Skip to main content
sharethis

คะแนนเสรีภาพของไทยลดลงจากปีที่แล้ว ถอยกลับไปอยู่ในกลุ่ม ‘ไร้เสรีภาพ’ เช่นเดียวกับช่วงรัฐประหาร โดยฟรีดอมเฮาส์ องค์กรผู้จัดอันดับเผยว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 ลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของพลเมือง รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายของภาครัฐที่สร้างความไม่เป็นธรรมให้แก่ประชาชนไปจนถึงพรรคการเมือง

6 มี.ค. 2564 ฟรีดอมเฮาส์ องค์กรนอกภาครัฐที่ไม่แสวงหากำไรจากสหรัฐอเมริกาลดระดับสถานะทางเสรีภาพของไทย จาก ‘มีเสรีภาพบางส่วน’ เป็น ‘ไม่มีเสรีภาพ’ สืบเนื่องจากการยุบพรรคอนาคตใหม่ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านที่ได้รับคะแนนเสียงอันดับต้นๆ ในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.2562 รวมถึงการปราบปรามประชาชนที่ออกมาเรียกร้องการปฏิรูปประชาธิปไตยด้วยความรุนแรงของรัฐบาลที่มีทหารเป็นผู้นำ

ฟรีดอมเฮาส์ระบุว่าประเทศไทยเปลี่ยนเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเพียงครึ่งหนึ่งใน พ.ศ.2562 หลังจากที่อยู่ภายใต้การปกครองระบอบเผด็จการทหารมานานถึง 5 ปี แต่ใน พ.ศ.2563 ประชาธิปไตยที่เสื่อมโทรมและความไม่พอใจที่มีต่อสถาบันกษัตริย์จุดชนวนให้เกิดการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 1 ทศวรรษ แม้จะมีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยแต่วิธีการใช้อำนาจต่างๆ ของภาครัฐนั้นดูคล้ายกลับสมัยเผด็จการ เช่น จับกมุประชาชนโดยไม่สนหลักกฎหมาย ตั้งข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข่มขู่คุกคามนักกิจกรรม นอกจากนี้ สื่อยังถูกจำกัดเสรีภาพ ในขณะที่กลุ่มผู้ต่อต้านนักกิจกรรมกลับได้รับยกเว้นโทษ ส่งผลให้คะแนนเสรีภาพของไทย อยู่ที่ 30 เต็ม 100 จัดอยู่ในระดับ ‘ไม่มีเสรีภาพ’ โดยปีที่แล้วไทยได้คะแนน 32 จาก 100 และอยู่ในระดับ ‘มีเสรีภาพบางส่วน’

ฟรีดอมเฮาส์ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งดำเนินการวิจัยและสนับสนุนประชาธิปไตยเสรีภาพทางการเมืองและสิทธิมนุษยชน ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2484 มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

ฟรีดอมเฮาส์แบ่งเกณฑ์การให้คะแนนออกเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่ สิทธิทางการเมือง และเสรีภาพของพลเมือง ซึ่งไทยได้คะแนน 5 เต็ม 40 และ 25 เต็ม 60 ตามลำดับ โดยแบ่งหัวข้อย่อยในการประเมินตามตารางดังต่อไปนี้

สิทธิทางการเมือง

คะแนน (เต็ม 4)

กระบวนการการเลือกตั้ง

ผู้นำรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งที่สุจริตและยุติธรรม

0

ผู้แทนในสภามาจากการเลือกตั้งที่สุจริตและยุติธรรม

1

กฎและกติการการเลือกตั้งมีความยุติธรรม และถูกกำหนดขึ้นอย่างเป็นกลางโดยคณะผู้จัดการเลือกตั้ง

0

ความหลากหลายและการมีส่วนร่วมทางการเมือง

ประชาชนมีสิทธิจัดตั้งพรรคการเมืองที่แตกต่างหลากหลายหรือมีกลุ่มการเมืองที่มีศักยภาพทางการแข่งขันตามทางเลือกของตน และระบบมีความเป็นอิสระจากข้อกำหนดต่างๆ เพื่อให้เกิดการขึ้นลงของจังหวะแข่งขันทางการเมือง

1

โอกาสที่พรรคฝ่ายค้านจะได้รับเสียงสนับสนุนเพิ่มหรือมีอำนาจเพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้ง

0

ตัวเลือกทางการเมืองของประชาชนปราศจากการครอบงำของอำนาจภายนอกขอบเขตการเมือง หรืออำนาจทางการเมืองที่ใช้วิธิการเหนือการเมือง

0

 

ประชาชนทุกภาคส่วนมีสิทธิทางการเมืองเต็มรูปแบบและมีโอกาสในการเลือกตั้ง (พิจารณารวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ เชื้อชาติ ศาสนา เพศ และอื่นๆ)

1

ประสิทธิภาพของรัฐบาล

ผู้นำรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างสุจริตและสภาผู้แสนราษฎรเป็นผู้กำหนดนโยบายของรัฐบาล

0

มาตรการป้องกันการทุจริตของภาครัฐ

1

การเปิดกว้างและความโปร่งใสของรัฐบาล

1

ฟรีดอมเฮาส์พิจารณาให้คะแนนสิทธิทางการเมืองโดยอ้างอิงจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่เขียนโดยคณะรัฐประหาร ว่าจำกัดสิทธิทางการเมืองพลเมือง ตั้งแต่ระดับปัจเจก กลุ่มการเมือง พรรคการเมือง และรัฐสภา ทั้งยังให้อำนาจแก่องค์กรหรือหน่วยงานที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง และ ส.ว. จำนวน 250 คน ที่ถูกแต่งตั้งโดย คสช. นอกจากกฎเกณฑ์ต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ ฟรีดอมเฮาส์ยังประเมินการให้คะแนนจากสถานการณ์การเมืองของไทย ที่มีการใช้อำนาจโดยมิชอบเพื่อกำจัดพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามทหาร ดังเช่นกรณียุบพรรคอนาคตใหม่และพรรคไทยรักษาชาติ รวมถึงการคำนวณที่นั่ง ส.ส. ซึ่งเอื้อให้พรรคพลังประชารัฐสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ทั้งๆ พรรคฝ่ายค้านมีจำนวน ส.ส. รวมกันเกือบเกินครึ่งของที่นั่ง ส.ส. ทั้งหมด นอกจากนี้ การบังคับใช้กฎหมายและท่าทีของรัฐบาลที่มีต่อการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยนำโดยกลุ่มเยาวชนก็เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อคะแนนด้านสิทธิทางการเมืองในภาพรวมของไทย

เสรีภาพของพลเมือง

คะแนน (เต็ม 4)

เสรีภาพในการแสดงออกและความเชื่อ

องค์กรสื่อที่เป็นอิสระและมีเสรีภาพ

1

ปัจเจกสามารถแสดงออกทางความเชื่อและศาสนาได้อย่างเสรีในพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนตัว

3

เสรีภาพด้านวิชาการและระบบการศึกษาที่ไร้การปลูกฝังแนวคิดทางการเมืองอันยาวนาน

1

ปัจเจกมีเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองและประเด็นอ่อนไหวอื่นๆ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกจับจ้องหรือจะมีผลตามมา

1

สิทธิในการรวมกลุ่มเพื่อดำเนินกิจกรรม

เสรีภาพในการรวมกลุ่ม

1

เสรีภาพขององค์กรนอกภาครัฐ โดยเฉพาะองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและด้านนโยบายการปกครอง

1

เสรีภาพในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน

2

หลักนิติรัฐ

ความเป็นอิสระของศาล

1

กระบวนการที่เหมาะสมของกฎหมายในประเด็นพลเมืองและอาชญากรรม

1

การป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ใช้กำลังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และเสรีภาพที่ปราศจากสงครามและการจลาจล

1

กฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่รับรองความเท่าเทียมให้ประชาชนทุกภาคส่วน

2

การเป็นตัวของตัวเองและสิทธิส่วนบุคคล

ปัจเจกมีสิทธิและเสรีภาพในการเคลื่อนย้าย ซึ่งรวมถึงการย้ายที่อยู่ การประกอบอาชีพ และการศึกษา

3

ปัจเจกสามารถใช้สิทธิในการครอบครองทรัพย์สินหรือสร้างธุรกิจส่วนตัวได้โดยไม่มีการแทรกแซงจากรัฐหรือบุคคลอื่นนอกภาครัฐ

2

ปัจเจกมีอิสระภาพทางสังคม ซึ่งรวมถึงทางเลือกในการสมรส ขนาดครอบครัว การป้องกันความรุนแรงในครอบครัว และการควบคุมภาพลักษณ์

3

ปัจเจกมีความเท่าเทียมกันทางโอกาสและมีเสรีภาพในเศรษฐกิจที่ไร้ซึ่งการผูกขาด

2

ฟรีดอมเฮาส์พิจารณาเสรีภาพของพลเมืองโดยให้คะแนนด้านเสรีภาพในการแสดงออกของระดับปัจเจกบุคคลไปจนถึงระดับองค์กร โดยเริ่มตั้งแต่เสรีภาพในการพูดของสื่อมวลชนที่ถูกกดทับมาตั้งแต่ยุค คสช. อีกทั้งสื่อมวลชนมีสิทธิถูกแจ้งความเอาผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และมีโทษหนักเป็นคดีอาญา ซึ่งมีสื่อมวลชนโดนแจ้งความเอาผิดตามกฎหมายนี้แล้วหลายสำนัก นอกจากนี้ ฟรีดอมเฮาส์ยังกล่าวถึงประเด็นที่ทวิตเตอร์สั่งปิดบัญชีผู้ใช้งานกว่า 900 บัญชีซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับกองทัพไทย โดยทวิตเตอร์ระบุว่าบัญชีเหล่านี้สร้างขึ้นเพื่อโจมตีนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามและเป็นกระบอกเสียงให้กองทัพกับรัฐบาล

แม้ว่าไทยจะได้คะแนนด้านเสรีภาพในการแสดงออกทางความเชื่อที่สูง แต่ด้านเสรีภาพทางวิชาการและการศึกษากลับได้คะแนนต่ำ ฟรีดอมเฮาส์ระบุว่าไทยยังติดอยู่ในกรอบของการโฆษณาชวนเชื่อ และการพูดถึงประเด็นอ่อนไหวแม้กระทั่งในวงวิชาการยังถือเป็นเรื่องต้องห้าม หากผู้ใดฝ่าฝืนจะต้องเจอการคุกคามจากรัฐ ซึ่งหนักถึงขั้นต้องลี้ภัย ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วสมัยรัฐประหารปี 2557 ซึ่งส่งผลต่อเสรีภาพด้านกระบวนการยุติธรรมของไทยที่ฟรีดอมเฮาส์ระบุว่าอยู่ในขั้นน่าเป็นห่วง เพราะได้รับอิทธิพลจากฝ่ายการเมืองจนแทบแยกไม่ได้

ด้านเสรีภาพด้านเศรษฐกิจของไทยทั้งในระดับปัจเจกและองค์กรอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง เพราะกฎหมายไทยเปิดกว้างให้คนมีสิทธิเลือกในการใช้ชีวิตและการประกอบอาชีพ แต่กฎหมายเหล่านี้ล้วนมีช่องโหว่ซึ่งทำให้เกิดปัญหาตามมา เช่น ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว การค้ามนุษย์ หรือกฎหมายธุรกิจที่เอื้อนายทุนรายใหญ่มากกว่าผู้ประกอบธุรกิจรายย่อย เป็นต้น

อันดับเสรีภาพไทยในเวทีโลก

คะแนนรวมเสรีภาพของไทยอยู่ในอันดับเดียวกับประเทศนิการากัว แต่คะแนนด้านสิทธิทางการเมืองของนิการากัวอยู่ที่ 10 คะแนนซึ่งสูงกว่าไทย ในขณะที่คะแนนด้านเสรีภาพพลเมืองของนิการากัวน้อยกว่าไทย 5 คะแนน ด้านดินแดนที่ได้คะแนนรวมเสรีภาพน้อยที่สุด คือ ทิเบต และซีเรีย โดยได้คะแนนรวม -1 คะแนน ส่วนดินแดนที่ได้คะแนนรวมเสรีภาพสูงสุดเต็ม 100 คะแนน คือ สวีเดน นอร์เวย์ และฟินแลนด์

ส่วน 10 ชาติอาเซียน อินโดนีเซียได้คะแนนเสรีภาพสูงสุดที่ 59 คะแนน ตามด้วยฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ ซึ่ง 4 ประเทศนี้จัดอยู่ในกลุ่มมีเสรีภาพบางส่วน ในขณะที่ไทย พม่า บรูไน กัมพูชา เวียดนาม และลาว จัดอยู่ในกลุ่มไม่มีเสรีภาพ

เหตุการสำคัญในปี 2563 ที่ส่งผลต่อคะแนนเสรีภาพของไทย

  • ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดประเทศอังกฤษระบุว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยโควิด-19 ต่ำกว่า 7,500 คน และมีผู้เสียชีวิต 63 ราย จึงถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดรุนแรงน้อยที่สุด ในเดือน มี.ค. รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและบังคับใช้อย่างเข้มงวด รวมถึงต่ออายุกฎหมายพิเศษดังกล่าวออกไปหลายครั้ง จนเกิดคำถามตามมาว่าการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นไปเพื่อการควบคุมโรคและจัดการเศรษฐกิจหรือเพื่อขยายอำนาจให้แก่รัฐบาล
  • เดือน ก.พ. ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคพรรคอนาคตใหม่ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง โดยระบุว่าเงินที่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค ปล่อยกู้แก่กรรมการบริหารพรรคเพื่อใช้ในกิจการพรรคการเมือง เป็นเงินบริจาคและขัดต่อกฎหมาย ซึ่งการยุบพรรคอนาคตใหม่ทำให้ ส.ส.หลายคนพ้นสภาพการเป็นสมาชิกรัฐสภา ส่วนกลุ่มผู้นำพรรคถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี
  • การประท้วงใหญ่ของเยาวชนเกิดขึ้นหลายครั้ง โดยเริ่มต้นในเดือน ก.พ. ปีที่แล้ว แต่ต้องชะงักลงเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 ก่อนจะกลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้งในเดือน ก.ค. ทันทีที่ยุติคำสั่งล็อกดาวน์ ประชาชนนับแสนคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชน เข้าร่วมการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลอย่างพร้อมเพรียงทั่วประเทศ เพื่อเรียกร้องให้หยุดคุกคามนักกิจกรรม ยุบสภา แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
  • เดือน ต.ค. รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน “ร้ายแรง” โดยห้ามประชาชนรวมตัวกันเกิน 5 คน จากนั้นจึงเริ่มดำเนินคดีกับผู้นำจัดกิจกรรม ต่อมาในเดือน พ.ย. เริ่มมีการนำประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์มาแจ้งความจับนักกิจกรรม ซึ่งทำให้กลุ่มนักสิทธิมนุษยชนออกมาเคลื่อนไหวแสดงความกังวลต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ที่มา:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net