Skip to main content
sharethis

ฝนหยุดตกกว่าหนึ่งสัปดาห์แล้ว หลังพายุที่ว่ากันว่าเป็นลูกสุดท้ายของปีผ่านพ้นไป สัญญาณของการเปลี่ยนฤดูกาลค่อยๆ ปรากฏชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ลมเย็นพัดมาจากทิศเหนือ สีฟ้าเข้มของท้องฟ้าหน้าหนาวเผยให้เห็นพร้อมอุณหภูมิที่ลดต่ำลง แม้จะอยู่กรุงเทพฯ แต่ก็สามารถสัมผัสได้ถึงการมาถึงของฤดูหนาว เช่นเดียวกับอาการไอและจามที่เป็นสัญญาณแห่งการมาเยือนของ PM2.5 เสมือนเป็นผลผลิตของฤดูกาลที่กลายเป็นขาประจำในไม่กี่ปีที่ผ่านมา...ฝุ่นมาทั้งที่ยังไม่มีข่าวควันไฟ

ปฏิทินข่าวช่วงไม่ถึง 10 ปีมานี้ นอกเหนือจากข่าวของการเกิดไฟป่า ปัญหาหมอกควันที่เกิดขึ้นจากไฟป่าและการเผาพื้นที่เกษตรกรรมแล้ว อีกปัญหาหนึ่งที่กลายเป็นประเด็นร้อนในหน้าสื่อเมืองไทยซึ่งส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงชัดเจนในเชิงนโยบายอย่างเป็นรูปธรรมคือปัญหาฝุ่น PM2.5 ด้วยความที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการใช้ชีวิตของชนชั้นกลางที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศูนย์กลางประเทศอย่างกรุงเทพฯ และเมืองท่องเที่ยวอย่างจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเมื่อหาที่มาที่ไปไม่ได้ หมอกควัน ไฟป่า PM2.5 จึงกลายเป็นเรื่องเดียวกันไปโดยปริยาย

ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือผู้ที่ก่อให้เกิดไฟกลายเป็นจำเลยของสังคมในท้ายที่สุด ตามมาด้วยการกำหนดนโยบายต่างๆ จากทางภาครัฐที่หวังผลบังคับใช้โดยตรงต่อผู้ที่ใช้ไฟเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งไฟป่า ขณะที่นโยบายที่ส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมและวิถีชีวิตของคนเมืองนั้นยังไม่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน ...เสียงของคนบางกลุ่มดังและมีพลังมากกว่า ขณะที่บางกลุ่มพยายามร้องตะโกนอยู่ตลอดเวลาแต่กลับไม่มีใครได้ยิน

 

ไฟมาจากไหนและสำคัญอย่างไรต่อการมีอยู่

ไฟป่าเกิดจากอะไร? นี่อาจไม่ใช่คำถามใหม่สำหรับสังคม คำตอบของคำถามนี้พบได้ทั่วไปในอินเตอร์เน็ตและเอกสารวิชาการ ชัดเจนว่าส่วนใหญ่ของไฟเกิดจากมนุษย์ บ้างก็ว่ากว่า 70% บ้างก็ว่ามากกว่า 90% ที่คนเราเป็นสาเหตุ ซึ่งเมื่อข้อเท็จจริงเป็นดังนั้นก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่แนวคิดในการจัดการที่เรียบง่ายที่สุดย่อมมุ่งตรงไปที่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์ที่เป็นต้นเหตุ เมื่อไม่เผาย่อมไม่มีไฟ เมื่อไม่มีไฟย่อมไม่มีควัน ซึ่งหากมองอย่างผิวเผินก็ไม่น่าจะซับซ้อนอะไร

ประกอบกับสถานการณ์ของโลกสมัยใหม่ที่หันมาให้ความสนใจกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สภาวะโลกร้อนส่งผลโดยตรงต่อความต้องการเพิ่มปริมาณพื้นที่สีเขียว ข่าวความรุนแรงของไฟป่าในแอมะซอนและออสเตรเลีย สร้างความตะหนักให้กับผู้คนทั่วโลก ขณะที่กระแสของการอนุรักษ์เบ่งบานขึ้นในหมู่ชนชั้นกลางอย่างแพร่หลาย กลายเป็นปัจจัยที่เสริมให้นโยบายรัฐมากมายที่เชื่อมโยงกับเรื่องนี้กลายเป็นความชอบธรรม ...ไร้ซึ่งการตั้งถาม

“ไฟร้ายถูกผลักให้กลายเป็นปีศาจในทันที”

ดังนั้นจึงเป็นที่มาของนโยบายต่างๆ ซึ่งนำไปสู่ปลายทางของกติกาและระเบียบมากมายที่มุ่งบังคับใช้กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับไฟอย่างไม่ฟังเหตุผล ซึ่งแน่นอนว่าย่อมหนีไม่พ้นประชาชนที่อยู่ในภาคการเกษตร ซึ่งก็ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าภายหลังการออกมาของนโยบายเหล่านี้ทำให้ความรุนแรงของไฟป่ามากขึ้นหรือลดลง

นโยบายหลักที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อพวกเขาคือ นโยบายซีโร่เบิร์น หรือการห้ามเผา 100% ในช่วงเวลาที่รัฐกำหนด แม้ว่ารัฐจะเปิดโอกาสและจัดสรรช่วงเวลาในการเผาให้กับพื้นที่ต่างๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการเผาพื้นที่เกษตรกรรมปริมาณมากพร้อมกัน ซึ่งแนวคิดดังกล่าวอาจให้ได้ผลกับบางพื้นที่และการทำการเกษตรในบางรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำเกษตรเชิงเดี่ยวและพื้นที่เกษตรกรรมที่อยู่ในเขตชลประทานที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยปริมาณน้ำฝนจากธรรมชาติเพียงอย่างเดียว

ผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือเกษตรกรที่อยู่นอกพื้นที่ชลประทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวบ้านที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่า ซึ่งด้วยข้อจำกัดทางพื้นที่ที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สูงชันแล้ว ยังมีข้อจำกัดทางกฎหมายที่ทำให้เขาเหล่านั้นไม่สามารถขยับอะไรได้มากมายนัก...ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของกรณีนี้คือกลุ่มของกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอหรือชาวกะเหรี่ยง

เพื่อให้ได้ข้อมูลของผลกระทบที่ชัดเจนของนโยบายห้ามเผาและความสำคัญของการใช้ไฟ ผมตัดสินใจเดินทางไปดูให้เห็นด้วยตาในพื้นที่ที่ว่ากันว่าเป็นต้นทางของไฟ

พฤ โอโดเชา ปราชญ์ชาวปกาเกอะญอ ผู้ให้ข้อมูลภูมิปัญญาในการจัดการไฟของชาวบ้าน (ที่มา: ณัฐชานันท์ กล้าหาญ)
พฤ โอโดเชา ปราชญ์ชาวปกาเกอะญอ ผู้ให้ข้อมูลภูมิปัญญาในการจัดการไฟของชาวบ้าน
(ที่มา: ณัฐชานันท์ กล้าหาญ)
 
การเผาไร่ของชาวบ้านป่าคาใน ต.สะเมิงใต้ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ภาพถ่ายเมื่อ 6 พ.ค. 63 (ที่มา: ณัฐชานันท์ กล้าหาญ)
การเผาไร่ของชาวบ้านป่าคาใน ต.สะเมิงใต้ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ภาพถ่ายเมื่อ 6 พ.ค. 63 (ที่มา: ณัฐชานันท์ กล้าหาญ)
 
การแตกใบใหม่ของตอไม้หลังจาการเผาราว 1-2 สัปดาห์ ที่ดูภายนอกอาจเหมือนว่าต้นไม้ทั้งหมดถูกไฟเผาจนตาย ภาพถ่ายเมื่อ 6 พ.ค. 63 (ที่มา: ณัฐชานันท์ กล้าหาญ)
การแตกใบใหม่ของตอไม้หลังจาการเผาราว 1-2 สัปดาห์ ที่ดูภายนอกอาจเหมือนว่าต้นไม้ทั้งหมดถูกไฟเผาจนตาย ภาพถ่ายเมื่อ 6 พ.ค. 63 (ที่มา: ณัฐชานันท์ กล้าหาญ)
 
อาณาเขตของพื้นที่ไร่หมุนเวียนที่อยู่ติดกับพื้นที่ไร่เหล่า ซึ่งไรเหล่าที่มีอายุ 5-7 ปีจะมีสภาพใกล้เคียงกับป่าธรรมชาติ มีเพียงชาวบ้านในพื้นที่ที่จะสามรถบอกอายุของไร่เหล่าแต่ละปีได้อย่างถูกต้อง ภาพถ่ายเมื่อ 8 พ.ค. 63 (ที่มา: ณัฐชานันท์ กล้าหาญ)
อาณาเขตของพื้นที่ไร่หมุนเวียนที่อยู่ติดกับพื้นที่ไร่เหล่า ซึ่งไรเหล่าที่มีอายุ 5-7 ปีจะมีสภาพใกล้เคียงกับป่าธรรมชาติ มีเพียงชาวบ้านในพื้นที่ที่จะสามรถบอกอายุของไร่เหล่าแต่ละปีได้อย่างถูกต้อง ภาพถ่ายเมื่อ 8 พ.ค. 63 (ที่มา: ณัฐชานันท์ กล้าหาญ)
 
พฤ โอโดเชา ขณะอธิบายแนวเขตพื้นที่ความรับผิดชอบในการดับไฟป่าของชาวบ้าน ภาพถ่ายเมื่อ 7 พ.ค. 63 (ที่มา: ณัฐชานันท์ กล้าหาญ)
พฤ โอโดเชา ขณะอธิบายแนวเขตพื้นที่ความรับผิดชอบในการดับไฟป่าของชาวบ้าน ภาพถ่ายเมื่อ 7 พ.ค. 63 (ที่มา: ณัฐชานันท์ กล้าหาญ)
 
พะตีตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ ปราชญ์ชาวปกาเกอะญอ แห่งหมู่บ้านสบลาน ต.สะเมิงใต้ ผู้ที่เป็นแกนนำชาวบ้านต่อสู้เพื่อพื้นที่ทำกินมาจนถึงปัจจุบัน ภาพถ่ายเมื่อ 7 พ.ค. 63 (ที่มา: ณัฐชานันท์ กล้าหาญ)
พะตีตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ ปราชญ์ชาวปกาเกอะญอ แห่งหมู่บ้านสบลาน ต.สะเมิงใต้ ผู้ที่เป็นแกนนำชาวบ้านต่อสู้เพื่อพื้นที่ทำกินมาจนถึงปัจจุบัน ภาพถ่ายเมื่อ 7 พ.ค. 63 (ที่มา: ณัฐชานันท์ กล้าหาญ)
 
ข้อมูลปี 2562 แสดงแนวเขตและอัตราการเกิดไฟป่าระหว่างพื้นที่ที่ชาวบ้านดูแล (สีเหลืองเข้ม) และพื้นที่รับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติออบขาน (สีเหลืองอ่อน) (ที่มา: มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ)
ข้อมูลปี 2562 แสดงแนวเขตและอัตราการเกิดไฟป่าระหว่างพื้นที่ที่ชาวบ้านดูแล (สีเหลืองเข้ม) และพื้นที่รับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติออบขาน (สีเหลืองอ่อน) (ที่มา: มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ)
 
พชร คำชำนาญ เจ้าหน้าที่รณรงค์สื่อสารของมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือและพฤ โอโดเชา ขณะลงพื้นที่ให้ข้อมูลเรื่องไฟป่า ภาพถ่ายเมื่อ 7 พ.ค. 63 (ที่มา: ณัฐชานันท์ กล้าหาญ)

 

บ้านป่าคาใน ตำบลสะเมิงใต้ จังหวัดเชียงใหม่ คือจุดหมายของการเดินทาง “พฤ โอโดเชา” คือคนที่ผมหวังว่าจะช่วยคลายความคลางแคลงใจในสาเหตุแห่งไฟและหมอกควันได้เป็นอย่างดี ตามคำแนะนำของพชร คำชำนาญ เอ็นจีโอเลือดใหม่ วัย 24 ปี จากรั้วนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่หลงใหลในวิถีแห่งปกาเกอะญอ ในฐานะเจ้าหน้าที่รณรงค์สื่อสารของมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ หนึ่งในองค์กรเครือข่ายสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ที่เน้นทำงานด้านที่ดินและทรัพยากรเป็นหลัก เขาบอกกับผมว่า พฤคือคนที่จะให้ข้อมูลในมุมการจัดการไฟทั้งหมดของชาวบ้านได้อย่างชัดเจน เราจึงตกลงเดินทางไปร่วมกัน

ก่อนหน้านั้นผมติดตามความเคลื่อนไหวของพี่พฤ ผ่านเพจเฟซบุ๊ก “กอดกะเหรี่ยง” [https://www.facebook.com/HugtheKaren] ซึ่งทำเห็นถึงความตั้งใจในการสื่อสารเรื่องราวต่างๆ ผ่านมุมมองของคนในพื้นที่ของเขา ไม่เว้นแม้แต่เรื่องของ “ไฟ” ที่เขาพยายามอธิบายถึงสาเหตุ ที่มา และความสำคัญของไฟไว้อย่างชัดเจน แต่ก็น่าแปลกที่ความพยายามของเขากลับไม่ได้รับความสนใจมากนักในหมู่ชนชั้นกลางและผู้มีอำนาจในบ้านเมือง อาจด้วยท่าทีที่เป็นกันเอง ภาษาท้องถิ่น และรอยยิ้มที่มักเกิดขึ้นบนใบหน้าแทบจะตลอดเวลาที่เข้าเล่าเรื่องต่างๆ เหล่านี้อาจทำให้ใครก็ตามที่ไม่รู้จักเขาดีพอมองว่าขาดความน่าเชื่อถือ ทั้งที่ความเป็นจริงตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับภาพลักษณ์ภายนอกของเขา

พฤ โอโดเชา หรือ “พี่พฤ” ที่ผมรู้จักคือนิยามของปราชญ์ชาวบ้านที่เรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ผ่านการทำงานในชีวิตจริง ขณะเดียวกันก็ไม่เคยเหน็ดเหนื่อยกับการแสวงหาความรู้เพิ่มเติมจากแหล่งที่มาต่างๆ อยู่ตลอดเวลา เขามักถามถึงวิธีการทำงานของผมเพื่อนำไปปรับใช้กับงานที่เขาทำอยู่เสมอ “ผมชอบเวลามีแขกมาบ้าน มันทำให้ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ถือเป็นความโชคดีของผม” มันตรงกับที่ผมรู้สึกเมื่อมีโอกาสคุยกับพี่พฤ

พฤษภาคม คือช่วงเวลาที่ผมลงพื้นที่สะเมิง ตรงกับช่วงเวลาของการเตรียมฤดูเพาะปลูกของชาวบ้านที่นั่น สำหรับปกาเกอะญอคือการทำไร่หมุนเวียน วิถีดั้งเดิมของเกษตรกรรมที่สืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ พวกเขาทำไร่หมุนเวียนสืบต่อมาอย่างยาวนานหลายร้อยปี ภายหลังมีความพยายามของผู้มีอำนาจดัดแปลงชื่อเรียกจากไร่หมุนเวียนเป็นไร่เลื่อนลอย จนกระทั่งทุกวันนี้ แม้ว่าจะมีข้อมูลทางวิชาการมากมายที่อธิบายถึงการมีอยู่และความสำคัญของไร่หมุนเวียนต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชุมชน แต่ยังไม่สามารถทำลายวาทกรรมไร่เลื่อนลอยลงได้อย่างเด็ดขาดนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ไฟป่าและหมอกควันกลับมารุนแรงอีกครั้งในรอบหลายปีหลัง ทำให้งานของพี่พฤ ในช่วงหลังหนีไม่พ้นเรื่องควันไฟ

สำหรับพี่พฤและชาวบ้านทุกอย่างเริ่มต้นจากไฟ “ปกติแล้วชาวบ้านจะเริ่มเผาไร่กันในช่วงปลายเดือนเมษายน ไม่มีวันเวลาที่ตายตัว เราจะเผาก่อนฝนห่าแรกมา หรือฝนมาไม่เกิน 1-2 ห่า ถ้าเผาหลังจากนั้น จะทำให้เผาติดบ้างไม่ติดบ้างเพราะความชื้นที่มากเกินไป ซึ่งก่อนหน้าที่จะเผาไปจนถึงหลังเผาแล้วใช้เวลาเป็นเดือนในการเตรียมพื้นที่ เพราะเราต้องเคลียร์เศษกิ่งไม้ที่หลงเหลือจากการเผาออกจากไร่บางทีใช้เวลาเป็นอาทิตย์ หลังจากนั้นก็จะเริ่มปลูก ซึ่งต้องพอดีกับการมาของฝน ถ้าเผาก่อนนานเกินไปหญ้าหรือวัชพืชก็จะขึ้นช้าเกินไปก็จะไม่ติด ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาเพราะนโยบายซีโร่เบิร์น” พี่พฤเล่าด้วยสีหน้ายิ้มแย้มอันเป็นเอกลักษณ์ของเขา

 

เมื่อซีโร่เบิร์นเข้ามาแทรกกลางวิถีดั้งเดิม

คำสั่งซีโร่เบิร์นทำให้รัฐเข้ามากำหนดวันเวลาในการเผาให้กับชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ เพื่อลดความหนาแน่นของควันไฟในแต่ละพื้นที่ลง มาตรการดังกล่าวถูกติดตามควบคุมอย่างเข้มงวดโดยใช้ภาพดาวเทียมเพื่อตรวจจับสัญญาณของควันไฟเพื่อรายงานตรงเข้าสู่ส่วนกลาง ฟังดูเหมือนจะเป็นนโยบายที่ดี หากแต่เพียงการกำหนดวันเวลาดังกล่าวในการอนุโลมให้เผานั้นไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ต้องพึ่งพาฝนฟ้าตามฤดูกาลที่ควรจะเป็น ทำให้บ่อยครั้งเกิดปัญหาขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เพราะการที่ไม่สามารถที่จะเผาได้ในช่วงเวลาที่รัฐกำหนด

“มันทำให้ความช่วยเหลือกันในหมู่บ้านหายไปเลย เพราะเมื่อเวลาน้อยแต่ละคนจะต้องวุ่นอยู่กับการเตรียมพื้นที่ของตัวเอง อิรุงตุงนังไปหมดเลยรัฐบาลมาประกาศแบบนี้ บางทีมันก็ไม่ตรงกับช่วงเวลาที่ควรเผาก็เผาติดบ้างไม่ติดบ้าง ปัญหาที่ตามมาเต็มไปหมด”

แล้วไม่เผาได้ไหม ไม่เผาแล้วจะเป็นยังไง และไม่มีวิธีการอื่นทีดีกว่าการเผาเลยหรือ... คือคำถามที่ผมถามเขากลับ

