#เชียงใหม่จะไม่ทน 37 คน ทยอยรับทราบข้อกล่าวหา ผิด ม.116 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และพ.ร.บ.โรคติดต่อฯ

37 นักศึกษา นักกิจกรรม และคนเสื้อแดง ทยอยเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ผิด ม.116  พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และพ.ร.บ.โรคติดต่อฯ หลังเข้าร่วมการชุมนุมเชียงใหม่จะไม่ทนที่ประตูท่าแพ เมื่อวันที่ 29 ก.ค.63 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งข้อสังเกตการบรรยายพฤติการณ์ของคดีไม่มีการระบุชัดเจนว่าเข้าข่ายข้อหาตาม ม.116 

บรรยากาศการเข้ารับทราบข้อหา
บรรยากาศการเข้ารับทราบข้อหา
บรรยากาศการเข้ารับทราบข้อหาบรรยากาศการเข้ารับทราบข้อหา

16 ก.พ.2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (16 ก.พ.64) ที่สภ.เมืองเชียงใหม่ นักศึกษา นักกิจกรรม และคนเสื้อแดง กว่า 37 คนที่ถูกออกหมายเรียกจาก สภ.นี้ ทยอยเข้ารับทราบข้อกล่าวหาจากตำรวจ หลังเข้าร่วมการชุมนุมเชียงใหม่จะไม่ทนที่ประตูท่าแพ เมื่อวันที่ 29 ก.ค.63

ทั้งหมดถูกแจ้งข้อกล่าวหา 3 ข้อหาด้วยกัน คือ ข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116, ข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6) โดยคดีนี้มีนายบัญชา บุญหยุง หัวหน้ากลุ่ม “คนรักแผ่นดินเกิด” เป็นผู้กล่าวหานักศึกษา นักกิจกรรม และคนเสื้อแดงที่เข้าร่วมการชุมนุมเชียงใหม่จะไม่ทน เมื่อครึ่งปีที่แล้ว

โดยวันนี้มีประชาชนจำนวนมากมาให้กำลังใจนักศึกษา นักกิจกรรม และคนเสื้อแดงที่เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหา และมีการแสดงเชิงสัญลักษณ์

บรรยากาศ #เชียงใหม่จะไม่ทน 37 คน ทยอยรับทราบข้อกล่าวหา ผิด ม. 116  พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และพ.ร.บ.โรคติดต่อฯ
บรรยากาศ #เชียงใหม่จะไม่ทน 37 คน ทยอยรับทราบข้อกล่าวหา ผิด ม. 116  พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และพ.ร.บ.โรคติดต่อฯ
บรรยากาศ #เชียงใหม่จะไม่ทน 37 คน ทยอยรับทราบข้อกล่าวหา ผิด ม. 116  พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และพ.ร.บ.โรคติดต่อฯ

บรรยากาศการแสดงเชิงสัญลักษณ์

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อสังเกตว่า ในการบรรยายพฤติการณ์ของคดีไม่มีการระบุชัดเจนว่าพฤติการณ์หรือการกระทำใดที่เข้าข่ายข้อหาตามมาตรา 116 โดยที่นักศึกษาและประชาชนแทบทั้งหมดเพียงแต่ไปร่วมการชุมนุมเท่านั้น ไม่ได้กล่าวปราศรัยหรือเป็นแกนนำในการจัดชุมนุม หรือแม้แต่แกนนำนักศึกษาที่ร่วมปราศรัยก็ไม่ได้มีการระบุชัดเจนว่าคำปราศรัยใดที่เข้าข่ายความผิดข้อหามาตรา 116 ทั้งพฤติการณ์ตามข้อเท็จจริงการชุมนุมดังกล่าวก็เป็นไปโดยสงบเรียบร้อย ไม่ได้มีเหตุวุ่นวายใดๆ เกิดขึ้น การแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าวต่อนักศึกษาประชาชนจำนวนมากเช่นนี้ จึงเข้าข่ายการตั้งข้อกล่าวหาเกินจริงและไม่เป็นธรรม

ทั้งนี้พนักงานสอบสวนระบุพฤติการณ์ว่า เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 63 หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง ได้ประกาศห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ณ ที่ใดๆ ทั่วราชอาณาจักร และยังไม่ได้มีการยกเลิกประกาศดังกล่าว และในช่วงดังกล่าวยังมีโรคระบาดโควิด-19 ระบาดอยู่ เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อได้มีคำสั่งห้ามกระทำการหรือดำเนินการใดๆ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคแพร่ะระบาดออกไป

เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 63 ธนาธร วิทยเบญจรงค์ กับพวก ได้ร่วมกันโพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก “พรรควิฬาร์” ชักชวนประชาชนทั่วไปให้มาร่วมชุมนุมกัน ทำกิจกรรม และรับอาสาสมัครนักร้องในเวทีชุมนุม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพูดจาปราศรัยประเด็นเกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาล ที่ลานอเนกประสงค์ท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่

ต่อมาวันที่ 29 ก.ค. 63 เวลาประมาณ 17.00 – 20.30 น. ผู้ต้องหากับพวก และประชาชนทั่วไป ประมาณ 200 คน (แต่ระบุตัวได้จำนวน 40 คน) ได้ร่วมกันมาชุมนุมที่ลานอเนกประสงค์ท่าแพ โดยมี 5 แกนนำขึ้นปราศรัยโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต พูดปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ร่วมกันชูป้ายและร้องเพลง ร่วมกันแสดงสัญลักษณ์ชูสามนิ้ว พร้อมเปิดไฟแฟลตโทรศัพท์มือถือ

การกระทำของผู้ต้องหากับพวกเป็นความผิดในสามข้อหาดังกล่าว ผู้ต้องหาที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหา ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติมต่อไป พนักงานสอบสวนได้ให้ทั้งหมดพิมพ์ลายนิ้วมือและปล่อยตัวไป โดยไม่มีการควบคุมตัวไว้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท