Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เวลาเราพูดถึงเสรีภาพในความหมาย “เสรีภาพของพลเมือง” (civil liberty) ตามแนวคิดเสรีนิยม ย่อมหมายถึง “เสรีภาพที่ทุกคนต้องมี” เช่น ในสังคม ก. ถ้ามีคนเพียงหนึ่งคนที่คิดต่างจากคนทั้งหมด แล้วเขาถูกอำนาจรัฐหรือจารีตทางสังคมปิดปากไม่ให้พูดหรือเสนอความคิด ย่อมเท่ากับสังคม ก. เป็นสังคมที่ไม่มีเสรีภาพ 

บางคนอาจจะบอกว่า เมื่อคนส่วนใหญ่ที่มีความคิดเห็นสอดคล้องกันมีเสรีภาพในการพูดอยู่แล้ว แค่คนเดียวที่คิดต่างจากคนทั้งหมดไม่มีเสรีภาพในการพูด จะเท่ากับสังคม ก. ไม่มีเสรีภาพในการพูดได้อย่างไร และมันจะเสียหายอะไรหรือ ก็แค่คนคนเดียวเท่านั้นที่ไม่มีเสรีภาพในการพูดสิ่งที่เขาคิดต่างจากคนทั้งหมด 

แต่เสรีภาพตามแนวคิดเสรีนิยมคือ “เสรีภาพที่เท่าเทียม” (equal liberty) หมายถึง ทุกคนต้องมีเสรีภาพแบบเดียวกันเท่าเทียมกัน เช่น กรณีตัวอย่างคือ “เสรีภาพในการพูด” ถ้าสังคม ก. เป็นสังคมที่มีเสรีภาพในการพูด ทุกคนต้องมีเสรีภาพในการพูดเท่าเทียมกัน จะห้ามคนที่คิดต่างเพียงคนเดียวไม่ให้มีเสรีภาพในการพูดเท่าเทียมกับคนทั้งหมดไม่ได้ 

ในขณะเดียวกัน เราต้องมีเสรีภาพที่เท่าเทียมในเรื่องต่างๆ เหมือนกันด้วย เช่น ถ้าเรามีเสรีภาพตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ความคิด ความเชื่อ หรือความรู้ใดๆ ที่ไม่ใช่ศาสนา เช่น ความเชื่อแบบโลกวิสัย (secular beliefs) ความคิด หรืออุดมการณ์ทางการเมืองต่างๆ แนวคิดปรัชญาต่างๆ คุณค่าทางศีลธรรม วัฒนธรรมต่างๆ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และศาสตร์ต่างๆ เราก็ต้องมีเสรีภาพแบบเดียวกันนี้ในการกระทำต่อศาสนาต่างๆ ด้วย 

เชนเดียวกัน ถ้าเรามีเสรีภาพในการตั้งคำถาม วิจารณ์ตรวจสอบนักการเมือง ข้าราชการ หรือบุคคลในสถานะตำแหน่งใดๆ ที่ใช้อำนาจทางกฎหมายและภาษีของประชาชน หรือบุคคลสาธารณะอื่นๆ ที่มีบทบาทหรือการกระทำที่กระทบต่อประโยชน์สาธารณะ เราก็ต้องมีเสรีภาพแบบเดียวกันนี้ในการตั้งคำถาม วิจารณ์ตรวจสอบสถาบันกษัตริย์ และศาสนจักรด้วย พูดอีกอย่างคือ จะต้องไม่มีอำนาจสาธารณะใดๆ หรือการกระทำที่กระทบต่อสาธารณะใดๆ อยู่เหนือเสรีภาพในการตั้งคำถาม วิจารณ์ตรวจสอบ ถ้าสังคมใดมีแม้เพียงหนึ่งอำนาจ (เช่นสถาบันกษัตริย์) อยู่เหนือหลักเสรีภาพดังกล่าว ก็เท่ากับสังคมนั้นไม่ใช่สังคมที่มีเสรีภาพ

การเป็นสังคมที่ไม่มีเสรีภาพจะก่อให้เกิดผลเสียตามมามากมาย เช่น ถ้าคนเพียงหนึ่งคนไม่มีเสรีภาพในการพูดแบบเดียวกับคนทั้งหมดในสังคม แต่เป็นไปได้ว่าคนหนึ่งคนนั้นอาจรู้ความจริง หรือมีความคิดที่ก้าวหน้ากว่า เป็นประโยชน์มากกว่า เมื่อเขาถูกปิดปากไม่ให้พูดความจริง หรือแสดงความคิดเห็นที่ก้าวหน้ากว่า เกิดประโยชน์มากกว่า สังคมก็ย่อมสูญเสียโอกาสที่จะรู้ความจริงและได้รับประโยชน์จากความคิดของเขาคนนั้น 

หรือถ้ามีบางอำนาจอยู่เหนือเสรีภาพในการตั้งคำถาม และวิจารณ์ตรวจสอบ สังคมก็ย่อมไม่สามารถประเมิน หรือตัดสินได้อย่างสมเหตุสมผลว่า อำนาจนั้นมีประโยชน์อะไรบ้าง และมีโทษอะไรบ้าง อำนาจนั้นผิดศีลธรรม หรือไม่ผิดศีลธรรม ผิดกฎหมาย หรือไม่ผิด อยุติธรรม หรือยุติธรรม ฯลฯ ล้วนแต่ไม่สามารถจะพิสูจน์ได้จริง หากไม่มีเสรีภาพในการตั้งคำถาม วิจารณ์ตรวจสอบ และประเมินตัดสินอย่างสมเหตุสมผล และเป็นวิทยาศาสตร์

เสรีภาพมีความหมายสองแบบหลักๆ อย่างแรกคือ “เสรีภาพจาก...” (liberty from…) หมายถึง เสรีภาพจากการถูกแทรกแซง กีดกัน ขัดขวางโดยคนอื่น สังคม หรือรัฐ เสรีภาพในความหมายนี้เรียกว่า “เสรีภาพเชิงลบ” (negative liberty) เพราะเป็นเสรีภาพที่ปฏิเสธการแทรกแซง กีดกัน ขัดขวางโดยคนอื่น สังคม หรือรัฐ นักปรัชญาเสรีนิยมคลาสสิกอย่างจอห์น ล็อก, จอห์น สจ๊วต มิลล์ จนถึงอเล็กซิส เดอ ต็อกเกอวิลล์ล้วนยืนยันเสรีภาพในความหมายนี้ว่าเป็นเสรีภาพที่ทุกคนต้องมี

เสรีภาพเชิงลบเน้นการกำหนด “พื้นที่” ชัดเจนลงไปว่า พื้นที่แบบไหนคือ “พื้นที่ของชีวิตส่วนตัว” และพื้นที่แบบไหนคือ “พื้นที่สาธารณะ” และกำหนด “ขอบเขต” เอาไว้ว่าในพื้นที่การใช้ชีวิตส่วนตัว เช่น รสนิยม ความคิด ความเชื่อ ศีลธรรม ศาสนา และกิจกรรมส่วนตัวใดๆ ซึ่งคนอื่น สังคม หรือรัฐจะเข้าไปก้าวก่าย แทรกแซง กีดกัน ขัดขวางไม่ได้ หากไม่ใช่การทำอันตรายต่อบุคคลอื่น 

ขณะเดียวกัน การแสดงออกในพื้นที่สาธารณะ เช่น การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง การตรวจสอบอำนาจสาธารณะใดๆ การชุมนุม และอื่นๆ จะถูกกีดกัน ขัดขวางไม่ได้ หากไม่เป็นการทำอันตรายต่อคนอื่น ต่อทรัพย์สินสาธารณะ หรือ “ไม่ละเมิดกฎหมาย” แต่ก็ต้องเป็นกฎหมายที่มีเนื้อหาและเจตนารมณ์มุ่งคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของพลเมือง และประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก ไม่ใช่กฎหมายที่ออกตามอำเภอใจของเผด็จการที่มุ่งปิดกั้น หรือลดทอนสิทธิและเสรีภาพของพลเมือง  

อีกความหมายหนึ่งคือ “เสรีภาพเชิงบวก” (positive liberty) หมายถึง “เสรีภาพที่จะกระทำตามเหตุผลและเจตจำนงแห่งตน” (liberty to…) เมื่อปัจเจกบุคคลใช้เหตุผลพิจารณาเห็นว่าอะไรคือสิ่งที่เขาควรจะทำ เขาก็สามารถใช้อิสรภาพในการกำหนดเจตจำนงตนเองให้กระทำตามเหตุผลนั้นได้ หรือเรามีความคิด ความฝัน มีเป้าหมายที่ต้องการไปถึง เราก็ใช้เสรีภาพในการกำหนดตนเองไปสู่เป้าหมายนั้นได้ เสรีภาพเชิงบวกจึงบ่งถึงความสำคัญของเราในฐานะเป็น “ผู้กระทำ” (subject) ไม่ใช่เป็นเพียงวัตถุที่ “ถูกกระทำ” (object) หรือถูกใช้เป็นเครื่องมือ พูดอีกอย่างคือ เราคือผู้บงการตนเอง ไม่เพียงเป็นผู้ถูกบงการโดยคนอื่น สังคม ศาสนา จารีตประเพณี อำนาจรัฐ และอื่นๆ 

เสรีภาพเชิงลบเรามีได้จากการที่รัฐให้หลักประกันเสรีภาพขั้นพื้นฐานต่างๆ เช่น เสรีภาพในทางความคิดเห็น ศาสนา การพูด การแสดงออก และอื่นๆ ขณะที่เสรีภาพเชิงบวกคือการที่เราเป็นผู้ริเริ่มกระทำตามเหตุผลและเจตจำนงของตนเอง ซึ่งอาจจะเป็นการเริ่มกระทำตามเหตุผลและเจตจำนงเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัว หรือเรื่องสาธารณะก็ได้ 

ดังนั้น เมื่อรัฐให้หลักประกันเสรีภาพเชิงลบ หรือให้หลักประกันเสรีภาพขั้นพื้นฐานต่างๆ ก็ย่อมเป็นการเปิดพื้นที่ให้ปัจเจกบุคคลทั้งหลายได้ใช้เสรีภาพเชิงบวก เพื่อการมีชีวิตที่ดีส่วนตัว และการมีส่วนร่วมสร้างสรรค์ประโยชน์สาธารณะต่างๆ 

ในทางกลับกัน หากสังคมไม่มีเสรีภาพเชิงลบ ผลกระทบต่อเสรีภาพเชิงบวกอาจลึกซึ้งกว่าที่เราจะคาดคิด เช่น เพราะไม่มีเสรีภาพในการพูด การแสดงออก หรือเสรีภาพทางการเมือง ทำให้อานนท์ นำภาต้องติดคุกด้วยมาตรา 112 และกฎหมายอื่นๆ ที่ขัดหลักเสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพเชิงบวกของ “ลูกสาว” อานนท์ในวัยอนุบาลก็ถูกทำลายไปด้วย นั่นคือ เสรีภาพที่จะอยู่ในอ้อมกอดพ่อยาวนานกว่าช่วงที่พ่อมาศาล การได้เล่นหัว หยอกล้อ หรือใช้ชีวิตเติบโตไปกับความอบอุ่นพร้อมหน้าของทุกคนในครอบครัวได้ถูกขัดขวาง หรือถูกทำลายลงไปด้วย


(ที่มาภาพ https://www.facebook.com/photo?fbid=269082745376037&set=a.251612600456385)

ในความคิดทางปรัชญาสายคานท์ มองว่าการไม่มีเสรีภาพ หรือไม่มีอิสรภาพในการกำหนดตนเองให้กระทำตามเหตุผลและเจตจำนงแห่งตน คือการ “ไม่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” คานท์ยืนยันเสรีภาพเชิงลบ ด้วยการปฏิเสธ “ลัทธิพ่อปกครองลูก” (paternalism) ที่บังคับยัดเยียดความจงรักภักดี ความเชื่อทางศาสนา หรือแนวคิดปรัชญาใดๆ เกี่ยวกับสิ่งที่ดีหรือความหมายของการมีชีวิตที่ดีแบบใดแบบหนึ่งแก่ประชาชน ด้วยเหตุผลว่าลัทธิการปกครองเช่นนี้ใช้ “ความเป็นมนุษย์” ของประชาชนเป็น “เครื่องมือ” เพื่อเป้าหมายที่ชนชั้นปกครองกำหนดไว้ให้ล่วงหน้า ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อทางศาสนา ศีลธรรม ความดี หรือความจรงรักภักดีใดๆ ที่กำหนดให้ปัจเจกบุคคลทั้งหลายต้องเชื่อและทำตาม

ทั้งนี้เพราะแนวคิดปรัชญาสายคานท์ถือว่า มนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีในตัวเอง ต้องมีสิทธิและเสรีภาพเป็นของตัวเอง ปัจเจกบุคคลทั้งหลายคือผู้ปกครองตนเองได้ (self-government) ในทางศีลธรรมและการเมือง ดังนั้น รัฐจึงต้อง “เป็นกลาง” ทางศาสนา คุณค่าทางศีลธรรม หรือความเชื่อเกี่ยวกับความดีและการมีชีวิตที่ดีส่วนบุคคล 

รัฐที่เป็นกลางทางศาสนาหรือคุณค่าทางศีลธรรมส่วนบุคคล ก็คือรัฐที่ประกันเสรีภาพเชิงลบ โดยรัฐไม่บังคับยัดเยียดปลูกฝังความเชื่อทางศาสนา และความเชื่อที่ไม่ใช่ศาสนาเกี่ยวกับความดีหรือการมีชีวิตที่ดีส่วนบุคคลใดๆ แก่ประชาชน ปล่อยให้แต่ละคนเลือกเองอย่างเสรี เมื่อเป็นเช่นนี้แต่ละคนย่อมสามารถใช้เสรีภาพเชิงบวก หรือใช้ “อิสรภาพในการกำหนดตนเองทางศีลธรรม” (moral autonomy) ในการนิยามความหมายของความดี, การมีชีวิตที่ดีส่วนบุคคลตามเหตุผลของตนเองเพียวๆ หรือตามความเชื่อทางศาสนา และความเชื่อที่ไม่ใช่ศาสนา หรือปรัชญาใดๆ ก็ได้ ตราบที่เขาไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของคนอื่น 

ดังนั้น รัฐจึงบังคับยัดเยียดความเชื่อทางศาสนาหรือความเชื่อเกี่ยวกับความดี, การมีชีวิตที่ดี “ส่วนบุคคล” แก่ประชาชนไม่ได้ สถาปนาศาสนาประจำชาติไม่ได้ บังคับเรียนศาสนาในโรงเรียนของรัฐไม่ได้ มีศาลศาสนา หรือกฎหมายห้ามหมิ่นศาสนาไม่ได้ 

ทำไมรัฐที่เป็นกลางทางศาสนาจึงมี “กฎหมายห้ามหมิ่นศาสนา” ไม่ได้ ก็เพราะรัฐที่เป็นกลางถือว่าความเชื่อเกี่ยวกับ “ความดี” และ “ชีวิตที่ดี” ทางศาสนาและความเชื่อแบบไม่ใช่ศาสนาเป็น “ความเชื่อส่วนบุคคล” การมีกฎหมายห้ามหมิ่นศาสนาจึงขัดกับหลักความเป็นกลาง ผู้นำศาสนาและนักบวช หรือผู้ศรัทธาศาสนาต่างๆ วิพากษ์วิจารณ์หรือโจมตีความเชื่ออื่นๆ สารพัดว่างมงายไร้เหตุผล รัฐจะมีกฎหมายห้ามหมิ่นทุกความเชื่อเท่าเทียมกันย่อมเป็นไปไม่ได้ อีกอย่าง นิยามการ “หมิ่นศาสนา” ก็ตีความได้ครอบจักรวาล คนที่แสดงออกซึ่งความเชื่อที่ต่างจากหรือขัดแย้งกับความเชื่อของศาสนาเรา ก็อาจถูกตีความว่าหมิ่นศาสนาได้เสมอ หากมีกฎหมายห้ามหมิ่นศาสนา ย่อมละเมิดเสรีภาพทางความคิดเห็น เสรีภาพทางศาสนา และการแสดงออกซึ่งเป็น “คุณค่าแกนกลาง” ของสังคมประชาธิปไตยที่มีความคิด ความเชื่อที่แตกต่างและหลากหลาย 

ในกรณีของศาสนาจะผิดกฎหมาย ก็ต่อเมื่อเราใช้ “วาทะเกลียดชัง” (hate speech) โจมตีคุกคามชนกลุ่มน้อยทางศาสนาหรือปัจเจกบุคคลบางคน จนเป็นเหตุกดดันให้เขาไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติ เช่น ถูกใช้วาทะเกลียดชังกดดันจนต้องลาออกจากงาน หรือโรงเรียน เป็นต้น 

การวิจารณ์ความเชื่อทางศาสนา หรือศาสดาของศาสนาใดๆ ย่อมเป็นเสรีภาพจะทำได้และ “ควรทำ” เพราะความเชื่อทางศาสนา และบทบาทของศาสดาต่างๆ อาจมีผลกระทบทั้งด้านบวกและลบต่อสังคม โดยเฉพาะการอ้างอัตลักษณ์ทางศาสนาละเมิดเสรีภาพของปัจเจกบุคคล สิทธิสตรี สิทธิเท่าเทียมของคนหลากหลายทางเพศ การพยายามให้รัฐออกกฎหมายให้สิทธิพิเศษแก่บางศาสนา หรือการอ้างหลักคำสอน และคัมภีร์ศาสนาคัดค้านการออกกฎหมายรับรองการสมรสเท่าเทียมเป็นต้น สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องถูกตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์กันมากขึ้น เพราะรัฐสมัยใหม่ต้องแยกอำนาจทางการเมืองออกจากความเชื่อทางศาสนาใดๆ ไม่อุปถัมภ์ส่งเสริมศาสนาใดๆ และไม่ออกกฎหมายบนข้ออ้าง หรือหลักความเชื่อของศาสนาใดๆ โดยเฉพาะ 

แน่นอนว่า ในทางการเมือง รัฐจะบังคับยัดเยียดให้ประชาชนต้อง “จงรักภักดี” ต่อชนชั้นปกครองไม่ได้ เพราะประชาชนผู้มี “ความเป็นมนุษย์” ที่มีศักดิ์ศรีในตัวเองไม่ใช่ “เครื่องมือ” ที่จะถูกใช้สำหรับค้ำยันสถานะและอำนาจของชนชั้นใดๆ หากจะมีสิ่งที่เรียกว่า “ความจงรักภักดี” ก็มีเพียงความจงรักภักดีต่อ “ความเป็นมนุษย์ผู้มีศักดิ์ศรีในตัวเอง” ของเราทุกคนเท่าเทียมกันเท่านั้น ดังนั้น การมีกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเราทุกคน และทำให้เราไม่สามารถจะเป็น “พลเมืองเสรีและเสมอภาค” ได้ เพราะไม่มีเสรีภาพทางการเมืองในการวิจารณ์ตรวจสอบทุกอำนาจสาธารณะได้จริง

ดังนั้น สังคมที่มีกฎหมายหมิ่นศาสนา และมาตรา 112 ย่อมไม่ใช่สังคมที่มีเสรีภาพของปัจเจกบุคคล และเสรีภาพทางการเมืองได้จริง และไม่ใช่สังคมที่เป็นประชาธิปไตย การไม่มีเสรีภาพและไม่เป็นประชาธิปไตย คือการบ่อนทำลายศักดิ์ศรีความเป็นคน ความเป็นธรรมด้านต่างๆ และโอกาสในการมีอนาคตที่ดีกว่าของประชาชนส่วนใหญ่


 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net