Skip to main content
sharethis

สภาล่างของสหรัฐฯ ผ่านร่างกฎหมายการปฏิรูปตำรวจ โดยใช้ชื่อของ 'จอร์จ ฟลอยด์' มาเป็นชื่อกฎหมาย ซึ่งฟลอยด์คือคนดำที่เผชิญกับความรุนแรงของตำรวจจนเสียชีวิตในปี 2563 จนจุดชนวนให้เกิดการประท้วง Black Live Matter ครั้งใหญ่เพื่อต่อต้านความอยุติธรรมทางเชื้อชาติและสีผิวรวมถึงเกิดกระแสการเรียกร้องปฏิรูปตำรวจ

สภาล่างสหรัฐฯ ผ่านร่างกฎหมายปฏิรูปตำรวจ ตั้งชื่อตาม 'จอร์จ ฟลอยด์' หนึ่งในเหยื่อความรุนแรง
ที่มาภาพประกอบ: Chad Davis (CC BY-SA 2.0)

เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2564 สภาผู้แทนฯ สหรัฐฯ มีมติ 220 ต่อ 212 เสียงให้มีการผ่านร่างกฎหมายปฏิรูปตำรวจที่เรียกว่า George Floyd Justice in Policing Act หรือ "บัญญัติความยุติธรรมแก่จอร์จ ฟลอยด์ ให้ด้านปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ" โดยที่ในกฎหมายใหม่นี้จะระบุห้ามไม่ให้ตำรวจใช้วิธีการควบคุมตัวด้วยการล็อกคอแบบที่เรียกว่า "chokeholds" ซึ่งเป็นกรณีที่ทำให้ฟลอยด์เสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ นอกจากนี้ยังเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของการถูกละเว้นโทษสำหรับตำรวจเพื่อทำให้ประชาชนแจ้งการปฏิบัติหน้าที่มิชอบของตำรวจได้ง่ายขึ้น

มีการตั้งข้อสังเกตว่าการโหวตลงมตินี้ส่วนใหญ่โหวตตามแนวทางของพรรคการเมืองสองพรรคใหญ่ของสหรัฐฯ ร่างกฎหมายปฏิรูปตำรวจชุดนี้ยังมีการห้ามหมายค้นแบบจู่โจม (No-knock warrants) ในบางพื้นที่ กำหนดให้มีการเก็บข้อมูลการเผชิญหน้ากับตำรวจ ห้ามไม่ให้มีการสั่งหยุดตรวจประชาชนโดยอาศัยเชื้อชาติสีผิวและศาสนาเป็นตัวชี้วัด นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีการแปรงบประมาณบางส่วนไปให้กับโครงการดูแลจัดการความปลอดภัยโดยเน้นชุมชน

ส.ส. พรรคเดโมแครตจากรัฐแคลิฟอร์เนีย คาเรน แบส แถลงว่า ไม่ควรจะมีบุคคลที่ปราศจากอาวุธต้องถูกสังหารหรือถูกกระทำทารุณจากบุคคลที่ควรจะทำหน้าที่รับใช้และคุ้มครองพวกเขาอีก โลกนี้ไม่ควรจะต้องเห็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับจอร์จ ฟลอยด์ บนถนนของรัฐมินนิโซตาอีก

เหตุการณ์ของฟลอยด์เกิดขึ้นเมื่อเดือน พ.ค. 2563 ในตอนที่เขาถูกจับกุมหลังจากที่ร้านค้ากล่าวหาว่าเขาใช้ธนบัตรปลอม มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งใช้วิธีการควบคุมตัวฟลอยด์ด้วยการเอาเข่ากดทับลำคอเขาไว้เป็นเวลานาน 8 นาที 46 วินาที จนเป็นเหตุให้เขาเสียชีวิตซึ่งผลการชันสูตรศพในเวลาต่อมาระบุว่าเขาเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ  การเสียชีวิตของฟลอยด์จุดชนวนให้เกิดการประท้วงต่อต้านการเลือกปฏิบัติต่อคนดำและต่อต้านการใช้ความรุนแรงของตำรวจไปทั่วสหรัฐฯ ในปี 2563

ช่วงอภิปรายในสภาก่อนการโหวตร่างกฎหมายใหม่นี้ อิลฮาน โอมาร์ ส.ส. เดโมแครตจากมินนิโซตากล่าวว่ารัฐมินนิโซตายังคงเจ็บปวดจากการสูญเสียฟลอยด์ "หลายครั้งหลายหนแล้วที่พวกเขาต้องได้พบเห็นการที่คนซึ่งให้สัตย์จะปกป้องคุ้มครองชุมชนของพวกเขา ลุแก่อำนาจของตัวเอง"

ก่อนหน้านี้ในปี 2563 เคยมีการผ่านร่างกฎหมายในสภาล่างของสหรัฐฯ ที่มีเนื้อหาคล้ายๆ กันแต่ไม่ผ่านการอนุมัติจากรัฐที่มีพรรครีพับลิกันคอยคุมอยู่ สำหรับในครั้งนี้ ส.ว. ของเดโมแครตจะต้องดึงเอาพรรครีพับลิกัน 10 คนเข้ามาสนับสนุนกฎหมายนี้ให้ได้ถึงจะสามารถผ่านร่างในระดับวุฒิสภา

ฝ่าย ส.ส. พรรครีพับลิกันกล่าวหาว่ากฎหมายใหม่นี้มีความเกินเลยและจะสกัดกั้นไม่ให้ตำรวจทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาประธานาธิบดี โจ ไบเดน ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้สภาล่างโหวตสนับสนุนร่างกฎหมายใหม่นี้ โดยระบุว่าการจะทำให้ชุมชนมีความปลอดภัยได้นั้น จะต้องเริ่มจากการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างผู้บังคับใช้กฎหมายและประชาชนที่เจ้าหน้าที่เหล่านี้ให้สัตย์จะรับใช้และปกป้อง พวกเขาไม่สามารถสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้เกิดขึ้นได้ถ้าหากไม่มีการทำให้ตำรวจต้องรับผิดชอบกับการลุแก่อำนาจของตัวเองและการแก้ไขปัญหาการประพฤติมิชอบอย่างเป็นระบบ รวมถึงการเหยียดเชื้อชาติสีผิวที่มีอยู่ในกรมตำรวจ

การดำเนินคดีกับเดเรก เชาวิน อดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ถูกดำเนินคดีข้อหาสังหารฟลอยด์ด้วยการใช้หัวเข่ากดล็อกคอจะมีขึ้นในวันที่ 8 มี.ค. นี้ ซึ่งมีโอกาสที่เขาจะต้องโทษการฆาตกรรมโดยไม่ได้ไตร่ตรองไว้ก่อน มีการตั้งแผงกั้นและการรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนารอบศาลก่อนหน้าที่จะมีการพิจารณาคดีนี้ รวมถึงจะมีการวางกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิหลายพันนายที่ช่วงที่จะมีการพิจารณาคดีที่จะถึงนี้ เจ้าหน้าที่รายอื่นๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจับกุมฟลอยด์จะถูกพิจารณาคดีแยกออกไปต่างหากในเดือน ส.ค. ที่จะถึงนี้


เรียบเรียงจาก
House Approves Police Reform Bill Named After George Floyd, NPR, 03-03-2021

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/George_Floyd

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net