“ถ้าไม่เผาก็จะไม่มีข้าว อย่างปีก่อนผมไม่ได้เผา เพราะมัวแต่เอาเวลาไปลงพื้นที่อื่นเลยไม่มีข้าวของตัวเอง ต้องอาศัยข้าวจากญาติ แต่ถ้าบางคนหาข้าวไม่ได้อย่างผมก็ต้องลงไปหางานทำในเมือง อย่างปกาเกอะญอในพื้นที่อื่นที่เขาไม่ได้ทำไร่ทั้งมีปัญหาเรื่องที่ดินกับรัฐบ้าง ปัญหาเผาไม่ทันบ้าง สุดท้ายก็ต้องลงไปทำงานในเมืองเพื่อหาเงินมาเลี้ยงครอบครัวแทน แต่ถ้าเรามีข้าว เราสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ในพื้นที่ของเราโดยที่ไม่ต้องลงไปในเมือง วิถีดั้งเดิมมันเป็นแบบนั้น”

ส่วนคำตอบของคำถามที่ว่าถ้าไม่เผาแล้วใช้วิธีอื่นได้ไหม? พี่พฤชี้ให้ผมเห็นถึงพื้นที่ของไร่หมุนเวียนส่วนใหญ่ที่เป็นพื้นที่ลาดชันซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะขนเครื่องมือและเครื่องจักรขนาดใหญ่มาใช้ในการปรับพื้นที่เพื่อเตรียมการเพาะปลูก ยิ่งไปกว่านั้นการเผาไร่ยังเป็นการคืนแร่ธาตุที่สำคัญที่เป็นอาหารของพืชกลับลงสู่ดิน ตลอดเวลาที่อยู่ในพื้นที่เขาพยายามชี้ให้ผมเห็นการแตกยอดและใบใหม่ของต้นไม้ ซึ่งใช้เวลาเพียงไม่กี่วันภายหลังจากการเผา จากตอไม้ที่ดูเหมือนตายแล้วก็กลับแตกยอดเขียวชอุ่มทั่วทั้งพื้นที่ของไร่หมุนเวียน ซึ่งหลังจากนั้นเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 7 ปี พื้นที่แห่งนี้จะถูกวนกลับมาใช้เป็นพื้นที่ในการเพาะปลูกอีกครั้ง กว่าจะถึงเวลานั้น ผืนดินจะได้พักเติมความสมบูรณ์ ระบบนิเวศจะได้ฟื้นตัวกลับมาเป็นไร่หมุนเวียนเพื่อผลิตอาหารหล่อเลี้ยงพวกเขาอีกครั้ง เป็นเช่นนี้มาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ “เมื่อก่อนไร่เหล่าใช้เวลาเป็นสิบปี บางแปลงถึง 16 ปี แต่เดี๋ยวนี้ทำแบบนั้นไม่ได้ ด้วยข้อจำกัดทางด้านพื้นที่ที่ลดลง” พฤเล่าถึงอดีต

 

ชาวบ้านกำลังช่วยกันเตรียมพื้นไร่หมุนเวียนเพื่อทำการเพาะปลูกก่อนเข้าฤดูฝนอย่างเป็นทางการ โดยการลงแขกสลับหมุนเวียนกันไปในไร่ของแต่ละครอบครัว ภาพถ่ายเมื่อ 10 พ.ค. 63 (ที่มา: ยศธร ไตรยศ)
ชาวบ้านกำลังช่วยกันเตรียมพื้นไร่หมุนเวียนเพื่อทำการเพาะปลูกก่อนเข้าฤดูฝนอย่างเป็นทางการ โดยการลงแขกสลับหมุนเวียนกันไปในไร่ของแต่ละครอบครัว ภาพถ่ายเมื่อ 10 พ.ค. 63 (ที่มา: ยศธร ไตรยศ)
 
พิธีไหว้ขอพรผีของชาวปกาเกอะญอที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา โดยเชื่อว่าผีหรือจิตวิญญาณของบรรพชนจะช่วยดูแลผลผลิตในไรหมุนเวียนให้เจริญงอกงาม ภาพถ่ายเมื่อ 10 พ.ค. 63 (ที่มา: ยศธร ไตรยศ)
พิธีไหว้ขอพรผีของชาวปกาเกอะญอที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา โดยเชื่อว่าผีหรือจิตวิญญาณของบรรพชนจะช่วยดูแลผลผลิตในไร่หมุนเวียนให้เจริญงอกงาม ภาพถ่ายเมื่อ 10 พ.ค. 63 (ที่มา: ยศธร ไตรยศ)
 
เมล็ดข้าวไร่คือพืชชนิดหลักในไร่หมุนเวียนของชาวปกาเกอะญอ โดยภายหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วพวกเขาจะเก็บเมล็ดไว้ส่วนหนึ่งสำหรับการเพาะปลูกในปีถัดไป ภาพถ่ายเมื่อ 10 พ.ค. 63 (ที่มา: ยศธร ไตรยศ)
เมล็ดข้าวไร่คือพืชชนิดหลักในไร่หมุนเวียนของชาวปกาเกอะญอ โดยภายหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วพวกเขาจะเก็บเมล็ดไว้ส่วนหนึ่งสำหรับการเพาะปลูกในปีถัดไป ภาพถ่ายเมื่อ 10 พ.ค. 63 (ที่มา: ยศธร ไตรยศ)
 
ชาวบ้านกำลังหยอดเมล็ดข้าวไร่กลางสายฝน เพราะการเผาที่ล่าช้าทำให้ฝนแรกตกลงมาเสียก่อนที่การหว่านเมล็ดพันธ์จะเสร็จเรียบร้อย (ที่มา: ยศธร ไตรยศ)
ชาวบ้านกำลังหยอดเมล็ดข้าวไร่กลางสายฝน เพราะการเผาที่ล่าช้าทำให้ฝนแรกตกลงมาเสียก่อนที่การหว่านเมล็ดพันธ์จะเสร็จเรียบร้อย (ที่มา: ยศธร ไตรยศ)

 

ในมุมของเอ็นจีโออย่างพชร พยายามชี้ให้เห็นถึงผลกระทบอีกด้านหนึ่งของการห้ามเผาที่อาจเชื่อมโยงไปถึงการเกิดขึ้นของไฟป่าและหมอกควัน

“จริงๆ แล้วไฟเป็นสิ่งยากที่จะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ก็คือต้องมีคนจุด แต่นั่นอาจจะเป็นปัญหาปลายเหตุ ปีนี้เป็นปีที่เราจะเห็นว่าโลกร้อนขึ้นจริง แล้วในพื้นที่ก็มีการสะสมเชื้อเพลิงเยอะขึ้นจริง แต่โดยปกติถ้าชุมชนเขาสามารถจัดการเชื้อเพลิงนั้นได้อย่างเต็มที่ เช่น เรื่องการชิงเผา การทำแนวกันไฟ หรือเข้าไปลาดตระเวน จัดการเคลียร์เชื้อเพลิงให้น้อยลง ซึ่งสมมติว่ามีคนเข้ามาล่าสัตว์แล้วก็เผา ถึงจะเกิดไฟป่าขึ้นก็จะอยู่ในระดับที่อยู่ในการควบคุม แต่พอมีนโยบายที่เรียกว่าซีโร่เบิร์น ก็คือการห้ามเผาเด็ดขาดในพื้นที่ป่า มันทำให้ชาวบ้านทำไม่ได้แม้กระทั่งการจัดการเชื้อเพลิง มันมีคนเผาก็จริง แต่ไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้ไฟป่ารุนแรงขนาดนี้ เพราะปกติชุมชนที่อยู่กับป่าจะรู้ว่ามีไฟเกิดขึ้นทุกปี ไม่มีปีไหนที่เขาไม่ได้ดับไฟป่า แต่สิ่งที่ทำให้มันทวีความรุนแรงมากขึ้นคือการตีขลุมรวมไฟทุกอย่างจนทำให้ชุมชนไม่สามารถจัดการเชื้อเพลิงที่อยู่ในพื้นที่ตามวิถี เพื่อลดความรุนแรงของมันได้ จริงอยู่ที่เราไม่สามารถควบคุมสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรืออุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้นได้ แต่สิ่งที่ชุมชนรู้และสามารถควบคุมได้คือการทำให้เชื้อเพลิงน้อยลง ปัญหาไฟป่าก็จะไม่รุนแรง และไม่ทำให้เกิดไฟที่ส่งผลต่อเรื่องหมอกควันมากขนาดนี้ แต่พอเขาไม่สามารถควบคุมเชื้อเพลิงได้ด้วยนโยบายที่มาครอบ ก็เลยทำให้ความรุนแรงของไฟป่ามากขึ้น” พชรเล่าระหว่างเราลงพื้นที่ด้วยกัน

แทบจะทุกเรื่องที่พฤเล่า ฟังดูมีเหตุและผล แม้ว่าจะสวยงามและโรแมนติกอยู่บ้าง แต่ทุกอย่างก็ถูกพิสูจน์ผ่านการดำรงอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติมาอย่างยาวนานนับร้อยปี หากวิธีของพวกเขาทำร้ายธรรมชาติจริงคงไม่สามารถอาศัยอยู่ร่วมกันมาได้อย่างยาวนานขนาดนี้

 

เมื่อไฟกลายเป็นปีศาจของผู้มีอำนาจในบ้านเมือง

สุรินทร์ อ้นพรม อดีตอาจารย์ประจำคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปัจจุบันเป็นนักวิชาการอิสระด้านสิ่งแวดล้อม (ที่มา: ยศธร ไตรยศ)
สุรินทร์ อ้นพรม อดีตอาจารย์ประจำคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปัจจุบันเป็นนักวิชาการอิสระด้านสิ่งแวดล้อม (ที่มา: ยศธร ไตรยศ)

 

