Skip to main content
sharethis

กลุ่มชาวปาเลสไตน์และกลุ่มสิทธิมนุษยชนแสดงความยินดีต่อการที่ศาลอาญาระหว่างประเทศตัดสินใจว่าจะทำการสืบสวนสอบสวนในเรื่องกรณีการกระทำของอิสราเอลที่ถูกกล่าวหาเกี่ยวกับอาขญากรรมสงคราม, อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และอาชญากรรมด้านการกีดกันแบ่งแยกเชื้อชาติสีผิว ในพื้นที่ปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครอง "เหยื่ออย่างพวกเรามักจะกลายเป็นแค่ตัวเลขที่ไร้ใบหน้า แต่มันถึงเวลาแล้วที่เสียงของพวกเราจะมีคนได้ยินและความทุกข์ของพวกเขาจะเป็นที่รับรู้ของผู้คน" ซาเลห์ อาบู โมห์เซน กล่าว ทั้งนี้เขาเป็นผู้สูญเสียลูกสาวอายุ 17 ปี จากเหตุการณ์โจมตีจากอิสราเอลเมื่อปี 2557

สถานะของปาเลสไตน์ในตอนนี้ได้รับการยอมรับเป็นรัฐจากสหประชาชาติและประเทศอื่นๆ จำนวนมาก ยกเว้นแต่ประเทศสหรัฐฯ และอิสราเอล รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งของธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ ทำให้คณะตุลาการพิจารณาคดีเบื้องต้นตัดสินด้วยเสียงข้างมากว่า ขอบเขตอำนาจศาลของพวกเขาขยายไปถึงพื้นที่ที่อิสราเอลยึดครองนับตั้งแต่ปี 2510 เป็นต้นมาด้วย เช่น ฉนวนกาซา, เขตเวสต์แบงค์, อีสเยรูซาเลม

คำตัดสินนี้ทำให้ ICC ประเมินว่าจะมีการพิจารณาเรื่องอาชญากรรมสงครามหรืออาชญากรรมอื่นๆ ที่มาจากทั้งทางการอิสราเอลและกองกำลังสนับสนุนปาเลสไตน์รวมถึงกลุ่มฮามาส อย่างไรก็ตามยังไม่มีความแน่ชัดว่าพวกเขาจะเริ่มต้นพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ตั้งแต่เมื่อใด แต่ ฟาตู เบนซูดา อัยการสูงสุดของ ICC ก็เคยพูดถึงเมื่อ 2 ปีก่อนหน้านี้ว่ามีมูลเหตุที่น่าเชื่อถือในการเปิดการสืบสวนกองทัพอิสราเอลในเรื่องอาชญากรรมสงคราม

กลุ่มครอบครัวชาวปาเลสไตน์ที่เคยสูญเสียสมาชิกครอบครัวและบ้านของตัวเองจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับพวกเขาแสดงความยินดีต่อคำตัดสินของ ICC เมื่อวันที่ 5 ก.พ. ที่ผ่านมา

หนึ่งในผู้สูญเสีย สุบี บัคร์ บอกว่า "มาช้าก็ยังดีกว่าไม่มา" บัคร์สูญเสียลูกชายและหลานคนอื่นๆ รวม 4 คน ทั้งหมดอายุไม่เกิน 12 ปี พวกเขาถูกสังหารจากขีปนาวุธของอิสราเอลในปี 2557 ในขณะที่พวกเขากำลังเล่นฟุตบอลกันอยู่ กรณีที่เกิดขึ้นในครั้งนั้นทำให้เกิดความไม่พอใจและการประณามจากนานาชาติ

บัคร์บอกว่ามันเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่จะต้องมีการเริ่มต้นสืบสวนสอบสวนในเรื่องนี้ไม่เช่นนั้นแล้ว "โลกนี้จะไร้ซึ่งความยุติธรรม" เพราะการปล่อยให้ทางการอิสราเอลสืบสวนสอบสวนเองนั้นเป็นเรื่องที่เชื่อใจไม่ได้ พวกเขาต้องการให้กฎหมายนานาชาติให้ความเป็นธรรม

ตอว์ฟีก อาบู เจม เป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิตจากการโจมตีทางอากาศในกาซาที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นญาติของเขารวม 25 รายเหตุเกิดในปี 2557 เขาบอกว่าถึงแม้การสืบสวนคดีจะไม่ได้ทำให้ลูกๆ ของเขากลับมา แต่อย่างน้อยก็จะทำให้เกิดความยุติธรรมได้บ้าง เจมเชื่อว่าพวกเขาจะไม่มีทางได้รับความยุติธรรมจากศาลอิสราเอล สมาชิกครอบครัวจำนวนมากของเขาเสียชีวิตมาเป็นเวลาหลายปีแต่ผู้กระทำผิดก็ยังลอยนวลไม่ต้องรับผิด ICC จึงเป็นตัวแทนความหวังเดียวของพวกเขาในการได้รับความเป็นธรรม

