Skip to main content
sharethis

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยการ “จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” กลายเป็นตลกกฎหมาย เพราะทำให้ต้องตีความคำวินิจฉัยอีกที แบบต่างฝ่ายต่างตีความ ไม่รู้จะต้องถามศาลรัฐธรรมนูญอีกกี่ครั้ง

คำวินิจฉัยนี้ทำให้ฝั่งต้องการเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญไม่พอใจอย่างกว้างขวาง โลกออนไลน์มองว่าถามอย่างตอบอย่าง เพราะคำถามคือ “สามารถแก้ไขมาตรา 256 เพื่อตั้ง ส.ส.ร.มายกร่างใหม่ทั้งฉบับ (โดยยกเว้นหมวด 1 หมวด 2) หรือไม่”

แต่ศาลไปตอบว่า รัฐสภามีอำนาจและหน้าที่ “จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” แต่ต้องให้ “ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ” ได้ลงประชามติเสียก่อน

นอกจากนี้ยังมองว่า ศาลไม่มีอำนาจเข้ามาวินิจฉัยกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 จนกว่าจะถึงขั้นตอน 256(9) หลังผ่านวาระสามก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ส.ส. ส.ว.มีสิทธิเข้าชื่อให้ศาลวินิจฉัยว่าขัดมาตรา 255 หรือไม่ จะต้องทำประชามติหรือไม่

ซึ่งที่แก้อยู่นี้ก็จะทำประชามติอยู่แล้ว ไม่เห็นต้องถามศาลเลย

พรรคฝ่ายค้านยืนยันว่า นี่คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ไม่ใช่ “จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” กระนั้น 250 ส.ว. & ไพบูลย์ นิติตะวัน ก็จะฉวยคำวินิจฉัยไปอ้างว่า ร่างแก้ไข 256 เป็นโมฆะแล้ว หรือมีความเสี่ยงขัดคำสั่งศาล ไม่ร่วมโหวต หรืองดออกเสียง (ตามที่เนติบริกรแนะนำ) ทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญคว่ำอยู่ดี

ฝ่ายค้านตั้งหลักไว้เช่นนี้ถูกต้องแล้ว จะต้องยืนยันว่าสิ่งที่รัฐสภาทำอยู่คือการ “แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560” ไม่ใช่ “จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”

ในทางกลับกัน ที่ศาลวินิจฉัยว่ารัฐสภามีหน้าที่และอำนาจ “จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ก็ไม่ใช่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560

เพราะถ้าลงประชามติ ตามที่ศาลให้ถามประชาชนว่า “ประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่” ถ้าประชามติผ่าน ก็จะเข้าสู่กระบวนการ “จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ไม่ใช่แก้ไขฉบับเดิม

ดังนั้น จะบอกว่าต้องกลับมาเริ่มแก้มาตรา 256 ตั้ง ส.ส.ร.กันอีกรอบ ต้องให้ ส.ว. 1 ใน 3 เห็นชอบ ฯลฯ ก็ไม่ใช่แล้ว เพราะ 256 เป็นกระบวนการ “แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560”

ตามหลักรัฐธรรมนูญ ที่ศาลให้ถามประชาชนว่า “ประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่” ก็คือถามว่า จะเอารัฐธรรมนูญ 2560 ไว้ หรืออยากได้ใหม่ทั้งฉบับ หากประชามติผ่านก็เท่ากับ ประชาชน “ผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ” ลงมติยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 เพียงยังใช้ชั่วคราว ได้ฉบับใหม่เมื่อไหร่ก็เอารัฐธรรมนูญมีชัยทิ้งลงชักโครก

ดังนั้นถ้าประชามติผ่าน จะเอาเงื่อนไขผูกมัดในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ประชามติ “ยกเลิกแล้วโว้ย” (รอทิ้งลงชักโครกแล้วโว้ย) ไปใช้ “จัดทำฉบับใหม่” ไม่ได้

การยกร่างใหม่ต้องปลอดร่างมารรังควาน ต้องใช้หลักประชาธิปไตยพื้นฐาน เช่น ใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา ทำข้อตกลงให้มี ส.ส.ร.จากเลือกตั้ง กระทั่งจะห้ามแก้หมวด 1 หมวด 2 ก็ห้ามไม่ได้ อ้าว มันเป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ใช่การแก้ไข ยังไม่ได้เขียนสักตัวอักษร จะห้ามอะไร

พูดอย่างนี้บางคนก็ว่าโลกสวย เดี๋ยวโดนหลอกให้ฝันค้าง ศาลรัฐธรรมนูญแค่ถามอย่างตอบอย่าง ทำให้วาระสามตกไป

อาจเป็นอย่างนั้นก็ได้ แต่ท่านไปยกหลักการมาตอบ หลักการก็มัดตัวเอง ถ้ามาบอกทีหลังว่าประชาชน “ผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ” ผ่านประชามติแล้ว ยังต้องไปให้ 84 ส.ว.เห็นชอบ ตุลาการจะตอบลูกศิษย์ลูกหาอย่างไร

คำวินิจฉัยส่วนตน 8 คน ต้องตรงกับหลักการในคำแถลง จะอธิบายรายละเอียดขัดกันไม่ได้ อย่างน้อยคำว่า “จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ภาษาก็ชัดว่าไม่ใช่แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่สามารถดิ้นได้

พูดอย่างนี้ก็ไม่ใช่บอกให้เชื่อฟังหรือยอมตามศาลรัฐธรรมนูญ แต่วาระสามถูกคว่ำอยู่ดี ซึ่งก็จะมีสองทางเดิน (หรือเดินพร้อมกันทั้งสองทาง)

ทางที่หนึ่งคือ ระดมความโกรธของประชาชนไปสู่การรณรงค์แก้รายมาตรา ยกเลิกบทเฉพาะกาล 269, 272 โละ 250 ส.ว. ตัดอำนาจโหวตนายกฯ ซึ่งทำได้ทันทีไม่ต้องลงประชามติ

เพียงแต่แน่ละ จะโละ 250 ส.ว. ก็ยังต้องให้ 84 ส.ว.เห็นชอบ ดังนั้นจะต้องรณรงค์ทางการเมืองครั้งใหญ่ เคลื่อนไหว เข้าชื่อ หรือม็อบกดดัน โดยพรรคการเมืองมีความชอบธรรมที่จะนำการรณรงค์เคลื่อนไหวแก้รัฐธรรมนูญ

พร้อมกันนั้นก็รณรงค์แก้ระบบเลือกตั้ง จากบัตรใบเดียวสูตรคำนวณเศษมนุษย์ ไปสู่บัตรสองใบแบบเยอรมัน แล้วขั้นต่อไปก็เรียกร้องยุบสภาเลือกตั้งใหม่

ทางที่สองคือ เมื่อวาระสามคว่ำ ก็ต้องรีบกดดันให้ผ่าน พ.ร.บ.ประชามติ แล้วทำประชามติตามตัวอักษรของศาลรัฐธรรมนูญ “ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ …ประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่”

ซึ่งไม่มีใครศรีธนญชัยได้ มันคือคำถามว่า จะเอารัฐธรรมนูญรัฐประหารสืบทอดอำนาจไว้ หรือจะโละแม่-ทิ้งแล้วจัดทำฉบับใหม่

จะเห็นได้ว่าบรรยากาศต่างกันสิ้นเชิงกับการทำประชามติว่า เห็นด้วยกับแก้ 256 ตั้ง ส.ส.ร.หรือไม่

คำถามว่า “โละทิ้ง” หรือ “ทำใหม่” จะทำให้ประชามติเป็น Civil War อย่างสันติ เอาชนะกันด้วยการหย่อนบัตร (นึกเห็นภาพหมอวรงค์เดินสายรณรงค์ปกป้องรัฐธรรมนูญมีชัย)

ศาลอาจถามอย่างตอบอย่าง แต่ตอบอย่างไรก็ขว้างไม่พ้นอยู่ดี

 

 

ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/politics/hot-topics/news_6121153

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net