นักปรัชญาชายขอบ: เหล่าผู้ (ไม่) อำลาจากเมืองแห่งความสุข

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เรื่องสั้น “เหล่าผู้อำลาจากโอเมลาส” (The Ones Who Walk Away from Omelas) ถูกนำมาเป็น “ตัวอย่าง” ของคำถามว่า หากการกระทำเพื่อความสุขมากที่สุดแก่คนจำนวนมากที่สุดเป็นสิ่งที่ถูกต้องเสมอไปแล้วละก็ เรามีความชอบธรรมที่จะใช้ “ความเป็นมนุษย์” ของคนแม้แต่หนึ่งคนเป็นเครื่องมือเพื่อความสุขมากที่สุดของคนจำนวนมากที่สุดหรือไม่

เรื่องมีอยู่ว่า เมืองแห่งความสุขที่ชื่อ “โอเมลาส” ไม่มีกษัตริย์ หรือระบบชนชั้นเจ้าขุนมูลนาย ไพร่ ทาส บ้านเมืองสงบสุข อุดมสมบูรณ์ เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรือง ในตัวเมืองมีสถานบันเทิง สถานที่พักผ่อน อากาศดี ชาวเมืองทุกคนมีสวัสดิการที่ดีเลิศทุกด้าน มีความเป็นมิตรและใช้ชีวิตอย่างมีความสุขมากที่สุด 

แต่ชาวเมืองทุกคนต่างรู้ว่า ณ สถานที่แห่งหนึ่งของเมืองนี้ มีเด็กปัญญาอ่อนคนหนึ่งถูกขังอยู่ในห้องใต้ดิน ไม่มีโอกาสได้เห็นเดือนเห็นตะวัน เด็กคนนี้ร่างกายผอมโซ เนื้อตัวสกปรก ทนทุกข์ทรมานอยู่ในห้องมืด มีเพียงเศษอาหารเล็กน้อยสำหรับประทังชีวิตในแต่ละวัน ทุกคนในเมืองแห่งความสุขต่างเคยเห็นเด็กคนนี้ บางคนมาเห็นเพียงครั้งเดียวก็ไม่กลับมาดูอีก บางคนกลับมาดูสองสามครั้งหรือมากกว่า 

ทว่าไม่มีใครเลยที่คิดจะนำเด็กน้อยคนนี้ออกมาจากห้องใต้ดิน ให้ได้พบแสงสว่าง ให้อาบน้ำชำระความสกปรกจากร่างกาย ให้ทานอาหารอร่อย นอนที่นอนนุ่มๆ อบอุ่นมีความสุขเหมือนกับทุกคนในเมืองนี้ได้รับ เพราะทุกคนต่างรู้เงื่อนไขของ “คำสาป” ว่าหากนำเด็กคนนี้ขึ้นมาจากห้องใต้ดินเพื่อให้ได้รับสิ่งดีๆ ต่างๆ ความสุขสมบูรณ์ของชาวเมืองทุกคนจะมลายหายไป นอกจากความสุขของชาวเมืองทุกคนจะมลายหายไปแล้ว เด็กน้อยที่ถูกขังอยู่ในที่มืดมายาวนานก็ไม่อาจได้รับการฟื้นฟูจิตใจที่บอบช้ำสาหัสให้สามารถมีความสุขอย่างคนปกติทั่วไปได้ ดังนั้น การรักษาความสุขมากที่สุดของคนจำนวนมากที่สุดให้คงอยู่จึงเป็นสิ่งที่ถูกต้องมากกว่า

แต่แล้วกลับมีวัยรุ่น คนหนุ่มสาว คนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งที่ทนไม่ได้กับความเป็นจริงที่น่าหดหู่ของเมืองแห่งความสุข พวกเขาคือเหล่าบรรดาผู้อำลาจากโอเมลาส เหล่าผู้เดินจากไป ละทิ้งเมืองแห่งความสุขไว้เบื้องหลัง

ตัวอย่างเรื่องสั้น “โอเมลาส เมืองแห่งความสุข” อาจดู “สุดโต่ง” (extreme) แต่ไม่ใช่ว่าเรื่องราวที่คล้ายกันนี้จะเป็นไปไม่ได้ในโลกของความเป็นจริง ประวัติศาสตร์สังคมมนุษย์ทุกแห่งในโลกนี้และที่เป็นอยู่ในปัจจุบันต่างเคยและยังคงใช้ “ความเป็นมนุษย์” ของคนจำนวนหนึ่งในสังคมเป็น “เครื่องมือ” เพื่อรักษาสิ่งที่อ้างกันว่ามันคือ “ความสุขของคนส่วนใหญ่” ซึ่งฟังดูดีเสมอ