ด้วยคำถามเดียวกับที่ผมถามพี่พฤ ผมนำไปถามนักวิชาการป่าไม้ อดีตอาจารย์ประจำคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ปัจจุบันหันมาเป็นนักวิชาการอิสระด้านสิ่งแวดล้อม สุรินทร์ อ้นพรม ถึงความจำเป็นของการมีอยู่และใช้ประโยชน์จากไฟในปัจจุบัน ตลอดจนการทำให้ไฟกลายเป็นปีศาจของผู้มีอำนาจในบ้านเมือง

“เอาเข้าจริงก็คือว่าตอนนี้ใครเป็นคนพูด ถ้าคนในเมืองพูดถึงไฟ แน่นอนวิถีชีวิตประจำวันเขาไม่ต้องเกี่ยวข้องกับไฟ เขาก็มองไฟเป็นอะไรที่น่ากลัวอันตราย ถ้าเราพูดถึงชุมชนหรือชาวบ้านเองก็มีหลากหลายมาก พลวัตก็ค่อนข้างสูงขึ้นอยู่กับว่าเขาอยู่ที่ไหน ถ้าเป็นชุมชนที่ภาคเหนือเขามีวิถีชีวิตแบบนั้น มีแต่คนแบบนั้น บางครั้งก็ต้องใช้ไฟเป็นเครื่องมือไปจัดการระบบนิเวศ เพื่อให้เขาสามารถที่จะดำรงชีพอยู่ในระบบนิเวศตรงนั้นได้ ถ้าเราพูดถึงชุมชนที่อยู่ป่าชายเลนก็ไม่จำเป็นต้องใช้ไฟในการจัดการกับระบบนิเวศหรือเพื่อให้ชีวิตเขาดำรงไปได้ แต่ว่าถ้าไปป่าพรุหรือป่าดิบภาคใต้ ชุมชนก็มีประสบการณ์ที่แตกต่างกัน ฟันธงไม่ได้ว่าจำเป็นหรือไม่จำเป็น ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนพูด แล้วพูดในบริบทตรงไหน

“ที่เรามีปัญหากันอยู่เพราะเรามักจะมีภาพเดียว โดยเอาภาพที่เรายืนอยู่เป็นตัวตัดสิน เลยทำให้ไม่ได้มองว่าไฟเป็นเครื่องมือในการจัดการระบบนิเวศ ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ก็จะไม่มองไฟเป็นเรื่องอันตรายหรือถ้าเราไม่มีหม้อหุงข้าวไฟฟ้า เราก็คงคุ้นเคยกับไฟและมองไฟในอีกมิติหนึ่ง ไฟไม่ใช่ผู้ร้ายในตัวมันเอง เราสามารถใช้ไฟจัดการกับพื้นที่ได้ อันนี้เป็นความเชื่อพื้นฐานที่จะต้องมีร่วมกันก่อน” คือสิ่งที่อาจารย์สุรินทร์ บอกกับผมช่วงบ่ายวันหนึ่งในร้านกาแฟที่ผมนัดอาจารย์มาขอความรู้

 

ไฟและที่มาของธาตุอาหาร

“ช่วงปี 2540-2547 ผมไปที่บ้านพฤและหมู่บ้านปกาเกอะญอละแวกใกล้เคียงแล้วได้มีโอกาสทำวิจัยเรื่องไร่หมุนเวียนกับทีมอาจารย์ท่านอื่นๆ ตอนนั้นผมเป็นตัวแทนของฝั่งวิทยาศาสตร์ที่เข้าไปทำ เมื่อพูดถึงปกาเกอะญอตอนนั้นเราก็มองเห็นพลวัต ปกาเกอะญอไม่ได้มีแบบแผนเดียว และตอนนั้นเรามองไร่หมุนเวียนเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เปลี่ยนเป็นไร่ข้าวโพดไปแล้ว กลุ่มที่กำลังจะเปลี่ยนพื้นที่แบบครึ่ง-ครึ่ง และกลุ่มที่ยังเป็นแบบดั้งเดิม เช่น หินลาดใน แม่ลานคำ บางครั้งที่พูดถึงปกาเกอะญอ นักวิชาการบอกว่าอย่าไปสร้างฉันทมติว่าปกาเกอะญอต้องอยู่กับป่าแล้วป่าต้องสมบูรณ์ เหมือนเป็นการกักขังอะไรบางอย่าง อันนี้เป็นข้อโต้แย้งกันมา ซึ่งบางครั้งเราก็พยายามฉายภาพที่สวยหรู และไม่ยอมรับความเป็นจริงบางเงื่อนไข ผมไม่ได้บอกว่าคนที่เปลี่ยนไปจะเป็นปกาเกอะญอที่ไม่ดีนะ แต่มีเงื่อนไขบางอย่างที่ทำให้เขาเปลี่ยน คนทั้งสามกลุ่มจะเห็นว่าไฟยังจำเป็นมากๆ และทั้งสามกลุ่มเขายังทำไร่หมุนเวียนเป็นองค์ประกอบอยู่ แต่สัดส่วนของไร่หมุนเวียนแตกต่างกัน ไฟสำคัฐและจำเป็นต่อไร่หมุนเวียน ในระบบที่ไม่ต้องใช้ยาฆ่าหญ้า ไม่ใช้สารเคมี ไฟเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้มีธาตุอาหาร การกำจัดแมลงโรคพืชต่างๆ

“ฟอสฟอรัสเป็นธาตุอาหารหนึ่งที่พืชต้องการ ตอนที่ทำวิจัยก็ไปตรวจว่าในพื้นที่ก่อนเผาและหลังเผาปริมาณธาตุอาหารเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง ก็พบว่าฟอสฟอรัสเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ชาวบ้านอธิบายว่ายิ่งในบริบทที่เขาต้องเร่งให้ระยะการพักดินสั้นลงเพราะนโยบายการประกาศพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทำให้บางครั้งต้องเก็บไว้ 10-12 ปีซึ่งไม่สามารถทำได้ ไร่เหล่าสั้นลง ระยะเวลาการพักสั้นลง หญ้ายังตายไม่หมดยังมีหญ้าที่ขึ้นอยู่ในป่าได้ ถ้าทิ้งยาวกว่านั้นเมื่อป่าปกคลุมหญ้าจะหายไปหมดเลยเพราะแสงน้อย ตรงนี้แหละที่ไฟต้องไปกำจัดพวกเมล็ดพืชที่มันยังอยู่ และไฟก็ไปฆ่าเชื้อโรคบางอย่างที่ทำให้ไม่สามารถปลูกข้าวได้ ฉะนั้นเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์มากว่าทำไมชาวบ้านต้องใช้ไฟ ทั้งยังเป็นเรื่องของการกำจัดโรคพืช แมลง และธาตุอาหารด้วย”

ฟังอาจารย์สุรินทร์มาถึงตอนนี้ผมนึกถึงสิ่งที่ผม พี่พฤ และพชรคุยกันว่าเรื่องทั้งหมดเป็นการต่อสู้ระหว่างการจัดการของรัฐซึ่งมีแนวคิดทางวิชาการสิ่งแวดล้อมผสมผสานแนวคิดการเมืองการปกครอง ขณะที่ชาวบ้านใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ส่งต่อจากบรรพบุรุษจากรุ่นสู่รุ่นที่มีตัวชี้วัดความสำเร็จด้วยการดำรงอยู่ของผู้คนและธรรมชาติจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งนั่นทำให้ผมตัดสินใจตามเขาลงไปพื้นที่เพื่อดูการจัดการไฟในวิถีของชาวบ้าน ซึ่งอาจเป็นคำตอบของสังคมในการจัดการปัญหาไฟป่าที่ดูเหมือนความรุนแรงจะเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน

 

ชุมชนท้องถิ่นกับบทบาทจัดการไฟ

พฤเล่าให้ฟังว่ารูปแบบของการจัดการอย่างเป็นรูปธรรมเริ่มต้นจากการเกิดขึ้นของป่าชุมชนออกกฎระเบียบต่างๆ ขึ้นมาใช้สอยทรัพยากรร่วมกัน นั่นคือในยุครัฐธรรมนูญปี 2540 ที่เปิดให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการร่างมากที่สุดฉบับหนึ่งในประวัติศาสตร์ เมื่อเริ่มมีขอบเขตที่ชัดเจนของการใช้ประโยชน์พื้นที่ นำมาซึ่งการกำหนดกติการ่วมกันของชุมชมให้สอดคล้องกับข้อกฎหมาย รวมไปถึงแนวทางการจัดการไฟป่าที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งมีการปรับปรุงและพัฒนาให้สอดคล้องกับกติกาของรัฐที่มีการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอดในทุกรัฐบาล ซึ่งมันยากมากที่สุดภายหลังการเกิดขึ้นของนโยบายทวงคืนผืนป่าที่เกิดขึ้นมาภายหลังรัฐประหาร 2557

นั่นสามารถมองได้ว่าเป็นความจริงใจในการแก้ปัญหาการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ของรัฐหรือเป็นเพียงการเรียกหาคะแนนนิยมภายหลังการใช้อำนาจพิเศษแบบตบหัวแล้วลูบหลังก็ย่อมได้ แต่ทั้งหมดทั้งมวลผลกระทบจากนโยบายกลับตกไปอยู่กับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้มากกว่าใครทั้งหมด รวมไปถึงแนวทางในการใช้และจัดการไฟป่าในตามภูมิปัญญาดั้งเดิม 

“สำหรับชาวบ้านเขาไม่มีทางเลือก หากเกิดไฟไหม้ขึ้นในพื้นที่ก็จะกลายเป็นว่าเกิดจากพวกเขา กลายเป็นข้ออ้างในการห้ามใช้ประโยชน์หรือเอาคนออกจากป่า เราก็เลยต้องเลือกใช้วิธีการดูแลป่าแข่งกับเขาเมื่อเกิดไฟไหม้เราก็รวมตัวกันไปดับ ทุกคนก็จะช่วยกันแล้วแต่ความสะดวก ที่จริงมีการกำหนดให้แต่ละบ้านต้องส่งตัวแทนมาบ้านละ 1 คน ไม่มีใครอยากให้ไฟไหม้บ้านตัวเอง” พฤเล่าอย่างมีอารมณ์ 

