Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผมคิดว่าเราควรวิจารณ์พุทธศาสนาได้ทั้งในแง่คำสอน และเรื่องเล่าในคัมภีร์ โดยเฉพาะปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับรัฐที่ขัดหลักเสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความยุติธรรม ประชาธิปไตย และหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งผมเองก็วิจารณ์พุทธศาสนาไว้มาก จนบางคนมองว่าผมทำตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อพุทธศาสนาไปแล้วหรืออย่างไร 

บทความนี้ผมต้องการพูดถึงความคิดแบบพุทธในแง่มุมที่ “ละมุน” หน่อย ความคิดแบบพุทธที่ว่านี้ผมเรียกว่า “พุทธปรัชญา” ซึ่งต่างจาก “พุทธศาสนา” เหมือนที่เรามองความคิดแบบคริสต์ในเชิงปรัชญาที่มีนัยสำคัญต่างจากคริสต์ในฐานะศาสนา

คริสต์แบบที่เป็นศาสนาของชาวยุโรป คือศาสนาที่มีความคิดพื้นฐานและบทบาทแบบที่ John Hirst เขียนไว้ใน “The Shortest History of Europe” (วริศา กิตติคุณเสรี แปลไทย) ว่าเป็นศาสนาที่ปะทะกับวัฒนธรรมทางปัญญาของยุโรป 

กล่าวคือ ยุโรปมีวัฒนธรรมทางปัญญาแบบกรีกและโรมันเป็นรากฐานมาก่อน ความคิดพื้นฐานแบบกรีกและโรมันมองว่า “โลกนี้เรียบง่าย เป็นไปตามตรรกะ และหลักคณิตศาสตร์” แต่ความคิดพื้นฐานแบบคริสต์มองว่า “โลกนี้ชั่วร้าย มีแต่พระคริสต์เท่านั้นที่จะกอบกู้ได้” นี่คือความย้อนแย้ง

แต่ความย้อนแย้งเช่นนั้นกลับอยู่ร่วมกันได้อย่างประหลาด เพราะการเกิดขึ้นของยุคกลางทำให้จักรวรรดิโรมันกลายเป็นคริสต์ ขณะที่ศาสนาคริสต์กลายเป็นแบบโรมันโดยมี “ศาสนจักรโรมัน” เป็นศูนย์กลางอำนาจที่สงวนรักษาวิทยาการแบบกรีกและโรมัน และยังมีชนนักรบเยอรมันที่กลายเป็นคริสตชน 

ธรรมชาติของนักรบนั้นมองว่า “การต่อสู้เป็นเรื่องบันเทิงใจ” ขณะที่คริสต์ศาสนาสอนเรื่อง “การให้อภัยแก่ศัตรู” แต่ชนนักรบเยอรมันกลับเป็นคริสตชนที่สนับสนุนศาสนจักร ซึ่งสงวนรักษาวิทยาการกรีกและโรมัน นี่ก็อีกความย้อนแย้งที่ซับซ้อนมากขึ้น

ในความสัมพันธ์ทางความคิดและทางการเมืองที่ซับซ้อนเช่นนั้น ทำให้ในด้านหนึ่งคริสต์ศาสนากลายเป็นศาสนาที่กดขี่และรุนแรงต่อคนคิดต่าง หรือพวกนอกรีต แต่ในอีกด้านหนึ่ง การสนทนาถกเถียงระหว่างคริสต์กับปัญญาแบบกรีกและโรมัน และระหว่างชาวคริสต์ฝ่ายอนุรักษ์นิยมกับฝ่ายปฏิรูป ได้ให้กำเนิดความคิดพื้นฐานเรื่อง “เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” จนกลายเป็นประเด็นพื้นฐานในการถกเถียงที่นำมาสู่ “การปฏิรูปศาสนา” ช่วงปลายยุคกลาง และไอเดียพื้นฐานดังกล่าว ก็กลายเป็นประเด็นพื้นฐานในการถกเถียงเกี่ยวกับปรัชญาศีลธรรม และปรัชญาการเมืองในยุคสมัยใหม่ 

พูดอีกอย่างคือ ความคิดเชิงปรัชญาแบบคริสต์ เช่น “พระเจ้าสร้างมนุษย์ให้มีเจตจำนงเสรี” หรือ “เราทุกคนเสมอภาคกันในสายตาของพระเจ้า” และ “มนุษย์ถูกสร้างขึ้นในฐานะเป็นจินตภาพหรือฉายาของพระเจ้า” กลายเป็นประเด็นพื้นฐานของการถกเถียงทางปรัชญาเกี่ยวกับปัญหาเสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในประเพณีปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่ ทำให้ปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่มีทั้งด้านที่แชร์ไอเดียกับคริสต์ มีทั้งด้านที่ปฏิเสธคริสต์ และหลุดพ้นไปจากคริสต์ แต่ในด้านกลับกันปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่ก็ช่วยปลดปล่อยคริสต์ศาสนาจากอำนาจศาสนจักรและระบบกษัตริย์แบบยุคกลาง ด้วยการเสนอแนวคิดโลกวิสัย (secularism) การแยกศาสนาจากรัฐ หรือการทำให้เป็นโลกวิสัยทางสังคมและการเมือง

พุทธศาสนาแบบไทยก็เต็มไปด้วย “ความย้อนแย้ง” เช่นกัน เพราะขณะที่อ้างคำสอนใน “อัคคัญญสูตร” ว่าพุทธะปฏิเสธระบบวรรณะแบบศาสนาพราหมณ์ และเสนอว่าทุกคนไม่ว่าชาติกำเนิดเป็นเช่นไร ย่อมมีสิทธิเลือกการมีชีวิตที่ดีของตนเองได้ โดยเกณฑ์ตัดสินการมีชีวิตที่ดีคือ “การกระทำ” ของแต่ละคน ไม่ใช่ชาติกำเนิดหรือพรหมลิขิต แต่พุทธแบบไทยก็สนับสนุน “ระบบศักดินาไทย” ที่มีกษัตริย์เป็นธรรราชา สมมติเทพ พระโพธิสัตว์ หรือพระพุทธเจ้าอยู่หัวมายาวนาน โดยพระสงฆ์เองก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็น “พระราชาคณะ” ที่มีสมณศักดิ์ฐานันดร หรือ “ศักดินาพระ” มาตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนกระทั่งปัจจุบัน

แล้วอะไรคือพุทธปรัชญาที่ให้ความคิดพื้นฐานเกี่ยวกับ “เสรีภาพ” ผมคิดว่าความคิดพื้นฐานที่เป็นแกน (core) ของพุทธปรัชญาคือ “เสรีภาพ” (liberty) ในไตรปิฎกคือ “เสรีภาพภายใน” หรือ “วิมุติ” ซึ่งพุทธะถือว่าเสรีภาพภายในเป็น “สิ่งมีค่าในตัวมันเอง” เราไม่ได้ต้องการเสรีภาพภายในเพื่อเป็น “วิถี” (means) ไปสู่เป้าหมายอื่น เพราะเสรีภาพภายในคือวิถีและเป้าหมายในตัวมันเอง 

เสรีภาพภายใน หมายถึง อิสรภาพทางจิตจากกิเลสและความทุกข์ ในความหมายแบบยืดหยุ่น ไม่ได้แปลว่าเราไม่มีกิเลสและความทุกข์ ที่จริงกิเลสและทุกข์สุขเกิดขึ้นในใจคนเราเสมอ แต่การมีเสรีภาพภายใน คือการที่เราสามารถใช้ปัญญานำทางการตัดสินใจ แทนที่จะถูกกิเลสและความทุกข์นำทางการตัดสินใจ ในความหมายเชิงอุดมคติพุทธปรัชญาเชื่อว่า ถ้าเราฝึกฝนพัฒนาปัญญาได้ดีพอ เราอาจดำรงชีวิตด้วยปัญญาที่ทำให้เรามีอิสรภาพจากพันธนาการของกิเลสและความทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิง

แต่พุทธปรัชญาก็มองว่า “เสรีภาพภายนอก” หรือการมีอิสรภาพจากการถูกครอบงำบังคับจากบุคคลอื่น ศาสนา ประเพณี หรืออำนาจเผด็จการรูปแบบใดๆ จำเป็นต่อการมีเสรีภาพภายในด้วย 

