จากปราชญ์พุทธถึงเณรโฟล์ค: แสงสว่างทางปัญญาคืออะไร

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

การตรัสรู้หรือการเกิดปัญญารู้แจ้งของพุทธะ แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “enlightenment” โดยรูปศัพท์พ้องกับ “the Enlightenment” ที่หมายถึงยุคแสงสว่างทางปัญญาหรือยุครู้แจ้งของยุโรป, อเมริกา 

แต่ต่างกันโดยความหมายสำคัญ ในแง่ที่ยุครู้แจ้งหรือยุคแสงสว่างทางปัญญาเป็นยุคสมัยของการยืนยัน “ความกล้าหาญ” ในการใช้ความคิด ความเข้าใจ และเหตุผลของตนเองของปัจเจกบุคคล จึงนำมาสู่การยืนยัน “เสรีภาพ” ในการใช้เหตุผลวิพากษ์วิจารณ์ทุกสิ่ง โดยเฉพาะวิพากษ์วิจารณ์ศาสนา อำนาจศาสนจักร และระบบกษัตริย์ที่กดทับเสรีภาพและความก้าวหน้าทางปัญญาของมนุษยชาติ

เช่น การวิพากษ์วิจารณ์ศาสนาของอิมมานูเอล คานท์ (Immanuel Kant) ก่อให้เกิดอิสรภาพในการกำหนดตัวเองทางศีลธรรมของปัจเจกบุคคล ถือว่าเราแต่ละคนคือผู้บัญญัติกฎศีลธรรมขึ้นมาใช้ร่วมกัน (คล้ายกับการบัญญัติกฎขึ้นใช้ร่วมกันในสังคมประชาธิปไตยทางตรง) โดยกฎศีลธรรมที่แต่ละคนบัญญัติขึ้นต้องอยู่บนพื้นฐานของการเคารพเสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีในตัวเองของมนุษย์ ดังนั้น ศีลธรรมจึงเป็น “หน้าที่” (duty) เคารพและปกป้องเสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตัวเราเองและทุกคน

ขณะที่การวิพากษ์วิจารณ์ระบบกษัตริย์ของโธมัส เพน (Thomas Paine) นำมาซึ่งเสรีภาพทางการเมืองและประชาธิปไตย คำวิจารณ์ของเขาเผยให้เห็นธาตุแท้ของกษัตริย์ในหนังสือ “สามัญสำนึก” (Common Sense) เช่นว่า (หน้า 73)

“ ในอังกฤษ กษัตริย์ดีแต่ทำสงครามและแจกจ่ายยศถาบรรดาศักดิ์ หรือกล่าวตรงไปตรงมาก็คือ กษัตริย์มีหน้าที่สร้างความยากจนแก่ประเทศชาติ และสร้างความขัดแย้งบาดหมางแก่ผองชน ช่างเป็นภารกิจดีงามเสียนี่กระไร สำหรับคนที่ได้รับเงินถึงปีละแปดแสนปอนด์ แถมยังได้รับการเทิดทูนบูชาอีกต่างหาก! สุจริตชนแม้เพียงผู้เดียวก็มีค่าต่อสังคมและอยู่ในสายตาของพระผู้เป็นเจ้ามากยิ่งกว่าทรชนสวมมงกุฏทุกคนที่เคยมีชีวิตอยู่บนโลกนี้รวมกันเสียอีก “ 

ดังนั้น การเกิดแสงสว่างทางปัญญาในยุโรปและอเมริกา จึงหมายถึงการเกิดปัญญารู้แจ้งความหมายและคุณค่าของสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อันเป็นฐานอ้างอิงในการตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์อำนาจเผด็จการของศาสนจักร ระบบกษัตริย์ ศาสนา จารีตประเพณี หรือความเชื่อใดๆ ที่กดทับเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จนส่งผลตามมาให้ยุโรปและอเมริกาสร้างการปกครองระบอบเสรีประชาธิปไตย (liberal democracy) ขึ้นมาได้และมีพัฒนาการมาถึงปัจจุบัน 

จึงไม่จริงอย่างที่บรรดาผู้รู้พุทธในบ้านเราเน้นว่า ปรัชญาตะวันตกเป็นแค่ “เกมความคิด” ไม่เกี่ยวกับ “การปฏิบัติ” เหมือนพุทธศาสนา เพราะที่จริงแล้วปรัชญาตะวันตกก่อให้เกิดการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่หลุดพ้นจากอำนาจครอบงำของศาสนจักรและระบบกษัตริย์แบบยุคกลาง

หันมาดูการเกิดปัญญารู้แจ้งของพุทธะ หากพิจารณาจากการใช้ชีวิตแสวงหาสัจธรรมของสิทธัตถะ เราพบว่าสิทธัตถะใช้อิสรภาพในการกำหนดตัวเองอย่างมีนัยสำคัญ เช่น การขบถต่อความต้องการของพ่อ การไม่ตกอยู่ใต้อิทธิพลครอบงำของครูอาจารย์ การทดลองปฏิบัติตามความเชื่อของลัทธิศาสนาต่างๆ เมื่อพบว่าไม่ช่วยให้รู้ความจริงที่ดับทุกข์ได้ ก็เลิกล้มและแสวงหาด้วยแนวทางของตนเอง จนเกิดปัญญารู้แจ้งในที่สุด แต่เป็นความรู้แจ้งที่ก่อเกิดเสรีภาพด้านใน ไม่เกี่ยวกับเสรีภาพทางสังคมและการเมืองอย่างที่เกิดขึ้นจากยุคสมัยแห่งการรู้แจ้งของยุโรปและอเมริกา

หลังจากสิทธัตถะเกิดปัญญารู้แจ้งเป็นพุทธะ ความคิดทางสังคมและการเมืองที่ปรากฏใน “จักกวัตติสูตร” คือ การประณาม “กษัตริย์ชั่ว” ที่ปกครองด้วยการใช้อำนาจเด็ดขาดตามอำเภอใจ ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาจนบรรดาผู้ใต้ปกครองตกอยู่ในความหวาดกลัว สังคมอยุติธรรมระส่ำระสาย ผู้คนอดอยากและอารยธรรมล่มสลาย เมื่อประณามกษัตริย์ทรราชเช่นนั้น พุทธะก็สรรเสริญกษัตริย์ที่มีคุณธรรมที่ไม่ใช้ศาสตราวุธและความรุนแรงในการปกครอง แต่สร้างความเป็นธรรมและความอยู่ดีกินดีแก่ผู้ใต้ปกครอง 

อย่างไรก็ตาม กษัตริย์ที่มีคุณธรรมเช่นนั้นก็ดูเหมือนจะเป็นภาพวาดในอุดมคติที่ไม่เคยมีอยู่จริงเลยในประวัติศาสตร์ ทว่าจากตัวอย่างจักกวัตติสูตรก็บ่งนัยสำคัญว่า นักบวชไม่ควรเอาแต่อวยกษัตริย์อย่างเดียว แต่ควรวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์ชั่วๆ ด้วย

คำถามคือ ผู้รู้พุทธศาสนาในบ้านเราให้ความสำคัญกับการเกิดปัญญารู้แจ้งของพุทธะที่เชื่อมโยงกับเสรีภาพในการกำหนดตัวเองของปัจเจกบุคคลหรือไม่ หรือให้ความสำคัญกับคำสอนเรื่องกษัตริย์ผู้ทรงธรรมมากกว่า 

เมื่อพิจารณาจากตัวอย่างผู้รู้พุทธศาสนาที่โดดเด่น เช่น พุทธทาสภิกขุ จะเห็นว่าในคำบรรยาย “ธรรมะกับการเมือง” อันลือลั่น พุทธทาสยืนยันว่า การเมืองยุคสมัยใหม่เลวร้ายไร้ศีลธรรมเพราะแยกจากศาสนา ดังนั้น การเมืองที่ดีต้องเอาธรรมะของศาสนามาใช้ปกครอง และการปกครองที่ดีที่สุดก็คือ “เผด็จการโดยธรรม” หรือโดยทศพิธราชธรรม ซึ่งเป็นระบบที่เหมาะกับสังคมไทย ชาวพุทธไม่ว่าพระสงฆ์และฆราวาสก็ควรมีหน้าที่รักษาความมั่นคงของชาติ ศาสน์ กษัตริย์

ส่วนคำบรรยาย “ความสำคัญของพระพุทธศาสนาในฐานะศาสนาประจำชาติ” ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ก็ยืนยันชัดเจนว่า พุทธศาสนาเป็นสถาบันหนึ่งในสามสถาบันหลัก คือสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ขณะเดียวปราชญ์พุทธท่านนี้ก็เหมือนผู้รู้พุทธโดยทั่วไป คือนิยมอ้างธรรมาธิปไตย, การปกครองโดยธรรมมาสอนนักการเมืองและประชาชน แทนที่จะอ้างเพื่อตั้งคำถามวิจารณ์ตรวจสอบกษัตริย์ที่ประกาศเป็นสัญญาประชาคมว่า “จะปกครองโดยธรรม” และไม่เคยปรากฏว่ามีการยกพุทธธรรมมาตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์การทำรัฐประหารในนามของการปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์แต่อย่างใด ราวกับว่าพุทธธรรมไปด้วยกันได้อย่างแนบสนิทกับรัฐประหารและเผด็จการ 

หันมาดูผู้นำทางจิตวิญญาณแบบพุทธที่มีภาพลักษณ์ว่าหลุดพ้นจากกรอบพุทธกระแสหลักแล้ว อย่างประมวล เพ็งจันทร์ ก็กลับไปขึ้นเวทีปราศรัยสนับสนุนการชุมนุมขวางการเลือกตั้งของกลุ่มสันติอโศก โดยใช้ “ธรรมาวุธ” วิจารณ์การเมือง และแสดงความชื่นชมการต่อสู้ของสุเทพ เทือกสุบรรณ หลังรัฐประหาร 2557 ประมวลก็หายเข้ากลีบเมฆ ไม่ออกมาพูดเรื่องการเมืองอีกเลยจนปัจจุบัน

ยิ่งนักพุทธปรัชญาแถวหน้าอย่างสมภาร พรมทา ที่พยามแสดงออกว่า “เป็นกลาง” ค่อนมาทางเห็นใจเสื้อแดง แต่กลับเขียนนวนิยายเล่าเรื่องราวของเสื้อแดงชาวอีสาน “รับจ้าง” มาชุมนุมแบบไม่รู้เรื่องรู้ราว เป็นแค่เครื่องมือหรือ “เหยื่อ” ของความขัดแย้งทางการเมือง ขณะที่พูดถึงคนที่ไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญบารมีกษัตริย์ในโรงหนังทำนองว่าเป็นพวกคิดมาก ไร้สาระ และพูดถึงการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 ว่า “ไม่เป็นประชาธิปไตย” เพราะไม่มีเสรีภาพและไม่มีนักการเมืองและพรรคการเมืองที่ดีให้เลือกได้ลง ทำให้สมภารเองรู้สึกเหมือนตนเป็น “ซอมบี้” ในระบบเลือกตั้งเช่นนั้น 

ทว่าหลังรัฐประหาร 2557 สมภารกลับรับเป็นกรรมการถึง 2 คณะ ที่ประยุทธ์ จันทร์โอชาแต่งตั้ง โดยไม่รังเกียจว่านั่นไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่มีเสรีภาพ แถมยังเขียนชมนายทหารใหญ่ รองหัวหน้า คสช.ว่าเป็นนายทหารที่ “มีวัฒนธรรมฉันปัญญาชน” ทำให้เกิดคำถามว่าถึงที่สุดแล้วนักปรัชญาพุทธแถวหน้า มี “จุดยืน” อย่างไรแน่ จุดยืนเสรีภาพและประชาธิปไตยหรือ แล้วทำไมไปร่วมงานกับรัฐบาลเผด็จการทหาร จุดยืนพุทธจริยธรรมหรือ แล้วไม่รู้จริงๆ หรือว่ารัฐประหารปล้นอำนาจและสิทธิเสรีภาพของประชาชนมันผิดหลักพุทธจริยธรรม (อทินนาทาน)

จากตัวอย่างเด่นๆ ดังกล่าว ทำให้เราไม่อาจมองเห็น “แสงสว่างทางปัญญา” ในโลกของพุทธไทย เห็นแต่ความมืดมนแผ่ปกคลุมไปทั่ว ผู้รู้พุทธเหล่านั้นมี “เจตนาดี” ต่อสังคมอย่างไม่ต้องสงสัย แต่การตีความธรรมะ ธรรมาธิปไตยตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์นักการเมืองและประชาชน หรือพยายามสอนนักการเมืองและประชาชนให้มีคุณธรรม โดยไม่ตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์การปกครองโดยธรรมของกษัตริย์ ไม่ตังคำถามวิพากษ์วิจารณ์เผด็จการที่ทำรัฐประหาร ปรากฎการณ์เช่นนั้นดำเนินมาภายใต้สภาพความเป็นจริงที่อำนาจมหาเถรสมาคมหรือศาสนจักรของรัฐกำหนดให้พระสงฆ์มีหน้าที่สอนประชาชนให้รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ โดยถือว่า “ไม่ใช่ยุ่งการเมือง” ขณะที่ห้ามเทศนา อภิปราย แสดงความเห็น หรือร่วมชุมนุมสนับสนุนการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยของประชาชน โดยถือว่าเป็นการ “ยุ่งการเมือง” และผิดครรลองของพระเณรที่ดี

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความมืดมนของพุทธไทย ได้ปรากฏพระเณรกลุ่มเล็กๆ ที่เรียกตนเองว่า “แก๊งแครอท” หรือคณะปฏิสังขรณ์การพระศาสนาใหม่ได้ออกมาชุมนุมทางการเมืองร่วมกับกลุ่มเยาวชนปลดแอก และกลุ่มราษฎรอย่างต่อเนื่อง แสงสว่างทางปัญญาเริ่มปรากฏเมื่อกลุ่มนี้นิยามจุดยืนพุทธธรรมเชื่อมโยงกับเสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และประชาธิปไตย พร้อมกับการยืนยัน “ความกล้าหาญ” ในการใช้เสรีภาพวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบอำนาจเผด็จการทางการเมืองและศาสนจักร

หนึ่งในสมาชิกกลุ่มคือสามเณรสหรัฐ สุขคำหล้า หรือ “เณรโฟล์ค” ที่ยืนยัน “การแยกศาสนาจากรัฐ” และยืนยันว่าตนเองเป็น “มาร์กซิสต์” ที่พร้อมจะต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับประชาชนบนแนวทางสันติวิธีเพื่อให้ได้มาซึ่งเสรีภาพ ประชาธิปไตย และความเป็นธรรมทางสังคม 

ถามว่า จุดยืนดังกล่าวของเณรโฟล์คขัดแย้งกับ “เสรีภาพในการกำหนดตนเอง” แบบพุทธะเคยทำเป็นตัวอย่างเช่นนั้นหรือ ไม่เลย แท้จริงแล้วนี่คือการใช้แสงสว่างทางปัญญาแบบพุทธะบูรณาการณ์กับแสงสว่างทางปัญญาที่รู้แจ้งคุณค่าของเสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือเป็นการใช้เสรีภาพกำหนดตัวเองแบบพุทธะประยุกต์กับการต่อสู้เพื่อให้เกิดเสรีภาพทางการเมืองในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ ไม่มีอะไรเลยที่จะทำความเสียหายแก่พุทธศาสนาและสถาบันสงฆ์ นอกจากการทำให้เกิดแสงสว่างทางปัญญาไล่ความมืดมนให้หายไป

การใช้อำนาจมหาเถรสมาคมและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) คุกคามเอาผิดเณรโฟล์ค และการใช้กฎหมายคุกคามเสรีภาพแบบที่ใช้กับประชาชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตยต่างหากที่เป็นการพยายามแผ่ความมืดแบบ “ยุคมืด” ที่หมายจะดับปัญญาที่พยายามส่องแสงสว่าง 

แต่แสงสว่างทางปัญญาที่เจิดจ้าแล้วในพระเณรและประชาชนที่ตระหนักชัดในคุณค่าของเสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ต้องการประชาธิปไตยและความเป็นธรรม ย่อมไม่มีอำนาจใดๆ ไม่ว่าอำนาจรัฐหรือศาสนจักรจะดับมันลงได้ 

มีแต่แสงสว่างทางปัญญาจะเปล่งประกายเจิดจ้าทำลายความมืดมิดจากการใช้อำนาจเผด็จการของรัฐและศาสนจักรให้ปราศนาการไปในที่สุด!
 

 

ที่มาภาพ: https://i.ytimg.com/vi/RfDpBb34-c0/maxresdefault.jpg  และ https://www.matichon.co.th/politics/news_2592981
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท