Skip to main content
sharethis

#ม็อบ29มีนา ประชาชนรวมตัวชุมนุมที่สกายวอล์ค แยกปทุมวัน เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ชุมนุมจากหมู่บ้านทะลุฟ้า ซึ่งถูกสลายการชุมนุมสองครั้งในวันเดียว และผู้ที่ถูกคุมขังด้วยมาตรา 112 นัดรวมตัวโดย UNME of Anarchy

#ม็อบ29มีนา เรียกร้องปล่อยเพื่อนเรา
#ม็อบ29มีนา เรียกร้องปล่อยเพื่อนเรา
 

29 มี.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (29 มี.ค.64) ระบุว่า เมื่อเวลา 17.00 น. ประชาชนราว 200 คน ชุมนุมบริเวณสกายวอล์ค แยกปทุมวัน นัดโดยทีม UNME of Anarchy เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมจากกรณีสลายการชุมนุมหมู่บ้านทะลุฟ้าสองครั้ง เมื่อวันที่ 28 มี.ค. และผู้ถูกจองจำจากการดำเนินคดีมาตรา 112 

บรรยากาศกิจกรรมในเวที #ปล่อยเพื่อนเรา เต็มไปด้วยการแสดงและการปราศรัยมากมาย เช่น การแสดงตีกลองโดยคณะราษดรัม การเต้นสีดาลุยไฟโดยเฟมินิสต์ปลดแอก และการปราศรัยโดย จารุนันท์ กลุ่มศิลปะปลดแอก หรือ Free Art และอื่น ๆ 

เวลา 17.19 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สกายวอล์ค แยกปทุมวัน กลุ่ม UNME of Anarchy และประชาชน เริ่มขนอุปกรณ์ปราศรัยขึ้นมายังพื้นที่ พร้อมนำป้ายผ้าข้อความ #ปล่อยเพื่อนเรา มาวางบนพื้นหน้าไมโครโฟน เวทีปราศรัยหลัก

ก่อนการปราศรัยมี สมาชิกจากทีมทะลุฟ้า ทำการแสดงเชิงสัญลักษณ์ 'เด็กหลงทาง' มาตามหาความหมายประชาธิปไตย โดยเป็นผู้หญิงสองคน คนหนึ่งถือกล่อง มีผ้าสีแดงปิดตา มือถือกล่องซึ่งบรรจุกระดาษ ที่ประชาชนสามารถนำกระดาษในกล่องมาเขียนข้อความถึงผู้ถูกควบคุมตัวจำนวนมากจากกรณีสลายการชุมนุมหมู่บ้านทะลุฟ้า ข้างทำเนียบฯ เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 64 ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้รับการประกันตัว

ขณะที่อีกคนที่ร่วมแสดงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เด็กหลงทาง เป็นผู้พาคนที่มองไม่เห็นเดิน และถือลูกโป่งขนาดใหญ่สีดำ มีข้อความบนลูกโป่ง ระบุว่า 'ปล่อยเพื่อนเรา' โดยนักแสดงทั้งสองจะเดินไปรอบ ๆ สกายวอล์ค ท่านใดพบเห็น อยากเขียนข้อความให้กำลังผู้ถูกจับกุม และคุมขังโดยมิชอบ สามารถเขียนใส่กระดาษ และนำใส่กล่องได้

เวลาต่อมา ธัชพงศ์ แกดำ หรือบอย ประกาศผ่านไมค์ เชิญชวนประชาชนมารวมกันที่เวทีหลัก ก่อนเริ่มการแสดงแรก คือการแสดงตีกลองจากกลุ่มคณะราษดรัม

เวลา 17.48 น. ตำรวจจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล มาแจ้งประชาชนที่มาชุมนุมวันนี้ กำลังละเมิด พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ห้ามการชุมนุม หรือมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่กระจายโรคระบาดโควิด-19 นอกจากนี้ ตำรวจยืนยันว่าจะช่วยรักษาความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกด้านการจราจรให้ดีที่สุด

ขณะที่ธัชพงศ์ กล่าวขอให้ตำรวจปกป้องเราจากกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบัน พร้อมระบุว่า ขอให้ดูแลไม่ให้กลุ่มปกป้องสถาบัน มาป่วนพวกเราและแจ้งว่าวันนี้จะมีเจ้าหน้าที่จะประจำตามจุดต่าง ๆ ประชาชนจะให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ และถ้ามีผู้ชุมนุมเจ็บในวันนี้ เราก็จะไปแจ้งว่าเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่เช่นกัน

ก่อนที่เวลาต่อมา ราษดรัมจะกลับมาทำการแสดงช่วงที่สอง 

จารุนันท์ จาก Free Arts ชี้สิทธิเสรีภาพในการเสพงานศิลปะหรือการแสดงออก เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงมี 

จารุนันท์ พันธชาติ ศิลปินศิลปาธร ปี 2557 ตัวแทน “ศิลปะปลดแอก” ทำการปราศรัยโดยเริ่มจากการอ่านบทพูดคนเดียว (monologue) ของตัวละครชื่อ ‘อารีอาดเน’ จากบทละครเวทีเรื่อง “A Thread in the Dark” หรือชื่อภาษาไทย คือ เส้นด้ายแห่งความมืดมิด ประพันธ์โดย เฮลลา ฮาสเส (Hella Haasse) นักเขียนชาวดัตช์ จัดแสดงโดย พระจันทร์เสี้ยวการละคร ที่โรงละครชื่อ Democrazy Theatre Studio ซึ่งเจ้าของคือเพื่อนของจารุนันท์ ถูกจับไปเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา 

จากนั้น จารุนันท์ เริ่มเผยให้เห็นว่าทำไมเธอถึงเลือกนำเรื่อง เส้นด้ายแห่งความมืด มาอ่านให้ประชาชนที่มารวมตัวที่สกายวอล์คสดับฟัง 

ละครเรื่องนี้ถูกดัดแปลงมาจากเทพนิยายกรีก เมื่อชาวครีตถูกส่งเป็นเครื่องสังเวยให้ปีศาจครึ่งคนครึ่งวัวนามว่า ‘มิโนทอร์’ ที่อาศัยอยู่ในเขาวงกต โดยผู้ประพันธ์นำเรื่องนี้มาตีความใหม่ โดยระบุว่า เรื่องมิโนทอร์เป็นเรื่องอุปโลกน์ขึ้นมาโดยกษัตริย์ไมนอส แห่งเกาะครีต เพื่อปกครองคนด้วยความหวาดกลัว

เธอยกเรื่องนี้มาเล่า เพื่อต้องการจะบอกว่า ความงดงามไม่ได้มีเพียงแบบเดียว แต่ความคิดที่หลากหลายได้แสดงตัวออกมา โดยไม่ถูกคุกคามข่มขู่ เป็นเรื่องที่สะท้อนว่า สังคมนั้นอารยะและเจริญแล้ว 

ในฐานะนักการละครคนหนึ่งที่ได้ทำงานคลุกคลีกับคนในวงการศิลปะในแขนงต่าง ๆ เธอพบว่า ศิลปินไทยมีศักยภาพเหลือเกิน เธอพบว่าศิลปินที่เธอพบเจอต่างพัฒนาศิลปะของตัวเองเท่าที่จะทำได้ แม้ว่าจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐไม่มากมาย 

แต่ก่อนที่เราจะไปพูดเรื่องการสนับสนุนด้านการเงิน จารุนันท์ มองว่า อย่างน้อย สิ่งที่ควรได้อย่างแรกสำหรับการพัฒนาวงการศิลปะ คือ Freedom Of Expression หรือเสรีภาพการแสดงออก 

“สังคมแบบไหนกันที่คนทำงานศิลปะจะต้องเสี่ยงคุกเสี่ยงตาราง เพียงเพราะแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง จริง ๆ แล้วไม่ใช่แค่คนทำงานศิลปะ แต่ใครก็ตามที่แสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง ไม่ควรถูกจับกุม สังคมแบบไหนกันที่รัฐสามารถผูกขาดความชอบธรรมไว้ฝ่ายเดียว”

“เราถูกปกครองด้วยความหวาดกลัว ถูกทำให้เสรีภาพเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ทั้ง ๆ ที่ควรเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของเราในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง” จารุนันท์ กล่าว

นอกจากนี้ จารุนันท์ ชี้ว่า สิทธิในการเสพงานศิลป์ดี ๆ อย่างมีอิสระเสรี ควรจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน และหอศิลป์ดี ๆ อย่างหอศิลป์กรุงเทพมหานคร หรือ BACC ควรถูกกระจายไปทุกจังหวัด พื้นที่การแสดงออกอย่าง public space พื้นที่แสดงออกทางศิลปะ และการเมือง รัฐควรจะเตรียมสิ่งนี้ให้ประชาชน 

สุดท้าย ก่อนจบการปราศรัย จารุนันท์ ชวนประชาชนที่นั่งอยู่ ร่วมกันชูสามนิ้ว เพื่อให้เกียรติ และให้เคารพแก่ผู้ชุมนุมที่หมู่บ้านทะลุฟ้า เป็นเวลา 30 วินาที 

ภาพขณะที่ประชาชนนั่งชูสามนิ้ว
 

เวลา 20.50 น. กลุ่มนักร้องประสานเสียง ร่วมแสดงกับ ไมค์ เพื่อนของไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือแอมมี่ และยังเป็นมือกีตาร์ วง The Bottom Blue โดยมีการขับขานเพลงประจำม็อบ อย่างเพลงเพื่อมวลชน, แสดงดาวแห่งศรัทธา, เก็บรัก (เพลงของวง The Bottom Blue) และเราคือเพื่อนกัน (เพลงของวงสามัญชน) 

เวลา 21.00 น. ธัชพงศ์ แกดำ พิธีกรการชุมนุม #ม็อบ29มีนา กล่าวขอบคุณประชาชนที่มาร่วมชุมนุม และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่คอยรักษาความปลอดภัย ก่อนยุติการชุมนุม ธัชพงศ์ ประกาศนัดแนะประชาชน เพื่อชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล ตึกไทยคู่ฟ้า วันที่ 30 มี.ค. 2564 เวลา 14.00 น. จากกรณีรัฐบาลสั่งสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยอ้างเหตุผลว่า กลัวผู้ชุมนุมรบกวนขณะถ่ายรูปคณะรัฐมนตรี 

“วันพรุ่งนี้ เราจะไปตะโกนไล่ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกไป ตอนที่มันถ่ายรูปเหมือนกันพี่น้อง และคอยดูว่ารูปถ่ายคณะรัฐมนตรีชุดนี้จะออกมาเป็นอย่างไร แฮชแท็กรูปนี้จะเป็นอย่างไร” ธัชพงศ์ กล่าว ก่อนที่จะยุติการชุมนุมในเวลาต่อมา


คุยกับมนุษย์ #ม็อบ29มีนา "ปล่อยเพื่อนเรา"

คุยกับคนจากหมู่บ้านทะลุฟ้า กับการแสดงเชิงสัญลักษณ์ 'เด็กหลงทาง' ที่คอยย้ำเตือนว่ายังมีผู้ถูกจับกุมด้วยความไม่ชอบธรรม 

นักแสดงทั้งสอง คนหนึ่งปิดตาด้วยผ้าแดง ถือกล่อง ด้านในบรรจุกระดาษข้อความ และอีกคนเป็นคนนำทาง ถือลูกโป่งข้อความ ปล่อยเพื่อนเรา 

ตัวแทนนักแสดงเล่าให้ฟังถึงแนวคิดเรื่องเด็กหลงทางว่า 

แนวคิดนี้เกิดจากเมื่อประชาชนหมู่บ้านทะลุฟ้า ถูกจับไปหลัง ตร. สลายการชุมนุมที่หมู่บ้านทะลุฟ้าถึงสองครั้ง ก็ทำให้เรารู้สึกเหมือนเป็น 'เด็กหลงทาง' แห่งประชาธิปไตยเส้นนี้ 

เรายึดมั่นโดยสันติวิธีมาตลอด แม้กระทั่งตอนนี้ แต่การที่เราได้รับการปฏิบัติตอบจากรัฐ  เราไม่เคยได้รับความสันติเลย เราไม่ได้ความเป็นธรรม คุณจับเพื่อนเราไปกี่คน ๆ แล้ว เราเลยมาในคอนเซ็ปต์เด็กหลงทาง ที่มองไม่เห็นทางจะสู้กับความอยุติธรรมนี้อย่างไร เลยกลายมาเป็นกิจกรรมนี้ 

เธอเล่าเพิ่มว่า การแสดงนี้มุ่งหมายให้รัฐปล่อยตัว เพื่อนเราทั้งเมื่อวาน และก่อนหน้านี้ที่ถูกคุมขังช่วงพิจารณาคดี  112 

ลูกโป่งที่นำมาด้วย สื่อความหมายถึงข้อเรียกร้องที่หวังว่าจะลอยสูงพอ ให้ทุกคนเห็นข้อความว่า ปล่อยเพื่อนเรา 

ส่วนการเขียนข้อความถึงเพื่อน เพื่อสื่อความว่า เพื่อย้ำเตือนถึงมวลชนที่ยังต้องติดคุกจากความไม่เป็นธรรม ทั้งที่พวกเขาเพียงแค่ออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพที่พวกเขาพึงมี 

เสื้อของนักแสดง ประชาชนสามารถเขียนให้กำลังใจผู้ถูกจับกุม 

สุดท้าย นักแสดงมีข้อความถึงรัฐดังนี้ 

"เหตุผลที่พวกคุณสลายการชุมนุม ของพวกเรา เพียงแค่เพราะว่า คุณต้องการจะถ่ายรูป ๆ เดียว ถึงกับต้องใช้ความรุนแรง สลายมวลชนที่สันติวิธีมากขนาดนี้เลยหรือ 

เธอยืนหยัดในข้อเรียกร้องหมู่บ้านทะลุฟ้า 1. ปล่อยเพื่อนเรา 2. เขียน รธน.ใหม่ 3. ยกเลิก 112 และประยุทธ์ ต้องลาออกทันที 

"ถ้ารัฐยังเมินเฉยต่อข้อเรียกร้องของเรา เตรียมเจอหมู่บ้านทะลุฟ้า V3"

การแสดงเชิงสัญลักษณ์ 'เด็กหลงทาง' โดยทีมหมู่บ้านทะลุฟ้า #ม็อบ29มีนา
 

"เราต้องไม่เงียบ เราต้องทำอะไรสักอย่าง ไม่อยากให้เรื่องนี้เกิดขึ้นอีก"  เอ็ม จากคนขี้กลัวและขี้อาย สู่ผู้ประท้วง #ปล่อยเพื่อนเรา 

เอ็ม ชายรูปร่างสูง เขามาประท้วงเรียกร้องให้ประกันตัวผู้ถูกจับกุมทางการเมือง หรือ 'ปล่อยเพื่อนเรา' ที่สกายวอล์ค ปทุมวัน เปิดใจถึงการร่วมกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ วันที่ รุ้ง ไผ่ ไมค์ ถูกฝากขังระหว่างพิจารณาคดี 112 และศาลไม่อนุญาตประกันตัว 

เอ็มเล่าว่า วันนั้น ได้ข่าวจากตี้ พะเยา ว่าจะมีการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านการฝากขังนักกิจกรรมเวลา 17.00 น. ที่ BTS หลายๆ สถานี เขาเลยไปร่วมที่ BTS อ่อนนุช ใกล้บ้าน 

เขาถือกระดาษไปแผ่นหนึ่ง แค่เขียนว่าปล่อยเพื่อนเรา แต่พอเขาไปถึงกลับไม่มีคนอื่น ๆ มาเลย ไม่มีแกนนำมาพูดรวมพลอะไรเลย เลยยืนถือป้ายแอบๆ บน BTS คนเดียว จนสักพักครึ่ง ชม. เกือบถอดใจกลับแล้ว ก็มีผู้ชายสองคนเห็นเราถือป้าย เลยมาถามว่ารวมกันตรงไหน พอมีสามคน เขาเลยไม่ถือป้ายแอบๆ แล้ว ออกมาถือป้ายเลย จากนั้น ก็มี สาม สี่คนมารวมกันเรื่อยๆ

ระหว่างชูป้าย มีป้ากับผู้หญิงคนหนึ่งมา พวกเขาใส่เสื้อมีรูปนักกิจกรรมที่ถูกฝากขังเซ็ตแรก เข้ามาหาเรา และบอกเราว่าขอบใจเรามาก แตะไหล่ และกอดเรา 

"ตอนอยู่คนเดียวมันเหงามาก แต่มีคนมากอดเราแล้ว น้ำตาจะไหล เราก็กอดเขากลับไป" 

ภายหลัง เอ็มเพิ่งมาทราบว่า คนที่มาสวมกอดที่สถานี BTS อ่อนนุช คือ แม่ของจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน 

เอ็ม เล่าถึงเหตุการณ์ในวันนั้นต่อว่า หลังจากนั้นตนถูก รปภ. BTS ไล่ให้ลงไปข้างล่าง โดยอ้างว่าขวางทางสัญจรบน BTS ตนจึงลงไปอยู่บริเวณเชิงบันไดทางขึ้น BTS แทน ซึ่งขณะถือป้าย มีคนวัยกลางคนมองหน้า ขมวดคิ้ว และส่ายหัว เหมือนตนเป็นคนน่ารำคาญ เอ็มก็มองหน้ากลับไป 

เอ็มเปิดใจว่า เมื่อก่อนเขาเป็นคนขี้กลัว ขี้อาย แต่เอ็มมองว่า ถ้าเรายิ่งเงียบ ก็ยิ่งอนุญาตให้เรื่องนี้เกิดขึ้น  

"เราต้องไม่เงียบ เราต้องทำอะไรสักอย่าง ไม่อยากให้เรื่องนี้เกิดขึ้นอีก" 

เหตุการณ์วันนั้นก็เปลี่ยนชีวิตเอ็ม อย่างน้อยเขาก็ไม่ค่อยกลัวการออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองเหมือนแต่ก่อน และพยายามไปม็อบมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และจะพกป้ายไปชูตลอด 

"ดีใจ และภูมิใจในตัวเอง เราไม่ยอม เราไม่เงียบ ถ้าวันนั้นเรากลัว เราไม่ออกมา เราไม่เห็นคนอื่นและเรากลับเลย เราคงรู้สึกผิดกับตัวเอง ดีที่เรากล้ายืนต่อ" เอ็ม ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงความรู้สึกที่กล้าออกไปทำกิจกรรมทางการเมืองในวันนั้น

เอ็ม ประชาชนที่มาร่วมชุมนุม #ม็อบ29มีนา ปล่อยเพื่อนเรา

 เอ็ม ประชาชนที่มาร่วมชุมนุม #ม็อบ29มีนา ปล่อยเพื่อนเรา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net