ตัวอย่างเช่น สิทธัตถะจำเป็นต้องมีเสรีภาพจากอำนาจครอบงำบังคับของพ่อ ครูอาจารย์ และลัทธิความเชื่อต่างๆ จึงทำให้เขามีอิสรภาพกำหนดเจตจำนงของตนเอง (autonomy) ในการแสวงหา “ทางของตนเอง” จนพบ “ความจริง” ที่ทำให้เป็น “พุทธะ” ได้ในที่สุด 

ดังนั้น การมีเสรีภาพภายนอกจึงเป็นเงื่อนไขของการมีเสรีภาพภายในที่เป็นเรื่องของการสร้างทางของตนเองให้กลายเป็นจริง

พูดอีกอย่างคือ การมีเสรีภาพภายนอก หรือเสรีภาพจากการถูกครอบงำบังคับจากคนอื่น ศาสนา ความเชื่อ ประเพณี หรืออำนาจเผด็จการแบบใดๆ ทำให้เราเลือก “ทางของตนเอง” ได้ และการเลือกทางของตนเองได้ ย่อมเท่ากับเราไม่ได้เป็นเพียง “object” หรือวัตถุที่ถูกกระทำ แต่เป็น “subject” หรือเป็นผู้กระทำ ผู้ริเริ่มสร้างทางของตนเองจึงเอื้อให้เรามีเสรีภาพภายในได้จริง

เรายังเห็นตัวอย่างความเชื่อมโยงระหว่าง “เสรีภาพภายนอก” กับ “เสรีภาพภายใน” ผ่านการตีความของเฮอร์มาน เฮสเส ในนวนิยายเรื่อง “สิทธารถะ” เมื่อสิทธารถะได้พบปะสนทนากับพุทธะจนเข้าใจชัดแจ้งว่า พุทธะแสวงหาเสรีภาพภายในได้อย่างไร เขาก็ปฏิเสธที่จะเป็นสาวกของพุทธะ และละทิ้งการเดินตามแนวทางของศาสนาใดๆ เพื่อใช้ชีวิตเรียนรู้โลกและสร้างทางของตนเอง นี่คือการยืนยันเสรีภาพภายนอกว่าจำเป็นต่อการสร้างทางของตนเอง เพื่อค้นพบเสรีภาพภายในจากประสบการณ์ตรงของตนเอง

จะเห็นได้ว่า เสรีภาพภายนอกและเสรีภาพภายในตามความหมายแบบพุทธปรัชญาดังกล่าว ย่อมไปกันได้กับคุณค่าแบบสมัยใหม่ เช่น หลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน 

แม้ว่าคำสอนและเรื่องเล่าในคัมภีร์พุทธศาสนาไม่ได้บรรยายเกี่ยวกับเสรีภาพภายนอกอย่างละเอียดแบบที่ปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่อธิบายไว้ แต่ความชัดเจนก็คือ สิทธัตถะเป็นพุทธะได้เพราะมีเสรีภาพภายนอก และใช้เสรีภาพภายนอกเลือกสร้างทางของตนเองจนทำให้มีเสรีภาพภายในได้จริง

แต่ปัญหาคือ พุทธศาสนาไทยทุกวันนี้เน้นโฆษณาชวนเชื่อว่า เสรีภาพภายในแบบพุทธเหนือกว่าเสรีภาพภายนอก (เสรีภาพปัจเจกบุคคลและเสรีภาพทางการเมือง) แบบตะวันตก ดังเห็นได้ในงานของปราชญ์พุทธหรือผู้รู้พุทธโดยทั่วไปที่เน้นเสรีภาพภายใน แต่มองข้าม หรือไม่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพภายนอกเท่าที่ควรจะเป็น 

ผลก็คือ การโฆษณาชวนเชื่อเสรีภาพภายในไปกันได้อย่างกลมกลืนกับระบบอำนาจนิยมของศาสนจักรพุทธราชาชาตินิยม และการเมืองเผด็จการอำนาจนิยมแบบไทย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net