Skip to main content
sharethis

กมธ.เเรงงาน รับข้อร้องเรียนจากสหภาพเเรงงานไทรอัมพ์และตัวแทนพนักงานบริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด 1,388 คน หลังได้รับความเดือดร้อนเหตุบริษัทปิดกิจการไม่แจ้งล่วงหน้า

กมธ.เเรงงาน รับข้อร้องเรียนตัวแทนพนักงาน บ.บริลเลียนท์ 1,388 คน ที่บริษัทปิดกิจการไม่แจ้งล่วงหน้า
ที่มาภาพ: เพจ Wanvipa Maison - วรรณวิภา ไม้สน

17 มี.ค. 2564 เว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานว่านายสุเทพ อู่อ้น ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) แรงงาน สภาผู้แทนราษฎ รับหนังสือจากสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย และตัวแทนพนักงานบริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด กรณีบริษัทปิดกิจการโดยไม่แจ้งล่วงหน้าส่งผลกระทบอย่างหนักต่อพนักงานหลายพันคน พร้อมขอให้คณะกรรมาธิการการแรงงานสภาผู้แทนราษฎร เร่งรัดเรื่องเงินชดเชยการเลิกจ้างรวมถึงเงินสงเคราะห์ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพนักงานที่เดือดร้อนด้วย

ประธานกมธ. แรงงาน กล่าวภายหลังรับเรื่องว่า ที่ผ่านมาตนได้ผลักดันกฎหมายคุ้มครองแรงงานมาโดยตลอดและกรณีที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่รัฐบาลและกระทรวงแรงงานต้องมีมาตรการในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะเงื่อนไขในการบังคับใช้กฎหมายที่พบว่าในหลายกรณียังมีความล่าช้าเกี่ยวกับการช่วยเหลือเยียวยาภาคแรงงาน ดังนั้น คณะกรรมาธิการจะเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยด่วน พร้อมย้ำว่ากรณีที่เกิดขึ้นหากสอบข้อเท็จจริงและพบว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตนจะดำเนินการทางกฎหมายให้เร็วที่สุด

 

[ตัวแทนลูกจ้าง 1,388 คน บุกสภาทวงค่าชดเชย] วันนี้ 17 มีนาคม 64 สหภพาแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย...

โพสต์โดย Wanvipa Maison - วรรณวิภา ไม้สน เมื่อ วันพุธที่ 17 มีนาคม  2021

 

นอกจากนี้ วรรณวิภา ไม้สน ส.ส.พรรคก้าวไกล ยังได้โพสต์เฟสบุ๊คระบุว่า สหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย นำโดยประธานสหภาพ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อประธานกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฏร เพื่อให้ดำเนินการเร่งด่วนทั้งในเรื่องกฎหมาย ประกันสังคม เงินสงเคราะห์ลูกจ้าง และตามตัวนายจ้างมารับผิดชอบเงินเลิกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน 

สืบเนื่องจากบริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด ได้มีการปิดกิจการหนีลอยแพลูกจ้างกว่า 1,300 ชีวิต เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2564 โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ไม่จ่ายค่าชดเชยใด ๆ หนำซ้ำนายจ้างหายเข้ากลีบเมฆ ยังตามหาตัวไม่เจอ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีแผนการโอนย้ายลูกจ้างจากบริษัทเดิมซึ่งก็คือบอดี้แฟชั่นฯ ย้ายมาบริษัทบิลเลียนท์ กิจการดำเนินไปด้วยดี ออเดอร์เพียบ รับคนเพิ่ม แต่เพียงปีกว่าเท่านั้นอยู่ ๆ ประกาศปิดกิจการโดยไม่บอกกล่าวใด ๆ ปล่อยลูกจ้าง 1,388 คน เคว้งคว้างตกงานแบบไม่ทันตั้งตัว พนักงานที่นี่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว เนื่องจากเป็นกิจการสิ่งทอ ทำให้มีผลกระทบยังครอบครัวเป็นวงกว้าง 

สิ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐควรทำเร่งด่วนคือ ออกคำสั่งโดยเร็ว และติดตามตัวนายจ้างมารับผิดชอบตามกฎหมาย ระยะต่อไปควรพิจารณาหาวิธีแก้ไขกฎหมายระเบียบต่าง ๆ ในการโอนย้ายลูกจ้าง ในการเปลี่ยนแปลงบริษัทเปลี่ยนแปลงนายจ้าง เพื่อกันไม่ให้เกิดแผนการลอยแพลูกจ้างแบบนี้อีก ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เหล่านายทุนต่างชาติ ที่มาทำมาหากินในประเทศ หลังจากกอบโกยทุกอย่างไปแล้ว กลับละทิ้งปล่อยปะละเลยเอาเปรียบแรงงานแบบนี้

รองประธานสหภาพแรงงานฯ หวังภาครัฐช่วยเหลือพนักงานที่โดนลอยแพ 

วาสนา คงหินตั้ง รองประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชันแนล ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 และหนึ่งในตัวแทนยื่นข้อเรียกร้อง โดยมีกรรมาธิการแรงงาน สุเทพ อู่อ้น ส.ส.บัญชีรายชื่อจากพรรคก้าวไกล เป็นผู้รับเรื่อง  

วาสนา คงหินตั้ง รองประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชันแนล

วาสนา คงหินตั้ง รองประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชันแนล

วาสนาเล่าถึงช่วงเวลาก่อนที่บริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด เลิกจ้างพนักงาน 1,388 คนอย่างกระทันหัน โดยระบุว่า ‘บริษัทมีการแจ้งกับพนักงานว่าให้หยุดพักร้อน 4 วัน ด้วยเหตุผลว่า รอออเดอร์งานเข้า เสร็จแล้ววันที่ 4 ของการหยุด ประมาณบ่ายสามโมง ทางบริษัทได้ขึ้นประกาศปิดงาน ในขณะเดียวกัน ก็ส่งประกาศไปทางแอปพลิเคชันของบริษัท เพื่อให้พนักงานทุกคนได้รับรู้’

‘พนักงานทุกคนก็ตกใจ และช็อกกับเรื่องนี้ ทุกคนไม่ได้เตรียมตัว และพนักงานส่วนใหญ่ที่นี่เป็นพนักงานรายวัน ซึ่งมีรายได้เพียงพอในแต่ละวัน ในแต่ละเดือน ที่นี่ส่วนใหญ่เป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ต้องดูแลครอบครัว บางครอบครัวต่อให้มีพ่อ-แม่ ลูกก็จริง แต่สามีตกงาน มันก็เหมือนเราคนเดียวที่จะต้องเลี้ยง สามีด้วย เลี้ยงลูกด้วย มันก็เลยไม่พอที่จะมีเงินเหลือเก็บ หลายคนก็ช็อก มีความเดือดร้อนเรื่องรายได้ ในช่วงของปัญหาโควิด-19 แบบนี้ คนที่อายุหลัก 40 กว่าขึ้นไป มันหางานทำยาก ขายของมันก็ขายไม่ได้อยู่แล้วในสภาพแบบนี้’ 

ทางฝั่งบริษัทไม่มีการเยียวยาใด ๆ ‘เงียบไปเลย ไม่มีการติดต่อ ทางสหภาพได้ยื่นหนังสือเพื่อขอคุยว่า การปิดงานของคุณ (บริษัทบริลเลียนทฯ) มันเกิดจากอะไร ทำไมไม่มีการแจ้ง บริษัทให้ยามมารับ และไม่มีการติดต่อกลับมา แล้วเราก็ต้องมาถึงที่นี่ เพื่อขอความช่วยเหลือจากท่านประธานกรรมาธิการแรงงาน (สุเทพ อู่อ้น) อย่างน้อย ๆ การตามค่าชดเชยเราเข้าใจแหละตามข้อกระบวนการข้อกฎหมาย แต่ในเรื่องขอขบวนการที่มีกองทุนช่วยเหลือคนงาน ที่กำลังตกงานอยู่ ณ ตอนนี้ พอที่จะเอามาสนับสนุนพวกเขาก่อนได้ไหม เนื่องจากว่าทุกคนไม่มีเหลือเงินกันเลย แต่ค่าใช้จ่ายทุกวันมันหมุน 

นอกจากนี้ วาสนา อยากให้ กมธ.แรงงาน ช่วยเร่งรัดเวลา ให้เรื่องถึงผู้ตรวจการเร็วไว เพื่อที่จะได้เข้าสู่กระบวนการขอความช่วยเหลือในเรื่องของกองทุนช่วยเหลือลูกจ้าง ถ้ายึดตามกฎหมาย เวลามันจะนาน แต่เรามาช่วยเรื่องกระชับเวลาให้มันสั้นลง เพื่อที่คนงานจะได้รับความช่วยเหลือให้เร็วขึ้น บรรเทาความเดือดร้อน 

ส่วนหนึ่งก็คือว่าอยากให้ทางคุณสุเทพ กำชับ เพราะว่าเป็นฝ่ายนิติบัญญัติใช่ไหม ไปดูแลฝ่ายบริหารให้ตามตัวนายจ้างมาจ่ายค่าชดเชยให้พนักงาน ต้องบอกว่า พนักงานที่นี่อายุงานเยอะ อายุตัวเยอะ แต่ค่าชดเชยไม่ได้มากมายเลยนะ คนหนึ่งก็ 400 กว่าวัน คือแค่ 2 แสนกว่าบาท สำหรับคน ๆ หนึ่ง ใช้ไปได้ระยะหนึ่ง ซึ่งมันก็มีเงิน เพื่อที่จะช่วยเหลือลูกหลานที่บางคนยังเรียนมหาวิทยาลัย คืออยากให้เรื่องนี้มาให้เร็วที่สุด ในเรื่องของค่าชดเชย 

หลังจากตกงาน พนักงานหลายคนหันไปทำอาชีพรับจ้าง เพื่อประทังชีวิตในช่วงที่สถานะทางเศรษฐกิจของเขาย่ำแย่

‘อะไรที่พอหารายได้ได้ อย่างน้องคนล่าสุด ไปแกะกระเทียม ถุงละ 24 บาท คือถุงหนึ่งประมาณ 5 กก. เพื่อให้รายได้เข้ามา ถามว่ามันเพียงพอไหม มันก็ไม่เพียงพอ แต่มันต้องทำ ถุงละ 24 บาท เขาไปทั้งวัน เชื่อไหมว่า ได้มา 50 บาท คนงานเย็บผ้า มานั่งแกะกระเทียม ซึ่งมันก็เหมือนการเริ่มต้นการทำอาชีพใหม่ มันก็ไม่คุ้นเคย แต่ถามว่า เราปฏิเสธได้ไหม เราปฏิเสธไม่ได้ ช่วยเหลือครอบครัวตัวเอง ต่อให้มันน้อยนิดมันก็ต้องทำ ก็มีหลายคนที่จะต้องไปแบบนี้’ วาสนา กล่าว 

นอกจากเงินรับจ้างอันน้อยนิด ทางสหภาพฯ ก็มีความกังวลเรื่องสิทธิ และสวัสดิการของเหล่าอดีตพนักงานเช่นกัน

“เป็นห่วงอย่างมาก” วาสนา กล่าว และเอ่ยต่อว่า “ตรงนี้พนักงานต้องเดินทางไปแกะด้วยตัวเอง อุบัติเหตุบนท้องถนน ถ้าเราเป็นพนักงาน การเดินทางมันจะคุ้มครองด้วย พ.ร.บ. ซึ่งทางบริษัทจะทำประกันชีวิตให้ แต่ตรงนี้เราไม่มีอะไรเลย ถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา ก็คือจบ เราก็ไม่เหลืออะไรเลย ด้วยสุขภาพด้วยอะไรอย่างนี้ด้วย” รองประธานสหภาพฯ กล่าว 

เหตุผลที่เข้ามาเป็นกรรมการสหภาพแรงงานฯ 

วาสนา ออกตัวว่า เธอไม่ได้อยู่ตั้งแต่ก่อตั้ง แต่เธอเลือกเข้ามาเป็นกรรมการสหภาพฯ เหตุผลก็คือว่า

‘เราทุกคนถูกกระทำ ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง มีความทุกข์ร่วมกัน มีความลำบากร่วมกัน เราถึงเห็นตรงกันว่าเราควรจะมารวมกลุ่มในการต่อรอง เพื่อที่ให้ชีวิตตัวเองดีขึ้น จากเดิมเราไม่ได้คาดหวังว่าเราจะดีจากที่สุด แต่ว่าไม่ให้ตัวเองย่ำแย่เท่านั้น นี่คือการรวมตัวของเรา เรารวมตัวกันในพูดคุยกับนายจ้าง แต่รู้สึกเหมือนนายจ้างจะไม่เอาเรา’ วาสนา กล่าว 

สำหรับความรู้สึกอย่างไรบ้างที่ได้เข้ามาเป็นกรรมการสหภาพฯ 

“ส่วนตัวเหมือนเราได้ดูแลสิทธิตัวเอง ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบเราไม่ได้ยอมจำนน หรือว่าคุ้นเคยกับการถูกเอาเปรียบ เรารู้สึกว่าเรามีอำนาจในการต่อรอง ให้กับคนงานที่ถูกเอาเปรียบ เรื่องง่าย ๆ การเกิดอุบัติเหตุในโรงงานอย่างนี้ ถ้าทั่วไปก็อาจไม่ได้รับการดูแล แต่ถ้ามันมีตัวแทนในการพูดคุย การดูแลมันจะดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกองทุนเงินทดแทน กองทุนประกันสังคมที่เขาจะต้องเข้าไปรักษา หรือแม้กระทั่งชุดยูนิฟอร์มที่เราใส่ มันก็ทำให้มีการดูแลคุณภาพชีวิตที่มันดีขึ้น นายจ้างไม่สามารถเอาเปรียบเราได้ง่าย คือเขาไม่ได้ทำตามใจเขาได้ 100%”     

สุดท้าย เรื่องที่เธออยากฝากถึงภาครัฐที่สุด คือ อยากให้รัฐช่วยตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนลูกจ้าง ที่ถูกบริษัทลอยแพ และละเลยการจ่ายค่าชดเชยตามข้อกฎหมายคุ้มครองแรงงาน อย่างน้อย ให้แรงงานหาเช้ากินค่ำ หรือไม่ได้มีต้นทุนในชีวิตสูง สามารถผ่านช่วงเวลาที่กำลังหางานใหม่ได้

“อยากฝากมากเลย คือว่าเราจะเห็น ณ ปัจจุบัน หลาย ๆ บริษัทลอยแพพนักงาน ลอยแพคนงาน และเราตามหานายจ้างไม่เจอ เพราะนายจ้างเป็นคนต่างประเทศ เราอยากให้ภาครัฐ ใช้กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง มาจ่ายค่าชดเชยให้กับพนักงานที่ถูกลอยแพก่อน แล้วให้ภาครัฐซึ่งมีทรัพยากรในมือ ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงการต่างประเทศ หรือกระทรวงต่าง ๆ ไปไล่ฟ้องบริษัท เอาเงินมาคืนกองทุน เราอยากให้มีกองทุนตรงนี้ เพราะว่าคนงานถ้าไปไล่ฟ้องเอง มันลำบาก ถ้ารัฐเอาเงินกองทุนมาชดเชย ถ้าเลิกจ้างพนักงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนที่เหลือให้เป็นหน้าที่ของรัฐ เพราะท่านดูแลเรา ท่านดูแลคนในประเทศ ท่านควรจะช่วยเหลือตรงนี้ไปเลย” วาสนา ทิ้งท้าย 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net