นักปรัชญาชายขอบ: เดินทะลุฟ้าถามหาเสรีภาพ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

“ จงมาร่วมเดินเพื่อสิทธิ เสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

อันเสมือนเป็นใจแผ่นดินของประชาชนทุกผู้ทุกคน “

 

ข้อความข้างบนคือส่วนสรุปของ แถลงการณ์กิจกรรม "เดินทะลุฟ้า" คืนอำนาจประชาชน โดยคณะราษฎรและ People Go Network ได้ออกเดินเท้าจากจากลานย่าโมในตัวเมืองนครราชสีมา มุ่งหน้าสู่กรุงเทพฯ ระยะทาง 247.5 กิโลเมตร ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา โดยมี 3 ข้อเรียกร้องหลักคือ

1. ปล่อยเพื่อนเรา คือ อานนท์, สมยศ, เพนกวิน และหมอลำแบงค์ที่ถูกขังคุกระหว่างพิจารณาคดี 112 ที่ยังไม่มีคำพิพากษาของศาลว่าได้ทำความผิดจริง

2. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยประชาชน และ

3. ยกเลิกมาตรา 112

ข้อเรียกร้องหลักดังกล่าวนี้สอดคล้องกับคำแถลงการณ์ข้างต้น อันเป็นการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ว่า “ใจแผ่นดิน” ของประชาชนทุกผู้ทุกคนนั้นไม่ใช่สถาบันใดสถาบันหนึ่ง หากแต่ใจแผ่นดินคือ สิทธิ เสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

 

ในโลกสมัยใหม่ การยืนยันว่าสิทธิ เสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนเป็นใจแผ่นดินหรือเป็นอุดมการณ์ หลักการ กติกาที่ประชาชนทุกคนและทุกสถาบันทางสังคมและการเมืองต้องยึดถือร่วมกัน ย่อมเป็นเรื่องที่เข้าใจกันได้โดย “สามัญสำนึก” (common sense) ที่ “ปกติ” อย่างที่สุด แต่ทำไมจึงเป็นที่เข้าใจร่วมกันได้แสนยากยิ่งในสังคมไทยในศตวรรษที่ 21 ไม่ว่าการเมืองบนท้องถนนหรือการเมืองในสภา เราไม่สามารถ “พูดภาษาเดียวกัน” ในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนได้เลย
 

ที่เป็นเช่นนี้เพราะเรา “พูดกันคนละภาษา” หรือไม่ ฝ่ายอำนาจนิยมพูด “ภาษาก่อนสมัยใหม่” (pre-modern) ที่ยืนยันอุดมการณ์ “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” เป็น “ใจแผ่นดิน” หรือเป็นศูนย์รวมจิตใจ ความจงรักภักดี ความรู้รักสามัคคีของประชาชนทุกคน ที่ว่าเป็นภาษาก่อนสมัยใหม่ก็เพราะอุดมการณ์เช่นนี้เป็นอุดมการณ์ที่ผลิตสร้างขึ้นในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อันเป็นระบอบการปกครองที่ปฏิเสธสิทธิ เสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนโดยพื้นฐาน

แต่สิ่งที่บ่งบอกถึง “ความเป็นสมัยใหม่” (modernity) คือการยืนยันถึง “ความมีอยู่จริง” (existence) ของ “ความเป็นมนุษย์” ในฐานะเป็น “สัตผู้มีเหตุผล” (rational being) ซึ่งการเป็นสัตผู้มีเหตุผลมีความหมายสำคัญว่า เราสามารถใช้เหตุผล สติปัญญา วิจารณญาณของตนเองในการตัดสินจริง เท็จ ถูกผิดทางศีลธรรม, ทางสังคม การเมือง และอื่นๆ ได้ด้วยตนเอง ดังนั้น เราจึงต้องมี “เสรีภาพ” (freedom) ในการใช้เหตุผลในทุกเรื่อง จึงจะถือว่าเราเป็นมนุษย์ผู้มีศักดิ์ศรีในตัวเอง หากตกอยู่ในสภาพบังคับให้ต้องจงรักภักดีต่อชนชั้นปกครองหรืออะไรก็ตามแต่ เราย่อมไม่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะไม่สามารถใช้เหตุผลและเสรีภาพอย่างสอดคล้องกับความเป็นมนุษย์ของตนเองได้

พูดอีกนัยหนึ่งคือ ไม่ว่าเราจะอยู่ในรัฐใดๆ รัฐนั้นๆ ย่อมประกอบด้วยรัฐบาล, สังคม และปัจเจกบุคคล แล้วเสรีภาพเป็นของใคร เสรีภาพไม่ใช่ของรัฐบาลและสังคม เสรีภาพเป็นของปัจเจกบุคคล(individual) เราทุกคนคือปัจเจกบุคคลผู้เป็นเจ้าของเสรีภาพ

พูดใช้ชัดคือ ฐานคิดของความเป็นสมัยใหม่นั้นถือว่า เราทุกคนคือปัจเจกบุคคลที่เป็น “องค์อธิปัตย์” ผู้มีอำนาจสูงสุดที่เป็นเจ้าของสิทธิและเสรีภาพเหนือชีวิตร่างกายและจิตใจของตนเอง รัฐบาลและสังคมมี “หน้าที่” (duty) ต้องเคารพสิทธิเสรีภาพของเรา รัฐบาลและสังคมจะใช้อำนาจแทรกแซงหรือยับยั้งเสรีภาพของเราแต่ละคนได้ก็ต่อเมื่อเราทำอันตรายต่อบุคคลอื่นเท่านั้น

ดังนั้น เมื่อเราพูดกันด้วย “ภาษาสมัยใหม่” ย่อมหมายถึง การยืนยันความเป็นมนุษย์ผู้มีเหตุผล เสรีภาพและศักดิ์ศรีในตัวเอง หรือความเป็นปัจเจกบุคคลผู้เป็นเจ้าของอำนาจ สิทธิและเสรีภาพ ซึ่งเราจะมีความเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีในตัวเองและเป็นปัจเจกบุคคลผู้เป็นเจ้าของอำนาจและสิทธิเสรีภาพได้ ย่อมจำเป็นต้องสร้างระบอบการปกครองประชาธิปไตยที่ให้หลักประกันสิทธิมนุษยชนได้จริง ข้อเรียกร้องของราษฎรจึงเป็นการใช้ภาษาสมัยใหม่ในความหมายดังกล่าวนี้ ซึ่งคนละความหมายกับภาษาก่อนสมัยใหม่ที่ฝ่ายอำนาจนิยมใช้โต้แย้ง

ความหมายที่แตกต่างกันระหว่างภาษาก่อนสมัยใหม่กับภาษาสมัยใหม่ มันคือความหมายของ “ความเป็นมนุษย์” ที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะภาษาก่อนสมัยใหม่ต้องการกดทับความเป็นมนุษย์ของประชาชนให้สยบยอมและจงรักภักดีต่อชนชั้นปกครอง ขณะที่ภาษาสมัยใหม่ยืนยันศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนในฐานะผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย สิทธิ เสรีภาพเพื่อการมีส่วนร่วมที่เท่าเทียมในการกำหนดวิถีชีวิตทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ การศึกษาและอื่นๆ

ความแตกแยก ไม่ได้เกิดจากประชาชนเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เพราะถ้าสามารถสถาปนาคุณค่าพื้นฐานนี้ให้เป็น “ใจแผ่นดิน” หรือเป็นกติกากลางที่ประชาชนทุกคนและทุกสถาบันทางสังคมและการเมืองยึดถือร่วมกันได้ ปัญหาความแตกแยกก็จะหายไป คงเหลือแต่ความแตกต่างทางความคิดที่ปะทะขัดแย้ง แข่งขัน และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันได้ภายใต้กติกาที่ฟรีและแฟร์แก่ทุกฝ่าย ไม่ว่าคุณจะมีความคิดแบบอนุรักษ์นิยมหรือก้าวหน้า เสรีนิยมหรือสังคมนิยม คลั่งศาสนาหรือไร้ศาสนา ฯลฯ เราก็อยู่ร่วมกันได้อย่างเคารพเสรีภาพในการแสดงออกของกันและกัน เพราะไม่มี “กฎหมายพิเศษ” ที่ขัดหลักสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานเป็นเครื่องมือไล่ล่าปิดปากคนคิดต่าง

แต่ความแตกแยกเกิดจากการใช้ความคิดหรือภาษาก่อนสมัยใหม่ ซึ่งทำให้เกิด “ความขัดแย้ง” ที่ซับซ้อนมาก คือการยึดอุดมการณ์แบบก่อนสมัยใหม่ที่ขัดกับสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ย่อมทำให้ประชาชนมี “บุคลิกภาพขัดแย้งในตัวเอง” ที่แสดงออกเป็นพฤติกรรม “ย้อนแย้ง” เช่น ในด้านหนึ่งเรียกร้องเสรีภาพ ประชาธิปไตย ความโปร่งใส การตรวจสอบได้ แต่ในอีกด้านหนึ่งกลับยืนยันอำนาจที่ตั้งคำถาม วิจารณ์ ตรวจสอบไม่ได้ของสถาบันกษัตริย์ และยังใช้มาตรา 112 ไล่ล่าประชาชนอีกฝ่ายที่คิดต่าง

จากบุคลิกภาพขัดแย้งในตัวเองและพฤติกรรมย้อนแย้งดังกล่าว ก็นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมือง แบ่งเป็นฝักฝ่าย ขณะที่ชนชั้นปกครองใช้รัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ ที่ “ขัดแย้ง” กันเอง เป็นเครื่องมือในการ “แบ่งแยกและปกครอง” มาตลอด คือ แม้แต่ในรัฐธรรมนูญเองก็พูดคนละภาษา เช่นบางมาตราพูดภาษาสมัยใหม่รับรองสิทธิเสรีภาพของพลเมือง บางมาตราก็ใช้ภาษาก่อนสมัยใหม่มาจำกัดสิทธิเสรีภาพของพลเมือง หรือบางทีรัฐบาลก็ประกาศนโยบายปกป้องสิทธิมนุษยชน พร้อมกับมีมาตรา 44 ผูกขาดอำนาจไว้ที่หัวหน้า คสช.เพียงคนเดียวเป็นต้น

พูดชัดๆ ก็คือ ชนชั้นปกครองใช้วิธีคิด อุดมการณ์ และวางระบบการปกครองที่สับสน ขัดแย้งในตัวเอง ซึ่งทำให้กลุ่มชนชั้นปกครองก็พูดอะไร ทำอะไรที่สับสน ขัดแย้งในตัวเองหรือ “ย้อนแย้ง” ตลอดเวลา นำไปสู่ความสับสนในเรื่องจริง เท็จ ถูกผิด ยุติธรรม อยุติธรรม สับสนในเรื่องศีลธรรม กฎหมาย และอื่นๆ ดังนั้นมันจึงเป็นเงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้งในหมู่ประชาชนตามมาด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แนวทางของกลุ่มราษฎรเดินทะลุฟ้า และที่พวกเขาต่อสู้มาตลอด จึงเป็นแนวทางที่จะสร้างระบบสังคมการเมืองที่ไม่สับสน ไม่ขัดแย้งในตัวเอง และไม่เป็นเงื่อนไขให้เกิดความแตกแยก แต่จะเป็นระบบที่เป็น “ใจแผ่นดิน” ที่แท้จริงที่สามารถเชื่อมโยงประชาชนทุกคน ทุกฝ่าย ทุกสถาบันทางสังคมและการเมืองให้อยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยและเคารพสิทธิมนุษยชนของกันและกันได้จริง

 

ที่มาภาพ: https://prachatai.com/journal/2021/02/91729

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท