Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในฐานะที่กลุ่มทำทางของเราเป็นกลุ่มที่ต่อสู้เรื่องการยกเลิกการลงโทษทางอาญาต่อผู้หญิงที่ทำแท้งมาตลอด และยังคงจะต่อสู้ต่อไป แม้ว่ามันจะยังไม่สำเร็จ แต่เราก็ได้เรียนรู้เกี่ยวกับความคิดของสังคมไทยที่มีต่อเรื่องนี้มากมาย จนอาจสามารถเขียนหนังสือได้เป็นเล่ม

นับตั้งแต่วันที่คุณหมอศรีสมัยถูกดำเนินคดี ย้อนไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อมได้ดำเนินการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301-305 หมวดว่าด้วยการทำแท้งว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ อันเป็นที่มาของคำวินิจฉัย และการแก้ไขกฎหมายทำแท้งที่มีผลบังคับใช้จริงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนั้น เป็นเสมือนถ้อยคำอันศักดิ์สิทธิที่ถูกนำมาอ้างอิงถึงตลอดระยะเวลาการแก้ไขกฎหมายของหน่วยงาน ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งดำเนินการในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา

แม้หลายครั้งจะมีการเอ่ยอ้างว่า เพราะคดีของคุณหมอศรีสมัยเป็นต้นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ แต่น้ำเสียงที่พูดถึงก็ยังมีนัยในทางลบมากกว่า เมื่อเทียบกับการคำชมกับศาลรัฐธรรมนูญได้วางกรอบการแก้ไขกฎหมายมาเป็นอย่างดีแล้ว 

สิ่งที่เราได้เห็นคือ ไม่มีใครนอกจากเราที่ตั้งคำถามกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า เต็มไปด้วยความคิดแบบชายเป็นใหญ่อย่างไร ไม่มีใครตระหนักว่าคำวินิจฉัยนั้นขัดกับหลักการสิทธิมนุษยชนสากลที่       ให้สิทธิในการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยต่อผู้หญิงเต็มที่ ซึ่งถือเป็นบรรทัดฐานในการแก้ไขกฎหมายของ หลายๆ ประเทศในยุคสมัยนี้อย่างไร

นอกจากไม่มีการตั้งคำถามต่อคำวินิฉัยแบบชายเป็นใหญ่ และขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังน่าเศร้าใจที่ระบบอำนาจ และกระบวนการแก้ไขกฎหมายของไทย ก็ยังเดินตามรอยคำวินิจฉัยอย่างไม่แตกแถว 

ยิ่งไปกว่านั้น”กรมอนามัย”ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ซึ่งด้านหนึ่งมีหน้าที่ต้องส่งเสริมบริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย เพื่อลดอัตราการบาดเจ็บ และเสียชีวิตจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย ก็ไม่พูดข้อเท็จจริงที่ว่า ปัจจุบันมีเครือข่ายแพทย์ และสหวิชาชีพอาสาส่งต่อยุติตั้งครรภ์ปลอดภัยที่ช่วยยุติการตั้งครรภ์ให้ผู้หญิงได้ถึง 24 สัปดาห์ (ซึ่งคุณหมอศรีสมัยก็เป็นแพทย์คนหนึ่งในเครือข่ายนี้) แต่กลับเลือกยืนข้างคนออกกฎหมาย แล้วพูดแบบคายข้อมูลออกมาแค่ว่า 12 สัปดาห์เท่านั้นที่ปลอดภัย โดยแท็คทีมกับหมอที่ไม่ได้ทำแท้ง และไม่อยากทำแท้ง แบบราชวิทยาลัยสูติ และแพทยสภา ไปพูดสนับสนุนร่างกฎหมายของกฤษฎีกาทุกเวที ตั้งแต่ขั้นตอนการเสนอร่างแก้ไขกฎหมายต่อสภา กระทั่งวาระการลงมติ ถามว่า มันยุติธรรมแล้วหรือที่ เสียงคนที่ดังกว่าอยู่แล้วโดยตำแหน่ง ยังได้รับโอกาสได้พูดมากกว่า พูดทุกครั้ง ในขณะที่เสียงของประชาชนที่ได้รับผลกระทบไม่เคยได้รับฟัง ไม่เคยได้รับโอกาสให้เข้าไปนำเสนอแม้สักครั้งเดียว ไม่ต้องพูดถึงข้อเท็จจริงที่ถกเถียงกันในเวทีเหล่านั้น ข้อเท็จจริงที่ว่า ตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล และกติการะหว่างประเทศตัวอ่อนไม่มีสิทธิ แบบที่กฎหมายไทยที่ใช้มาร้อยกว่าปี และนักกฎหมายที่อ้างแต่หลักศีลธรรมคุณธรรมบอก 

นอกจากนั้นสิ่งที่ทุกคนในสังคมควรรู้ก็คือ ข้อมูลที่กรมอนามัย แพทยสภา ราชวิทยาลัยสูตินั่งยันยืนยันเป็นแค่ความจริงไม่ถึงครึ่งหนึ่ง และข้อมูลที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเขียนในเอกสารการประกอบการพิจารณาแก้ไขกฎหมาย ให้กับคณะกรรมาธิการ ก็เป็นการเลือกให้ข้อมูลที่เข้าข้างเหตุผลของตนเอง การบอกว่าที่ผ่านมาหากไม่มีกฎหมายลงโทษผู้ที่ทำแท้งจะทำให้สังคมวุ่นวายนั้นไม่เป็นความจริง  ความจริงก็คือ 60 ปีที่ผ่านมาที่บังคับใช้กฎหมายลงโทษ มีการดำเนินคดีในความผิดฐานทำแท้ง ในมาตรา 301 น้อยมาก เพราะเป็นเรื่องยากที่จะหาหลักฐานในการกระทำความผิด และตำรวจเองก็ไม่อยากดำเนินคดีในคดีเหล่านี้  หากจะพูดถึงกรณีการพบซากตัวอ่อน การทลายคลินิกทำแท้งเถื่อน การจับคนที่ขายยาทำแท้ง ซึ่งมักเป็นคดีดังๆ สิ่งที่คนแก้กฎหมาย และสังคมควรจะมองเห็นมากกว่าก็คือ การมีกฎหมายลงโทษ ห้ามผู้หญิงไปทำแท้งไม่ได้ และมันเปิดช่องให้มีการทำแท้งที่ผิดกฎหมาย ผู้ที่ทำแท้งต้องเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต  เพราะมีกฎหมายที่มาจากกรอบความคิดศีลธรรมอยู่แบบนี้ 

อย่างไรก็ตาม ในเมื่อวันนี้หน่วยงาน สถาบันที่เกี่ยวข้องทั้งหลายได้ผลักดันให้มีกฎหมายที่อนุญาตให้ผู้ที่ยุติการตั้งครรภ์ภายในอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ออกมาแล้ว ไม่รวมมาตรา 305 ที่ยังเปิดช่องอนุญาตให้หมอทำแท้งให้ในอีกหลายเงื่อนไข  สิ่งที่เราจะจับตาดูอย่างใกล้ชิดก็คือ กฎหมายฉบับนี้จะช่วยผู้ที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์ให้ปลอดภัยได้มากขึ้นจริงหรือไม่

สิ่งที่จะต้องออกมาแน่ๆ คือ หลักกฎเกณฑ์ของแพทยสภา ที่มากำกับผู้ประกอบวิชาชีพ ว่าจะให้ทำเรื่องนี้ภายใต้กติกาอะไร ซึ่งแน่นอนว่า เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ประชาชนไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง นอกจากรอรับผลที่จะเกิดขึ้น 

ในมาตรา 305 วงเล็บ 5 ที่ดูเหมือนหวังดีว่าจะอนุญาตให้หมอช่วยทำแท้งให้ได้ถึงอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ หากมาผ่านกระบวนการคำปรึกษาทางเลือก และผ่านการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายป้องกันและแก้ไขการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น  จริงๆ เป็นเรื่องที่สร้างความยุ่งยาก และในความเป็นจริง (ขีดเส้นใต้คำว่า ความเป็นจริง ) ทุกวันนี้หน่วยงานให้คำปรึกษาทางเลือก คือ หน่วยงานเอกชน ไม่ใช่หน่วยงานภาครัฐ  ขยายความเพิ่มเติมไปอีกคือ ที่ทำๆ กันมา เครือข่ายแพทย์ และสหวิชาชีพอาสาส่งต่อยุติตั้งครรภ์ ทำงานเหมือนเป็นเอ็นจีโอ ที่เป็นลูกของรัฐ แต่จริงๆ แล้วรัฐไม่ได้มีงบสนับสนุนอะไรมากมายเลย นอกจากค่าเหมาจ่ายรายหัวในการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ปลอดภัยที่ได้รับสนับสนุนจากสปสช. รายละ 3,000 บาท

สรุปสั้นๆ ปัจจุบัน ไม่ว่ากฎหมายเก่าหรือกฎหมายใหม่ หากต้องการจะเข้าถึงบริการ คุณต้องหาให้เจอก่อนว่า 

1.หน่วยงานที่ให้คำปรึกษาอยู่ที่ไหน (ย้ำหน่วยงานเหล่านี้คือองค์กรพัฒนาเอกชน) 

2.ต้องรู้ว่าอายุครรภ์ตนเองเป็นเท่าไหร่ เพื่อจะได้ยุติการตั้งครรภ์ได้อย่างไม่ผิดกฎหมาย (ถาม : ข้อมูลเรื่องการนับอายุครรภ์ ใครสอน หาได้จากที่ไหน) 

3.หากตัดสินใจไปยุติการตั้งครรภ์ แล้วในจังหวัดที่ไม่มีบริการ หรือเลือกให้บริการแบบเฉพาะเจาะจงในเงื่อนไขที่สถานบริการนั้นกำหนดเองอย่างที่เป็นอยู่ จะต้องทำอย่างไร 

4.ถ้าอายุครรภ์เกินที่กฎหมายกำหนดมา 1 วัน หรือ 1 สัปดาห์ เดินทางไปยังสถานบริการต่างพื้นที่แล้ว ยังต้องผ่านกระบวนการขั้นตอนที่ยุ่งยากให้คนอื่นมาตัดสินใจว่าทำได้หรือไม่ได้ เป็นคุณๆ จะไปไหม 

เอาแค่ 4 คำถามเบื้องต้น ขอถามผู้ออกกฎหมายว่า 12 สัปดาห์อนุญาตให้ทำแท้งได้ นอกจากออกกฎหมาย และกำลังจะออกกฎเกณฑ์ ข้อบังคับแพทยสภาตามมาแล้ว คิดจะทำอะไรอีกบ้าง เพื่อรับประกันได้ว่าผู้ที่ต้องการเข้าถึงการทำแท้งอย่างปลอดภัยจะได้รับบริการที่ปลอดภัยในอายุครรภ์ที่ถูกขีดเส้นไว้ได้จริงๆ มันไม่ใช่แค่ว่า โยนมาว่าประชาชนมีหน้าที่ต้องรู้กฎหมาย (รวมถึงมีหน้าที่ต้องรู้เองด้วยไหมว่า ต้องนับอายุครรภ์ให้เป็น ไปอัลตร้าซาวด์ก่อน ต้องรู้ว่าต้องโทรถามที่เบอร์ไหน สถานบริการอยู่ที่ไหน) 

กฎหมายจะเปลี่ยนความคิดของสังคมไทยเกี่ยวกับการทำแท้งที่ปลอดภัย และช่วยชีวิตคนได้จริงหรือไม่ เป็นสิ่งที่เราทุกคนควรจะตั้งคำถามกับตัวเอง และจับตามองหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

เมื่อทำแท้งไม่ผิดกฎหมายในระดับหนึ่งแล้ว หลักสูตรเพศศึกษาจะเปลี่ยนไหม ถ้านักเรียนมาปรึกษาครูว่าต้องการยุติการตั้งครรภ์ ครูจะแนะนำ ให้ข้อมูลไหม  

สื่อที่นำเสนอข่าวเกี่ยวกับประเด็นทำแท้ง จะเลิกใช้ภาพประกอบเป็นรูปคนท้องโต ที่อายุครรภ์มากกว่า 24 สัปดาห์ไหม จะเลิกใช้ภาพที่ป้ายสีให้การทำแท้งเป็นเรื่องน่ากลัวไหม

โรงพยาบาลจะอัลตร้าซาวด์โดยไม่จับฝากครรภ์ แล้วเลิกเรียกคนที่มาฝากครรภ์ว่าคุณแม่อย่างนั้น คุณแม่อย่างนี้ไหม

พระอาจารย์ที่สอนเรื่องคุณธรรมจริยธรรม จะเลิกเอาภาพการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยมาใช้ประกอบการสอนเพื่อขู่ให้คนกลัวไหม มันเป็นภาพที่บิดเบือนข้อเท็จจริงเรื่องการทำแท้งปลอดภัย ซึ่งเป็นบริการสุขภาพ 

คนที่ชอบพูดว่า ทำไมไม่ป้องกันให้ดี จะเลิกว่าแต่ฝ่ายที่ตั้งครรภ์ แล้วกลับไปตั้งคำถามกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษา สถาบันต่างๆ เรื่อง ทุกวันนี้เราทำให้ผู้ชายมีส่วนร่วมในการคุมกำเนิดได้มากน้อยแค่ไหน บอกให้ผู้ชายใส่ถุงยาง ทำหมัน หรือรับผิดชอบกับสิ่งที่มีส่วนร่วมกระทำได้มากน้อยแค่ไหน  นอกจากข้อเท็จจริงที่ว่าไม่มีวิธีการคุมกำเนิดใดจะได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว สิ่งที่สังคมยังพูดน้อยมากคือ  การคุมกำเนิดจะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และมีความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง ถ้าเป็นการคุมกำเนิดสองทางคือ ฝ่ายชายก็ต้องคุมกำเนิดด้วย  

อาจจะยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่า กฎหมายทำแท้งฉบับใหม่ที่ออกมาจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือไม่เปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง  แต่ในเมื่อออกกฎหมายมาแบบนี้แล้ว หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการออกกฎหมาย ออกข้อบังคับ และบังคับใช้กฎหมาย ขอให้คิด ปฏิบัติ และรับผิดชอบต่อผลของการออกกฎหมายด้วย 

เพราะมันเป็นหน้าที่โดยตรงของท่านด้วยหรือไม่กับ

การสร้างความรู้ สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการทำแท้งที่ปลอดภัย และการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายใหม่กับสังคมทุกภาคส่วน 

ทั้งในภาคการศึกษาการให้ข้อมูลเรื่องการนับอายุครรภ์ ข้อมูลเรื่องยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย 

ภาคการให้บริการ หมอ พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ สร้างให้เกิดบริการที่ครอบคลุม ไม่ตีตรา ประชาสัมพันธ์ ไม่กำหนดเงื่อนไขให้เสียเวลามากขึ้น กำหนดงบประมาณ เพิ่มบุคลากร เพื่อส่งเสริมให้คนเข้าถึงบริการภายใน 12 สัปดาห์ได้จริงๆ 

ภาคผู้บังคับใช้กฎหมาย ตำรวจ  ทนายความ อัยการ ศาล รวมถึงสื่อมวลชน ก็ควรทบทวนแนวคิดแบบชายเป็นใหญ่ให้หนักๆ  

ถ้าทำไม่ได้ และถึงอย่างไรการไปพิมพ์ข้อความหาซื้อยาทำแท้งออนไลน์ ก็ทำได้ง่ายกว่าอยู่ดี ก็ควรรับผิดชอบ และพิจารณาตัวเองที่ออกกฎหมายมาแบบนี้ด้วย 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net