Skip to main content
sharethis

'เครือข่ายกะเหรี่ยง-P-move' ออกแถลงการณ์คืนสิทธิ คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ให้กะเหรี่ยงบางกลอย คืนสู่ใจแผ่นดิน แนะผ่อนปรนให้ชาวบ้าน ที่เดือดร้อนและประสงค์กลับไปทำไร่หมุนเวียนตามวิถีวัฒนธรรม ในพื้นที่บรรพบุรุษ บริเวณบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน จนกว่าการแก้ไขปัญหาจะได้ข้อยุติร่วมกัน โดยรัฐต้องไม่ดำเนินการใดๆ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชาวบ้านกลุ่มดังกล่าว

 

28 ม.ค.2564 เพจ มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ เผยแพร่แถลงการณ์ของ ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) เรื่อง คืนสิทธิ คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ให้กะเหรี่ยงบางกลอย คืนสู่ใจแผ่นดิน โดยมีข้อคิดเห็นและข้อเสนอ เพื่อเยียวยาและคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้ชาวบางกลอย ประกอบด้วย 1. ผ่อนปรนให้ชาวบ้าน ที่เดือดร้อนและประสงค์กลับไปทำไร่หมุนเวียนตามวิถีวัฒนธรรม ในพื้นที่บรรพบุรุษ บริเวณบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน จนกว่าการแก้ไขปัญหาจะได้ข้อยุติร่วมกัน โดยรัฐต้องไม่ดำเนินการใดๆ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชาวบ้านกลุ่มดังกล่าว

2. เร่งรัดดำเนินการ จัดหาที่ดินเพื่อนำมาจัดสรรให้กับชาวบ้านที่เดือดร้อนจากการไม่มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยและประสงค์จะดำรงชีวิตอยู่ในชุมชนบางกลอยล่าง โดยเร่งด่วนที่สุด โดยมีเป้าหมาย กระบวนการและระยะเวลาที่ชัดเจนแน่นอน 3. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดดำเนินการ ลงรายการสัญชาติไทย แก่ราษฎร ในหมู่บ้านบางกลอย

4. ให้มีการจัดตั้งกลไกเพื่อรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริงชาวบ้านผู้เดือดร้อนที่ไม่มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย โดยมีส่วนร่วมจากฝ่ายต่างๆ ได้แก่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช สถาบันวิชาการ ได้แก่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และชาวบ้านบางกลอย ผู้เดือดร้อน และ5.ให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมอย่างเป็นทางการ เพื่อทำหน้าที่ กำกับ ติดตาม เร่งรัด การดำเนินการตามข้อ 1 – 4 โดยมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้ ปลัดหรือรองปลัดกระทรวงที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน อธิบดีกรมอุทยานฯ กรมการปกครอง เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม และผู้แทนชาวบ้านบางกลอย ผู้เดือดร้อน

รายละเอียดแถลงการณ์มีดังนี้ 

แถลงการณ์ เรื่อง คืนสิทธิ คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ให้กะเหรี่ยงบางกลอย คืนสู่ใจแผ่นดิน

สืบเนื่องจากเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ได้ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายวราวุธ ศิลปอาชา) ในระหว่างการชุมนุมของพีมูฟระหว่างวันที่ 13 - 15 มกราคม 2563 เกี่ยวกับกรณีปัญหาที่ดินทำกินของชาวบ้านบางกลอย ต่อมาในเดือนสิงหาคม 2563 ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยได้ยื่นหนังสือต่อคณะทำงานยุทธศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา และต่อมานางสาวกาญจนา ศิลปอาชา ที่ปรึกษาคณะทำงานฯ ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและรับฟังข้อมูลเบื้องต้นในพื้นที่ชุมชนบ้านบางกลอย และพบว่าชาวบ้านประสบปัญหาการขาดแคลนที่ดิน และมีความยากลำบากในการดำรงชีวิตจริง แต่หลังจากนั้นก็ไม่ปรากฎว่ามีความคืบหน้าของคณะทำงานฯ แต่อย่างใด

เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563 ชาวบ้านบางกลอยจึงได้ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ผ่านผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ (นายนพดล พลเสน) ณ ชุมชนกะเหรี่ยงภูเหม็น จังหวัดอุทัยธานี เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ

กระทั่งวันที่ 14 มกราคม 2564 ปรากฏรายงานข่าวผ่านสื่อสำนักหนึ่งว่า ชาวบ้านบางกลอยล่างจำนวนหนึ่งได้กลับไปยังบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ซึ่งเป็นหมู่บ้านดั้งเดิม เพื่อทำไร่หมุนเวียนในพื้นที่ทำกินเดิมก่อนการถูกอพยพในปี 2539 และ 2554

เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) จึงได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ผ่านรองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2564 เสนอให้แต่งตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อทำการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยในระหว่างการดำเนินการขอให้ยุติการดำเนินการใดๆ ที่ก่อให้เกิดความรุนแรงรวมถึงการดำเนินการทางกฎหมายกับชาวบ้านกลุ่มดังกล่าว ในเบื้องต้นขอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสั่งการให้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และคณะทำงานยุทธศาสตร์กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) และภาคีเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม เขตงานตะนาวศรี ในระหว่างวันที่ 26-28 มกราคม 2564

โดยคณะได้ลงพื้นที่และรับฟังคำชี้แจงจากหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน (นายมานะ เพิ่มพูล) เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครของมูลนิธิปิดทองหลังพระ และชาวบ้านบางกลอยที่ได้รับผลกระทบ โดยพบข้อเท็จจริงเบื้องต้นดังต่อไปนี้

1.ชุมชนกะเหรี่ยงใจแผ่นดินเป็นชุมชนดั้งเดิมที่มีหลักฐานการก่อตั้งชุมชนไม่ต่ำกว่าปี 2455 ปรากฏหลักฐานตามแผนที่ของกรมแผนที่ทหารบก นอกจากนั้นยังพบหลักฐานตามบัตรประชาชนของปู่คออี้ นายโคอี้ มีมิ ผู้นำจิตวิญญาณของชุมชนบ้านใจแผ่นดิน ที่เกิดในปี 2454 หรือ 30 ปีก่อนมีกฎหมายป่าไม้ฉบับแรก และ 50 ปีก่อนการมีกฎหมายอุทยานฉบับแรก รวมทั้งยังมีหลักฐานอื่นๆ อีกจำนวนมากที่ยืนยันได้ว่าชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอยและใจแผ่นดินเป็นชุมชนท้องถิ่นด้วยเดิมที่ตั้งถิ่นฐานมาเป็นเวลานาน

2.หลังการอพยพตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา มีชาวบ้านส่วนหนึ่งได้รับการจัดสรรที่ดิน ส่วนหนึ่งสามารถปรับตัวอยู่กับวิถีชีวิตใหม่ได้ แต่ก็ยังมีชาวบ้านอีกส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถปรับตัวและดำรงวิถีชีวิตในพื้นที่ใหม่ได้ นอกจากนั้น ยังมีชาวบ้านอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้ตั้งแต่การอพยพในช่วงปี 2539-2541 และ 2553-2554 ซึ่งข้อมูลจากการสัมภาษณ์ 30 ครอบครัว มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย 3 ครอบครัว รวมประมาณ 20 ไร่เศษ อีก 27 ครอบครัวไม่มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเลย คนกลุ่มนี้พยายามปรับตัวด้วยการรับจ้างแรงงานทั้งในและนอกชุมชน แต่มีรายได้ที่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ

3.มีชาวบ้านบางกลอยล่างที่กลับขึ้นไปยังบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ประมาณ 62 ราย ในจำนวนนั้นเป็นเด็ก 20 คน และผู้หญิง 15 คน หนึ่งในนั้นตั้งครรภ์ 8 เดือน

4.เหตุผลที่ชาวบ้านบางกลอยล่างเดินทางกลับขึ้นไปยังบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน มีดังนี้

4.1.เหตุผลในเชิงวัฒนธรรม การทำพิธีกรรมส่งดวงวิญญาณปู่คออี้กลับไปยังใจแผ่นดิน ส่วนสำคัญคือลูกหลานต้องปลูกข้าวไร่ด้วยตนเอง เพื่อใช้ในพิธีกรรมและเลี้ยงผู้มาร่วมงาน พิธีกรรมจึงจะสมบูรณ์ ดวงวิญญาณของปู่คออี้จึงจะไปสู่สุคติตามความเชื่อของชาวปกาเกอะญอ

4.2.ชาวบ้านส่วนหนึ่งที่อพยพตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา ยืนยันว่าไม่ได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยมาเป็นเวลานานกว่า 20 ปี พวกเขามีฐานะยากจน เนื่องจากมีรายได้จากการรับจ้างแรงงานเพียงเล็กน้อย ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต และยิ่งเลวร้ายลงเมื่อเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงตัดสินใจกลับไปยังบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน เพื่อทำไร่หมุนเวียนในพื้นที่ไร่ซากเดิม

5.การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการส่งเสริมอาชีพ พบว่า กลุ่มที่กลับไปยังบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน เป็นกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงความช่วยเหลือจากหน่วยงาน โดยเฉพาะการพัฒนาอาชีพด้านเกษตรกรรม เนื่องจากไม่มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยมีรายได้จากการรับจ้างเพียง 20,000-30,000 บาทต่อปีโดยประมาณ

6.เหตุผลที่กลุ่มผู้ถูกอพยพลงมาตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา ชาวบ้านส่วนใหญ่ในขณะนั้นยังไม่ได้รับสัญชาติไทย แล้วมาได้รับสัญชาติภายหลัง กลุ่มเหล่านั้นจึงตกหล่นและไม่สามารถเข้าถึงการจัดสรรที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย เนื่องจากไม่กล้าแสดงตนเพื่อรับความช่วยเหลือ จากการมีปัญหาด้านสัญชาติ

คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง มีข้อคิดเห็นและข้อเสนอ เพื่อเยียวยาและคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้ชาวบางกลอย ดังต่อไปนี้

1.ผ่อนปรนให้ชาวบ้าน ที่เดือดร้อนและประสงค์กลับไปทำไร่หมุนเวียนตามวิถีวัฒนธรรม ในพื้นที่บรรพบุรุษ บริเวณบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน สามารถทำได้ ดังเหตุผลที่กล่าวไว้ข้างต้นจนกว่าการแก้ไขปัญหาจะได้ข้อยุติร่วมกัน โดยรัฐต้องไม่ดำเนินการใดๆ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชาวบ้านกลุ่มดังกล่าว

2.เร่งรัดดำเนินการ จัดหาที่ดินเพื่อนำมาจัดสรรให้กับชาวบ้านที่เดือดร้อนจากการไม่มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยและประสงค์จะดำรงชีวิตอยู่ในชุมชนบางกลอยล่าง โดยเร่งด่วนที่สุด โดยมีเป้าหมาย กระบวนการและระยะเวลาที่ชัดเจนแน่นอน

3.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดดำเนินการ ลงรายการสัญชาติไทย แก่ราษฎร ในหมู่บ้านบางกลอย

4.ให้มีการจัดตั้งกลไกเพื่อรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริงชาวบ้านผู้เดือดร้อนที่ไม่มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย โดยมีส่วนร่วมจากฝ่ายต่างๆ ได้แก่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช สถาบันวิชาการ ได้แก่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และชาวบ้านบางกลอย ผู้เดือดร้อน

5.ให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมอย่างเป็นทางการ เพื่อทำหน้าที่ กำกับ ติดตาม เร่งรัด การดำเนินการตามข้อ 1 – 4 โดยมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้ ปลัดหรือรองปลัดกระทรวงที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน อธิบดีกรมอุทยานฯ กรมการปกครอง เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) และผู้แทนชาวบ้านบางกลอย ผู้เดือดร้อน

เชื่อมั่นและศรัทธาในพลังประชาชน

ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี

เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม

28 มกราคม 2564

ณ ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยล่าง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net