Skip to main content
sharethis

‘เพื่อไทย’ อัดปมรัฐเยียวยาโควิด 3,500 คนละ 2 เดือน ชี้ ไม่เพียงพอ-เยียวยาไม่ได้จริง เสนอ 5 มาตรการ ก.คลังเผยกลุ่มอาชีพที่หมดสิทธิรับเงินเยียวยา 7 พันบ.  สปสช.นำร่องจ่ายค่าบริการ Telemedicine เฟสแรกรับมือโควิด-19 รอบใหม่ 

‘เพื่อไทย’ อัดปมรัฐเยียวยาโควิด 3,500 คนละ 2 เดือน ชี้ ไม่เพียงพอ-เยียวยาไม่ได้จริง เสนอ 5 มาตรการ

เมื่อวันที่ 13 มกราคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคเพื่อไทย (พท.) ได้ออกแถลงการณ์ ระบุว่า สืบเนื่องจากการเปิดเผยของรัฐบาลถึงมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยกำหนดวงเงิน 3,500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นเวลา 2 เดือน และมาตรการอื่นๆ นั้น พรรค พท.โดยคณะกรรมการนโยบายและวิชาการเห็นว่า มาตรการเยียวยา 3,500 บาทต่อคนต่อเดือนนั้น ไม่เพียงพอและไม่สามารถเยียวยาผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนได้ ซึ่งพรรค พท.ได้เสนอชุดมาตรการรองรับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 อย่างครอบคลุมทั้งสิ้น 17 มาตรการ ไปเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2564

ทั้งนี้ พรรค พท.เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินมาตรการสำคัญเร่งด่วน 5 เรื่อง ดังต่อไปนี้ทันที คือ 1.กลุ่มแรงงานนอกระบบที่ไม่มีประกันสังคม ไม่ว่าจะเป็นอาชีพอิสระ ลูกจ้าง กลุ่มเปราะบาง และเกษตรกร ให้แบ่งจ่ายเดือนละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน สำหรับนอกพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามประกาศของรัฐ และ แบ่งจ่ายเดือนละ 6,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน สำหรับในพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามประกาศของรัฐ

แถลงการณ์ระบุอีกว่า 2.ตั้งกองทุนสินเชื่อเพื่อ SMEs ผลกระทบจากโควิด-19 จำนวน 1 ล้านล้านบาท โดยไม่ผ่านกลไกของสถาบันการเงินพาณิชย์ 3.มาตรการคงการจ้างงาน สำหรับแรงงานในระบบประกันสังคม ภาครัฐสนับสนุนเป็นระบบขั้นบันได 50-60% ตามโซนความรุนแรง เป็นระยะเวลา 6 เดือน ภาครัฐสนับสนุนค่าจ้างผ่านผู้ประกอบการไปที่ลูกจ้าง เพื่อรักษาระดับการจ้างงาน โดยไม่ใช่แบบที่รัฐบาลเยียวยาผ่านระบบประกันสังคม ซึ่งเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ 4.พักหนี้ผู้ประกอบการรวมถึงเกษตรกร ไม่ต้องจ่ายทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย และธนาคารหยุดคิดดอกเบี้ย เป็นระยะเวลา 6 เดือน และ 5.ลดภาระของประชาชน อุดหนุนภาระดอกเบี้ย สำหรับผู้ที่ผ่อนยานพาหนะ ที่อยู่อาศัย ที่ได้รับผลกระทบเป็นระยะเวลา 6 เดือน

ก.คลังเผยกลุ่มอาชีพใด หมดสิทธิรับเงินเยียวยา 7 พันบ.

หลังอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า กระทรวงการคลังจะเร่งพิจารณามาตรการบรรเทาผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการระบาดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ระลอกใหม่ ให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม โดยกำหนดวงเงินช่วยเหลือ เดือนละ 3,500 บาท นาน 2 เดือน รวมรับเงินคนละ 7,000 บาท โดยจะเสนอหลักการจ่ายเงินบรรเทาความเดือดร้อนให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ในวันที่ 19 มกราคม โดยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจะต้องมาลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่น หรือเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ที่กระทรวงการคลังเปิดไว้ กำหนดระยะเวลาลงทะเบียนเร็วที่สุดภายในสิ้นเดือนมกราคม และผู้ผ่านการตรวจสอบสิทธิจะสามารถกดเงินจากตู้เอทีเอ็มในเดือนแรกได้อย่างช้าสุดไม่เกินสัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ ครอบคลุม 2 เดือน

ทั้งนี้ การคัดกรองผู้ที่ได้รับเงินบรรเทาทุกข์ 3,500 บาท นาน 2 เดือน จากมาตรการเราชนะ จะแตกต่างจากมาตรการเราไม่ทิ้งกัน ซึ่งกระทรวงการคลังมั่นใจว่าจะสามารถจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนทุกคนแน่นอน เพราะเป็นการคิดจากฐานข้อมูลประชากรทั้งประเทศ 66 ล้านคน และมาคัดกรองออกจนเหลือกลุ่มที่ต้องช่วยเหลือจริงๆ ไม่ใช่เป็นการเปิดลงทะเบียนว่าใครได้รับผลกระทบ ซึ่งวิธีการนั้นส่งผลให้มีจำนวนผู้ที่ต้องการเงินช่วยเหลือเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับกลุ่มที่จะได้รับเงินบรรเทาทุกข์ แบ่งเป็น กลุ่มที่ไม่ต้องลงทะเบียนใหม่ผ่านเว็บไซต์ หรือแอพพลิเคชั่น “เราชนะ” เช่น กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14 ล้านคน ซึ่งมีฐานข้อมูลอยู่แล้ว และกลุ่มผู้เข้าร่วมมาตรการคนละครึ่ง ที่มีการยืนยันใช้สิทธิแล้วกว่า 13.8 ล้านราย หรือไม่เกิน 15 ล้านราย แต่ต้องพิจารณาคุณสมบัติว่าจะผ่านเกณฑ์ได้รับเงินบรรเทาทุกข์ด้วยหรือไม่อีกครั้ง และกลุ่มต้องลงทะเบียนใหม่ เป็นกลุ่มที่ไม่เคยอยู่ในฐานข้อมูลเดิมอยู่เลย

โดยกลุ่มที่จะได้รับเงินเยียวยา ต้องเป็นกลุ่มอาชีพอิสระ เกษตรกร ที่เคยลงทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร อาจจะต้องมาลงทะเบียนใหม่ และจะช่วยเหลือพร้อมกันในรอบเดียว ในหลักการก็จะช่วยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเหมือนมาตรการเราไม่ทิ้งกันก่อน เช่น กลุ่มแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ผู้ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาล และมัคคุเทศก์ เป็นต้น

กฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สำหรับกลุ่มที่จะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ 3,500 บาท นาน 2 เดือน เบื้องต้นจะเป็นกลุ่มที่ได้รับการดูแลอยู่แล้ว เช่น กลุ่มข้าราชการกว่า 3 ล้านคน พนักงาน และลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ กลุ่มที่อยู่ในฐานระบบกองทุนประกันสังคม ตามมาตรา 33 อีก 11 ล้านคน รวมทั้ง ผู้ที่มีรายได้สูง ซึ่งกระทรวงการคลังจะมีเกณฑ์มาวัดว่ารายได้เท่าใด จึงจะไม่ได้รับเงิน 3,500 บาท โดยพิจารณาบัญชีเงินฝาก รายได้เข้าออกเดือนต่อเดือน ฐานข้อมูลผู้เสียเงินภาษี เป็นต้น

 

สปสช.นำร่องจ่ายค่าบริการ Telemedicine เฟสแรกรับมือโควิด-19 รอบใหม่ 

ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่า นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ซึ่งในไทยเริ่มตั้งแต่ต้นปี 2563 และเริ่มระบาดระลอกใหม่อีกครั้งในขณะนี้ ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายทางสุขภาพและจำเป็นต้องปรับตัวเข้าสู่วิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ที่เน้นรักษาระยะห่างทางกายภาพในทุกๆกิจกรรมในสังคม ตลอดจนสวมหน้ากากอนามัยและล้างมือบ่อยๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อไม่ให้แพร่กระจายเป็นวงกว้าง ในช่วงปีที่ผ่านมา สปสช. ได้สนับสนุนการคิดค้นนวัตกรรมบริการของหน่วยงานด้านสาธารณสุขต่างๆเพื่อให้เกิดการเว้นระยะห่างและลดความแออัดในโรงพยาบาลซึ่งเป็นอีกจุดเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อ โดยได้ทำการลงพื้นที่ศึกษาดูงานในหน่วยบริการที่มีความโดดเด่นในการจัดบริการแบบ New Normalรวบรวมข้อมูลและนำกลับมาพัฒนาระบบการจ่ายเงินที่สนับสนุนให้เกิดบริการในลักษณะนี้ในวงกว้างมากขึ้น 

นพ.จักรกริช กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2564 นี้ หนึ่งในรูปแบบบริการที่ สปสช.ได้พัฒนาการจ่ายเงินชดเชยค่าบริการเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเว้นระยะห่างทางกาย ลดการเดินทางและลดความแออัดในโรงพยาบาลคือบริการสาธารณสุขระบบทางไกล  (Telehealth / Telemedicine) โดยขณะนี้ได้เริ่มนำร่องให้บริการระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา และมีโรงพยาบาลที่มีความพร้อมและสมัครใจเข้าร่วมโครงการในขณะนี้ 15 แห่ง ประกอบด้วยโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลประสาทวิทยา สถาบันมะเร็งแห่งชาติ โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โรงพยาบาลสิรินธร โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ โรงพยาบาลลาดกระบัง โรงพยาบาลมะเร็งลำปาง และโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน ตลอดจนโรงพยาบาลอื่นๆที่มีความพร้อมในเขตสุขภาพที่ 1-12 ประกอบกับในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดการระบาดรอบใหม่ ทำให้ระบบดังกล่าวจะเป็นทางเลือกช่วยสนับสนุนให้มาตรการควบคุมโรคมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้นขอแนะนำให้ผู้ป่วยที่ใช้สิทธิบัตรทองติดต่อสอบโรงพยาบาลที่ตนรับบริการ เพื่อสอบถามข้อมูล หรือแสดงความจำนงค์เข้ารับบริการสาธารณสุขระบบทางไกลได้ตามต้องการ 

"ในส่วนของการบริการสาธารณสุขระบบทางไกลหรือที่เรียกสั้นๆว่า Telehealth/Telemedicine นี้ เราจะเน้นที่กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังรายเก่าในหน่วยบริการที่มีอาการคงที่ สามารถควบคุมโรคได้ดี ซึ่งแพทย์สามารถตรวจรักษาผ่านระบบทางไกลได้ ไม่จำเป็นต้องเดินทางมาหาถึงโรงพยาบาล ยิ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความอ่อนไหวที่จะติดเชื้อโควิด-19 ได้ง่าย การรับบริการผ่านระบบ Telehealth/Telemedicine จะช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทาง ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อทั้งระหว่างการเดินทางหรือการติดเชื้อจากผู้ป่วยด้วยกันเองที่โรงพยาบาล ขณะเดียวกันยังช่วยลดความแออัด ทำให้การรักษาระยะห่างในพื้นที่โรงพยาบาลมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย"นพ.จักรกริช กล่าว 

นพ.จักรกริช กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของขั้นตอนการรับบริการผ่านระบบดังกล่าวนั้น ในขั้นแรกทางแพทย์จะเป็นผู้ประเมินอาการผู้ป่วยว่ามีอาการคงที่ พร้อมที่จะรับการรักษาผ่านระบบ Telehealth/Telemedicine หรือไม่ หากประเมินแล้วพบว่าผู้ป่วยมีความพร้อมก็จะแจ้งให้ทราบและสอบถามความสมัครใจเข้าร่วมโครงการ จากนั้นพยาบาลจะติดต่อชี้แจงข้อตกลง วิธีการตรวจทางไกลและนัดหมายผู้ป่วย ซึ่งขั้นตอนก็ไม่ยุ่งยาก เพียงแค่มีสมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์อื่นๆที่รองรับได้ จากนั้นดาวน์โหลดแอปพลิเคชันตามที่โรงพยาบาลกำหนดมาไว้ในเครื่อง การรับบริการทางเจ้าหน้าที่จะทำการยืนยันตัวตนผู้ป่วย ตรวจสอบสิทธิการรักษา จัดเตรียมประวัติการรักษาและนัดหมายเวลาพบแพทย์ให้ เมื่อถึงเวลานัดก็ทำการเชื่อมต่อวิดีโอคอลกับแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย หากจำเป็นต้องรับยาด้วย ทางโรงพยาบาลก็จะมีระบบการจัดส่งยาทางไปรษณีย์หรือแพ็คยาแล้วให้ไปรับยาที่ร้านยาใกล้บ้านโดยไม่เสียค่าบริการ ซึ่งการไปรับยาที่ร้านยายังมีข้อดีอีกประการคือผู้ป่วยจะมีเวลาพูดคุยรับคำปรึกษาเรื่องยากับเภสัชกรได้นานกว่าที่โรงพยาบาล อีกทั้งเภสัชกรจะช่วยติดตามอาการเบื้องต้นและประเมินผลการทานยาให้อีกทางหนึ่งด้วย 

นพ.จักรกริช กล่าวอีกว่า ในส่วนของโรงพยาบาลที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการและมีความสนใจที่จะให้บริการTelehealth/Telemedicine เพื่อลดความแออัดและรักษาระยะห่างทางกายภาพ ทาง สปสช. มีแผนในระยะ 2 จะเพิ่มจำนวนหน่วยบริการให้มากขึ้น เบื้องต้นจะต้องมีคุณสมบัติเป็นหน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีผู้ประกอบวิชาชีพที่มีความพร้อมในการให้บริการสาธารณสุขทางไกลตามมาตรฐานที่สภาวิชาชีพประกาศกำหนด มีความพร้อมของเทคโนโลยีดิจิทัลหรือ Application ในการพิสูจน์ตัวตน  การนัดหมายและการจ่ายเงินที่เชื่อมต่อกับข้อมูลของ สปสช. ได้ มีกระบวนการในการให้บริการสาธารณสุขระบบทางไกลพร้อมทั้งชี้แจงให้ผู้รับบริการรับทราบก่อนวันรับบริการ มีการบันทึกข้อมูลการให้บริการในทุกกระบวนการขั้นตอนให้สามารถทวนสอบข้อมูลได้ รวมทั้งมีแผนการจัดการความเสี่ยงและควบคุมความผิดพลาดทางเทคโนโลยีและการสื่อสาร ทั้งนี้ สปสช.กำหนดอัตราจ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขไว้ที่ 30 บาท/ครั้ง โดยจะตัดข้อมูลทุกสิ้นเดือนและหน่วยบริการจะได้รับการโอนเงินภายใน  30 วันหลังตัดข้อมูล.

 

อ้างอิง มติชน, วอยซ์ทีวี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net