Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ถือเป็นวันครบรอบ 1 ปีของการประกาศใช้ประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยการทำแท้ง ฉบับแก้ไขใหม่ในราชกิจจานุเบกษา

คนส่วนใหญ่ที่รู้ว่ามีการแก้ไขกฎหมายนี้ รู้แค่ว่าตอนนี้การทำแท้งในอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ไม่มีความผิดทางอาญาอีกต่อไป 

คนส่วนใหญ่กว่านั้น ยังไม่รู้ว่ามีการแก้ไขกฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งได้ 

และคนอาจจะเกือบทั้งประเทศ ไม่รู้ว่า...การนับอายุครรภ์ที่ถูกต้องนับอย่างไร เช่นเดียวกับที่ไม่รู้ว่าถ้าหากตัดสินใจจะไปทำแท้งที่ปลอดภัย จะไปรับบริการได้ที่ไหน 

ไม่รู้ว่า...สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการยุติการตั้งครรภ์ครั้งละ 3,000 บาทมาตั้งแต่ก่อนจะมีการแก้ไขกฎหมายอาญาแล้ว เพียงแต่จะต้องไปรับบริการที่โรงพยาบาลของรัฐที่ให้บริการเท่านั้น 

ประเด็นคือ ไม่ว่าจะก่อนแก้ไขกฎหมาย หรือหลังแก้ไขกฎหมาย กระทั่งถีงตอนนี้ และต่อไปถึงในอนาคต 
รัฐบาลโดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ก็ยังไม่อยากจะบอกกับประชาชนเลยว่า โรงพยาบาลของรัฐที่ให้บริการทำแท้งปลอดภัยซึ่งมีอยู่น้อยนิด (แค่ร้อยกว่าแห่งสำหรับคนทั้งประเทศ) ชื่ออะไร อยู่ที่ไหนบ้าง 

ดีขึ้นมาหน่อยที่มีบอกในเว็บไซต์ของเครือข่ายแพทย์อาสา RSA รับส่งต่อยุติการตั้งครรภ์ แต่ก็ไม่ใช่ว่าเข้าไปหน้าแรกแล้วจะหาเจอ และขอทำความเข้าใจตรงนี้ว่าเครือข่ายแพทย์อาสา RSA ถึงแม้จะตั้งมาโดยกรมอนามัย แต่ก็มีสถานะเป็นหน่วยงานภาคเอกชนที่ดำเนินงานโดยได้รับเงินสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ไม่ใช่ดำเนินงานด้วยงบประมาณของภาครัฐ

ทำไมกฎหมายเปลี่ยนแล้ว การเข้าถึงบริการทำแท้งที่ปลอดภัยยังยากอยู่ (แล้วอย่างนี้จะไปสู้ผู้ที่ขายยาออนไลน์ทางอินเตอร์เน็ตได้อย่างไร) เรามาย้อนดูกันว่า กฎหมายทำแท้งฉบับนี้ แก้มาอย่างไร เพื่อใคร

ก่อนหน้าที่จะมีการแก้ไขกฎหมายในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยใช้กฎหมายอาญาว่าด้วยการทำแท้งนี้มาแล้วกว่า 60 ปี ยิ่งไปกว่านั้นย้อนเวลากลับขึ้นไปอีกที่ประเทศไทยมีกฎหมายที่เอาผิดผู้หญิงที่ทำแท้ง ก็เพราะไปลอกกฎหมายต่างประเทศมา สมัยที่จัดทำประมวลกฎหมายให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศเป็นครั้งแรก คือในปี 2451 ทั้งที่ก่อนหน้านั้นกฎหมายไทยไม่เคยมีบทลงโทษผู้หญิงที่ทำให้ตนเองแท้ง สรุปสั้นๆ ได้ว่า ผู้หญิงที่ทำแท้งถูกระบุให้มีโทษทางอาญามาเป็นเวลา 114 ปีแล้ว และกระทั่งถึงตอนนี้มาตราที่เอาผิดกับผู้หญิงก็ยังคงอยู่ เพียงแต่เปิดช่องให้ทำแท้งใน 12 สัปดาห์ไม่มีความผิด

ในอดีตที่ผ่านมา เคยมีนักการเมืองในสภาที่พยายามเสนอไขกฎหมายฉบับนี้มาแล้วอย่างน้อย 3 ครั้งคือในปี 2524,2530 และ 2534 แต่ก็ไม่สำเร็จ และก็เป็นความพยายามในการแก้ไขที่มาตรา 305 กรณีแพทย์เป็นผู้กระทำโดยต้องการจะเพิ่มเงื่อนไขให้ทำแท้งได้ในกรณี ทารกที่คลอดออกมาอาจมีความพิการ กรณีการคุมกำเนิดผิดพลาด หรือการที่ทารกที่คลอดออกมาอาจเป็นพาหะนำโรคร้าย (เพราะเกิดจากบิดามารดาที่ป่วยด้วยโรคร้ายแรง) อย่างไรก็ตามตลอด 114 ปียังไม่เคยมีครั้งใดที่มีการเสนอแก้ไขมาตรา 301 ที่ว่าด้วยความผิดของผู้หญิงที่ทำแท้ง จนกระทั่งเมื่อปีที่ผ่านมา

ถามว่าแล้วทำไมครั้งนี้ถึงแก้ได้สำเร็จ (ซึ่งก็แก้โดยอนุญาตให้ทำแท้งได้ในอายุครรภ์แค่ไม่เกิน 12 สัปดาห์เท่านั้น ไม่ได้ยกเลิกบทลงโทษผู้ที่ทำแท้งไปเลย ทั้งที่ในทางหลักการสิทธิมนุษยชนสากลสิทธิในการเข้าถึงและได้รับบริการทำแท้งปลอดภัย เป็นสิทธิของผู้ที่ตั้งครรภ์ เป็นบริการสุขภาพที่จำเป็นซึ่งรัฐพึงจะต้องจัดให้มีบริการทำแท้งที่ปลอดภัย เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและบาดเจ็บจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุการตายมารดาที่สำคัญ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดสำคัญอันดับต้นๆ ทาทงด้านสาธารณสุข )  

คำตอบคือ ถ้าแก้ไขไม่ทันภายในระยะเวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนด (ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า มาตรา 301 ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 28 จะต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายภายใน 360 วัน) กฎหมายมาตรานี้ (ม.301) ก็จะตกไป หรือไม่มีผลบังคับใช้อีกต่อไปเพราะขัดกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งแน่นอนว่ารัฐบาลไม่มีทางยอมให้เกิดเหตุการณ์นี้ และนี่ก็คือเหตุผลที่ทำไมรัฐถึงได้เร่งรีบแก้ไขกฎหมาย และทำสำเร็จในเวลาเกือบ 1 ปี

แล้วการแก้ไขกฎหมายนี้เกิดขึ้นโดยเจตนา หรือความตั้งใจของรัฐเองหรือไม่?

ในแง่ว่ารัฐให้ความสำคัญกับการป้องกันไม่ให้คนบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตจากการไปทำแท้งไม่ปลอดภัย หรือจากการซื้อยามาใช้เองจากทางอินเตอร์เน็ต

ในแง่ว่ารัฐคำนึงถึง และเคารพในสิทธิของผู้ที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมว่าทุกคนมีสิทธิ และเสรีภาพในเนื้อตัวร่างกาย มีสิทธิที่จะเลือกว่าจะมีลูกเมื่อไหร่ มีสิทธิที่จะเข้าถึงบริการทำแท้งที่ปลอดภัยที่รัฐมีหน้าที่จัดหาให้

หรือในแง่ว่ารัฐมีความเข้าใจและต้องการช่วยเหลือให้ประชากรที่ไม่พร้อมจะตั้งครรภ์ และต้องเผชิญกับความทุกข์จากปัญหาที่เกิดขึ้นได้แก้ไขปัญหา ได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

รวมถึงในแง่ที่สนับสนุนและให้กำลังใจกับแพทย์ผู้และทีมผู้ให้บริการว่าได้ทำหน้าที่อย่างถูกต้องในการช่วยเหลือผู้คนที่กำลังประสบปัญหา และป้องกันไม่ให้เข้าต้องเสี่ยงอันตรายจากการหายามาใช้เอง

คำตอบคือ การแก้ไขกฎหมายนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมาแต่อย่างใด แต่เป็นไปเพื่อเหตุผลเดียวคือ แก้ไขกฎหมายตามคำวินิจฉัย และคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น

และที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉันในเรื่องนี้ออกมา ก็เพราะว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2561 แพทย์อาวุโสในเครือข่าย RSA คนหนึ่งถูกดำเนินคดีข้อหาให้บริการทำแท้ง ทำให้ในเวลาต่อมาในปีเดียวกันนั้นเอง เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม และเครือข่าย RSA ได้ยื่นคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญในนามของผู้ที่ได้รับมอบหมายจากแพทย์ผู้เสียหายให้วินิจฉัยว่ากฎหมายฉบับนี้ขัดกับรัฐธรรมนูญ และส่งผลกระทบกับผู้เสียหาย จนเป็นที่มาของคำวินิจฉัยประวัติศาสตร์ของศาลรัฐธรรมนูญ ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2563

ความไม่ตั้งใจของรัฐในการแก้ไขกฎหมายเพื่อประโยชน์ของประชาชน ดูได้จากทุกขั้นตอนของกระบวนการแก้ไขกฎหมายที่ตามมา ตั้งแต่ การที่ศาลรัฐธรรมนูญยืนยันเองว่ามีทารกในครรภ์มีสิทธิ (ขัดแย้งกับหลักการสิทธิมนุษยชนสากลที่ไม่รับรองว่ามีสิ่งที่เรียกว่าสิทธิตัวอ่อน) การประชุมคณะกรรมการพิจารณาแก้ไขกฎหมาย ก็มีแต่แพทย์ และนักกฎหมายซึ่งเป็นตัวแทนของสถาบัน หน่วยงาน ที่ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการทำแท้งอยู่แล้ว ข้อมูลที่บุคคลเหล่านี้นำเสนอ ไม่เคยมีใครตรวจสอบว่า แท้จริงแล้ว มันคือ ข้อมูลทางการแพทย์ยุคไหน และมันคือข้อมูลทางการแพทย์ที่แท้จริง หรือเป็นข้อมูลที่ตะแกรงศีลธรรม จริยธรรมส่วนบุคคลของแพทย์เหล่านั้นกันแน่ ตัวอย่างเช่น ตัวแทนแพทย์จากสมาคมวิชาชีพ รวมทั้งแพทย์ระดับรองอธิบดีของกรมที่เกี่ยวข้องโดยตรง ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการให้ข้อมูลประกอบการพิจารณาแก้ไขกฎหมาย เลือกที่จะให้ข้อมูลแค่ว่า การทำแท้งในอายุครรภ์ที่ 12 สัปดาห์มีความปลอดภัยสูง ถ้าอายุครรภ์เกินกว่านั้นจะเสี่ยงต่ออันตรายที่จะเกิดขึ้นมาก ทั้งๆ ที่แพทย์เครือข่าย RSA ยืนยันว่า การยุติการตั้งครรภ์โดยแพทย์สามารถทำได้อย่างปลอดภัยจนถึงอายุครรภ์ 20-24 สัปดาห์ จากประสบการณ์ที่ทำอยู่ทุกวัน และจากรายงานวิชาการทางการแพทย์ทั้งในและต่างประเทศ

ที่สำคัญในกระบวนการแก้ไขกฎหมาย ไม่เคยมีการเปิดโอกาสให้ผู้ที่ผ่านประสบการณ์ทำแท้งได้เข้ามามีส่วนร่วม หรือรับฟังเสียงของผู้ที่ผ่านประสบการณ์นี้โดยตรงเลยสักครั้ง 

นอกจากนี้ยังมีอีกมากมายหลายเหตุผลที่สะท้อนให้เห็นว่าการแก้ไขกฎหมายตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่ได้ยึดหลักการมองผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง หรือคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน และผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลักแม้สักนิดเดียว เพราะ...

ในช่วงระหว่างการดำเนินการแก้ไขกฎหมาย ประชาชนไม่ได้รับรู้ว่ามีการเปิดรับฟังความเห็นต่อร่างกฎหมายจนกระทั่งมารู้เมื่อปิดการรับฟังไปแล้ว และเมื่อเรียกร้องให้ขยายเวลาการรับฟังอีกครั้ง เซิร์ฟเวอร์ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ล่ม ไม่สามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็นได้  

ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ไขกฎหมายน้อยมาก มีการเชิญตัวแทนจากภาคประชาสังคมจากแค่ 2 เครือข่ายเข้าไปให้ข้อมูลในที่ประชุมพิจารณาร่างกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกา คือ เครือข่ายอาสา RSA และเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม 

ไม่มีการจัดสรรงบประมาณสำหรับดำเนินการรองรับการดำเนินงานต่างๆ ภายหลังจากที่มีการแก้ไขกฎหมายแล้ว 

ผ่านไปเกือบปี ส.ส.ณัฐวุฒิ บัวประทุมจากพรรคก้าวไกล ที่เคยอยู่ในคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขกฎหมายตั้งกระทู้ถามถึงความคืบหน้าในการดำเนินการหลังกฎหมายบังคับใช้ 

สิ่งที่นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าคณะรัฐบาลตอบคือ ได้ออกข้อบังคับแพทยสภาใหม่แล้ว, จัดทำร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่จะมารองรับเรื่องการให้การปรึกษาทางเลือกสำหรับกรณีอายุครรภ์เกิน 12-20 สัปดาห์ตามพระราชบัญญัติป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นแล้ว (แต่ปัจจุบันยังไม่ประกาศใช้ ไม่มีใครรู้ว่าติดที่ขั้นตอนอะไร เพราะอะไร) , จัดตั้งคณะกรรมการ 2 ชุดเพื่อขับเคลื่อนกฎหมาย และการดำเนินการตามกฎหมายแล้ว, จัดทำคู่มือและแนวทางการให้การปรึกษา พร้อมทั้งจัดอบรมเพื่อให้การรับรองผู้ที่จะมาทำหน้าที่ให้การปรึกษาแล้ว

สิ่งที่รัฐได้ดำเนินการไปทั้งหมดตามที่กล่าวมานี้ ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาที่ผู้รับบริการ ผู้ให้การปรึกษาทางเลือก แพทย์ที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ต้องเผชิญมาตั้งแต่ก่อนหน้าที่จะมีการแก้ไขกฎหมายแต่อย่างใดเลย 

นอกจากนี้ในทางปฏิบัติ การแก้ไขแต่กฎหมาย แต่ไม่แก้ไขระบบ ไม่เตรียมระบบไว้รองรับกลับยิ่งเพิ่มความยุ่งยาก อุปสรรคในการเข้ารับบริการ การให้บริการ หรือแม้แต่เปิดช่องให้ผู้รับบริการโดนตีตราและถูกเลือกปฏิบัติมากขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ 

ผู้รับบริการจำนวนไม่น้อยถูกปฏิเสธการให้บริการ โดยเจ้าหน้าที่ให้เหตุผลว่า โรงพยาบาลไม่มีนโยบายให้บริการ ไม่ได้รับแจ้งจากต้นสังกัดว่าจะต้องให้บริการ หรือส่งต่อ หรือทำหน้าที่รอรับกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน 