ซาเลห์ อาบู โมห์เซน สูญเสียลูกสาวอายุ 17 ปี จากเหตุการณ์โจมตีจากอิสราเอลในปี 2557 เขาบอกว่าเขาเคยสูญเสียความเชื่อมั่นว่าจะได้รับความยุติธรรมไปแล้ว แต่การที่ ICC จะมาพิจารณาเรื่องนี้ทำให้พวกเขากลับมาเข้าถึงความหมายของความยุติธรรมได้อีกครั้ง "เหยื่ออย่างพวกเรามักจะกลายเป็นแค่ตัวเลขที่ไร้ใบหน้า แต่มันถึงเวลาแล้วที่เสียงของพวกเราจะมีคนได้ยินและความทุกข์ของพวกเขาจะเป็นที่รับรู้ของผู้คน"

องค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ กล่าวแสดงความยินดีในเรื่องนี้เช่นกัน ซาเลห์ ฮิกาซี จากแอมเนสตีอินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวว่าการสืบสวนของ ICC จะหยุดยั้งวงจรอุบาทว์ของการลอยนวลไม่ต้องรับผิดในวิกฤตด้านสิทธิมนุษยชน และเรียกร้องให้รัฐบาลแต่ละประเทศสนับสนุนการสืบสวนสอบสวนของ ICC อย่างเต็มที่เพื่อเป็นก้าวต่อไปสำหรับการนำคนกระทำผิดมารับผิดชอบ

องค์กรสิทธิมนุษยชนอิสราเอล B"Tselem ชื่นชมคำตัดสินของ ICC ในครั้งนี้เช่นกัน โดยแถลงว่าเรื่องนี้จะทำให้คนมีความหวังว่าเป็นการหยุดยั้งการลอยนวลไม่ต้องรับผิด อีกทั้งยังอาจจะส่งผลทำให้อิสราเอลมีความยับยั้งช่างใจมากขึ้นในปฏิบัติการของพวกเขา เช่น ยับยั้งความพยายามบังคับย้ายถิ่นฐานชุมชนชาวปาเลสไตน์แบบที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานนี้นเซาธ์เฮบรอนฮิลล์ และในจอร์แดนวัลเลย์

รัฐมนตรีการต่างประเทศของปาเลสไตน์ ริยาด อัลมาลิกิ แสดงความยืนดีกับการที่ ICC จะเปิดการสืบสวนสอบสวนโดยบอกว่านับเป็น "วันแห่งประวัติศาสตร์" ขณะที่นายกรัฐมนตรีอิสราเอล เบนจามิน เนทันยาฮู อ้างว่าคำตัดสินของ ICC เป็น "การต่อต้านชาวยิว"

อย่างไรก็ตามฮวน โคล ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ตะวันออกกลางและเอเชียใต้จากมหาวิทยาลัยมิชิแกนก็บอกว่าการที่เนทันยาฮูอ้างเรื่องต่อต้านชาวยิวนั้นถือเป็นการลดทอนความหมายของคำๆ นี้ ทั้งๆ ที่คำว่า "การต่อต้านชาวยิว" หรือ "การเหยียดชาวยิว" นั้นเน้นเอามาใช้กับการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของชาวยิวเท่านั้น ฮาไก เอลอัด ผู้อำนวยการบริหารของ B"Tselem ก็บอกว่านายกฯ เนทันยาฮูไม่มีสิทธิจะมาใข้คำนี้เพราะเขาไม่ได้มี "จุดยืนทางศีลธรรม" ใดๆ ทั้งสิ้น

ลารา ฟรีดแมน ประธานมูลนิธิเพื่อสันติภาพตะวันออกกลางบอกว่าสิ่งที่เนทันยาฮูอ้างว่าเป็นการต่อต้านชาวยิวนั้นเป็นการอ้างผิดๆ เพราะเป็นการเหมารวมชาวชาวยิวทั้งหมดเป็นอิสราเอล และบอกว่าการวิพากษ์วิจารณ์ประเทศอิสราเอลหรือนโยบายของอิสราเอลนั้นไม่นับว่าเป็นการเหยียดชาวยิวแต่อย่างใด

กระนั้น เนด ไพรซ์ โฆษกการต่างประเทศของรัฐบาลสหรัฐฯ แถลงในเชิงไม่เห็นด้วยในเรื่องคำตัดสินของ ICC โดยอ้างว่าถึงแม้ปาเลสไตน์จะเสนอเข้าร่วม ICC แต่ก็ไม่ถือเป็นสมาชิกของ ICC เพราะ "พวกเราไม่เชื่อว่าปาเลสไตน์จัดเป็นรัฐอธิปไตยได้" จึงขาดคุณสมบัติในฐานะประเทศสมาชิก

เรียบเรียงจาก

'Better Late Than Never': Palestinians Welcome ICC Decision Enabling War Crimes Probe of Israel, Common Dreams, 06-02-2021

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net