‘ประชากรข้ามชาติ’ ร่อน จม.เปิดผนึกถึง มท.1 แนะ 4 แนวทางจัดการแรงงานข้ามชาติช่วงโควิด

เครือข่ายประชากรข้ามชาติ ออกจดหมายเปิดผนึกถึง รมว.มหาดไทย เปิด 4 ข้อห่วงใยและข้อเสนอจัดการแรงงานข้ามชาติช่วงโควิด 19 ต้องทำตามมติ ครม. 29 ธ.ค. 63 โดยไม่ให้มีการจับกุมผู้ที่รอการดำเนินการ

15 ม.ค. 2564  ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า เครือข่ายประชากรข้ามชาติ ออกจดหมายเปิดผนึกถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมทั้งสำเนาถึง ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้บังคับการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ประกอบด้วย 4 ข้อห่วงใยและข้อเสนอต่อแนวทางในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19

ดังนี้ 

เนื่องด้วยสถานการณ์ตอนนี้มีการไล่จับกุมแรงงานลอดรัฐสามสัญชาติ ทั้งที่มติคณะรัฐมนตรี 29 ธ.ค. 2563 นั้น ไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนำ มาตรา 54 ของ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง 2522 มาบังคับใช้จับกุมแรงงานข้ามชาติหลุดระบบที่กำลังรอจดทะเบียนบัตรชมพู 

ดังนั้น ทางเครือข่ายฯ จึงเสนอให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติทำหนังสือสั่งการย้ำถึงแนวทางการจัดการแรงงานข้ามชาติในกลุ่มเป้าหมายตามมติ ครม. 29 ธ.ค. 63 โดยไม่ให้มีการจับกุมแรงงานข้ามชาติที่รอการดำเนินการตามมติครม. อีกทั้ง ให้มีบทลงโทษอย่างจริงจังกับเจ้าหน้าที่ที่ฝ่าฝืน หรือใช้ประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว 

ปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย ในการตรวจสุขภาพในหมู่แรงงานข้ามชาติ ซึ่งมีราคาแพงขึ้น หลังจากที่กระทรวงมหาดไทย ได้ออกกฎกระทรวงกำหนดโรคต้องห้ามสำหรับคนงานข้ามชาติ ซึ่งเข้ามาในอาณาจักร หรือเข้ามาอาศัยในไทยตอน พ.ศ. 2563 โดยเพิ่มโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 เป็นโรคตามมาตรา 12(4) และ มาตรา 44(2) 

ส่งผลให้แรงงานข้ามชาติที่อาศัยและทำงานในไทยก่อนหน้านี้ ตามมติ ครม. 20 สิงหาคม 2562 มติ ครม. 4 ส.ค. 2563 มติ ครม. 10 พ.ย. 2563 ได้รับผลกระทบจากค่าใช้จ่ายเรื่องค่าตรวจที่สูงขึ้น และประสบปัญหาทางเศรษฐกิจขาดรายได้ในช่วงการระบาดของโรคโควิดในช่วงแรก และต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน ประกอบกับค่าใช้จ่ายในการตรวจลงตราวีซ่าเพิ่มขึ้นจากเดิม 500 บาทต่อครั้ง กลายเป็น 1,900 บาท/ครั้ง (1ปี) ทำให้เกิดภาระทางการเงินเพิ่มมากขึ้น แรงงานข้ามชาติอาจไม่มีเงินในการตรวจลงตราวีซ่า และมีความเสี่ยงต่อการหลุดระบบการจ้างงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย  

การปฏิบัติตามนโยบายการจัดการแรงงานข้ามชาติในแต่ละพื้นที่ยังมีความสับสน เจ้าหน้าที่แห่งหนึ่งทำงานแบบหนึ่ง อีกแบบหนึ่งทำงานแบบหนึ่ง ทำงานไม่ตรงกัน ทำให้แรงงานข้ามชาติ-นายจ้าง เกิดความสับสน ยกตัวอย่าง เรื่องเอกสารใบรับรองแพทย์สำหรับมติ ครม. 20 ส.ค. 62 ได้มีการระบุในการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีชัดเจนว่า แรงงานข้ามชาติสามารถรับการตรวจสุขภาพในสถานพยาบาลเอกชนได้ แต่ก็พบว่าเจ้าหน้าที่ในบางพื้นที่กลับยืนยันให้นายจ้างใช้ใบรับรองแพทย์ที่ออกให้โดยสถานพยาบาลของรัฐเท่านั้น และช่วงนี้ โรงพยาบาลรัฐมีการปิดช่วงโควิด-19  

นอกจากนั้นยังพบว่า แรงงานข้ามชาติตามมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องข้างต้น ที่ได้ไปดำเนินการขอตรวจลงตราวีซ่าก่อนที่กฎกระทรวงกำหนดโรคต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักร หรือเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร พ.ศ. 2563 บังคับใช้ ก็ได้ถูกปฏิเสธการดำเนินการตรวจลงตราวีซ่า โดยให้ไปนำหลักฐานการตรวจโรคโควิด 19 มาแสดงประกอบ โดยอ้างอิงกฎกระทรวงดังกล่าว

ดังนั้น ทางเครือข่ายฯ จึงเสนอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรทำหนังสือสั่งการถึงแนวปฏิบัติในเรื่องการตรวจลงตราวีซ่าสำหรับแรงงานข้ามชาติที่ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน เพื่อไม่สร้างความสับสนและเกิดภาระให้แก่นายจ้างและแรงงานข้ามชาติ

ปัญหาต่อมาคือโรงพยาบาลที่ให้บริการตรวจสุขภาพแรงงานข้ามชาติในขณะนี้หยุดให้บริการชั่วคราวช่วงโควิด-19 ทำให้อาจมีแรงงานข้ามชาติกว่า 1.5 ล้านคน ที่ต้องต่ออายุหนังสือเดินทางช่วงนี้อาจต่ออายุไม่ทัน

อีกกรณีคือตอนนี้ แรงงานข้ามชาติอีกประมาณสี่แสนคนที่หนังสือเดินทางหรือเอกสารแทนหนังสือเดินทางกำลังจะสิ้นสุดลง และไม่สามารถดำเนินการต่ออายุหรือจัดทำหนังสือเดินทางใหม่ได้ เนื่องจากข้อจำกัดในการเดินทางออกนอกพื้นที่ หรือเดินทางกลับประเทศตามแนวปฏิบัติของรัฐบาล ทำให้มีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นแรงงานข้ามชาติที่ผิดกฎหมายเช่นกัน ดังนั้น หากไม่มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาใด ๆ จะส่งผลให้แรงงานข้ามชาติจำนวนมากกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย   

ทางเครือข่ายฯ จึงเสนอให้กระทรวงมหาดไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ควรดำเนินการประสานงานและเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นขอบให้ใช้อำนาจตาม ม.17 พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ผ่อนผันการขอรับการตรวจลงตราวีซ่าไปก่อน และให้แรงงานข้ามชาติสามารถอยู่อาศัยในประเทศไทยได้ตามเงื่อนไขการขออนุญาตทำงานตามมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่อไป 

 

โดยจดหมายเปิดผนึกมีรายละเอียดดังนี้

เรื่อง        ข้อห่วงใยและข้อเสนอต่อแนวทางในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19

เรียน       รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

สำเนาถึง  ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

             ผู้บังคับการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

             

           จากนโยบายของรัฐบาลในเรื่องการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเชื้อไวรัสโควิด 2019 ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 20 สิงหาคม 2562 มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 4 สิงหาคม 2563 มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 และล่าสุดมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 29 ธันวาคม 2563 โดยมีเป้าหมายเพื่อรองรับการเฝ้าระวังป้องกันโรคเชื้อไวรัสโควิด 2019 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอนของมติคณะรัฐมนตรีและตามประกาศกระทรวงมหาดไทยที่เกี่ยวข้อง ทั้งอยู่ระหว่างการดำเนินการขอตรวจลงตราวีซ่า ขออยู่ต่อในประเทศไทย และรอดำเนินการขั้นตอนการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติรอบใหม่

           จากการดำเนินการในระดับพื้นที่ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันยังพบว่ามีความไม่ชัดเจนในแง่การดำเนินการ ทำให้เกิดปัญหาแก่นายจ้างและแรงงานข้ามชาติ ทางเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ และกลุ่มนายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าว จึงมีข้อกังวลใจและประเด็นหารือดังนี้

1.       ในการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 และประกาศกระทรวงมหาดไทยประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 โดยระบุ มิให้นำ ม.54 ของพรบ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาบังคับใช้กับคนต่างด้าว ซึ่งอยู่ระหว่างรอการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี อย่างไรก็ตามยังพบว่ามีการจับกุมแรงงานข้ามชาติที่อยู่ระหว่างรอการดำเนินการในหลายพื้นที่ ซึ่งเป็นการขัดกับมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 29 ธันวาคม 2563 และประกาศกระทรวงมหาดไทย และอาจจะขัดแย้งมาตรการในการป้องกันโรคโควิดตามแนวทางของรัฐบาล

ข้อเสนอ สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรทำหนังสือสั่งการย้ำถึงแนวทางการจัดการแรงงานข้ามชาติในกลุ่มเป้าหมายตามมติคณะรัฐมนตรี 29 ธันวาคม 2563 โดยไม่ให้มีการจับกุมแรงงานข้ามชาติที่รอการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เพื่อลดความเสี่ยงในการควบคุมโรคระบาด และมีมาตรการลงโทษจริงจังกับเจ้าหน้าที่ที่ไม่ดำเนินการ หรือแสวงหาประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว

 

2.       ตามที่กระทรวงมหาดไทยได้ออก กฎกระทรวงกำหนดโรคต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักร หรือเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร พ. ศ. 2563 โดยเพิ่ม โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 เป็นโรคตามมาตรา 12(4) และ มาตรา 44 (2) ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินการขอตรวจลงตราวีซ่าสำหรับแรงงานข้ามชาติตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 20 สิงหาคม 2562 มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 4 สิงหาคม 2563 มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งทำงานอยู่ในประเทศไทยก่อนหน้านี้แล้ว และประสบปัญหาทางเศรษฐกิจขาดรายได้ในช่วงการระบาดของโรคโควิดในช่วงแรก และต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน ประกอบกับค่าใช้จ่ายในการตรวจลงตราวีซ่าเพิ่มขึ้นจากเดิม 500 บาทต่อครั้ง กลายเป็น 1,900 บาท/ครั้ง (1ปี) ทำให้เกิดภาระทางการเงินเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการหลุดจากระบบการจ้างงานที่ถูกต้องตามกฎหมายและจะเกิดผลกระทบต่อการควบคุมโรคระบาดในปัจจุบันได้

ข้อเสนอ เพื่อให้เป็นการลดภาระแก่แรงงานข้ามชาติและนายจ้าง และป้องกันความเสี่ยงที่แรงงานข้ามชาติจะหลุดจากระบบและไม่สามารถควบคุมโรคระบาดได้ จึงขอให้การยกเว้นการตรวจโรคโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ และประสานงานให้มีการตรวจเชิงรุกในแรงงานข้ามชาติแทนโดยอาศัยเงื่อนไขของการต้องมาตรวจลงตราวีซ่าเป็นจุดในการตรวจเชิงรุก ทั้งนี้จะสามารถครอบคลุมแรงานข้ามชาติได้มากกว่า 1.5 ล้านคน

 

3.       การดำเนินการตรวจลงตราวีซ่าสำหรับแรงงานข้ามชาติตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 20 สิงหาคม 2562 มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 4 สิงหาคม 2563 มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 ในหลายพื้นที่ยังมีความสับสน และสร้างภาระให้แก่นายจ้างและแรงงานข้ามชาติ ทั้งในเรื่องการใช้เอกสารใบรับรองแพทย์สำหรับมติคณะรัฐมนตรี 20 สิงหาคม 2562 ได้มีการระบุในการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีชัดเจนว่า แรงงานข้ามชาติสามารถรับการตรวจสุขภาพในสถานพยาบาลเอกชนได้ แต่ก็พบว่าเจ้าหน้าที่ในบางพื้นที่ยืนยันให้นายจ้างต้องใช้ใบรับรองแพทย์ที่ออกให้โดยสถานพยาบาลของรัฐเท่านั้น ซึ่งในปัจจุบันสถานพยาบาลของรัฐในหลายพื้นที่ปิดรับการตรวจสุขภาพแรงงานข้ามชาติ และนายจ้างเองก็ได้ดำเนินการตรวจตามเงื่อนไขมติคณะรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งกลายเป็นการสร้างภาระให้แก่นายจ้างและแรงงานข้ามชาติ นอกจากนั้นแล้วยังพบว่า แรงงานข้ามชาติตามมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องข้างต้น ที่ได้ไปดำเนินการขอตรวจลงตราวีซ่าก่อนที่กฎกระทรวงกำหนดโรคต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักร หรือเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร พ.ศ. 2563 บังคับใช้ ก็ได้ถูกปฏิเสธการดำเนินการตรวจลงตราวีซ่า โดยให้ไปนำหลักฐานการตรวจโรคโควิด 19 มาแสดงประกอบ โดยอ้างอิงกฎกระทรวงดังกล่าว ซึ่งสร้างความสับสนและเป็นภาระค่อนข้างมาก

ข้อเสนอ สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรทำหนังสือสั่งการถึงแนวปฏิบัติในเรื่องการตรวจลงตราวีซ่าสำหรับแรงงานข้ามชาติที่ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน เพื่อไม่สร้างความสับสนและเกิดภาระให้แก่นายจ้างและแรงงานข้ามชาติ ตลอดจนเพื่อป้องกันการแสวงหาประโยชน์จากสถานการณ์ดังกล่าว

 

4.       ตามที่ระบุไว้ข้างต้น ในขณะนี้หลาย ๆ สถานพยาบาลในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีมาตรการระงับการตรวจสุขภาพเพื่อขอตรวจลงตราวีซ่าของแรงงานข้ามชาติไปแล้ว ทำให้มีความเสี่ยงที่จะดำเนินการตรวจลงตราวีซ่าไม่ทัน ซึ่งเสี่ยงที่จะกลายเป็นแรงงานข้ามชาติที่ผิดกฎหมาย นอกจากนั้นแล้วการนำแรงงานข้ามชาติจำนวนราว ๆ 1.5 ล้านคนมาดำเนินการ ตรวจสุขภาพและขอรับการตรวจลงตราวีซ่า ในสถานที่ที่มีพื้นที่จำกัด ยังก่อให้เกิดการรวมกลุ่มของผู้คนจำนวนมากในสถานที่แออัดซึ่งขัดกับมาตรการป้องกันการระบาดของโรคที่รัฐบาลกำหนด นอกจากนั้นแล้วยังมีแรงงานข้ามชาติประมาณสี่แสนคนที่หนังสือเดินทางหรือเอกสารแทนหนังสือเดินทางกำลังจะสิ้นสุดลง และไม่สามารถดำเนินการต่ออายุหรือจัดทำหนังสือเดินทางใหม่ได้ เนื่องจากข้อจำกัดในการเดินทางออกนอกพื้นที่ หรือเดินทางกลับประเทศตามแนวปฏิบัติของรัฐบาล ทำให้มีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นแรงงานข้ามชาติที่ผิดกฎหมายเช่นกัน ดังนั้นหากไม่มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาใด ๆ จะส่งผลให้แรงงานข้ามชาติจำนวนมากกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมายต่อไป

ข้อเสนอ กระทรวงมหาดไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ควรดำเนินการประสานงานและเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นขอบให้ใช้อำนาจตาม ม.17 พรบ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ยกเว้นการขอรับการตรวจลงตราวีซ่าไปก่อน และให้แรงงานข้ามชาติสามารถอยู่อาศัยในประเทศไทยได้ตามเงื่อนไขการขออนุญาตทำงานตามมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่อไป

           ทั้งนี้เพื่อให้การบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติและการควบคุมการระบาดของโรคเชื้อไวรัสโควิด 2019 ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ เป็นไปตามเป้าหมายของรัฐ และเพื่อความมั่นคงทางสุขภาพของประเทศไทยต่อไป

           จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

   ขอแสดงความนับถือ                       

          เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ            

                                                กลุ่มนายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าว              

 

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ

นายอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงาน เครือข่ายประชากรข้ามชาติ

โทรศัพท์ 089 788 7138 หรือ อีเมลล์ adisorn.keadmongkol@gmail.com , contact@mwgthailand.org

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท