Skip to main content
sharethis

สมาคมภัตตาคารไทยทำจดหมายเปิดผนึกถึง 'ประยุทธ์' ถึงผลกระทบจากคำสั่งที่จะไม่ให้นั่งรับประทานที่ร้านอาหาร โดยให้ซื้อกลับบ้านเท่านั้น ชี้มีผลกระทบรุนแรง เบื้องต้นประเมินจะทำให้ยอดขายหายไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท ในไตรมาส 1/2564


ที่มาภาพประกอบ: Unsplash/yasuotakeuchi

3 ม.ค. 2564 มติชนออนไลน์ รายงานว่าหลายจังหวัดเตรียมออกคำสั่งห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้าน โดยให้สั่งซื้อกลับบ้านเท่านั้น เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่มาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อภัตตาคารและร้านอาหารที่จะมีรายได้ลดลง ซึ่งอาจส่งผลให้ต้องปลดคนงานออกเป็นล้านคน จึงมีการทำหนังสือถึงนายกฯเพื่อให้พิจารณาอย่างรอบด้าน ไม่ควรห้ามนั่งกินในร้าน โดยให้มีมาตรการป้องกันเข้มงวดตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 2 ม.ค. ที่ผ่านมา นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่าสมาคมฯ ทำจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถึงผลกระทบจากคำสั่งที่จะไม่ให้นั่งรับประทานที่ร้านอาหาร โดยให้ซื้อกลับบ้านเท่านั้น โดยเนื้อหาจดหมายได้ชี้แจงข้อมูลเรื่องผลกระทบ หากมีมาตรการห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้านอาหาร และให้ซื้อกลับเท่านั้น ซึ่งมีผลกระทบรุนแรงแน่นอน เพราะร้านอาหารเป็นธุรกิจเอสเอ็มอี และไมโครเอสเอ็มอี มีมูลค่าธุรกิจ 4 แสนล้านบาทต่อปี หากประกาศออกมาจะกระทบต่อรายได้ เบื้องต้นประเมินจะทำให้ยอดขายหายไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท ในช่วงไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.) ของปีนี้

นางฐนิวรรณ กล่าวว่านอกจากนี้จะมีผลกระทบเป็นห่วงลูกโซ่ ได้แก่ ปัญหาการจ้างงาน จะทำให้พนักงานตกงานทันทีเป็นจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันร้านอาหารที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ ประมาณ 3.3 หมื่นร้าน มีพนักงานหลักล้านคน แต่ตัวเลขจริงในระบบประเมินมีร้านอาหารประมาณหลักแสนร้าน ดังนั้นพนักงานที่จะได้รับผลกระทบจะหลายล้านคนแน่นอน เพราะมีร้านค้าเล็กๆ อีกจำนวนมาก นอกจากนี้จะส่งผลกระทบกับสินค้าภาคการเกษตร ที่เป็นวัตถุดิบประกอบอาหาร จะทำให้รายได้เกษตรกรลดลง ล่าสุดผลจากโควิด-19 ที่กระทบกับตลาดกุ้ง ทางสมาคมฯ ร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ รับซื้อกุ้ง 20 วัน หากร้านอาหารให้ลูกค้ารับประทานที่ร้านไม่ได้ การรับซื้อกุ้งดังกล่าวอาจต้องชะลอไว้ก่อน

นางฐนิวรรณ กล่าวว่าสมาคมฯ ส่งจดหมายถึงนายกฯ ผ่านไปยังสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เบื้องต้น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย แจ้งว่าจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) วันที่ 6 ม.ค. นี้ เวลานี้ต้องรอให้มีการประชุมเพื่อสะท้อนปัญหาดังกล่าวไปยังนายกฯ

“สาเหตุที่ต้องทำหนังสือถึงนายกฯเพราะรู้สึกคับแค้นใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การแพร่ระบาดของโควิดเกิดขึ้นจากบ่อน สถานบันเทิง ไม่ใช่ร้านอาหาร ขณะที่สมาคมฯเองปฏิบัติตามมาตรฐานสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด รัฐควรไปจัดการต้นเหตุ” นางฐนิวรรณกล่าวและว่า หากให้ลูกค้าซื้อกลับบ้าน นั่งรับประทานที่ร้านไม่ได้ ทำให้ยอดขายลดลง ส่งผลให้แรงงานในระบบหลายล้านคนต้องตกงาน เพราะธุรกิจคงอยู่ไม่ไหวเมื่อรายได้ลดลง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net