'เอกชัย' ยื่นหนังสือถึง EU อายัดทรัพย์ผู้เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน

'เอกชัย'​ ยันระเบียบ​ EU​ ให้อำนาจประเทศสมาชิกอายัดทรัพย์สินของบุคคลหรือองค์กรที่มีความเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่อยู่ในประเทศสมาชิก EU​ แม้ไทยจะไม่ใช่สมาชิก EU แต่หากมีคนไทยกระทำการเข้าเงื่อนไข​ EU​ ก็สามารถถูกอายัดทรัพย์ได้

6 ม.ค. 2564 วันนี้ เอ​ก​ชัย​ หงส์​กังวาน​ นักกิจ​กรรม​ทางการเมือง​ ยื่นหนังสือถึง​ คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย (European Union Delegation) เพื่อเรียกร้องให้ EU อายัดทรัพย์สินผู้ที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยได้เชิญประชาชน นักเคลื่อนไหวที่ถูกรัฐบาลดำเนินคดีจากการชุมนุมทางการเมือง​ ทั้งคดีตาม​ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, คดีตาม​ พ.ร.บ.​ ชุมนุมสาธารณะ, ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา​ 116​ และมาตรา​ 112​ และอื่นๆ​ ร่วมยื่นจดหมายร้องเรียนต่อ EU​ โดยนำหลักฐานการถูกดำเนินคดี​หมายเรียกจากตำรวจ ภาพถ่ายหรือสำเนาคำฟ้องแนบมาด้วย

ผู้ร่วมยื่นหนังสือที่สำคัญคือ​ สมยศ​ พฤกษาเกษมสุข​ แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย, ณัฏฐธิดา​ มีวังปลา​ พยานสำคัญคดี 6 ศพวัดปทุมฯ แล้วตกเป็นจำเลยคดีอาญามาตรา 112, ธานี สะสม​ ชาวบ้านที่ขึ้นเวทีเยาวชนปลดแอก แล้วโดนหลายคดี​ ขณะที่ผู้แทน EU ให้เจ้าหน้าที่เป็นตัวแทนมารับหนังสือจากกลุ่มของนายเอกชัย​ ด้านหน้าตึก​ Athenee​ Tower ซึ่งเป็นอาคารที่ทำการ​ EU​ 

​เอก​ชัย​ กล่าวว่า ​คณะกรรมการ EU ออกระเบียบว่าด้วยมาตรการที่เข้มงวดเพื่อต่อต้านการกระทำความรุนแรง และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง โดยอาศัยอำนาจตามสนธิสัญญาก่อตั้งสหภาพยุโรป ซึ่งมีผลบังคับใช้กับประเทศที่เป็นสมาชิก EU อย่างน้อย 27 ประเทศ​ เพื่อต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่รวมถึงการบังคับสูญหาย, การจับกุมคุมขังบุคคลโดยพลการ, การกระทำรุนแรงหรือละเมิดต่อเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสันติ​และการกระทำรุนแรงต่อเสรีภาพในการแสดงความเห็นด้วย

เอกชัย​ ยืนยันว่า​ ระเบียบ​ EU​ ให้อำนาจประเทศสมาชิก สามารถอายัดทรัพย์สินของบุคคลหรือองค์กรที่มีความเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่อยู่ในประเทศสมาชิก EU​ แม้ไทยจะไม่ใช่สมาชิก EU แต่หากมีคนไทยกระทำการเข้าเงื่อนไข​ EU​ ก็สามารถถูกอายัดทรัพย์ได้ ซึ่งรวมถึงบุคคลที่ถือ 2 สัญชาติ ที่หนึ่งในนั้น เป็นสัญชาติในประเทศสมาชิก EU ด้วย

 

ก่อนหน้านี้วันที่ 5 ม.ค. เอกชัยได้โพสต์เฟซบุ๊กแจกแจงเหตุการณ์ทางการเมืองที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนตามลำดับ ดังนี้

– ช่วงปี พ.ศ.2557-2562 คสช.อาศัยอำนาจ ม.44 ในการอุ้ม/ปรับทัศนคติประชาชน รวมถึงการสูญหายของผู้หลบภัยทางการเมืองในประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีหลักฐานเกี่ยวโยงกับ คสช.

– ปีที่ผ่านมา รัฐบาลใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูง/แก๊สน้ำตาเพื่อสลายการชุมนุมอย่างสันติ และการรื้อฟื้น ม.112 เพื่อปิดปากผู้วิจารณ์สถาบันฯ โดยสุจริต
การกระทำเหล่านี้ย่อมถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามระเบียบนี้

3.EU มีอำนาจใดในการต่อต้านผู้ที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน?
ระเบียบนี้ มาตรา 3 ให้อำนาจประเทศสมาชิก EU สามารถอายัดทรัพย์สินของบุคคล/องค์กรที่มีความเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่อยู่ในประเทศสมาชิก EU

4.ไทยไม่ใช่สมาชิก EU ระเบียบนี้มีผลบังคับใช้หรือไม่?

แม้ไทยจะไม่ใช่สมาชิก EU แต่ระเบียบนี้ มาตรา 19 กำหนดให้ประเทศสมาชิก EU มีอำนาจที่จะอายัดทรัพย์สินตามกฎหมายของบุคคล/องค์กรตามนิยามเหล่านี้

– บุคคลที่ถือสัญชาติในประเทศสมาชิก EU (natural person inside or outside the territory of the Union who is a national of a Member State) ดังนั้น ใครที่ถือสัญชาติประเทศสมาชิก EU ย่อมเข้าข่าย

– บุคคล/องค์กรที่จดทะเบียบจัดตั้งตามกฎหมายในประเทศสมาชิก EU (legal person, entity or body, inside or outside the territory of the Union, which is incorporated or constituted under the law of a Member State) ดังนั้น บริษัทที่จดทะเบียนในประเทศสมาชิก EU (บริษัทนำเข้า/ส่งออก) หรือดินแดนอาณานิคมของประเทศสมาชิก EU เช่น หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน ย่อมเข้าข่าย

– บุคคล/องค์กรที่ทำธุรกรรมในประเทศสมาชิก EU (legal person, entity or body in respect of any business done in whole or in part within the Union) ดังนั้น บุคคลที่มีบัญชีเงินฝาก หรือบริษัทที่มีหุ้นจำหน่ายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศสมาชิก EU ย่อมเข้าข่าย

5.บุคคล/องค์กรใดที่อาจเข้าข่ายถูกอายัดทรัพย์สินตามระเบียบนี้?

โดยเอกชัยระบุว่า
– รัฐไทย : ในฐานะใช้อำนาจรัฐในการละเมิดสิทธิมนุษยชน
– นายกรัฐมนตรี : ในฐานะผู้ใช้อำนาจรัฐในการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อดำเนินคดีผู้ชุมนุม และการรื้อฟื้น ม.112 เพื่อปิดปากฝ่ายตรงข้าม
– คณะรัฐมนตรี : ในฐานะผู้อนุมัติการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
– ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ : ในฐานะผู้อนุมัติการใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูง/แก๊สน้ำตาเพื่อสลายการชุมนุมอย่างสันติ
– สำนักงานตำรวจแห่งชาติ : ในฐานะเจ้าของรถฉีดน้ำแรงดันสูง/แก๊สน้ำตา
– ผู้บัญชาการทหารบก : ในฐานะผู้อนุมัติการใช้ยุทธภัณฑ์ทางทหาร เช่น ลวดหนามหีบเพลง
– กองทัพไทย: ในฐานะเจ้าของยุทธภัณฑ์ทางทหาร
– บริษัทเอกชน : กรณีการสลายการชุมนุมที่รัฐสภา (เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา) หากปรากฏหลักฐานการใช้พื้นที่ของบริษัทเบียร์ที่อยู่ใกล้รัฐสภาเป็นพื้นที่ซ่องสุมของเจ้าหน้าที่รัฐ บริษัทนี้ย่อมเข้าข่ายในฐานะผู้ให้การสนับสนุน

 

เรียบเรียงจาก มติชน, วอยซ์ทีวี

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท