Skip to main content
sharethis

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ สั่งโจมตีเป้าหมายกลุ่มติดอาวุธในซีเรียที่ได้รับการหนุนหลังจากอิหร่านเพื่อโต้ตอบกรณีอิหร่านใช้ขีปนาวุธโจมตีเป้าหมายสหรัฐฯ ในอิรักเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา เรื่องนี้มีทั้งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งจากประเทศตะวันออกกลางและจากในสหรัฐฯ เอง แต่ก็มีบางส่วนที่สนับสนุนการโจมตีในครั้งนี้


โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ | แฟ้มภาพ: Adam Schultz / Biden for President

27 ก.พ. 2564 หลังจากที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ลงนามในคำสั่งให้มีการโจมตีทางอากาศต่อฐานที่มั่นของกลุ่มติดอาวุธที่ได้รับการหนุนหลังจากอิหร่านทางตะวันออกของซีเรีย เพื่อโต้ตอบการโจมตีเป้าหมายสัญชาติสหรัฐฯ ในอิรัก ก็ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องนี้ตามมา

อย่างไรก็ตาม จอห์น เคอร์บี โฆษกกลาโหมของสหรัฐฯ กล่าวว่าการโจมตีทางอากาศในครั้งนี้เป็นความจงใจที่มีจุดมุ่งหมายต้องการที่จะลดระดับสถานการณ์โดยรวมทั้งในทางตะวันออกของซีเรียและในอิรัก

มีนักวิจารณ์บางคนมองเรื่องนี้ว่าไบเดนต้องการจะแสดงให้เห็นว่าการโต้ตอบของเขาแตกต่างจากวิธีการโต้ตอบของโดนัลด์ ทรัมป์ โดยที่ทรัมป์เคย "ใช้กำลังในแบบไม่สมสัดส่วน"ในการสังหารนายพลของอิหร่าน กัสเซม โซไลมานี อย่างไรก็ตาม เซย์เยด โมฮัมเหม็ด มารานดี ศาสตราจารย์ด้านวรรณคดีอังกฤษและบูรพคดีศึกษา กล่าวว่าการกระทำของไบเดนในครั้งนี้ทำให้เขาไม่ต่างจากทรัมป์

หลังจากที่มีปฏิบัติการโจมตีทางอากาศต่อฐานที่มั่นของกลุ่มติดอาวุธที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านในซีเรียแล้ว รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของอิหร่าน ซาอีด คาติบซาเดห์ ก็ประณามว่าเป็น "การรุกรานอย่างผิดกฎหมาย" และเป็นการละเมิดกฎหมายนานาชาติและสิทธิมนุษยชน อิหร่านแถลงในเรื่องนี้เมื่อวันที่ 27 ก.พ. หลังจากที่มีการพบปะกับเจ้าหน้าที่ทางการซีเรีย

กระทรวงการต่างประเทศของซีเรียก็วิจารณ์การโจมตีทางอากาศในครั้งนี้ว่าเป็นการกระทำที่ขี้ขลาดและเรียกร้องให้ไบเดนอย่าทำตาม "กฎป่าเถื่อน" แบบเดียวกับรัฐบาลทรัมป์

นักข่าวสหรัฐฯ ไอมาน โมเยลดิน ก็เปิดเผยไทม์ไลน์ของประธานาธิบดีรายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น จอร์จ ดับเบิลยู บุช, บารัค โอบามา รวมถึงทรัมป์และไบเดน เผยให้เห็นว่าแต่ละคนก็มักจะเปิดปฏิบัติการแทรกแซงโดยการทหารในประเทศมุสลิมหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นอิรัก และลิเบีย ในช่วงแรกๆ ที่เข้ารับตำแหน่ง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลจนนำมาซึ่งความโกลาหลและการขาดเสถียรภาพทางการเมือง

ในสหรัฐฯ เองก็มีคนวิจารณ์ในเรื่องนี้ เช่น ฮิลลารี มานน์ เลเวอร์เร็ต ซีอีโอของบริษัทให้คำปรึกษาด้านความเสี่ยงทางการเมืองสเตรเทกา เธอกล่าวว่าในขณะที่ถึงแม้การโจมตีทางอากาศนี้จะเป็นการส่งสัญญาณเกี่ยวกับว่ารัฐบาลไบเดนอยู่ข้างฝ่ายใด แต่วิธีการเช่นนี้ก็ไม่สามารถลดระดับความตึงเครียดของสถานการณ์ในตะวันออกกลางได้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือการสังสัญญาณอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลไบเดนจะเพิ่มการกดดันและคัดง้างกับอิหร่านมากขึ้น

แมรี เอลเลน โอคอนเนล ศาสตราจารย์จากวิทยาลัยกฎหมายนอร์ทเทอดามวิจารณ์การโจมตีของสหรัฐฯ ว่าเป็นการละเมิดกฎหมายนานาชาติ จากการที่กฎหมายของสหประชาชาติกำหนดไว้ว่าการใช้กำลังทหารบนเขตแดนของรัฐอธิปไตยอื่นที่ไม่ใช่ของตนจะถือว่าถูกกฎหมายก็ต่อเมื่อเป็นการโต้ตอบการโจมตีด้วยอาวุธและการปกป้องรัฐตัวเองจากการโจมตีที่รัฐเป้าหมายมีส่วนรับผิดชอบ ซึ่งกรณีเหล่านี้ไม่มีกรณีใดเลยที่ให้ความชอบธรรมปฏิบัติการโจมตีในซีเรียได้

จัสติน อมาร์ช ทนายความผู้ที่เคยเป็น ส.ส. ในมิชิแกนกล่าวว่าการโจมตีในครั้งนี้ไม่เป็นไปตามหลักการรัฐธรรมนูญและเป็นเรื่องอันตราย ประธานาธิบดีม่ได้มีอำนาจโดยทั่วไปในการสั่งโจมตีทางอากาศและไม่มีสาเหตุที่ต้องปฏิบัติการเพราะต้องยับยั้งการโจมตีที่กำลังใกล้จะเกิดขึ้น

อิหร่านเคยใช้ขีปนาวุธโจมตีเป้าหมายที่สหรัฐฯ เป็นเจ้าของแต่ตั้งอยู่ในเขตแดนอิรัก การโจมตีนี้เกิดขึ้นในช่วงที่สหรัฐฯ กับอิหร่านกำลังพยายามหาทางกลับคืนสู่ข้อตกลงระงับอาวุธนิวเคลียร์ปี 2558 หลังจากที่รัฐบาลทรัมป์ยกเลิกข้อตกลงนี้ โดยที่ยังไม่แน่ชัดว่าการโจมตีเป้าหมายอิหร่านในซีเรียในครั้งนี้จะส่งผลต่อความพยายามของสหรัฐฯ ในการทำให้อิหร่านกลับคืนโต๊ะเจรจาอย่างไรบ้าง

ถึงแม้จะมีเสียงวิจารณ์ทางลบ แต่ก็มีบางส่วนที่แสดงความคิดเห็นสนับสนุนการโจมตีเป้าหมายอิหร่านในครั้งนี้ เช่น ส.ส. จากพรรครีพับลิกัน ไมเคิล แมคเคา ผู้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมาธิการด้านการต่างประเทศของรัฐสภากล่าววาการโจมตีนี้จำเป็นในการแสดงออกเชิงป้องปราม ย้ำเตือนให้อิหร่านและกลุ่มใดก็ตามที่อิหร่านใช้เป็นตัวแทน รวมถึงอริศัตรูอื่นๆ ทั่วโลกว่าการโจมตีผลประโยชน์ของสหรัฐฯ จะไม่มีการยอมปล่อยไว้

ซูซานน์ มาโลนีย์ จากสถาบันบรูกกิงซึ่งเป็นสถาบันคลังสมองกล่าวว่าการโจมตีในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไบเดนจะสามารถเจรจาต่อรองกับอิหร่านในเรื่องข้อตกลงการยับยั้งนิวเคลียร์ไปพร้อมๆ กับต้านทางกลุ่มติดอาวุธได้ซึ่งถือเป็น "การตัดสินใจที่ดี"

การโจมตีในครั้งนี้ทำไปเพื่อโต้ตอบกรณีที่กลุ่มติดอาวุธที่เรียกตัวเองว่า "อาวลิยา อัลดัม" ยิงขีปนาวุธหลายชุดโจมตีท่าอากาศยานเออร์บิลในพื้นที่เคอร์ดิสถานประเทศอิรักเมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2564 เป็นเหตุให้มีพลเรือนรายหนึ่งเสียชีวิตและมีคนบาดเจ็บอีก 9 ราย


เรียบเรียงจาก
First US military action under Biden draws criticism, Aljazeera, 26-02-2021
Iraqi armed group vows more attacks on ‘American occupation’, Aljazeera, 15-02-2021

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net