Skip to main content
sharethis

การทำแท้ง ประเด็นละเอียดอ่อนในสังคมไทย มันดำรงอยู่ แต่ไม่อยากยอมรับ กฎหมายยังกำหนดโทษเหมือนเดิมแม้จะเบาลง สิทธิในเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิงไม่ใช่จุดตั้งต้นของการแก้กฎหมายครั้งนี้ แต่ถูกคนอื่นกำหนดให้

  • คณะกรรมาธิการผ่านร่างกฎหมายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 และ 305 ซึ่งเกี่ยวกับการทำแท้ง โดยอนุญาตให้ทำแท้งได้ในอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์
  • ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ได้ตั้งต้นจากสิทธิของผู้หญิงตามหลักการสิทธิมนุษยชน แต่นำตัวอ่อนซึ่งยังไม่มีสิทธิใดๆ เข้ามาร่วมพิจารณาด้วย
  • ร่างกฎหมายยังคงให้อำนาจรัฐ ผู้ประกอบวิชาชีพ และสภาวิชาชีพเป็นผู้กำหนดว่า ผู้หญิงจะทำแท้งได้หรือไม่ มากกว่าจะเป็นสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิงเอง

สำหรับผู้ที่ติดตามการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการทำแท้งในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301-305 ขณะนี้ตัวร่างได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ.... มาตรา 301 ว่าด้วยรายละเอียดของการทำแท้งแล้ว ขั้นตอนต่อจากนี้คือการเสนอเข้าสู่รัฐสภา

ถามว่าคือชัยชนะของภาคประชาชนที่ผลักดันประเด็นนี้มานานหรือเปล่า คงต้องตอบว่า ไม่

เนื่องจากเนื้อหาสาระของกฎหมายและความคิดที่อยู่เบื้องหลังมิได้ตั้งต้นที่สิทธิของผู้หญิง ไม่มีเนื้อหาจากร่างของประชาชนเข้าไปเลย แต่เป็นการช่วงชิงอำนาจระหว่างรัฐ ผู้ประกอบวิชาชีพ นักกฎหมายว่าใครคือผู้กำหนดเงื่อนไขการทำแท้ง

ว่าด้วยการทำแท้งในมาตรา 301 และ 305

สุไลพร ชลวิไล จากกลุ่มทำทาง อธิบายรายละเอียดของมาตรา 301 และมาตรา 305 ซึ่งเป็นหัวใจของเรื่องนี้ว่า ผู้หญิงสามารถทำแท้งได้ในอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ หากเกินกว่านี้จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเป็นอัตราโทษที่เบากว่ากฎหมายเดิม

ส่วนในมาตรา 305 ที่วางเงื่อนไขให้ทำแท้งได้โดยผู้กระทำไม่มีความผิดต้องทำโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและทำตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภา แต่เดิมกำหนดไว้เพียง 2 ข้อคือผลกระทบต่อสุขภาพและถูกล่วงละเมิดทางเพศ ขณะที่ร่างใหม่กำหนดไว้ 5 ประการคือ

1.จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากหากหญิงตั้งครรภ์ต่อไปจะเสี่ยงกับการได้รับอันตรายต่อสุขภาพทางกายหรือใจของหญิงนั้น

2.จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากมีความเสี่ยงอย่างมากหรือมีเหตุผลทางการแพทย์อันควร เชื่อได้ว่าหากทารกคลอดออกมาจะมีความผิดปกติถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง

3.หญิงยืนยันต่อผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมว่าตนมีครรภ์เนื่องจากมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ

4.หญิงซึ่งมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์

5.หญิงซึ่งมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์ภายหลังการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศ กำหนดโดยคำแนะนำของแพทยสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

ทำแท้งต้องเป็นเรื่องสุขภาพ ไม่ใช่โทษอาญา

เมื่อดูเนื้อหาของร่างกฎหมายเชื่อว่าคนจำนวนหนึ่งคงรู้สึกเห็นด้วย ยอมรับได้ และน่าจะเพียงพอแล้ว แต่นั่นเป็นการมองผ่านตำแหน่งแห่งที่ที่ไม่คำนึงถึงสิทธิของผู้หญิงเป็นจุดตั้งต้น สุไลพร กล่าวว่า

“ไม่ใช่ว่าพอหรือไม่พอ แต่ที่คุณแก้กฎหมายทั้งหมดไม่ได้ตั้งต้นจากสิทธิของผู้หญิงตามหลักเกณฑ์สิทธิมนุษยชนที่บอกว่า คุณไม่ควรกำหนดอายุครรภ์เพราะมันเป็นการจำกัดสิทธิ แต่ประเทศไทยตั้งหลักการแก้กฎหมายโดยที่มีสิทธิของตัวอ่อนอยู่ในมือ ถ้าในมุมของเราก็จะบอกว่าคุณแก้กฎหมาย คุณไม่ได้ฟังเราเลย คุณไม่เคารพหลักการสิทธิมนุษยชนด้วย แล้วจะมาบอกว่าเรายังไม่พอ มันไม่ใช่ คุณนั่นแหละที่ใช้อำนาจและเผด็จการ

“เราพูดมาตั้งนานว่าจะต้องยกเลิกการลงโทษ ต้องเอาเรื่องนี้ออกจากกฎหมายอาญาแล้วทำไมทำไม่ได้ ก็เป็นคำถามของเราที่ถามกลับไปที่ภาครัฐ ในเมื่อสิ่งที่เราพูดไม่ได้เรียกร้องมาจากความต้องการของเราเอง แต่มันได้รับการรองรับด้วยหลักสิทธิมนุษยชนและงานวิจัยมากมาย ตอนที่เขาร่างมาว่าไม่เกิน 12 สัปดาห์ เราก็ต้องมานั่งเถียงกับเขาว่ามีงานวิจัยที่ชี้ชัดว่าทำแท้งตอนอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ก็มีความปลอดภัย หมอที่ทำอยู่ก็มาพูด แต่คุณไม่ฟังอะไรเลย”

หากตั้งต้นประเด็นการทำแท้งจากสิทธิของผู้หญิง สิ่งนี้จะไม่อยู่ในกฎหมายอาญา แต่อยู่ในบริการสุขภาพ สุไลพร เล่าว่า นักกฎหมายคนหนึ่งในที่ประชุม กมธ. พูดว่า ‘เราไม่ใช้คำว่าสิทธิตัวอ่อน เราใช้คำว่าทารก’ ซึ่งทำให้การพูดคุยดำเนินไปคนละทิศคนละทาง เป็นเพราะในหลักสิทธิมนุษยชนตัวอ่อนไม่มีสิทธิ จะมีสิทธิก็ต่อเมื่อคลอดออกมาแล้วเท่านั้น

“พอเราบอกเขาว่าตัวอ่อนไม่มีสิทธิ เขาก็บอกว่าอย่ามาใช้คำว่าตัวอ่อน อันนี้คือทารก เราต้องปกป้องสิทธิทารก”

ภาพจากวิกิพีเดีย

สิทธิผู้หญิงต้องมาก่อนตัวอ่อน

สุไลพรขยายความว่า ในหลักการสิทธิมนุษยชนรับรองสิทธิของบุคคลเมื่อบุคคลนั้นคลอดและมีชีวิตอยู่คล้ายกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 15 ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานสำคัญในกติการะหว่างประเทศอื่นๆ 

ขณะที่กฎหมายไทยระบุว่าตัวอ่อนมีสิทธิและต้องหาสมดุลระหว่างสิทธิของตัวอ่อนและสิทธิของผู้หญิง เป็นมุมมองของนักกฎหมายไทยและศาลรัฐธรรมนูญ โดยคำว่า ‘สิทธิของตัวอ่อน’ อยู่ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและเอกสารรายงานของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ร่างกฎหมายนี้ขึ้นมา

“แม้ว่าในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กจะกล่าวว่าขณะที่หญิงตั้งครรภ์จะต้องดูแลทารกในครรภ์ให้ดี มันเหมือนกับว่าเขารับรองสิทธิของทารกที่อยู่ในครรภ์ แต่ไม่ใช่ คนที่อธิบายตรงนี้บอกว่าเขาให้ความสำคัญกับสิทธิของผู้หญิง ให้ความสำคัญกับการดูแลด้านโภชนาการของแม่ สิทธิของผู้หญิงต้องมาก่อนเสมอ

“แต่เราต้องยอมรับว่าทั่วโลก แม้แต่ในประเทศที่อนุญาตให้ทำแท้งได้อย่างถูกกฎหมายก็มีการกำหนดอายุครรภ์ ส่วนใหญ่เป็น 12 สัปดาห์ แต่ในมุมมองของคนที่เคลื่อนไหวด้านสิทธิในการทำแท้ง สิทธิมนุษยชน สิทธิผู้หญิง มันถึงได้มีการต่อสู้ เพราะแม้จะอนุญาตให้ทำแท้งแล้ว แต่ก็ยังมีข้อจำกัดว่าให้ทำแท้งได้เท่านี้เท่านั้น แปลว่าคุณไม่ได้ให้สิทธิกับผู้หญิงอย่างเต็มที่ เราจึงเสนอว่าถ้าประเทศไทยจะแก้กฎหมายก็ไม่ต้องเอาตามคนอื่น ถ้าคุณแก้กฎหมายโดยใช้หลักสิทธิมนุษยชนจริงๆ คุณต้องไม่เอาผิดผู้หญิง คุณต้องมองว่าผู้หญิงมีสิทธิเต็มที่ในเนื้อตัวร่างกายของเขา”

ชีวิตเธอที่เธอยังไม่ได้กำหนด

คาดว่าหลังจากร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาในสภาจะมีการแก้ไขเนื้อหาอีกรอบ เมื่อถึงจุดนั้นภาคประชาชนที่ผลักดันสิทธิของผู้หญิงก็หมดหนทางต่อรองแล้ว สุไลพร กล่าวว่า ตั้งแต่ในชั้นของ กมธ. ภาคประชาชนที่ทำงานด้านนี้ไม่มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วม มีเพียงกฤตยา อาชวนิจกุล นักวิชาการและตัวแทนของเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมเพียงคนเดียวเท่านั้น

เมื่อกฎหมายผ่านการพิจารณาของสภาแล้ว แพทยสภาจะกำหนดแนวทางเพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 305 (5) อีกทีหนึ่ง

“เอาเข้าจริงกระบวนการแก้ไขกฎหมาย สุดท้ายมันเป็นการช่วงชิงอำนาจว่าใครจะเป็นคนกำหนด หมอ กรมอนามัย นักกฎหมาย หรือแพทยสภา แต่ผู้หญิงไม่มีอำนาจเลย”

เป็นผลให้กฎหมายมาตรา 301 และ 305 ยังคงให้อำนาจภาครัฐ แพทย์ สภาวิชาชีพ เป็นผู้กำหนดว่าผู้หญิงจะทำแท้งได้หรือไม่ มากกว่าจะให้ตัวผู้หญิงเป็นผู้กำหนดชีวิตและเนื้อตัวร่างกายของตนเอง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net