มากไปกว่านั้นเจ้าหน้าที่บางคนยังพูดจาไม่ให้เกียรติ ตีตราเมื่อทราบว่ามาขอรับบริการทำแท้งด้วยซ้ำ

กฎหมายใหม่ที่ออกมามีเจตนาอย่างชัดเจนว่า จะไม่บังคับให้แพทย์ทุกคนต้องให้บริการ โดยระบุแค่ว่าถ้าไม่ให้บริการให้ส่งต่อโรงพยาบาลที่ให้บริการ ซึ่งผู้ให้บริการจำนวนมาก ก็ไม่ต่างจากประชาชนทั่วไปที่ไม่มีข้อมูลว่าสถานบริการยุติการตั้งครรภ์ (ไม่ว่าจะของรัฐหรือเอกชนก็ตาม) อยู่ที่ไหน เพราะกระทรวงสาธารณสุขไม่เคยประกาศรายชื่อของสถานบริการที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยให้สาธารณขนได้รับทราบสักครั้งเดียว ดังนั้นจึงไม่ต้องไปถามต่อเลยว่ากรมอนามัยจะทำหนังสือสั่งการไปยังสถานบริการทั่วประเทศในเรื่องนี้ โรงพยาบาลใดไม่ให้บริการต้องส่งต่อให้ผู้ที่ต้องการได้รับบริการได้เข้าถึงการทำแท้งอย่างปลอดภัย และจะต้องทำหน้าที่พร้อมเป็นโรงพยาบาลปลายทางกรณีผู้รับบริการประสบกับภาวะแทรกซ้อน ฉูกเฉินเนื่องมาจากการทำแท้ง 

การไม่ประชาสัมพันธ์แหล่งบริการ ไม่มีนโยบายที่ชัดเจนตรงถึงโรงพยาบาลภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ ทำให้ผู้ให้การปรึกษามีงภาระเพิ่มในแง่ที่จะต้องเป็นผู้ติดต่อประสานงานกับโรงพยาบาล ต้องอธิบายให้โรงพยาบาลที่ไม่ให้บริการได้เข้าใจเป็นรายกรณีๆ ไป โดยที่ปัจจุบันหน่วยงานที่ทำหน้าที่ให้ข้อมูล และให้การปรึกษาการยุติการตั้งครรภ์หลักๆ มีเพียงหน่วยงานของภาคเอกชน (แปลว่าไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ) สองหน่วยงานเท่าน้นคือ กลุ่มทำทาง และสายให้การปรึกษาท้องไม่พร้อม 1663

ประเด็นสำคัญที่สุดคือไม่วากฎหมายจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยน จำนวนสถานบริการที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยก็ยังคงมีไม่เพียงพออยู่เหมือนเดิม ผลก็คือ ผู้รับบริการต้องทั้งเสียเวลา และเสียทั้งค่าใช้จ่ายเดินทางเพื่อไปเข้ารับบริการ ภายหลังแก้ไขกฎหมายมาแล้ว 1 ปี รัฐบาลก็ไม่สามารถจะเพิ่มจำนวนสถานบริการ และแพทย์ที่จะให้บริการได้สักเท่าไหร่ ยิ่งถ้าหากย้อนกลับไปดูในช่วงเริ่มต้นมีเครือข่ายแพทย์อาสา RSA ในปี 2558 จนถึงปี 2564 ที่มีการแก้ไขกฎหมาย จะเห็นว่าตลอด 6 ปีที่ผ่านมา มีสถานบริการยุติการตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นเพียงแค่ร้อยละ 10 เท่านั้นเอง ดังนั้นที่กรมอนามัยวางแผนการดำเนินงานว่าเพิ่มจำนวนสถานบริการให้ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ อย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่งภายในระยะเวลา 5 ปี ดูแล้วเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ หรือใกล้เคียงกับคำว่าเป็นไปได้แม้แต่น้อย

ปัญหาอุปสรรคใหญ่ที่สุดที่อยู่เบื้องหลังของการปฏิเสธการให้บริการ ปฏิเสธการส่งต่อ การไม่ต้องการเข้ามาร่วมเป็นสถานบริการเพื่อให้บริการยุติการตั้งครรภ์ ก็คือ อคติส่วนบุคคลต่อการทำแท้งของบุคคลากรทางการแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ และผู้บริหารของสถานบริการ โดยที่อคตินี้ได้รับการปกป้องจากกฎหมายที่แสดงเจตนาชัดมาตั้งแต่ต้นว่าไม่ได้บังคับให้แพทย์ทุกคนต้องให้บริการ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใดที่หลังประกาศใช้กฎหมายใหม่ได้ไม่นาน ก็มีสูตินารีแพทย์กลุ่มหนึ่งที่ออกมาต่อต้านกฎหมายฉบับนี้ ถึงขั้นรวมตัวกันไปยื่นเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญว่ากฎหมายฉบับใหม่ ออกมาโดยคำนึงถึงแต่สิทธิของหญิงตั้งครรภ์ ไม่คำนึงถึงสิทธิ และเสรีภาพของบุคคลอื่น (เช่น ทารกในครรภ์ บิดาของทารก บิดามารดาของหญิงตั้งครรภ์ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้ปกครอง สิทธิของบุคลากรทางการแพทย์) นอกจากนี้การทำแท้งยังเป็นวิธีการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ขัดต่อความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของสังคมด้วย

ท้ายสุด นอกจากปัญหาเรื่องอคติของแพทย์ สถานบริการมีไม่เพียงพอ การไม่ยอมเผยแพร่ข้อมูลแหล่งบริการแล้ว สถานบริการยุติการตั้งครรภ์แต่ละแห่ง (ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนน้อยนิด) ยังตั้งเงื่อนไขในการให้บริการตามความสะดวกของตนเองอีกด้วย เช่น ให้บริการเฉพาะในอายุครรภ์เท่านี้เท่านั้น ให้บริการเฉพาะวัยรุ่น ให้บริการเฉพาะในจังหวัด ฯลฯ อีกทั้งยังไม่มีมาตรฐานในการให้บริการเป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้งเรื่องสูตรยา รวมถึงเรื่องค่าบริการ และแม้ว่าสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะสนับสนุนค่าบริการรายละ 3,000 บาท แต่นั่นก็ไม่มีประโยชน์อะไรเลยถ้าจังหวัดที่ผู้รับบริการอาศัยอยู่ไม่มีสถานบริการที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ หรือมีแต่สถานบริการเอกชน

ในมุมมองและประสบการณ์ของคนทำงานที่ได้พูดคุยกับผู้ต้องการเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันอย่างเรา กฎหมายใหม่ที่ออกมา ไม่ได้ช่วยให้คนเข้าถึงบริการง่ายขึ้น หรือเร็วขึ้นแต่อย่างใด เช่นเดียวกับที่ไม่ได้ช่วยให้ผู้ให้การปรึกษาทำงานง่ายขึ้น สะดวกขึ้น

ข้อบังคับใหม่ของแพทยสภาที่ออกมา ก็เป็นไปโดยที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของแพทย์เป็นหลัก เขียนชัดเจนว่าไม่บังคับแพทย์ให้ต้องทำ อีกทั้งยังคงไว้ซึ่งเงื่อนไขข้อจำกัดที่ให้การให้บริการมีความยุ่งยากขึ้น อย่างกรณีกฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งได้เนื่องจากปัญหาสุขภาพจิต และตัวอ่อนมีความเสี่ยงที่จะออกมาพิการ ยังไดงก็ต้องให้มีหมออีกคน (นอกจากหมอที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์) มาเซ็นต์รับรอง (ซึ่งตรงนี้ที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เป็นการเพิ่มความยุ่งยากมากกว่าจะช่วยผู้รับบริการ)  

นอกจากนี้ในขณะที่กฎหมายอาญาบอกชัดว่ากรณีถูกล่วงละเมิดทางเพศ เพียงแค่ผู้ถูกกระทำยืนยัน แพทย์ก็สามารถให้บริการได้ แต่ข้อบังคับแพทยสภาบอกว่าจะต้องลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานกับแพทย์ และการยุติการตั้งครรภ์แพทย์จะต้องกระทำในสถานบริการของรัฐหรือเอกชนเท่านั้น 

และสำหรับในส่วนของประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยแนวทางเกี่ยวกับการให้การปรึกษาทางเลือกที่ทำเสร็จนานแล้วแต่ยังไม่ออก ก็ไม่ได้ดีไปกว่าข้อบังคับแพทยสภาแต่อย่างใด เพราะทั้งๆ ที่การจัดทำประกาศนี้เป็นไปเพื่อรองรับมาตรา 305 (5) ที่จะเปิดช่องให้ผู้ที่ตั้งครรภ์อายุครรภ์เกิน 12 ถึงไม่เกิน 20 สัปดาห์ยังมีโอกาสที่จะรับบริการได้ (หากต้องมาผ่านกระบวนการปรึกษาทางเลือกก่อน) แต่เอาเข้าจริง คณะทำงานที่จัดทำประกาศฉบับนี้ ซึ่งประกอบไปด้วยตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ก็เขียนประกาศที่มีแต่รายละเอียดเกี่ยวกับแนวทางการดูแลช่วยเหลือกรณีตัดสินใจท้องต่อเป็นหลัก ว่าถ้าตัดสินใจท้องต่อกระทรวงต่างๆ มีมาตรการจะช่วยเหลืออย่างไรบ้าง ขณะที่กรณีตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์ เขียนไว้แค่ประโยคเดียวคือ ให้พิจารณานำแนวทางช่วยเหลือ (เรื่องการท้องต่อ) มาใช้โดยอนุโลม อ่านแล้วก็งงว่าแนวทางดูแลคนท้องต่อให้คลอดและเลี้ยงดูเด็ก มันจะนำมาใช้กับคนที่ไม่ต้องการท้อง และต้องการทำแท้งได้อย่างไร

ทั้งหมดนี้เมื่อมาประมวลดูแล้ว ก็ไม่แปลกใจเลยว่า เพราะเหตุใด หนึ่งปีผ่านไปภายหลังกฎหมายทำแท้งฉบับใหม่ประกาศใช้ คนที่ประสบกับปัญหาก็ยังไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการแก้ไขกฎหมายนี้เท่าที่ควร

เพราะคนที่ออกกฎหมาย...ไม่ได้ตั้งใจจะแก้กฎหมายตั้งแต่แรก

เพราะคนที่ออกกฎหมาย....ไม่ใช่คนที่เคยประสบกับปัญหาเองโดยตรง 

และเพราะคนที่ออกกฎหมาย.....ไม่ใช่คนที่จะถูกบังคับใช้กฎหมายในอนาคต

และเพราะระบบโครงสร้างของสังคมที่เป็นอยู่เป็นสังคมของการใช้อำนาจแบบบนลงล่าง สมาทานกับวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่ และรู้จักคุ้นเคยแต่การ “ช่วย” ในแบบ “สงเคราะห์”มากกว่าการมองคนเท่ากัน หรือเคารพในหลักการสิทธิมนุษยชน

จึงไม่มีทางเลยที่พวกเขาเหล่านั้นจะมาเข้าใจความทุกข์ยาก ความลำบาก และความต้องการของคนที่ประสบปัญหา

...บันทึกไว้เนื่องในวาระครบรอบหนึ่งปีของการประกาศใช้กฎหมายทำแท้งฉบับใหม่ที่ยังไม่ช่วยแก้ปัญหาอะไร.....
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net