Skip to main content
sharethis

เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรมแถลงข่าว ชงข้อเสนอฝ่าวิกฤตการณ์โควิดรอบใหม่ รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า แก้โควิด 19 ลดความเหลื่อมล้ำ ถึงเวลาเก็บภาษีความมั่งคั่ง คนรวย 1% 

19 ม.ค.2564 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า วานนี้ (18 ม.ค.64) เวลา 11.00 น. ที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย รามคำแหง 39 แยก 17 เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) ถ่ายทอดสด ผ่าน เพจ We Fair แถลงข่าวในหัวข้อ "ฝ่าวิกฤตการณ์โควิดรอบใหม่ รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า แก้โควิด 19 ลดความเหลื่อมล้ำ ถึงเวลาเก็บภาษีความมั่งคั่ง คนรวย 1%" 

นุชนารถ แท่นทอง เครือข่ายสลัม กล่าวว่า วิกฤติการณ์โควิดรอบที่สองนั้น เป็นเหมือนการซ้ำเติมบาดแผลของชีวิตประชาชนจากวิกฤตการณ์ในรอบแรก แต่มาตรการของรัฐกลับออกมาในลักษณะของการเยียวยาเฉพาะกลุ่ม ทั้งที่รัฐควรจะเยียวยาโดยถ้วนหน้า เช่น การให้วัคซีน และนอกจากนั้น มาตรการของรัฐยังเป็นการเน้นสนับสนุนกลุ่มทุน เช่น การยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเป็นช่องทางในการหลบเลี่ยงภาษี เป็นต้น ในทางตรงกันข้าม มาตรการในการลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคนั้น ยังไม่สามารถทำให้คนจนเข้าถึงได้จริง เพราะไม่ครอบคลุมไปถึงผู้เช่าบ้าน รวมถึงคนในชุมชนแออัดที่ใช้มิเตอร์ไฟฟ้าร่วมกันต่างก็เดือดร้อนกันทั้งหมด หรือแม้แต่นักเรียนก็ได้รับผลกระทบจากเรียนออนไลน์ เนื่องจากบางคนไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตหรือโทรศัพท์สมาร์ทโฟนได้ นอกจากนี้ ในช่วงวิกฤติการณ์โควิด ยังคงมีการประกาศไล่รื้อให้ออกจากที่ดินภายใน 30 วัน ไม่ว่าจะเป็นที่ดินเอกชน ที่ดินรถไฟ หรือที่ดินสาธารณะก็ตาม ซึ่งการประกาศนี้ไม่ได้มีการหยุดตามวิกฤตการณ์โควิด เนื่องจากมาตรการในการดำเนินคดีคดีไม่เคยหยุด ซึ่งสิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่านโยบายของรัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาให้คนทุกกลุ่มได้ จึงต้องการให้รัฐบาลมองเห็นถึงความสำคัญของคนทุกกลุ่มอย่างเสมอกัน

ชุลีพร ด้วงฉิม เครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า บทเรียนจากสถานการณ์โควิดรอบแรก ประชาชนได้ร่วมกันเฝ้าระวังดูแลกันเองด้วยความเสียสละ และให้ความร่วมมือกับมาตรการของภาครัฐ ในขณะที่ภาครัฐกลับเยียวยาประชาชนอย่างล่าช้าแลไม่ทั่วถึง เช่น “โครงการเราไม่ทิ้งกัน” ซึ่งกีดกันคนจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี ตลอดจนนโยบายเยียวยาอื่นๆ แบบเลือกปฏิบัติเฉพาะกลุ่มต่างๆ ที่รัฐมีแนวคิดว่าจะช่วยลดผลกระทบและกระตุ้นเศรษฐกิจในทางหนึ่งด้วย ซึ่งการใช้งบประมาณดังกล่าวนั้นไม่ถ้วนหน้า ไม่ทั่วถึง และไม่ช่วยแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนแต่ประการใด สำหรับตนซึ่งทำงานติดตามด้านสุขภาพ ก็ยังไม่มั่นใจในประสิทธิภาพของวัคซีนที่รัฐบาลจัดหาให้ เพราะจากข้อมูลที่ได้รับมาก็ยังไม่สามารถทำให้มั่นใจได้ว่าวัคซีนจะช่วยป้องกันโรคโควิดได้จริงหรือไม่ จึงต้องการให้รัฐบาลทบทวนการใช้งบประมาณให้ถี่ถ้วนมากกว่านี้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน

อธิพันธุ์ ว่องไว เครือข่ายคนพิการ กล่าวว่า ตั้งแต่วิกฤตการณ์โควิดในรอบแรก คนพิการได้รับผลกระทบเรื่องการทำมาหากินมาตลอด แต่รัฐบาลกลับไม่คำนึงถึงคนพิการ ช่วงโควิดรอบแรก รัฐบาลให้เงินเยียวยาคนพิการ 1000 บาท เพียง 1 เดือน ส่วนในช่วงโควิดรอบสองนี้ก็ไม่มีการพูดถึงคนพิการ ทั้งนี้ คนพิการจำนวน 2 ล้านคน ได้รับเบี้ยความพิการ 800 บาท ส่วนคนที่ได้เพิ่ม 200 บาท คือ คนที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และคนพิการอายุต่ำกว่า 18 ปีเท่านั้น จึงต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มเบี้ยคนพิการเป็นคนละ 3000 บาทอย่างถ้วนหน้า แต่รัฐบาลก็มักจะกล่าวว่าไม่มีงบประมาณที่เพียงพอ ทั้งที่ในความเป็นจริงนั้นมีกองทุนคนพิการซึ่งมีเงินหลายพันล้านบาท จึงอยากให้รัฐคำนึงถึงการเยียวยาต่อคนพิการมากกว่านี้ และอยากฝากว่า ถ้าประเทศเรามีรัฐสวัสดิการที่เอื้อต่อคนทุกคน ปัญหาคนพิการ คนสูงอายุ หรือคนกลุ่มใดๆ ก็จะสามารถแก้ไขได้ โดยเราไม่จำเป็นต้องมาคุยกันเลยด้วยซ้ำว่า เวลาเกิดโรคระบาดมาจะป้องกันให้คนพิการหรือคนที่ได้รับผลกระทบกลุ่มอื่นๆอย่างไร เพราะหน่วยงานรัฐจะสามารถจัดสวัสดิการให้กับคนทุกกลุ่มได้ รัฐสวัสดิการจึงจำเป็นสำหรับสังคมไท

ธนพร วิจันทร์ เครือข่ายแรงงาน กล่าวว่า มาตรการเยียวยาของรัฐขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน แรงงานในระบบประกันสังคมไม่ได้รับการเยียวยา และรัฐยังนำเงินประกันสังคมกรณีว่างงานมาใช้ ทั้งที่ควรนำไปใช้ในกรณีการถูกเลิกจ้างหรือลาออกจากงาน เราไม่เห็นด้วยในการนำเงินประกันสังคมมาจ่ายในกรณีโควิด เนื่องจากเงินจำนวนนี้เป็นเงินสะสมของลูกจ้างร่วมกับนายจ้างฝ่ายละ 5% ซึ่งรัฐสมทบเพียง 2.75 นอกจากนี้ การที่นายจ้างสั่งปิดงานด้วยเหตุโควิด ในรอบแรกให้ใช้ประกันการว่างงานให้สิทธิ์ 62% และในรอบสองให้สิทธิ์ 50% การที่รัฐบาลไปประกาศให้โควิดเป็นเหตุสุดวิสัย ทั้งที่จริงๆแล้ว หากนายจ้างสั่งปิดงาน จะต้องไปใช้มาตรา 75 ของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน นั่นคือเราจะได้ค่าจ้าง 75% ของฐานค่าจ้าง แต่เมื่อเรามาใช้ประกันสังคมจึงได้ 50% โดยใช้ฐานเงินเดือนสูงสุด 15,000 บาท ซึ่งเท่ากับ 7500 บาท นอกจากนี้ยังมีการใช้สถานการณ์โควิดทำลายสหภาพแรงงานโดยอ้างถึงวิกฤติการณ์เศรษฐกิจ ส่วนปัญหาเรื่องแรงงานข้ามชาตินั้น เกิดจากความหละหลวมของภาครัฐ จึงทำให้เกิดการระบาด ถือเป็นมาตรการที่ผิดพลาดของรัฐ ขอให้อย่าโทษประชาชนและแรงงานข้ามชาติ

นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้ประสานงาน We Fair กล่าวว่า เครือข่าย We Fair ขอเรียกร้องให้รัฐเยียวยาประชาชนที่มีอายุเกิน 18 ปี ด้วยเงินรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า เดือนละ 3,500 บาท เป็นเวลา 3 เดือน เครือข่าย We Fair ไม่เห็นด้วยกับ “โครงการเราชนะ” ที่ตัดสิทธิ์แรงงานในระบบประกันสังคม มาตรา 33 กว่า 11 ล้านคน มาตรการนี้ใช้งบประมาณ 525,000 ล้านบาท ภายใต้กรอบงบประมาณที่นายกรัฐมนตรีแถลงไว้ว่ามีเงินสำหรับดูแลการระบาดรอบใหม่ 6 แสนล้านบาท

นิติรัตน์กล่าวว่า เครือข่าย We Fair ไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายการจัดหาวัคซีนไว้เพียง 33 ล้านคน คิดเป็นประชากรเพียง 50% โดยรัฐต้องชี้แจงให้ชัดเจนว่า ทำไมจึงสั่งจองวัคซีน 63 ล้านโดส จากบริษัทแอสตราเซนเนกาและบริษัทชิโนแวค ที่มีข้อมูลว่าประสิทธิภาพไม่เทียบเท่าบริษัทอื่นๆ ทั้งนี้ งบประมาณวัคซีนสามารถเกลี่ยจากงบประมาณเรือดำน้ำ 2 ลำ (22,500 ล้านบาท) ซึ่งจะได้วัคซีนสำหรับ 48.28 ล้านคน หรือรถยานเกราะสไตรเกอร์ 130 คัน (9,100 ล้านบาท) จะได้วัคซีนสำหรับ 39.05 ล้านคน

ผู้ประสานงาน We Fair กล่าวอีกว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ต้องจัดสรรงบประมาณสวัสดิการสังคมสำหรับกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ (1) เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า สำหรับเด็ก 4.2 ล้านคน (2) ประกันสังคมคนทำงานถ้วนหน้า สำหรับแรงงานอิสระ 21 ล้านคน (3) บำนาญถ้วนหน้า สำหรับผู้สูงอายุ 12 ล้านคน (4) เงินรายได้พื้นฐานคนพิการถ้วนหน้า สำหรับคนพิการ 2 ล้านคน ทั้งนี้ รัฐจะต้องปฏิรูประบบภาษีและงบประมาณ โดยปรับลดงบประมาณที่ไม่สอดคล้องกับการแก้ไขวิกฤตการณ์โควิด อาทิ งบประมาณกระทรวงกลาโหม การปรับปรุงการลดหย่อนและการยกเว้นภาษี ซึ่งมีลักษณะที่ผู้มีรายได้น้อยอุดหนุนและเอื้อประโยชน์ให้ผู้มีรายได้สูง การจัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า ภาษีผลได้จากทุน รวมทั้งการจัดเก็บภาษีความมั่งคั่งจากคนที่ร่ำรวยที่สุด 1% ทั้งนี้ จากการประเมินของนักวิชาการระบุว่า หากเก็บภาษีที่อัตรา 3.5% กับมหาเศรษฐี 50 อันดับแรก จะได้เงินจำนวนถึง 185,000 ล้านบาท

รายละเอียดของแถลงการณ์ : 

ฝ่าวิกฤตการณ์โควิดรอบใหม่ รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า แก้โควิด19 ลดความเหลื่อมล้ำ ถึงเวลาเก็บภาษีความมั่งคั่ง คนรวย 1%

เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) วันที่ 18 มกราคม 2564

สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 รอบใหม่ เผยให้เห็นผลของวิกฤติการณ์ความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยอีกครั้ง ในขณะที่คนระดับบนไม่เป็นทุกข์ร้อนมากนัก แต่คนชั้นล่างแรงงานอาชีพอิสระ แรงงานในระบบเผชิญความเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้าง การสูญเสียรายได้จากการทำงาน สถานประกอบการต้องหยุดดำเนินการ ครัวเรือนมีภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้นจากการ Work from Home นักเรียนนักศึกษาได้รับผลกระทบจากการเรียนออนไลน์ แรงงานที่ถูกเลิกจ้างจากโควิดผันตัวไปเป็นแรงงานบนแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือแรงงานภาคเกษตรอันไร้สวัสดิการรองรับ ในขณะที่ภาระหนี้สินส่งผลกระทบต่อเด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ และคนวัยทำงานทุกครัวเรือน

บทเรียนจากสถานการณ์โควิดรอบแรก ประชาชนได้ร่วมกันเฝ้าระวังดูแลกันเองด้วยความเสียสละ และให้ความร่วมมือกับมาตรการของภาครัฐ ในขณะที่ภาครัฐเยียวยาประชาชนล่าช้า ไม่ทั่วถึง เช่น “โครงการเราไม่ทิ้งกัน” กีดกันคนจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี จนทำให้สังคมไทยได้บทเรียนว่า “สวัสดิการถ้วนหน้า” เยียวยาผู้คนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทันสถานการณ์ เช่นเดียวกับรัฐบาลหลายประเทศมีมาตรการเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจ การดูแลสวัสดิการสังคมตามแนวคิดรัฐสวัสดิการ การเข้าถึงสิทธิเสมอกันไม่แบ่งแยก เพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ผู้คน การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพที่ทุกคนเข้าถึง ระบบประกันทางสังคมสำหรับคนทำงาน ระบบบำนาญถ้วนหน้าแก่กลุ่มผู้สูงอายุ รวมทั้งแนวคิดระบบเงินเดือนถ้วนหน้า

เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) ในฐานะคนส่วนใหญ่ 99% พวกเราต้องการสร้างสังคมไทยเสมอหน้าด้วยรัฐสวัสดิการ ทดแทนรัฐที่พยายามรักษาสภาพสังคมที่คน 1% กอบโกยความมั่งคั่งจากคนส่วนใหญ่ โดยมีข้อเสนอ ด้วยแนวทาง “รัฐสวัสดิการ” ดังต่อไปนี้

1.มาตรการเฉพาะหน้า

1.1) รัฐต้องเยียวยาประชาชนที่มีอายุเกิน 18 ปี ด้วยเงินรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า เดือนละ 3,500 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งเป็นช่วงการเฝ้าระวังสูงสุดและเริ่มฉีดวัคซีน เราไม่เห็นด้วยกับ “โครงการเราชนะ” ที่ตัดสิทธิ์แรงงานในระบบประกันสังคม มาตรา 33 กว่า 11 ล้านคน ซึ่งเป็นผู้สมทบเงินเพื่อสวัสดิการของตนเอง ทั้งนี้มาตรการนี้สามารถทำได้ด้วยงบประมาณ 525,000 ล้านบาท ภายใต้งบประมาณที่นายกรัฐมนตรีแถลงไว้ว่ามีเงินสำหรับดูแลสถานการณ์การระบาดรอบใหม่ 6 แสนล้านบาท จากเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่คงเหลือ 4.9 แสนล้านบาท และงบกลางใช้ในกรณีฉุกเฉินเร่งด่วน 1.3 แสนล้านบาท

1.2) รัฐต้องจัดหาวัคซีนสำหรับทุกคน ประชาชนต้องมีสิทธิในการเข้าถึงเท่าเทียมกัน เราไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้เพียง 33 ล้านคน คิดเป็นประชากรเพียง 50% โดยรัฐบาลต้องชี้แจงให้ชัดเจนว่า ทำไมจึงสั่งจองวัคซีน 63 ล้านโดส จากบริษัทแอสตราเซนเนกาและบริษัทชิโนแวค ที่มีข้อมูลว่าประสิทธิภาพไม่เทียบเท่าบริษัทอื่นๆ ทั้งนี้ งบประมาณในการจัดหาวัคซีนเพียงพอสำหรับทุกคน หากรัฐบาลเกลี่ยงบประมาณเพื่อคำนึงถึงความมั่นคงในชีวิตประชาชน อาทิ 1) เรือดำน้ำ 2 ลำ (22,500 ล้านบาท) ได้วัคซีนสำหรับ 48.28 ล้านคน [1] 2) รถยานเกราะสไตรเกอร์ 130 คัน (9,100 ล้านบาท) ได้วัคซีนสำหรับ 39.05 ล้านคน 3) เงินเดือน สว. (681.36 ล้านบาท) ได้วัคซีนสำหรับ 1.46 ล้านคน 4) ภาพยนตร์รักชาติ (30 ล้านบาท) ได้วัคซีนสำหรับ 64,516 คน

1.3) มาตรการด้านสาธารณูปโภคและที่อยู่อาศัย รัฐต้องลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค อย่างน้อย 3 เดือน ได้แก่ ค่าไฟฟ้า น้ำประปา อินเตอร์เน็ต ค่าทางด่วน ค่าโดยสาร ค่าเช่า ค่าหน่วยกิต ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวควรครอบคลุมไปถึงผู้เช่าบ้าน รวมทั้งคนในชุมชนแออัดที่ใช้มิเตอร์ไฟฟ้าร่วมกัน

ในกรณีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย รัฐต้องออกข้อกำหนดพิเศษห้ามการไล่-รื้อทุกประเภท ในกรณีที่ไม่มีค่าเช่าบ้านอันเกิดจากผลกระทบโควิด รวมทั้งห้ามขับไล่ประชาชนออกจากที่ดินของรัฐ ในช่วงที่ไม่สามารถรวมตัวและร้องเรียนดังเช่นสถานการณ์ปกติได้

1.4) มาตรการด้านหนี้สินและสินเชื่อ รัฐต้องพักการชำระหนี้สินและดอกเบี้ย อย่างน้อย 1 ปี ได้แก่ หนี้สินส่วนบุคคล บ้าน รถ การศึกษา กยศ. และให้ยุติการคำนวณดอกเบี้ย รวมทั้งระงับการฟ้องคดีล้มละลายทั้งบุคคลและนิติบุคคลขนาดเล็กในช่วงโควิดนี้

1.5) มาตรการสำหรับแรงงาน

(1) หากนายจ้างสั่งให้ลูกจ้างหยุดงาน หรือถูกทางราชการสั่งปิดด้วยเหตุแห่งโรคระบาดโควิด-19 ให้นายจ้างและรัฐร่วมจ่ายเงินแก่ลูกจ้างให้ครบ 100%

(2) สำหรับผู้ประกันตน มาตรา 33 กรณีที่นายจ้างสั่งหยุดงานชั่วคราวโดยมิใช่เหตุสุดวิสัย แต่เป็นเหตุอื่น ตามมาตรา 75 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ซึ่งนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้าง 75% ของค่าจ้างนั้น ให้รัฐจ่ายเงินส่วนต่างให้แก่ลูกจ้างอีก 25%

(3) ลดเงินสมทบสำหรับผู้ประกันตน มาตรา 39 และ 40 ชั่วคราว โดยรัฐจ่ายสมทบแทน

(4) รัฐควรสนับสนุนให้แรงงานอิสระที่ไม่ได้เข้าสู่ระบบประกันสังคม เช่น แรงงานภาคเกษตร เข้าถึงประกันสังคม มาตรา 39 และ 40 โดยรัฐช่วยจ่ายสมทบให้ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด และส่งเสริมให้แรงงานกลุ่มนี้เข้าสู่ระบบประกันสังคมทั้งหมด

(5) รัฐควรมีมาตรการช่วยเหลือแรงงานส่งอาหารตามสั่ง ส่งพัสดุ พนักงานทำความสะอาด พนักงานนวด ฯลฯ ที่ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจแพลตฟอร์ม ซึ่งมีรายได้เพิ่มขึ้นในช่วงของการระบาดฯ แต่แรงงานกลุ่มนี้ขาดความมั่นคงในการทำงาน ไม่ได้เป็นผู้ประกันตนที่ธุรกิจร่วมจ่ายเงินสมทบในฐานะนายจ้าง และไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการ เช่น เงินชดเชยจากการว่างงาน การเจ็บป่วยและอุบัติเหตุจากการทำงาน

2. มาตรการระยะกลาง

2.1) การสร้างรัฐสวัสดิการ จากกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 จำนวน 3.1 ล้านล้านบาท โดยจัดลำดับความสำคัญเพื่อแก้ไขวิกฤติการณ์ความเหลื่อมล้ำ และตอบสนองต่อการพัฒนาศักยภาพประเทศ จะทำให้เกิดเงินหมุนเวียน หนี้ครัวเรือนลดลง การดำเนินนโยบายตามแนวทาง “รัฐสวัสดิการ” จะเป็นมาตรการที่ยั่งยืนในการสร้างหลักประกันให้ประชาชนผ่านพ้นวิกฤตนี้ ด้วยระบบการคลังและบริการสาธารณะจะมีกลไกที่ยึดโยงกับคุณภาพชีวิตของประชาชน และเอื้อให้ประชาชนทุกชนชั้นที่มีความสามารถและความสร้างสรรค์ มีโอกาสยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเอง โดยไม่ถูกกีดกันด้วยฐานะ เพศ วัย การศึกษา สถานะบุคคล

นับจากการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ยังไม่ปรากฎนโยบายสวัสดิการของพรรคการเมืองใน พ.ร.บ.งบประมาณฯ ซึ่งถูกครอบงำโดยข้าราชการ ดังการจัดสรรงบประมาณปี 2564 ที่มีความเหลื่อมล้ำ สวัสดิการประชาชน 60 ล้านคน 4.39 แสนล้านบาท สวัสดิการข้าราชการ 5 ล้านคน 4.65 แสนล้านบาท จึงต้องจัดสรรงบประมาณสวัสดิการประชาชนให้ได้สัดส่วนมากขึ้น

2.2) การจัดสรรงบประมาณสวัสดิการสังคม กลุ่มเปราะบาง

(1) เงินอุดหนุนเด็กเล็ก ถ้วนหน้า

ปัจจุบันเด็กแรกเกิด 0-6 ปี จำนวน 4.2 ล้านคน ได้เงินอุดหนุนจำนวน 600 บาท/เดือน เฉพาะครอบครัวที่มีรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาท/ปี ทำให้เด็กได้รับเงินเพียง 1.4 ล้านคน เครือข่าย We Fair เรียกร้องให้รัฐจัดเงินอุดหนุนเด็กแบบถ้วนหน้า ซึ่งจะใช้งบประมาณการ 30,533.98 ล้านบาท จากงบประมาณเดิม 13,074 ล้านบาท

(2) ประกันสังคมคนทำงานถ้วนหน้า

ปัจจุบันแรงงานนอกระบบ แรงงานอิสระ Freelance แรงงานภาคเกษตร กว่า 20 ล้านคน เข้าถึงประกันสังคม มาตรา 40 เพียง 3.3 ล้านคน เครือข่าย We Fair เรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบประกันสังคม เพื่อให้รอบคลุมคนทำงานทุกกลุ่ม รัฐควรจูงใจให้แรงงานอิสระ 17 ล้านคน เข้าสู่ประกันสังคม โดยจ่ายเงินสมทบให้ 3 เดือน เดือนละ 100 บาท ใช้งบประมาณการ 5,100 ล้านบาท

(3) บำนาญผู้สูงอายุถ้วนหน้า

ปัจจุบันผู้สูงอายุจำนวน 12.04 ล้านคน ได้รับเบี้ยผู้สูงอายุ 600-1000 บาท ต่ำกว่าเส้นความยากจน 3 เท่า และไม่มีการปรับเพิ่มขึ้นเลยตั้งแต่ปี 2554 เครือข่าย We Fair เรียกร้องให้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ พัฒนาเป็นเงินบำนาญถ้วนหน้า โดยใช้เกณฑ์เส้นความยากจน ใช้งบประมาณ 433,440 ล้านบาท คิดเป็น 2.59% ของ GDP ทั้งนี้ หากเพิ่มเงินเบี้ยยังชีพเท่ากัน 1,500 บาท จะใช้งบประมาณ 216,720 ล้านบาท หากเพิ่มจำนวนเงินเบี้ยยังชีพเท่ากัน 1,000 บาท ตามนโยบายพรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์ จะใช้งบประมาณ 144,480 ล้านบาท จากงบประมาณเดิม 80,970 ล้านบาท

(4) เงินรายได้พื้นฐานคนพิการถ้วนหน้า

ปัจจุบัน คนพิการจำนวน 2 ล้านคน ได้รับเบี้ยความพิการ 800 บาท ส่วนคนที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะได้เพิ่ม 200 บาท และคนพิการอายุต่ำกว่า 18 ปี ได้เงินเพิ่ม 200 บาท รวมเป็น 1000 บาท โดยมีคนพิการ 8.8 แสนคน ได้รับเบี้ย 800 บาท เครือข่าย We Fair เรียกร้องให้รัฐพัฒนาเบี้ยยังชีพความพิการเป็น เงินรายได้คนพิการถ้วนหน้า โดยใช้เกณฑ์เส้นความยากจน ใช้งบประมาณ 72,000 ล้านบาท ทั้งนี้ หากเพิ่มเบี้ยยังชีพความพิการเท่ากันถ้วนหน้า 1,000 บาท ใช้งบประมาณ 24,000 ล้านบาท จากงบประมาณเดิม 19,023 ล้านบาท

2.3). การปฏิรูประบบภาษีและงบประมาณ

ประเทศไทยมีปัญหาระบบฐานภาษีที่ผู้ยื่นภาษีมีจำนวนน้อย และการจัดเก็บภาษีทางตรงทำได้น้อย ในขณะที่การสร้างรัฐสวัสดิการมีหัวใจสำคัญคือภาษีทางตรงอัตราก้าวหน้า การจัดทำรัฐสวัสดิการ ต้องปฏิรูประบบภาษีและการจัดสรรงบประมาณ โดยคำนึงถึงการลดความเหลื่อมล้ำ ลดการผูกขาดทางธุรกิจ การส่งเสริมการกระจายอำนาจทางการเมืองและการคลัง โดยรัฐควรปรับการลดหย่อนภาษีและอัตราภาษีให้เหมาะสม เพื่อเป็นแหล่งรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ลดรายจ่ายทางภาษีที่เกิดจากมาตรการลดหย่อนภาษี และการให้สิทธิพิเศษทางภาษีที่เอื้อประโยชน์กับผู้ที่มีรายได้สูง

(1) การปรับลดงบประมาณที่ไม่สอดคล้องกับการแก้ไขวิกฤตการณ์โควิด เพื่อพัฒนาระบบสวัสดิการสังคม ได้แก่ งบประมาณกระทรวงกลาโหม ที่มีการปรับเพิ่มขึ้นมากภายหลังการรัฐประหาร การปรับระบบการส่งเสริมการลงทุน สิทธิประโยชน์ BOI ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนใหญ่ และโครงการที่ได้รับการส่งเสริมมีการกระจุกตัวในเชิงพื้นที่และขนาดของโครงการ

(2) การปฏิรูประบบภาษี (1) การปรับปรุงการลดหย่อนและการยกเว้นภาษี ซึ่งมีลักษณะที่ผู้มีรายได้น้อยอุดหนุนและเอื้อประโยชน์ให้ผู้มีรายได้สูง (2) การจัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า ภาษีที่ดิน ภาษีเงินได้ (3) การจัดเก็บภาษีผลได้จากทุน (Capital Gains Tax) (4) ภาษีมรดก

(3) การจัดเก็บภาษีความมั่งคั่งจากคนที่ร่ำรวยที่สุด 1% เพื่อเป็นมาตรการลดและป้องกันช่องว่างความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย สร้างความมั่นคงเพิ่มอำนาจให้ประชาชน และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน รัฐจึงควรเก็บภาษีจากคนกลุ่มนี้มากขึ้น เพื่อมาช่วยเหลือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ จากการประเมินของ รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ระบุว่า หากเก็บภาษีที่อัตรา 3.5% มหาเศรษฐี 10 อันดับแรก จะเก็บได้ 125,000 ล้านบาท มหาเศรษฐี 20 อันดับแรก จะเก็บได้ 150,000 ล้านบาท มหาเศรษฐี 50 อันดับแรก จะเก็บได้ 185,000 ล้านบาท

เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม

WELFARE STATE IS POSSIBLE

 


[1] (วัคซีนฉีดคนละ 2 โดส ราคา 465 บาท ราคาเทียบจากบริษัทแอสตราเซนเนกา)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net