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือพื้นที่ดูแลซึ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัยและเป็นพื้นที่ป่าจิตวิญญาณของปกาเกอะญอนั้นบางส่วนซ้อนทับอยู่กับพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติออบขาน ซึ่งกำลังมีความพยายามในการขยายแนวเขตอุทยานเพิ่มมากขึ้นอีก 24,5000 ไร่ นั่นทำให้กระทบกับพื้นที่ทำกินและป่าจิตวิญญาณของชาวบ้านแต่เดิม ปัญหาที่ตามมาคือผู้ที่อยู่อาศัยและดูแลป่ากลับไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ทรัพยากรที่พวกเขาควรจะมีสิทธิ์ในฐานะชุมชนดั้งเดิมในพื้นที่

เมื่อเป็นเช่นนั้นชาวบ้านจึงมีความจำเป็นต้องลดพื้นที่ในการจัดการไฟของชุมชนลงมาเพื่อพยายามหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะตามมาภายหลัง แต่แนวกันไฟที่ชาวบ้านร่วมกันทำในเขตพื้นที่สะเมิงใต้ก็ยังยาวกว่า 40 กิโลเมตร นี่คือความหมายของคำว่า “ไม่มีทางเลือก” 

“คนเมืองชอบพูดกันว่าปกาเกอะญอคือผู้ดูแล เหมือนเป็นหน้าที่ของเขา จริงๆ แล้วมันไม่ใช่แบบนั้น เราทำ เราดูแล เพราะเราก็อยากจะใช้ประโยชน์จากมัน เป็นเรื่องธรรมดา” 

สวนทางกับผลที่ตามมาอย่างน่าตั้งคำถามในการประกาศเพิ่มพื้นที่ป่าในรูปแบบต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้นควรจะนำมาซึ่งการดูแลรักษาภายใต้ทรัพยากรของรัฐที่ดี ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่มากขึ้น แต่เรากลับพบเห็นปัญหาเพิ่มมากขึ้นตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาไฟป่าเมื่อย่างเข้าสู่ฤดูแล้ง สถิติล่าสุดในปี 2563 มีผู้เสียชีวิตจากไฟป่ามากถึง 7 ราย ส่วนมากเป็นชาวบ้านที่อาสาสมัครกันเข้าไปช่วยดับไฟในบริเวณใกล้เคียงพื้นที่ของตน แสดงให้เห็นถึงความไม่พร้อมของภาครัฐในการดูแลพื้นที่ป่าขนาดใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรบุคคล

สำหรับพี่พฤ การที่รัฐบอกว่า ป่าเป็นของรัฐ มันเหมือนทำลายจิตสำนึกของชุมชนไปโดยปริยาย ไม่ใช่แต่เฉพาะปกาเกอะญอเท่านั้นแต่หมายรวมถึงทุกชาติพันธ์ ไม่เว้นแม้แต่คนเมือง

“เมื่อก่อนป่าเป็นของเจ้าป่า ป่าเป็นของเจ้าเขา คนรอบๆ ที่อาศัยก็ช่วยกันดูแล ทุกวันนี้ป่าเป็นของอุทยาน อย่างคุณเป็นคนเมืองอยู่เชียงใหม่ อยู่ดอยสะเก็ดคุณเห็นไฟไหม้คนก็เรียกเทศบาลมาดับบ้าง แจ้งอุทยานบ้าง เอาแค่พอไม่ให้ไฟเข้ามาในพื้นที่ไร่สวนของตัวเอง โดยไม่สนใจว่าป่าข้างนอกเป็นอย่างไรในพื้นที่ไร่สวนของตัวเอง รัฐตัดสำนึกเราออกไปตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว”

ในฐานะเอ็นจีโอในพื้นที่ พชรชี้ให้เห็นมุมที่น่าสนใจ

“จริงๆ แล้วสิ่งที่รัฐจะได้จากการให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการดูแลป่าคือ 1.มีบุคลากรในการช่วยดูแลป่าเพิ่มขึ้น เพราะทุกครั้งที่ปัญหาไฟป่ารุนแรง รัฐพูดตลอดว่ามีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอในการดูแล ซึ่งเราก็รู้ว่ากำลังคนเขาไม่เพียงพอ ถ้าจำไม่ผิดเจ้าหน้าที่ 1 คนดูแลเป็นหมื่นไร่ ทำให้เขาดูแลป่าไม่ทั่วถึง แต่คำถามคือทำไมรัฐไม่ให้ชุมชนช่วยจัดการ ถ้าสมมติเขาให้สิทธิชุมชนในการดูแลจัดการ เขาก็มีคนช่วยในการดูแลป่ามากขึ้น ซึ่งเป็นคนในเอง โดยไม่ต้องใช้เงินภาษีของพวกเราที่เป็นคนในเมืองสักบาทในการไปจ้างเขา

2. รัฐจะได้องค์ความรู้จากชุมชน รัฐต้องยอมรับว่านโยบายแบบ top-down หรือองค์ความรู้บางอย่างที่ออกมาไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เช่น นโยบายซีโร่เบิร์น หรือการมองว่าป่าต้องไม่มีไฟ เป็นองค์ความรู้ของรัฐที่พยายามจะบอกว่าป่าควรจะเป็นแบบนี้ แต่ถ้ารัฐยอมให้ชุมชนช่วยจัดการและมองว่าเป็นโอกาสที่เราจะได้หันหน้าเข้าหากัน เอาองค์ความรู้ชุมชนกับองค์ความรู้ของรัฐมารวมกันและทำงานด้วยกัน ไม่ผูกขาดเฉพาะองค์ความรู้ด้านวนศาสตร์ เปิดรับองค์ความรู้ใหม่ของชุมชน ซึ่งมั่นใจได้ว่าองค์ความรู้ชุมชนสามารถจัดการป่าได้จริง บางหมู่บ้าน บางชุมชนใช้ชีวิตอยู่ในป่ามาเป็นร้อยปี ป่าก็ยังอยู่แบบนั้น เพราะเขามีองค์ความรู้ มีจิตวิญญาณ ภูมิปัญญาต่างๆ ซึ่งถ้ารัฐหยิบจับองค์ความรู้เหล่านั้นมาใช้ในการบริหารจัดการ ดูแลพื้นที่ป่า ก็น่าจะสามารถแก้ไขปัญหาได้”

 

ชาวบ้านห้วยหินลาดในร่วมกันทำแนวกันไฟรอบพื้นที่รับผิดชอบที่เป็นความร่วมมือกับหมู่บ้านบริเวณใกล้เคียง ภาพถ่ายเดือนเมษายน 2563 (ที่มา: นิพนธ์ ปุแคระ)
 
ชาวบ้านห้วยหินลาดในขณะกำลังช่วยกันกำจัดเชื้อเพลิงโดยการชิงเผา เพื่อเป็นการลดการสะสมของเชื้อเพลิงป้องกันไม่ให้เกิดไฟป่าที่รุนแรงในฤดูแล้ง ภาพถ่ายเมื่อ 19 เม.ย. 63 (ที่มา: นิพนธ์ ปุแคระ)
ชาวบ้านห้วยหินลาดในขณะกำลังช่วยกันกำจัดเชื้อเพลิงโดยการชิงเผา เพื่อเป็นการลดการสะสมของเชื้อเพลิงป้องกันไม่ให้เกิดไฟป่าที่รุนแรงในฤดูแล้ง ภาพถ่ายเมื่อ 19 เม.ย. 63 (ที่มา: นิพนธ์ ปุแคระ)
 
ชาวบ้านห้วยหินลาดในขณะกำลังช่วยกันกำจัดเชื้อเพลิงโดยการชิงเผา เพื่อเป็นการลดการสะสมของเชื้อเพลิงป้องกันไม่ให้เกิดไฟป่าที่รุนแรงในฤดูแล้ง ภาพถ่ายเมื่อ 19 เม.ย. 63 (ที่มา: นิพนธ์ ปุแคระ)
ชาวบ้านห้วยหินลาดในขณะกำลังช่วยกันกำจัดเชื้อเพลิงโดยการชิงเผา เพื่อเป็นการลดการสะสมของเชื้อเพลิงป้องกันไม่ให้เกิดไฟป่าที่รุนแรงในฤดูแล้ง ภาพถ่ายเมื่อ 19 เม.ย. 63 (ที่มา: นิพนธ์ ปุแคระ)
 
บรรยากาศการพักทานอาหารกลางวันของชาวบ้าน ซึ่งงบประมาณในการบริหารจัดการทั้งหมดมาจากการขายผลิตภัณฑ์ภายในชุมชนของกลุ่มเยาวชนห้วยหินลาดใน ภาพถ่ายเมื่อ 24 ก.พ. 63 (ที่มา: นิพนธ์ ปุแคระ)
บรรยากาศการพักทานอาหารกลางวันของชาวบ้าน ซึ่งงบประมาณในการบริหารจัดการทั้งหมดมาจากการขายผลิตภัณฑ์ภายในชุมชนของกลุ่มเยาวชนห้วยหินลาดใน ภาพถ่ายเมื่อ 24 ก.พ. 63 (ที่มา: นิพนธ์ ปุแคระ)
 
ชาวบ้านหินลาดในเข้าแถวนำใบชาที่ปลูกในหมูบ้านมาขายให้กำพ่อค้าคนกลางที่เข้ามารับซื้อในหมู่บ้าน ทั้งนี้รายได้จากการขายผลผลิตท้องถิ่นส่วนหนึ่งจะถูกนำไปใช้ในกองทุนดับไฟป่าของชุมชน (ที่มา: ยศธร ไตรยศ)
ชาวบ้านหินลาดในเข้าแถวนำใบชาที่ปลูกในหมูบ้านมาขายให้กำพ่อค้าคนกลางที่เข้ามารับซื้อในหมู่บ้าน ทั้งนี้รายได้จากการขายผลผลิตท้องถิ่นส่วนหนึ่งจะถูกนำไปใช้ในกองทุนดับไฟป่าของชุมชน (ที่มา: ยศธร ไตรยศ)
 
ชาวบ้านหินลาดใน นำใบชาที่ปลูกในหมูบ้านมาขายให้กำพ่อค้าคนกลางที่เข้ามารับซื้อในหมู่บ้าน ทั้งนี้รายได้จากการขายผลผลิตท้องถิ่นส่วนหนึ่งจะถูกนำไปใช้ในกองทุนดับไฟป่าของชุมชน (ที่มา: ยศธร ไตรยศ)
ชาวบ้านหินลาดใน นำใบชาที่ปลูกในหมูบ้านมาขายให้กำพ่อค้าคนกลางที่เข้ามารับซื้อในหมู่บ้าน ทั้งนี้รายได้จากการขายผลผลิตท้องถิ่นส่วนหนึ่งจะถูกนำไปใช้ในกองทุนดับไฟป่าของชุมชน (ที่มา: ยศธร ไตรยศ)
 
ดาวใจ ศิริ แกนนำเยาวชนบ้านห้วยหินลาดใน ผู้เป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนกองทุนดูแลผืนป่าของหมู่บ้าน (ที่มา: ยศธร ไตรยศ)
ดาวใจ ศิริ แกนนำเยาวชนบ้านห้วยหินลาดใน ผู้เป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนกองทุนดูแลผืนป่าของหมู่บ้าน (ที่มา: ยศธร ไตรยศ)

 

ตัวอย่างที่ชัดเจนอีกที่หนึ่งของแนวทางจัดการไฟโดยชุมชนยังคงเป็นพื้นที่อาศัยของปกาเกอะญอเช่นกัน เนื่องจากเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีพื้นที่อาศัยอยู่กับผืนป่ามาแต่อดีต บ้านห้วยหินลาดใน อ.เวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ที่นี่พวกเขาปรับใช้ภูมิปัญญาแบบเก่าร่วมกับวิถีของโลกใหม่ได้อย่างลงตัว

ดาวใจ สิริ แกนนำเยาวชน บ้านห้วยหินลาดใน เล่าถึงภาระความรับผิดชอบนอกเหนือจากการทำมาหากินตามวิถีของพวกเขาแล้ว อีกหนึ่งหน้าที่ที่เพิ่มขึ้นมาคือการดูแลฝืนป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ป้องกันการเกิดไฟ”

สองสามปีให้หลังกลุ่มเยาวชนห้วยหินลาดในจัดตั้งกองทุนป้องกันไฟป่าขึ้นในหมู่บ้านโดยนำรายได้ส่วนหนึ่งจากการนำผลผลิตจากภูมิปัญญาท้องถิ่นขายผ่านช่องทางออนไลน์และร้านค้าที่เป็นคุ้นเคยกัน น้ำผึ้ง ใบชา หรือสบู่จากขี้ผึ้ง คือสินค้าหลัก พวกเขาเลือกแบ่งส่วนหนึ่งของรายได้เพื่อเอาไว้เป็นค่าใช้จ่ายเมื่อฤดูไฟมาถึง “เราพยายามดูแลตัวเองและพื้นที่รอบๆ ในฐานะที่ที่นี่คือบ้านของเรา งานที่นำมาใช้ในการจัดการเรื่องไฟป่า จะถูกแบ่งใช้เป็นค่าน้ำมันรถ ค่าอาหารและเครื่องดื่มสำหรับเวรในการเฝ้าระวังไฟ ไม่มีค่าจ้าง ค่าแรงให้เพราะทุกคนมองว่าทำให้บ้านของตัวเอง” ดาวใจบอกกับผม

ก่อนหน้านั้นการดูและไฟที่เกิดขึ้นในพื้นที่เป็นเรื่องปรกติของชาวบ้าน ที่ทำกันในวิถีชีวิตทั่วไป ภายหลังสถานการณ์ไฟป่ากลายเป็นที่สนใจของสังคมทำให้ชาวบ้านถูกเพ่งเล็งมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ได้ชื่อว่าเขตป่าสงวน หรือพื้นที่ซ้อนทับกับอุทยานแห่งชาติ ซึ่งส่วนใหญ่คือกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอที่ล้วนแล้วแต่มีข้อพิพาทเรื่องถิ่นที่อยู่อาศัยกับหน่วยงานรัฐมาโดยตลอด ทำให้การปล่อยให้เกิดไฟไหม้กินพื้นที่ขนาดใหญ่เป็นเรื่องที่ยอมให้เกิดขึ้นไม่ได้ในสถานการณ์ตอนนี้ “ไม่อยากให้ใครเข้าใจผิดว่าไฟเกิดจากปกาเกอะญอ ถึงแม้ปัญหาเรื่องพื้นที่อยู่อาศัยของที่นี่จะไม่รุนแรงเท่าพี่น้องในพื้นที่อื่นๆ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เกิดไฟไหม้ก็จะมีการพูดกันว่ากะเหรี่ยงเผาเพื่อหาของป่า เผาเพื่อทำไร่เลื่อนลอย ถึงจะคนละพื้นที่แต่ถือว่าทุกคนเป็นพี่น้องกัน เราไม่อยากให้ใครมาว่าพี่น้อง”

รูปแบบของการดูแลจัดการไฟของชาวบ้านในเวียงป่าเป้าคือการรวมกันของชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณแนวเขตของป่าธรรมชาติ ไม่เฉพาะแต่เฉพาะชาวปกาเกอะญอเท่านั้น หากแต่เป็นการรวมตัวกันของหลายกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในละแวกใกล้เคียงกัน จัดเวรยามเฝ้าระวังกันอย่าง เป็นระบบ โดยมีตัวตัวแทนของแต่ละหมู่บ้าน เข้าร่วมอย่างพร้อมเพียง แบ่งขอบเขตความรับผิดชอบในการเฝ้าระวังกันอย่างชัดเจน ขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะสนับสนุนกำลังคนและอุปกรณ์ในการดับไฟหากเกิดเหตุไฟไหม้ขนาดใหญ่ เจตนาของพวกเขาไม่ได้ต้องการชื่อเสียงหรือยอมรับใดๆมากไปกว่าการขอแค่ได้อยู่อาศัยบนแผนดินเกิดมีเกียรติและศักดิ์ศรีในฐานะเสรีชน ไม่ใช่อย่างที่เป็นอยู่เช่นทุกวันนี้ ที่เป็นเสมือนผู้เช่า

 

ไฟสู้ไฟ และการจัดการพื้นที่โดยชุมชน

ขณะที่ในทัศนะของนักวิชาการ อาจารย์สุรินทร์ มองว่ารัฐไม่สามารใช้ข้ออ้างเรื่องการขาดทรัพยากรบุคคลในการดูแลป่าได้อีกต่อไป ในเมื่อรัฐเองมีทางเลือกที่จะกระจายอำนาจในการจัดการพื้นที่ป่าออกไปได้อีกมากมายหลายวิธี โดยแทบไม่กระทบต่องบประมาณในการจัดการ “จริงๆ ก็กลับไปเรื่องพื้นที่รัฐกับพื้นที่ที่กระจายให้ชุมชนแล้วชาวบ้านเขารู้สึกว่าเป็นของเขา ในพื้นที่ของรัฐ ถ้ารัฐแค่เปลี่ยนวิธีคิดพยายามทำงานกับอาจารย์ในคณะเราที่เข้าไปร่างนโยบาย ซึ่งเขาไม่เข้าใจอันนี้ พอรัฐคิดอะไรแบบเดี่ยวๆ เช่น ป่าอนุรักษ์ก็คือป่าอนุรักษ์ ทั้งที่สิทธิ์ในการจัดการอาจซ้อนกันอยู่หลายชั้นเหมือนแนวคิดของอาจารย์อานันท์ กาญจนพันธุ์ อันนี้ก็มีหลักการเช่นชาวบ้านที่จะเข้าไปร่วม เขาจะใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง แค่เข้าไปชมความงามไหม เข้าไปเก็บหาของป่าไหม หรือว่าเข้าไปทำอะไรได้บ้าง สามารถกำหนดให้หลากหลายมากขึ้นได้ ไม่ใช่พอบอกว่าป่าอุทยานก็คือเป็นแค่อุทยาน ไม่พยายามทำอะไรกับมัน”

แต่เดิมแนวคิดการใช้ไฟจัดการไฟ ถือเป็นเรื่องปกติในวิถีชีวิตของชาวบ้าน เป็นเสมือนภูมิปัญญาในการจัดการกับไฟก่อนเปิดโอกาสให้ไฟสร้างความเสียหาย แนวคิดดังกล่าวเรียกว่าการใช้ไฟสู้กับไฟ ซึ่งในทางวิชาการเรียกว่าการชิงเผาซึ่งมีมานานแล้วทั้งในฝั่งที่เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้าน ทฤษฎีทางวิชาการที่สอนกันในมหาวิทยาลัย โดยอาศัยจัดการกับเชื้อเพลิงซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่เป็นตัวกำหนดความรุนแรงของไฟด้วยวิธีการเผาตั้งแต่เนิ่นๆ หรือเผาในอยู่ในวงจำกัดขณะที่ยังสามารถควบคุมปริมาณเชื้อเพลิงได้ จนกระทั่งวันหนึ่งไฟกลายเป็นปีศาจในสายตาของรัฐ ทำให้การกระทำใดที่จะทำให้เกิดไฟไม่สามารถยอมรับได้

“เมื่อก่อนชาวบ้านเข้าป่า ตรงไหนที่ใบไม้แห้งกิ่งไม้แห้งเริ่มจะเยอะเขาก็จะจุดเผา เพื่อไม่ให้สะสมกันมากจนเกินไปจนถึงเวลาที่มันไม่จะควบคุมไม่ได้ ผู้เฒ่าบางคนเขาเห็นเฉดสีของใบไม้ที่ต่างกันซึ่งหมายถึงความชื้นของใบไม้ที่ต่างกัน เขาก็รู้แล้วว่าสีไหนควรเผา สีไหนเผาติด ชื้นหรือไม่ชื้น สำหรับเขาการเผาหมายถึงว่าเขาสามารถควบคุมมันได้ ดูแลมันได้”

เช่นเดียวกับการเผาเพื่อหาของป่า พี่พฤเล่าว่าสำหรับพื้นที่เขาขึ้นอยู่กับมติร่วมกันของหมู่บ้าน ถ้าไม่เผาก็คือไม่เผา หรือถ้าเผาได้ก็ต้องมีเงื่อนไข ซึ่งแน่นอนว่าก็ต้องควบคุมได้ เหมือนเผาไร่หมุนเวียน ก็ต้องวางแนวกันไฟและดูแลตอนเผาจนกว่าไฟจะดับหมด

 

ไฟที่เกิดจากความขัดแย้งและผลประโยชน์ทางอ้อม

ในฐานะผู้สังเกตการณ์ที่เป็นคนนอก ผมพอมองออกว่าทั้งสองฝ่ายไม่ค่อยลงรอยกันนักตั้งแต่ก่อนลงพื้นที่ ดังจะเห็นได้จากข่าวที่ออกมาตามสื่อและมุมมองตามที่ได้รับฟังจากการลงพื้นที่ อาจพูดได้ว่าความขัดแย้งส่วนหนึ่งระหว่างทั้งสองฝ่ายมาจากไฟไม่ทางตรงก็ทางอ้อม 

ผมถามพี่พฤตรงๆ ภายหลังเราเริ่มรู้สึกคุ้นเคยจากการใช้เวลาร่วมกันมาสองวัน “มันมีความเป็นไปได้บ้างไหม ที่จะมีใครไปจุดไฟเพื่อกลั่นแกล้ง หรือเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง”

“ผมไม่สามารถตอบแทนพื้นที่อื่นได้ แต่สำหรับชาวบ้านที่นี่ผมเชื่อว่าไม่มีการทำเพื่อแกล้ง เพราะผมมองไม่เห็นเหตุผลที่จะทำแบบนั้น ถ้าจุดหาของป่า จุดเผาไร่อะไรก็ว่าไป ซึ่งมันก็เป็นความจำเป็น แต่จุดเพื่อแกล้งแบบนั้นไม่รู้ว่าเขาจะทำไปทำไม จุดแล้วก็ต้องมาดับเองแบบนี้หรือ มันไม่มีเหตุผล” หลังประโยคนี้พฤย้ำถึงสิ่งที่เขาอธิบายไปก่อนหน้าว่า สำหรับชาวบ้าน หากเกิดไฟป่าที่ไม่สามรถควบคุมได้พวกเขาจะตกเป็นจำเลยทางสังคมไปในทันที จึงไม่มีประโยชน์ที่จะสร้างให้เกิดสถานการณ์เช่นนั้น

“แล้วที่ผมเคยได้ยินมาว่าเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐด้วยกันเอง พี่ว่ามีจริงไหม”

คำตอบของเขาที่ผมพอจะสรุปได้คือชาวบ้านรวมถึงตัวเขาไม่มีหลักฐานอย่างเป็นรูปธรรม มีเพียงการบอกเล่าผ่านการพบเห็นในชีวิตประจำวัน พฤขอให้ผมไม่เผยแพร่รายละเอียดออกไป “เวลาผมเล่า ผมก็จะเล่าทั้งหมดเพื่อให้คุณเห็นความเป็นจริง แต่อะไรที่มันเอาลงได้หรือไม่ได้คุณเองก็ต้องเซ็นเซอร์ให้ผม ไม่งั้นผมก็ติดคุก” เขาพูดพร้อมกับหัวเราะให้กับเรื่องตลกร้ายที่เพิ่งเล่าจบไปก่อนหน้านั้น

จุดสำคัญที่ผมเห็นว่าเป็นสิ่งที่สังคมควรร่วมกันตั้งคำถาม คือเม็ดเงินและงบประมาณที่มาพร้อมกับความคาดหวังในการลดลงของปริมาณควันและไฟว่าทำไมจึงไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ขณะที่นับวันแนวทางในการจัดการปัญหาระหว่างรัฐกับชาวบ้านกลับสวนทางกันมากขึ้นเรื่อยๆ 

พชร อธิบายกับผมตามประสบการณ์ของเขา “เรื่ององค์ความรู้ชุมชนผมว่าเขา (รัฐ) รู้และเข้าใจดีมากกว่ากะเหรี่ยงบางคนเสียอีก ผมไม่คิดว่าเขามองว่าไร่หมุนเวียนเป็นไร่เลื่อนลอย เขารู้ว่ามีวิถีแบบนี้อยู่ แล้วมีคุณูปการอย่างไร แต่พอเป็นเรื่องไฟ มันเกี่ยวข้องกับเรื่องทรัพยากร ซึ่งด้วยโครงสร้างอำนาจที่รัฐมองว่าป่าเป็นของเขา ก็ยากที่เขาจะให้สิทธิ์แก่ชุมชน อย่างเรื่องไร่หมุนเวียนเป็นเรื่องสิทธิชุมชนที่เห็นได้ชัดที่สุด เพราะชุมชนจะสามารถเข้าไปดูแล ใช้พื้นที่ ลงเมล็ดพันธุ์ ภาพที่เราเห็นก็เป็นภาพที่ชุมชนเข้าไปช่วยดูแลพื้นที่ไร่หมุนเวียนและใช้ประโยชน์ร่วมกัน เรามองว่านั่นคือสิทธิชุมชน ซึ่งสุดท้ายทำให้ชุมชนมีอำนาจในการต่อรอง แต่ผมเชื่อว่ารัฐต้องการผูกขาดการจัดการทรัพยากร เขาก็เลยไม่ให้สิทธิชุมชนในการจัดการป่าและจัดการไฟ” “

“ในทางกลับกันในพื้นที่เดียวกันที่รัฐยืนยันว่าชุมชนอยู่ไม่ได้ ทำไร่หมุนเวียนไม่ได้ แต่เขากลับเอาไปยกให้นายทุนหรือเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยว มันเริ่มจากรากเหง้าของการจัดการทรัพยากรป่าไม้ในไทย ตั้งแต่แรก คือเราเห็นหลายกรณีมาก ที่สุดท้ายทรัพยากรถูกรัฐเอาไปแปลงเป็นอะไรสักอย่าง เป็นโครงการ หรือไปมอบให้กับกลุ่มทุน มันคือสิ่งที่เราเห็นมาตลอด ต้นเรื่องก็คือกรมป่าไม้เองก็ทำสัมปทาน มองทรัพยากรเป็นเงิน มองทรัพยากรเป็นแหล่งที่จะสามารถหาผลประโยชน์ได้ หรือการประกาศอุทยานถ้าลองไปดูของข้อมูลของกรมอุทยาน ทุกอุทยานจะบอกว่าเป็นพื้นที่สวยงาม เหมาะกับการเป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งสุดท้ายก็คือการใช้ทรัพยากรในการแสวงหาผลกำไรได้ง่ายถ้าไม่มีชุมชนอยู่ หรือไม่มีชาวบ้านที่เขารู้สึกว่าเขามีสิทธิ์ที่จะอยู่พื้นที่ตรงนั้นแล้วลุกขึ้นมาค้าน”

พชรกล่าวด้วยว่าข้ออ้างของอุทยานในการบอกว่าเป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่พยายามดูแลแทนคนทั้งประเทศ แต่ถึงเวลากลับพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ปล่อยให้นายทุนบางกลุ่มเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ ซึ่งนั่นเขามองว่าเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นที่มาของความขัดแย้งซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดไฟ

“มีแน่นอน แต่ว่าไม่สามารถจับมือใครดมได้ เพราะแต่ละคนก็จะมีเรื่องเล่า มีวาทกรรมของตัวเอง ต่อให้มีเหตุเกิดขึ้นต่อหน้าก็อาจจะบอกไม่ได้ว่าเป็นการชิงเผาหรือมีจุดประสงค์อะไรกันแน่” เขาย้ำในคำตอบนี้อย่างหนักแน่น

ในมุมมองของนักวิชาการเรื่องความขัดแย้งของไฟ อาจารย์สุรินทร์สรุปให้ผมเข้าใจว่า ไฟอาจเป็นส่วนหนึ่งในการสะท้อนความขัดแย้งในเรื่องที่ดินและการจัดการทรัพยากรกับเรื่องความสามารถในการจัดการไฟ เป็นความขัดแย้งที่เกิดจากความเชื่อและความไว้ใจระหว่างรากฐานและแนวคิดที่แตกต่างระหว่างวิทยาศาสตร์กับภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวบ้าน

 

ไฟกับ PM2.5

หลายปีหลังมานี้ PM2.5 กลายเป็นปัญหาที่ถูกพูดถึงอย่างมากในประเทศไทย ซึ่งแน่นอนมันถูกผลักไปให้เป็นผลพวงของไฟและเกษตรกรที่ใช้มันเป็นเครื่องมือ ไฟป่าและการเผาเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา แต่อาจจะไม่แฟร์นักที่จะสรุปว่านั่นคือต้นเหตุของปัญหาทั้งหมด

“บริบทใหม่ก็คือ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือฝุ่นที่เป็นแขกประจำของเรามาทุกปี ไม่มีข้อมูลที่ชี้ชัดว่าไฟทำให้เกิดปัญหานี้มากน้อยแค่ไหน แล้วเรื่องสภาพภูมิอากาศมีผลอย่างไรบ้าง แต่เราต้องยอมรับว่าไฟมาจากไหนบ้าง ไฟไม่ได้มาจากแค่ไร่ชาวบ้าน ไม่ใช่แค่ไร่หมุนเวียน มันอาจจะมาจากพื้นที่การเกษตรอื่น หรือมาจากที่ไหน ต้องทำให้ต้นตอชัดเจนก่อน ปัญหาตอนนี้คือพอเราบอกว่าปัญหามาจากไฟ ไฟก็เป็นตัวร้ายไปหมดทุกที่เลย

“พูดอย่างนี้ผมไม่ได้ไปตำหนิชาวบ้านที่ปลูกข้าวโพดนะ แต่ถ้ามันมาจากตรงนั้นความผิดชอบร่วมกันจะเป็นยังไง ไม่ใช่โยนให้ชาวบ้านเป็นแพะอย่างเดียว ทางออกควรจะเป็นอย่างไร ถ้าไฟส่วนหนึ่งมาจากไร่ข้าวโพดแล้วใครเกี่ยวข้องบ้าง ภาพตรงนี้ต้องทำให้ชัดเจน แต่ไฟที่มาจากป่าจริงๆ ไม่ได้ไหม้นานขนาดนั้น เชื้อเพลิงไม่ได้เยอะขนาดนั้น มันจะไหม้แค่ช่วงหนึ่ง แต่มันมีไฟจากแหล่งอื่นมาด้วยไหมในช่วงนั้น ทำให้ไฟป่าธรรมชาติ ไฟจากไร่หมุนเวียน และไฟจากพื้นที่การเกษตรเชิงเดี่ยว มันพันกันหมดเลย แล้วตกลงเรากำลังพูดถึงไฟที่ไหน ณ ตอนนี้”

ราวกับจะรู้ตัวดีว่าเขาและชาวบ้านกำลังตกเป็นจำเลยของสังคม ทันทีที่ผมถามเขาว่าการทำไร่หมุนเวียนของเขามีส่วนหรือไม่กับเรื่องนี้

พี่พฤอธิบายตามภูมิปัญญาของชาวปกาเกอะญอว่า เมื่อเข้าสู่ฤดูแล้ง สภาพอากาศในพื้นที่เชียงใหม่ฟ้าจะปิดลงมา ในภาษาปกาเกอะญอเรียกว่า “เหบ่ยลอ” ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อน ช่วงเวลานั้นท้องฟ้าจะปิด ไอจากดิน ไอจากป่าไม่สามารถกระจายตัวได้เหมือนช่วงเวลาอื่น ประกอบกับการที่เชียงใหม่เป็นพื้นที่ที่ถูกล้อมรอบด้วยภูเขาเปรียบเสมือนแอ่งกระทะ ทำให้ช่วงเวลาดังกล่าวหากเกิดควันไฟขึ้นก็จะคงอยู่ยาวนานกว่าปกติ เป็นอยู่อย่างนี้จนเข้าสู่ฤดูฝน ความชื้นจะทำให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ

“ตอนนี้ปลายพฤษภาคม หลายวันมานี้เผาไร่หมุนเวียนไปหลายร้อยไร่ เผากันอีรุงตุงนังเพราะเพิ่งได้รับอนุญาต พวกคุณมาจากเชียงใหม่เห็นกลุ่มควันไหม ถ้าไม่เห็นก็อาจจะไม่เกี่ยวกันหรือเปล่า ผมเช็คข่าวช่วงนี้ก็ยังไม่มี” สีหน้ายิ้มแย้มทีเล่นทีจริงของเขายังคงชัดเจนเหมือนทุกครั้งขณะตอบคำถาม 

บ่ายวันนั้นพี่พฤพาไปดูการเผาไร่ของชาวบ้านในพื้นที่จริง ภาพของพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่กำลังถูกไฟลุกไหม้ปรากฏอยู่ตรงหน้า มันทั้งน่ากลัวและน่าตื่นเต้นในเวลาเดียวกัน ไอร้อนที่พวยพุ่งออกจากเปลวเพลิงขนาดใหญ่ทำให้เราไม่สามารถเข้าใกล้ได้มากนัก แต่นั่นก็เป็นระยะที่เพียงพอต่อการสังเกตพฤติกรรมของไฟ หมอกควันที่ลอยขึ้นฟ้าผิดจากที่คิดอยู่พอสมควรหากเทียบกับขนาดพื้นที่และเปลวไฟ ซึ่งใช้เวลาไม่นานก็หายไปในอากาศ ผมไม่แน่ใจว่าฝุ่นที่เกิดจากควันเหล่านั้นจะรวมตัวกันได้อีกหรือไม่อย่างไร ใช้เวลาไม่นานนักเปลวไฟจึงสงบลง คงเหลือไว้เพียงไอของความร้อนจากเถ้าถ่านและพื้นที่โล่งกว้างขนาดใหญ่...นักอนุรักษ์ไม่ถูกใจสิ่งนี้แน่ๆ ผมบอกตัวเอง 

 

สภาพพื้นที่ไร่หมุนเวียนของหมู่บ้านแห่งหนึ่งใน อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ มีลักษณะเป็นภูเขาสูงชันมีแปลงไร่หมุนเวียนในปีเดียวติดกันหลายครอบครัว (ที่มา: ยศธร ไตรยศ)
สภาพพื้นที่ไร่หมุนเวียนของหมู่บ้านแห่งหนึ่งใน อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ มีลักษณะเป็นภูเขาสูงชันมีแปลงไร่หมุนเวียนในปีเดียวติดกันหลายครอบครัว (ที่มา: ยศธร ไตรยศ)
 
สภาพพื้นที่ไร่หมุนเวียนของหมู่บ้านแห่งหนึ่งใน อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ มีลักษณะเป็นภูเขาสูงชันมีแปลงไร่หมุนเวียนในปีเดียวติดกันหลายครอบครัว (ที่มา: ยศธร ไตรยศ)
สภาพพื้นที่ไร่หมุนเวียนของหมู่บ้านแห่งหนึ่งใน อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ มีลักษณะเป็นภูเขาสูงชันมีแปลงไร่หมุนเวียนในปีเดียวติดกันหลายครอบครัว (ที่มา: ยศธร ไตรยศ)
 
วิธีการเผาไร่ของพวกเขาส่วนใหญ่เป็นเช่นนี้ แตกต่างกันไปบ้างตามสภาพภูมิประเทศและความลาดชัน ที่หากใครได้มีโอกาสได้เห็นสภาพของพื้นที่เหล่านั้นจะยิ่งคลายความสงสัยว่าเหตุจึงเลือกใช้วิธีเผา ครั้งหนึ่งผมเคยมีโอกาสถ่ายภาพการเผาไร่หมุนเวียนที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่

ภาพของยอดดอยหลายลูกปกคลุมไปด้วยเถ้าถ่านที่เกิดจากการเผาเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกขนาดใหญ่ที่ปรากฏขึ้นตรงหน้าก่อให้เกิดคำถามมากมายในตอนนั้น พื้นที่กว้างนับร้อยไร่ที่ไม่มีพืชพรรณและสิ่งมีชีวิตชนิดใดอาศัยอยู่ตอนนั้น มันยากเหลือเกินในการอธิบายให้ใครต่อใครเข้าใจว่าทำไมจึงเป็นเป็นแบบนั้น โดยเฉพาะหากเขาเหล่านั้นเต็มไปด้วยอคติต่อชาติพันธุ์และเฝ้ามองมันจากพื้นที่ห่างไกลซึ่งล้วนแล้วแต่พิศสมัยในความ ‘เขียว’

พี่พฤพาผมตระเวนดูไร่ที่กำลังเผาและเผาเสร็จเรียบร้อยแล้วอีกหลายแปลงในช่วงเวลาใกล้เคียง บางแปลงได้ผลการเผาที่ดี ขณะที่บางแปลงการเผาไม่ได้คุณภาพนัก สาเหตุเกิดจากความชื้นที่มากจนเกินไปจากการที่ได้รับอนุญาตจากรัฐให้เผาช้ากว่าช่วงเวลาที่ควร สังเกตได้จากสีของเถ้าถ่านและกลุ่มควันที่เกิดจากกิ่งไม้ที่เปียกน้ำฝน

ฝนใหญ่ผ่านไปแล้วสองห่า หากเผาช้ากว่านี้จะเข้าสู่ช่วงที่ฝนตกทุกวัน ขณะที่หลายไร่ในอีกหลายพื้นที่ยังไม่ได้เริ่มเผา และนั่นหมายถึงปีนั้นใครบางคนอาจต้องห่างจากบ้านไกลจากผู้คนที่รักแปรเปลี่ยนสถานะเพื่อเข้าสู่สายธารผู้ขายแรงงาน เพื่อหล่อเลี้ยงคนทางบ้านในนามของกรรมกร …

 

รายงานข่าวเชิงลึกชิ้นนี้ ได้รับการสนับสนุนโดย Internews' Earth Journalism Network 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net