก็ปฏิเสธว่าข้อกล่าวหานี้ไม่มีมูลความจริงและอ้างว่าค่ายกักกันในซินเจียงเป็นศูนย์ฝึกอบรมวิชาชีพที่พยายามทำให้ผู้คนออกจากแนวทางแบบสุดโต่ง

อย่างไรก็ตามจากรายงานและคำให้การของพยานระบุว่าชาวอุยกูร์ในค่ายกักกันถูกคุมขังโดยที่พวกเขาไม่ได้สมัครใจ

ศาลอาญาระหว่างประเทศเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นในปี 2545 เพื่อใช้ให้ความเป็นธรรมต่อกรณีอาขญากรรมที่โหดร้ายในระดับโลก แต่ก็มีเงื่อนไขว่าทาง ICC ไม่มีพันธะผูกมัดใดๆ ที่จะต้องพิจารณาคำฟ้องร้องที่ส่งมาถึงอัยการ โดยที่อัยการสามารถตัดสินใจเองได้ว่าจะยื่นฟ้องในกรณีต่างๆ หรือไม่โดยไม่จำเป็นต้องอิงกับศาล


เรียบเรียงจาก

ICC prosecutor rejects Uighur genocide complaint against China, Aljazeera, 15-12-2020
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net