Skip to main content
sharethis

นักกิจกรรมชาวไทย เดินสายยื่นหนังสือสถานทูตหลายประเทศ แจงสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชน-แสดงจุดยืน 'เอเปค' ต้องไม่ใช่เวทีสร้างความชอบธรรมให้ 'ประยุทธ์' พร้อมนัดชุมนุมใหญ่ 17 พ.ย.นี้ ที่แยกอโศก 

 

15 พ.ย. 2565 ทีมสังเกตการณ์การชุมนุม 'Mobdata' รายงานวันนี้ (15 พ.ย.) ตั้งแต่เวลา 10.30 น. นักกิจกรรมการเมือง จัดกิจกรรม "What’s happend in Thailand" เดินทางไปยื่นหนังสือตามสถานเอกอัครราชทูตประเทศต่างๆ ได้แก่ แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหรัฐฯ ตามลำดับ เพื่อแจ้งให้ทราบถึงสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย เช่น การดำเนินคดีทางการเมือง การละเมิดสิทธิการประกันตัวของผู้ถูกกล่าวหา การใช้เครื่องมือติดตามกับนักกิจกรรม และอื่นๆ และมีการย้ำจุดยืนว่า การประชุมเอเปคช่วง 16-18 พ.ย.นี้ ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพ ไม่ควรเป็นเวทีสร้างความชอบธรรมให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

กิจกรรมเริ่มตั้งแต่เวลา 10.25 น. ที่บริเวณหน้าตึกอับดุลราฮิม ประชาชนมายื่นหนังสือถึงสถานทูตแคนาดา ประจำประเทศไทย โดยบรรยากาศการดูแลความปลอดภัยจากเจ้าหน้าที่ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบสีกากี ราว 25 นาย คอยดูแลรักษาความปลอดภัย ขณะที่บริเวณรอบๆ พื้นที่มีรถกระบะตำรวจจอดอยู่ 3 คัน จาก สน.ทุ่งมหาเมฆ และตำรวจสันติบาล

กระทั่งเวลา 10.30 โดยประมาณ ตัวแทนสถานทูตลงมารับหนังสือกับทางกลุ่มประชาชน

ภาพขณะยื่นหนังสือให้เจ้าหน้าที่สถานทูตแคนาดา

รายละเอียดเนื้อหาในหนังสือ 

เรียนเอกอัครราชทูตประจำประเทศแห่งระบอบประชาธิปไตย

ในวันนี้เราเขียนจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้เพื่อแจ้งให้ทราบถึงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยในปัจจุบัน และจุดยืนของเราที่มีต่อการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปค พ.ศ. 2565 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

ภายหลังการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีในปี 2562 ท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองที่ไม่ปกติส่งผลให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง การกลับมาของรัฐบาลเผด็จการ นำไปสู่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วประเทศในปี 2563 ซึ่งมีข้อเรียกร้องสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และองคาพยพ ต้องลาออก 2) ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และ 3) ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย

การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ไม่ใช่ข้อเรียกร้องเพื่อล้มล้างสถาบันกษัตริย์ แต่เป็นข้อเรียกร้องเพื่อนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและงบประมาณ เพื่อให้เป็นสถาบันกษัตริย์มีความโปร่งใส และตรวจสอบได้ ปัจจุบัน สถาบันกษัตริย์เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธุรกิจผูกขาดและยังมีบทบาทสำคัญในการผูกขาดธุรกิจจนส่งผลให้ประชาชนต้องเผชิญกับความเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรงทั่วประเทศ ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในฐานะสถาบันหลักของชาติ นำไปสู่การเรียกร้องให้มีการยกเลิกมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ที่เกี่ยวข้องกับ “การหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมาตรา 112 กลายมาเป็นอาวุธสำคัญของรัฐในการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของประชาชนในกิจการสาธารณะ (SLAPPs) เนื่องจากการเคลื่อนไหวและการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเปิดเผย กลายเป็นสาเหตุที่ทำให้นักกิจกรรมทางการเมืองเพื่อประชาธิปไตย ตกเป็นเหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการใช้ความรุนแรงจากรัฐในรูปแบบต่างๆ ประการแรก รัฐใช้กำลังและความรุนแรงในการเข้าสลายการชุมนุมโดยสันติของประชาชน ส่งให้มีผู้บาดเจ็บมากกว่า 526 ราย เสียชีวิต 2 ราย โดยหนึ่งในผู้เสียชีวิตเป็นเยาวชนที่มีอายุเพียง 15 ปีเท่านั้น ประการที่สอง มีการดำเนินคดีมาตรา 112 กับนักกิจกรรมทางการเมือง และประชาชนเป็นจำนวนมาก อย่างน้อย 217 รายใน 236 คดี ซึ่งจำนวนนี้รวมไปถึงเยาวชนที่ออกมาใช้สิทธิทางการเมืองด้วย นอกเหนือจากนี้ ยังมีการดำเนินคดีอื่นๆ กับประชาชน เช่น มาตรา 116 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ประการที่สาม ผู้ต้องหาในคดีทางการเมืองเผชิญกับความผิดปกติและไม่ได้รับสิทธิในการพิจารณาคดีอย่างยุติธรรมภายใต้ ICCPR รัฐบาลเผด็จการใช้ตุลาการเป็นเครื่องมือสำคัญในการพิพากษาประชาชน ที่ผ่านมา ในการพิพากษาคดีทางการเมืองมักมีความผิดปกติต่างๆ เกิดขึ้น เช่น มีการปฏิเสธการให้สิทธิการประกันตัวในคดีทางการเมือง ซึ่งเป็นสิทธิที่ถูกระบุไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR ที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในภาคี มีการบังคับผู้ต้องหาในคดีทางการเมืองติดอุปกรณ์ติดตาม หรือ EM ซึ่งเป็นเงื่อนไขในการประกันตัว ศาลมีการปฏิเสธไม่ให้จำเลยใช้หลักฐานของตนเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่มีการพาดพิงในการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ และมีการปฏิเสธไม่อนุญาตให้มีผู้สังเกตการณ์ในการสืบพยานคดีมาตรา 112 

มากไปกว่านั้น นักกิจกรรมทางการเมืองเพื่อประชาธิปไตย นักการเมือง และ NGOs ไม่น้อยกว่า 30 ราย ตกเป็นเหยื่อของการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและสิทธิมนุษยชน จากการใช้สปายแวร์ในเครื่องมือสื่อสาร และการแอบติดอุปกรณ์ GPS ในรถยนต์ส่วนบุคคล เพื่อสอดส่องข้อมูลส่วนตัว ดักจับสัญญาณ และติดตามความเคลื่อนไหวของประชาชนในทุกย่างก้าว

ดังนั้น เราจึงมุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในฐานะตัวแทนจากประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย จะมีการพิจารณาถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากรัฐบาลไทยดังที่กล่าวมาในจดหมายฉบับนี้ เพราะเราเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า การประชุมเอเปค ไม่ควรเป็นเวทีในการสร้างความชอบธรรมให้กับผู้นำที่ได้อำนาจมาจากกระบอกปืน ไม่ใช่อาณัติของประชาชน

ด้วยความเคารพ และหวังเป็นอย่างยิ่ง 

ประชาชนชาวไทย   

แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม
กลุ่มทะลุวัง
กลุ่มศาลายาเพื่อประชาธิปไตย
We Volunteer 
โดมปฏิวัติ
เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน
Supporter Thailand (SPT)
กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย Democracy Restoration Group (DRG)
กลุ่มทะลุแก๊ส
กลุ่มคณะราษฎรยกเลิก 112 (ครย.112)
คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.)
กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ
กลุ่มนักเรียนเลว
สหภาพคนทำงาน Workers' Union

เวลา 10.40 น. นักกิจกรรมได้เคลื่อนขบวนออกจากหน้าตึกอับดุลราฮิม ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานทูตแคนาดา เพื่อเดินทางไปยื่นหนังสือที่สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลีย ถนนสาทร โดยมีตัวแทนสถานทูตฯ เป็นผู้รับมอบหนังสือ ขณะที่บริเวณรอบๆ มีตำรวจจำนวนหนึ่งประจำการรักษาความปลอดภัย

ภาพขณะยื่นหนังสือให้สถานทูตออสเตรเลีย

ทั้งนี้ ทีม Mobdata รายด้วยว่า ช่วงระหว่างเดินทางจากสถานทูตแคนาดา มาที่สถานทูตออสเตรเลีย นักกิจกรรมเดินทางด้วยรถกระบะของนักกิจกรรมจำนวน 2 คัน ขณะที่บางส่วนขับจักรยานยนต์ ทราบว่ามีรถของเจ้าหน้าที่ตำรวจนำขบวนให้

เวลา 11.10 น. ประชาชนเคลื่อนขบวนรถมาถึงบริเวณข้างอาคาร "All Season Place" (ออลซีซันเพลส) ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานเอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ ถนนวิทยุ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจให้นักกิจกรรมจอดบริเวณข้างอาคารดังกล่าว และมีตำรวจนายหนึ่งแจ้งกับนักกิจกรรมขอให้ความร่วมมือรออยู่ที่ด้านหน้าอาคาร ทางเจ้าหน้าที่กำลังประสานให้ตัวแทนสถานทูตลงมารับมอบหนังสือ 

เวลา 11.15 น. ตัวแทนสถานทูตนิวซีแลนด์ลงมาพบกับนักกิจกรรม มีการพูดคุยกันเล็กน้อยก่อนจะยื่นหนังสือให้กับทางตัวแทนสถานทูต

ภาพขณะยื่นหนังสือให้ตัวแทนจากสถานทูตนิวซีแลนด์

เวลา 11.23 น. นักกิจกรรมเดินเท้าไปยื่นหนังสือที่สถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ถนนวิทยุ โดยครั้งนี้ทางสถานทูตสหรัฐฯ รับหนังสือโดยไม่มีเจ้าหน้าที่สถานทูตลงมารับหนังสือและถ่ายรูปอย่างเป็นกิจจะลักษณะ 

ทั้งนี้ หน้าสถานทูตสหรัฐฯ นักกิจกรรมมีการอ่านแถลงการณ์ และแถลงข่าวว่าจะมีการนัดยื่นหนังสือให้กับสถานทูตฝรั่งเศส อีกแห่งหนึ่งในเวลา 14.00 น. ของวันนี้ (15 พ.ย.) และนัดหมายการชุมนุมใหญ่วันที่ 17 พ.ย. 2565 เวลาเที่ยงตรง ที่แยกอโศก 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net