ในบ้านเราการขังคุกคนอย่างอานนท์, สมยศ, เพนกวิน, หมอลำแบงค์ที่ลุกขึ้นสู้เพื่อเสรีภาพในขณะนี้ และการเข่นฆ่าคนหนุ่มสาวที่ลุกขึ้นสู้เพื่อเสรีภาพและอนาคตที่ดีกว่าคนแล้วคนเล่าในประวัติศาสตร์ที่ผ่านๆ ก็คือการใช้ “ความเป็นมนุษย์” ของพวกเขาเหล่านั้น เป็น “เครื่องมือ” ตอบสนองสิ่งที่ชนชั้นปกครองฝ่ายผูกขาดอำนาจรัฐอ้างว่า เพื่อรักษาความสงบสุขของของชาติ เพื่อความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์ที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ เป็นศูนย์รวมความรู้รักสามัคคีของคนในชาติ ดังนั้น คนที่เรียกร้องเสรีภาพคือบุคคลอันตรายต่อความสุขของคนส่วนใหญ่ พวกเขาบังอาจตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์ซึ่ง “กระทบกระเทือนต่อความรู้สึก(?)” ของ “ประชาชนส่วนใหญ๋ผู้จงรักภักดี(?)” จึงต้องถูกขังคุก หากปล่อยให้คนเหล่านี้มีอิสรภาพเหมือนคนทั่วไป ความสุข ความสามัคคีของประชาชนในเมืองแห่งความสุขสยามไทยนี้ย่อมมลายหายไปสิ้น

สำหรับคนที่คิดแบบเสรีนิยมสายคานท์ (Kantian liberalism) ย่อมปฏิเสธการใช้ความเป็นมนุษย์เป็นเครื่องมือในทุกกรณี ไม่ว่าการใช้ความเป็นมนุษย์ของเด็กปัญญาอ่อนเป็นเครื่องมือเพื่อความสุขของชาวเมืองโอเมลาส หรือกรณีใช้มาตรา 112 ขังคุกพลเมืองที่เรียกร้องเสรีภาพในสยามไทย

เหตุผลเพราะเราไม่อาจแลกความเป็นมนุษย์ของเรากับสิ่งใดๆ ได้ ไม่ว่าสิ่งนั้นเราจะเรียกมันว่า “ความสุขของคนส่วนใหญ่” หรือ “ประโยชน์ของคนส่วนใหญ่” หรืออะไรก็แล้วแต่ สังคมที่เป็นธรรมคือสังคมที่สามารถให้หลักประกันความเป็นมนุษย์ของเราให้คงอยู่ หากเรามีชีวิตอยู่อย่างถูกกดทับหรือถูกย่ำยีความเป็นคน ต่อให้มีความสมบูรณ์พูนสุขใดๆ ก็ไม่อาจชดเชยความเป็นคนที่สูญเสียไปได้ ในทางตรงกันข้ามวิถีชีวิตของชนชั้นผู้กดขี่ที่อุดมด้วยอำนาจและมั่งคั่งอลังการบนบ่าของประชาชน มันก็เป็นได้เพียงความสุขสมบูรณ์ที่ไร้คุณค่า น่ารังเกียจ น่าขยะแขยงมากกว่าที่จะเป็นสิ่งล้ำเลิศน่าเทิดทูน

การมี “ความเป็นมนุษย์” คือ การที่เรามีศักดิ์ศรีความเป็นคนที่แสดงให้เห็นได้จากการมีเสรีภาพในการใช้เหตุผลตัดสินได้ว่า อะไรคือสิ่งที่ดีสำหรับชีวิตตนเอง อะไรคือกฎหรือกติกาสากลที่เป็นธรรมสำหรับยึดถือร่วมกันในทางศีลธรรมและในทางสังคมและการเมือง การกดทับเสรีภาพดังกล่าวก็คือการกดทับความเป็นมนุษย์ของเรา คือการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นคนของเรา อำนาจที่กดทับความเป็นมนุษย์ของประชาชนจึงเป็นเผด็จการทรราชที่เลวร้ายที่สุด 

ในอีกด้านหนึ่ง การใช้ความเป็นมนุษย์ของเด็กปัญญาอ่อนเป็นเครื่องมือเพื่อความสุขของชาวเมืองโอเมลาส ก็เป็นตัวอย่างของคำถามใหญ่ต่อปรัชญาประโยชน์นิยม (Utilitarianism) ทำให้ John Stuart Mill ต้องหาทางแก้ปัญหานี้ด้วยข้อเสนอสำคัญว่า “เสรีภาพ” คือองค์ประกอบหลักที่ขาดไม่ได้ของประโยชน์สุขส่วนรวม เพราะเสรีภาพเป็นทั้ง “พื้นที่เพื่อการเติบโต” ของปัจเจกบุคคล และเป็น “พื้นที่เพื่อประโยชน์สุขและความก้าวหน้า” ของมนุษยชาติ

ตามมุมมองประโยชน์นิยมแบบมิลล์ องค์ประกอบหลักๆ ของรัฐหนึ่งๆ คือรัฐบาล สังคม และปัจเจกบุคคล แล้วใครคือเจ้าของเสรีภาพ มิลล์ยืนยันว่า “ปัจเจกบุคคล” (individual) คือเจ้าของเสรีภาพ เพราะปัจเจกบุคคลคือ “องค์อธิปัตย์” ที่มีสิทธิและเสรีภาพเหนือชีวิต ร่างกาย และจิตใจของตนเอง รัฐและสังคมมีหน้าที่ต้องเคารพและปกป้องเสรีภาพของปัจเจกบุคคล รัฐและสังคมจะใช้อำนาจใดๆ แทรกแซงขัดขวางเสรีภาพของปัจเจกบุคคลไม่ได้ ตราบที่การใช้เสรีภาพของเขาไม่เป็นอันตรายต่อบุคคลอื่น ดังนั้น เสรีภาพของปัจเจกบุคคลจึงเป็นสิ่งมีค่าสูงสุดที่รัฐบาลและสังคมจะล่วงละเมิดไม่ได้ แต่รัฐและสังคมมีหน้าที่ต้องเคารพและปกป้อง

เมื่อคิดแบบมิลล์ ไม่ว่ากรณีชาวเมืองโอเมลาสใช้เด็กปัญญาอ่อนเป็นเครื่องมือเพื่อความสุขของพวกเขา ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ ขณะที่ผู้มีอำนาจรัฐไทยใช้ 112 จับกุมพลเมืองที่ลุกขึ้นเรียกร้องเสรีภาพโดยอ้างความสงบสุขของส่วนรวม ก็เป็นสิ่งที่เลวร้ายเช่นกัน เพราะสังคมใดก็ตามจะสามารถสร้างสรรค์ประโยชน์สุขส่วนรวมอย่างเป็นธรรมกับคนจำนวนมากที่สุดได้จริง สังคมนั้นจะต้องมีเสรีภาพอย่างสมบูรณ์

มองแบบคานท์ การปก้องเสรีภาพคือการปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเราทุกคน การเพิกเฉยต่อการที่ใครคนหนึ่งถูกละเมิดเสรีภาพ ก็เท่ากับเป็นการเพิกเฉยต่อการที่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเราทุกคนถูกเหยียบย่ำ 

มองแบบมิลล์ เสรีภาพคือพื้นที่เพื่อการเติบโตของปัจเจกบุคคลและพื้นที่เพื่อประโยชน์สุขส่วนรวมและความก้าวหน้าของมนุษยชาติ การเพิกเฉยต่อการที่เผด็จการทราราชย์จับพลเมืองหนึ่งคนที่ลุกขึ้นเรียกร้องเสรีภาพ ก็เท่ากับเป็นการเพิกเฉยต่อการปล้นพื้นที่เพื่อการเติบโตของเราทุกคนไป และคือการเพิกเฉยต่อการปล้นพื้นที่เพื่อการสร้างประโยชน์สุขส่วนรวมและความก้าวหน้าของมนุษยชาติทั้งมวลไป

ดังนั้น เหล่าคนรุ่นใหม่ในสยามไทยที่ไม่ได้อำลาจาก “เมืองแห่งความสุข” แห่งนี้ไป ก็เพราะพวกเขาต้องการเปลี่ยนแปลงให้มันเป็นเมืองที่เราทุกคนสามารถจะมีความเป็นคนที่มีเสรีภาพและมีศักดิ์ศรีความเป็นคนได้จริง และเพื่อสร้างพื้นที่เสรีภาพส่วนบุคคลให้เราแต่ละคนได้เติบโตตามความฝันที่แตกต่างหลากหลายของแต่ละคน เพื่อสร้างพื้นที่เสรีภาพทางสังคมและการเมืองให้เป็นพื้นที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมและความก้าวหน้า เพื่ออนาคตที่ดีกว่าที่เราทุกคนมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมในการสร้างมันขึ้นมาด้วยสมองและสองมือของเราเอง

   

ที่มาภาพ https://prachatai.com/journal/2021/02/91655

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท