สมุทรสาครโมเดลในวันวานกับสถานการณ์พื้นที่ควบคุมโรคโควิด - 19 ขั้นสูงสุด

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ป้ายสีฟ้ามีข้อความตัวอักษรสีขาวระบุว่า “ยินดีต้อนรับสู่นครแห่งอาหารทะเล” บนถนนเอกชัยและถนนเศรษฐกิจ 1 เป็นหมุดหมายแก่นักเดินทางว่ากำลังเข้าสู่จังหวัดที่วางตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองให้เป็นศูนย์กลางอาหารทะเล (Hub of Seafood) นอกเหนือจากการปรากฏของโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่กว่า 7,000 แห่ง ยังสามารถพบป้ายข้อความรับสมัครพนักงานจำนวนมากทั้งภาษาไทยและภาษาเมียนมา ควบคู่กับการกำเนิดขึ้นของห้องพักห้องเช่า ตลาดจำหน่ายสินค้าอาหาร เครื่องแต่งกาย โรงรับจำนำ กระทั่งร้านจำหน่ายทอง ล้วนมีภาษามอญเมียนมาปรากฏ กลายเป็นชุมชนแรงงานข้ามชาติขนาดใหญ่ ปรากฏการณ์เหล่านี้ไม่ใช่เหตุบังเอิญ เมื่อพิจารณาสภาพที่ตั้งประกอบกับชื่อบ้านนามเมืองที่ปรากฏชื่อตำบลท่าจีน ท่าฉลอม บางปลา แถมด้วยถนนชื่อเศรษฐกิจ1 พอเป็นหลักฐานบ่งชี้ว่าสมุทรสาครขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักด้วยการประมง การผลิตส่งออกอาหารทะเลโดยมีฟันเฟืองสำคัญคือแรงงานเพื่อนบ้าน ส่วนเจ้าของสถานประกอบการในพื้นที่ก็ล้วนเป็นคนไทยเชื้อสายจีนชัดเจนแทบทั้งสิ้น

กว่าทศวรรษที่ผ่านมาจังหวัดสมุทรสาครมีความพยายามผลักดันนโยบาย “สมุทรสาครโมเดล” ที่คาดหวังให้เป็นต้นแบบการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะการนำเข้าแรงงาน และการจัดระบบระเบียบด้วยการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ การป้องกันการค้ามนุษย์และแรงงานบังคับ เพื่อเป้าหมายในการคุ้มครองแรงงานและจัดสิทธิประโยชน์สวัสดิการต่างๆ ต้นแบบนี้ยังครอบคลุมถึงการนำร่องจัดระเบียบที่พักอาศัย (Zoning) ณ พื้นที่โครงการบ้านเอื้ออาทรจังหวัดสมุทรสาคร (ท่าจีน) ของการเคหะแห่งชาติ รวมถึงพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริม เฝ้าระวัง ควบคุมและป้องกันโรคเช่นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)

พื้นที่ตลาดกลางกุ้งจังหวัดสมุทรสาครหรือที่นิยมเรียกว่าตลาดกุ้ง บริหารโดยบริษัทเอกชน จัดว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในการเป็นตลาดกลางซื้อขายสินค้าเกษตร (สัตว์น้ำ) ประเภทกุ้ง การส่งเสริมเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง (แพกุ้ง) ในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง นอกเหนือจากตลาด ยังเป็นชุมชนที่มีพื้นที่ร้านค้าคลินิกเอกชนและห้องพักที่มีผู้อาศัยราว 4,000 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากเมียนมาในห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) การผลิตและแปรรูปอาหารทะเลจากท้องทะเลสู่ท้องผู้บริโภค  ในเดือนเมษายน 2554 ตลาดกุ้งเคยปรากฏเป็นข่าวใหญ่บนหน้าหนังสือพิมพ์ จากโศกนาฏกรรมที่รถบรรทุกโดยสารแรงงานฯจากหน้าตลาดถูกชนพลิกคว่ำ เป็นเหตุให้มีแรงงานเสียชีวิตทันที 7 คน บาดเจ็บรวม 73 คน โดยคดีผู้ประสบภัยจากรถถึงที่สุดในชั้นศาล จากเหตุการณ์นี้ยังมีการนิมนต์พระสงฆ์ร่วมทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้เสียชีวิตครั้งใหญ่

ชีพจรที่ไม่เคยหยุดนิ่งตลอด 24 ชั่วโมงของสมุทรสาครที่มีแรงงานหมุนเวียนต่อเนื่องในสายการผลิต เฉพาะช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองปลายปีที่มักจะเร่งกำลังการผลิตเพื่อรองรับต่อคำสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ นอกจากโรงงานกระจายทั่วจังหวัด ยังประกอบด้วยห้องเช่าเรียงรายตามชุมชนที่ไม่ทราบจำนวนชัดเจน จากการสังเกตห้องพักในตลาดกลางกุ้ง อาจถือเป็น “ห้องพักระบบเก่าราคาถูก” ในแง่ที่มีแรงงานสลับกันเข้าพักระหว่างรอเข้าทำงาน ขาดการจัดการเท่าที่ควร ทั้งการจำกัดจำนวนผู้เข้าพักไม่ให้แออัด การจัดการสุขาภิบาลที่พักอาศัย สภาพเหล่านี้จึงกลายเป็นภาพจำของห้องพักตลาดกุ้งที่มีเสื้อผ้าแขวนแน่นขนัดตามระเบียงอาคาร จนมักได้รับความสนใจเยี่ยมชมจากบรรดากรรมาธิการหน่วยงานรัฐ สถานศึกษา สื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศ ต่างจากห้องพักระบบใหม่ที่เจ้าของผู้ดูแลย่อมใส่ใจเคร่งครัดการตรวจตราผู้เช่า มีระบบระเบียบการจัดการสุขาภิบาล การรักษาความปลอดภัย

ย้อนกลับไปในปี 2553 จังหวัดสมุทรสาครเคยมีประสบการณ์เผชิญกับปัญหาการระบาดของอหิวาตกโรค (Cholera) ในพื้นที่ชุมชนแรงงานข้ามชาติจนมีรายงานผู้เสียชีวิต ในยุคนั้นด้วยความร่วมมือของฝ่ายสาธารณสุขและฝ่ายปกครอง ร่วมกับภาคประชาสังคมจึงสามารถควบคุมระงับยับยั้งโรคได้ในที่สุด

กระทั่งปลายเดือนธันวาคม 2563 เข้าสู่ศักราชใหม่ที่จำนวนผู้ติดเชื้อสะสม (Cumulative cases) ในกลุ่มประชากรข้ามชาติปะทุขึ้น จนสร้างผลกระทบทันทีต่อผู้คนในตลาดกุ้ง ที่ถูกปิดพื้นที่ห้ามเข้าออกด้วยรั้วลวดหนาม และการจัดกำลังรักษาการณ์โดยฝ่ายปกครอง ตำรวจและทหาร ส่งผลต่อบรรยากาศราวเกิดสงครามกลางเมือง ผู้คนด้านในรั้วทั้งไทยและไม่ไทยกว่า 4,000 ชีวิต ถูกสังคมภายนอกตีตรา (stigma) เหมารวม (stereotype) เสมือนเป็นผู้ต้องขังหรืออาชญากรที่ต้องกักตัวกักโรค ทั้งที่บางส่วนยังไม่พบการติดเชื้อ แต่ไม่มีโอกาสซื้อข้าวปลาอาหารมาสำรอง แม้ภายหลังจะเปิดให้ทยอยออกมา และแรงงานร่วม 500 คนที่กักตัวเพื่อเฝ้าระวังและสังเกตอาการที่ศูนย์ห่วงใยคนสาคร สอบผ่านได้รับใบรับรองการกักตัว

เมื่อวิเคราะห์ในมิติภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งรัฐ ที่มาบรรจบกันทั้งภาวะโรคระบาดและแรงงานข้ามชาติ [1] ที่มักถูกมองด้วยความเป็นอื่น  ย่อมสะท้อนผ่านวิธีคิดจำกัดตัดไฟแต่ต้นลม (ต้องกักตัว) จนกลายเป็นความโกลาหลในระยะแรกที่ต้องประกาศขอรับบริจาคเครื่องอุปโภคบริโภคให้เพียงพอ ซ้ำยังปรากฏภาพการรวมตัวของแรงงานในตลาดกุ้งที่แสดงออกความไม่พอใจต่อขั้นตอนการปฏิบัติในการกักตัว ไม่นับรวมว่าห้ามแรงงานเคลื่อนย้ายเข้าออก และคนไทยต้องเข้าคิวขออนุญาตเดินทางออกนอกจังหวัด

เคราะห์ยังดีที่สถานการณ์การระบาด โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยเปรียบเทียบกับประเทศเมียนมา ยังจัดเป็นประเภทการระบาดแบบกลุ่มก้อน (Cluster of cases) ความชุกยังไม่รุนแรงถึงขั้นการระบาดในชุมชน (Community transmission) เช่นประเทศอินโดนีเซียหรือฟิลิปปินส์ [2]

อุปสรรคสำคัญในการตอบสนองสถานการณ์ ได้แก่ มาตรการดำเนินงานเชิงรับได้แก่ การจัดเตรียมโรงพยาบาลสนาม (Hospitel / Cohort ward) ตามมาตรการของจังหวัดสมุทรสาคร ที่เดิมในปี 2563 ถูกประชาชนต่อต้าน กระทั่งสถานการณ์สุกงอม จนมีคำสั่งจังหวัดสมุทรสาครให้จัดตั้งโรงพยาบาลสนามขึ้นกว่า 9 แห่ง ทั้งในพื้นที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น วัดหรือโกดังโรงงาน (ข้อมูลวันที่ 15 มกราคม 2564) กระนั้นก็อดตั้งคำถามไม่ได้ว่าจำนวนโรงพยาบาลสนาม (ศูนย์ห่วงใยคนสาคร) แม้กระทั่งโมเดลโรงพยาบาลสนามในสถานประกอบการ (Factory quarantine : FQ) รวมถึงจำนวนบุคลากรการแพทย์และสาธารณสุข อาสาสมัครในจังหวัดและระดมจากพื้นที่ใกล้เคียงที่มีอยู่เพียงพอต่อการตอบสนองสถานการณ์ฉุกเฉินในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นหรือไม่ ? รวมถึงคำถามสำคัญขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ว่าประเทศไทยควรกำหนดให้หน่วยงานรับผิดชอบควรใดมีอำนาจการกักกันโรค เพื่อกำกับดูแลมาตรฐานการอบรม การรับรองและการติดตามการกักกันโรคและระบบที่เกี่ยวข้อง มากกว่าที่ปัจจุบันบูรณาการบุคลากรระหว่างกระทรวงสาธารณสุข มหาดไทยและกลาโหม [3]

ส่วนมาตรการดำเนินงานเชิงรุก ได้แก่ การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก (Active case-finding) ในชุมชนประชากรไทยและประชากรข้ามชาติ ที่ผ่านมามีทั้งบังคับตรวจและขอความร่วมมือ ถือเป็นมาตรการจำเป็นที่ต้องดำเนินการต่อเนื่อง น่าเสียดายที่สะดุดลงในช่วงผ่อนคลายมาตรการ นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงการกำหนดเป้าหมายรวมถึงกลุ่มประชากรเสี่ยงตามลักษณะอาชีพ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่อยู่รวมตัวกันมาก หรือทำงานพบปะผู้คนจำนวนมาก เช่น บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข คนขับหรือพนักงานประจำรถ พนักงานจัดส่ง พนักงานห้างสรรพสินค้า ตลาด ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงไม่แพ้แรงงานข้ามชาติ [4]

ข้อท้าทายประการสำคัญ ได้แก่ การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในแรงงานไม่มีเอกสารประจำตัว (Undocumented worker) ซึ่งผู้ปฏิบัติงานควรจะต้องลดเงื่อนไขเอกสารลง ให้แรงงานหรือนายจ้างสมัครใจพาแรงงานเข้ารับการตรวจคัดกรองมากที่สุด เพื่อสนับสนุนสมมุติฐานว่าการแพร่ระบาดระลอกใหม่นี้มีสาเหตุแท้จริงมาจากแรงงานหลบหนีเข้าเมืองจริงหรือไม่ ด้วยข้อมูลการตรวจเชิงรุก ในสมุทรสาครกลับพบผู้ติดเชื้อสะสมส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่มีเอกสารประตัวมากกว่าแรงงานไม่มีเอกสาร

ส่วนข้อกังวลในแง่การจัดสรรงบประมาณสำหรับตรวจคัดกรองและรักษาในกลุ่มประชากรข้ามชาติ ปัจจุบันเงินส่วนหนึ่งมาจากกองทุนประกันสังคมที่แรงงานข้ามชาติในฐานะผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบล่วงหน้า รวมถึงการจัดสรรงบประมาณตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และพื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ที่จัดสรรงบประมาณผ่านกรมควบคุมโรคในการตรวจคัดกรองและรักษาแรงงานไม่มีเอกสารประจำตัวโดยเฉพาะ เพื่อเหตุผลความมั่นคงด้านสุขภาพและควบคุมโรค

ไม่นับรวมมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 29 ธันวาคม 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุขเคาะราคาการตรวจสุขภาพแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะราคาการตรวจหาโควิดจำนวนสูงถึง 1,000 - 3,000 บาท (ขึ้นอยู่กับวิธีการตรวจ) กลายเป็นสถานพยาบาลแต่ละจังหวัดเรียกเก็บค่าตรวจในอัตราที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง เป็นการซ้ำเติมระลอกใหม่สำหรับทั้งนายจ้างลูกจ้างในภาวะเงินฝืดยามนี้ โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติที่ขาดรายได้ แถมเป็นกลุ่มเปราะบางที่เข้าไม่ถึงมาตรการเยียวยาของภาครัฐสารพัดแคมเปญ

เปรียบเทียบกับประเทศสิงคโปร์ที่เป็นชาตินำร่องในภูมิภาค ซึ่งเตรียมจัดวัคซีนต้านไวรัสโคโรน่า 2019 ล็อตแรกมาจากบริษัท Pfizer ฟรีสำหรับแรงงานข้ามชาติในกิจการก่อสร้าง กิจการทางน้ำและการผลิต ด้วยประสบภาวะการระบาดสูงในชุมชนแรงงานข้ามชาติมาก่อน ภาครัฐจึงจัดลำดับความสำคัญรองจากบุคลากรการแพทย์ สะท้อนวิธีคิดที่ยึดเหตุผลความเสมอภาคของมนุษย์ (Human Being Equal) [5]

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในสมุทรสาคร มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ ในระยะสั้นประกอบด้วยนโยบายการตรวจคัดกรองและรักษาฟรีถ้วนหน้าแก่ประชากรทุกสัญชาติโดยไม่มีเงื่อนไข ไม่จำกัดเฉพาะผู้ที่มีเอกสารประจำตัว การเพิ่มจำนวนโรงพยาบาลสนาม (Hospitel) ให้ครอบคลุมเพียงพอ โดยเฉพาะการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก (Active Case-finding) ที่ต้องดำเนินการต่อเนื่อง ทั้งในแง่พื้นที่อาศัยและกลุ่มอาชีพที่มีความเสี่ยง ในระยะยาวต้องมีนโยบายหลักประกันการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคถ้วนหน้าสำหรับทุกคนในแผ่นดินไทย (COVID - 19 Vaccine for All) ในราคาที่ประชาชนเข้าถึงได้ ควรมีหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการกักตัวผู้มีความเสี่ยง รวมถึงการดำเนินงานด้านจิตวิทยาสังคมร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคม ตลอดจนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) เพื่อปฏิบัติงานติดตามฟื้นฟูเยียวยาสุขภาพจิตของคนในชุมชน ร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุและผู้ป่วยเรื้อรัง ประชากรข้ามชาติ คนไร้บ้าน การสร้างพื้นที่กิจกรรมและสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการอยู่ร่วมกันและการลดการตีตรา ตลอดจนต้องกำหนดแผนแม่บทในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติอย่างยั่งยืนทั้งระบบ การสกัดกั้นจับกุมปราบปรามขบวนการผลประโยชน์นำพาแรงงานข้ามชาติ

จากสถานการณ์วิกฤติสังคมเศรษฐกิจของสมุทรสาครที่เริ่มคลี่คลายในครั้งนี้ ย่อมสามารถสรุปบทเรียนในหลายมิติ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน ธุรกิจ ประชาสังคมควรอาศัยสมุทรสาครโมเดลในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ ทั้งการจ้างงานและการจัดระบบที่พักอาศัย พื้นที่จังหวัดอื่นก็ได้เรียนรู้ต้นแบบจากประสบการณ์การจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม การให้ความรู้ความเข้าใจต่อสาธารณะในการป้องกันตัวเองและอาการป่วยที่รู้เร็วรักษาได้ไม่ถึงตาย เพื่อการอาศัยร่วมกันในสังคมไทยที่มีความแตกต่างหลากหลาย เพราะท้ายที่สุด มนุษยชาติกำลังต่อสู้กับไวรัส ไม่ใช่ผู้คน.

 

 

อ้างอิง  

[1] ประยุทธ์ จันทร์โอชา, กองทัพไทยกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่. 2551

[2] WHO, Weekly Epidemiological Update – 19 January 2021

[3] องค์การอนามัยโลกและกระทรวงสาธารณสุข.การทบทวนร่วมระหว่างการปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์โรคโควิด 10 ในประเทศไทย 20-24 กรกฎาคม 2563

[4] กระทรวงสาธารณสุข, การชี้แจงแนวทางการดำเนินงานเฝ้าระวังและค้นหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ในกลุ่มประชากรเสี่ยงและสถานที่เสี่ยง (Sentinel Surveillance) พฤษภาคม 2563

[5] https://twc2.org.sg/2020/12/21/covid-19-vaccine-will-be-free-for-migrant-workers-says-foreign-minister/

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท