Skip to main content
sharethis

อัปเดตสถานการณ์ผู้ลี้ภัยที่ จ.แม่ฮ่องสอน กับมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน เบื้องต้น องค์กรประชาสังคมยังไม่ได้เข้าถึงพื้นที่ผู้ลี้ภัยโดยตรง หากต้องการช่วย ต้องประสานงานผ่านกาชาด นอกจากนี้ มูลนิธิฯ เสนอรัฐควรรับผู้ลี้ภัยจากการโจมตีของกองทัพพม่า และให้กระทรวงมหาดไทยและ สธ. เข้ามามีส่วนช่วยเหลือด้านการจัดการ

ภาพผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงจากค่าย IDPs 'อิตูทา' รัฐกะเหรี่ยงเมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2564 ภาพจากชาวบ้านสาละวิน
 

ประชาไท ต่อสายถึง พรสุข เกิดสว่าง จากมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน (Friends without Borders) องค์กรภาคประชาชนสังคมที่ติดตามดูแลผู้ลี้ภัย ชาวกะเหรี่ยง ที่อพยพจากค่ายผู้ผลัดถิ่นภายใน (Internally Desplaced Person - IDPs) พูดคุยอัปเดตสถานการณ์ในพื้นที่แม่ฮ่องสอน และการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยอย่างไรบ้าง

เบื้องต้น พรสุข ระบุรายละเอียดสถานการณ์ในพื้นที่ชายแดน อำเภอแม่สามแลบ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ว่าเมื่อวันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา กองทัพไทย (ผู้สื่อข่าว - ทหารพราน กองกำลังนเรศวร) ให้เรือขนเสบียงช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากค่ายอิตูทา โดยเสบียงทั้งหมดมาจากกลุ่มภาคประชาชน อย่างกลุ่มกะเหรี่ยงไทย (KTG) และหลาย ๆ กลุ่มนำมากองไว้ตรงแม่น้ำสาละวิน เพื่อประท้วงรัฐไทยไม่อนุญาตให้เอาไปช่วยเหลือผู้ลี้ภัย โดยเสบียงทั้งหมดถูกนำไปให้กับผู้ลี้ภัยที่อพยพมาจากค่ายอิตูทาในรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งถูกผลักกลับไปจากตะเข็บชายแดนฝั่งไทยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ รัฐไทยประกาศเมื่อ 6 เม.ย. ระบุว่า ถ้าใครจะส่งมอบความช่วยเหลือให้ผู้ลี้ภัย สามารถนำของไปส่งได้ที่กิ่งกาชาดอำเภอ หรือสำนักงานกาชาดที่ จ.แม่ฮ่องสอน และมีการประกาศวันนี้ (7 เม.ย.) ว่าจะมีรถทหารขนของไปให้ผู้ลี้ภัย  

ปัจจุบัน ทางการไทยยังไม่อนุญาตให้สื่อมวลชน และภาคประชาสังคม เข้าพื้นที่ของผู้ลี้ภัยโดยตรงโดย 

พรสุข อธิบายสถานการณ์ผู้ลี้ภัยเพิ่มเติมว่า มีผู้ลี้ภัยจากบ้านอูเหว่โกละเดินทางอพยพมาอยู่ใกล้บริเวณชายแดน ซึ่งก่อนหน้านี้ ผู้พลัดถิ่นบ้านอูเหว่โกละถูกผลักกลับไปพร้อมกับผู้พลัดถิ่นจากอิตูทา และรัฐไทยไปชวนกลับมา ซึ่งมีชาวบ้านบางส่วนที่กลับมา และไม่กล้ากลับมา นอกจากนั้น มีกลุ่มผู้ลี้ภัยที่มาจากหมู่บ้านที่อยู่ลึกเข้าไปในรัฐกะเหรี่ยงยังไม่ได้ถูกรัฐไทยผลักดันกลับ

ทางมูลนิธิฯ ประเมินว่า อาจมีผู้ลี้ภัยจำนวนประมาณ 2,000 คนที่ตะเข็บชายแดน แต่อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวนับจากต้นทางว่ามีชาวบ้านหายไปจากชุมชนกี่คน ไม่ได้มาจากการลงพื้นที่ผู้ลี้ภัยบริเวณตะเข็บชายแดนโดยตรง 

ขณะที่ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บต้องประสานมาทางรัฐไทยก่อนเพื่อขอเข้ามารักษา ทางรัฐไทยจะประสานโดยตรงไปที่โรงพยาบาล และโรงพยาบาลก็จะรับรักษา อย่างในกรณีใน อ.สบเมย หรือ อ.แม่สะเรียง มีการส่งรถพยาบาลมารับ 

ข้อกังวลในขณะนี้ คือ ช่วงนี้เป็นช่วงฤดูทำนา ทำให้ชาวบ้านที่อพยพมาที่ชายแดนจะไม่ได้ทำนาปลูกข้าว ซึ่งถ้าสถานการณ์รบพุ่ง หรือมีการทิ้งระเบิดจากทางฝั่งพม่าต่อไปอีก ก็มีแนวโน้มว่าชาวบ้านอาจขาดแคลนอาหาร 

แนวทางการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยง ก็มีการออกแถลงการณ์ถึงรัฐโดย ภาคีองค์กรภาคประชาชน 62 องค์กร และ 308 บุคคล เรื่อง 'ผู้ลี้ภัยจากประเทศพม่าคือเพื่อนบ้านของประชาชนไทย' เรียกร้องรัฐไทย 5 ข้อด้านการจัดการและคุ้มครองผู้ลี้ภัย 

สาระสำคัญของข้อเรียกร้อง คือทางการไทยต้องช่วยเหลือโดยการรับผู้ลี้ภัยไว้ก่อน เนื่องจากที่ผ่านมา มีหลักฐานชัดเจนว่ากองทัพพม่าใช้เครื่องบินรบทิ้งระเบิดจนทำให้ชาวบ้านต้องอพยพหนีกันออกมาจากประเทศต้นทาง 

ในระยะยาว เมื่อรับผู้ลี้ภัยมาแล้ว กองทัพไทยควรโอนความรับผิดชอบให้ทางกระทรวงมหาดไทย องค์กรภาคประชาชนทั้งไทยและสากล ตลอดจนกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีทั้งกำลังคน และประสบการณ์เรื่องการจัดการผู้ลี้ภัยเข้ามาสนับสนุน ยกตัวอย่าง สธ. สามารถมีบทบาทนำเรื่องการคัดกรองโควิด-19 ส่วนกระทรวงมหาดไทยสามารถเข้ามาช่วยเหลือเรื่องผู้ลี้ภัยได้ เพราะเคยมีประสบการณ์ทำมาก่อน 

“อยากให้คุยกันถึงการจัดการดูแลในระยะยาวด้วย เพราะประเด็นไม่ควรอยู่แค่ว่า วันนี้ส่งความช่วยเหลือถึงหรือไม่ถึง ไม่ใช่ว่าหากพรุ่งนี้รถทหารขนของไปถึงผู้ลี้ภัยแล้วก็จบแล้ว แต่เราต้องการการจัดการอย่างเป็นระบบ ตามมาตรฐานทางมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน” พรสุข กล่าว

หมายเหตุ ประชาไทดำเนินการปรับพาดหัว และเนื้อหา มาเป็นปัจจุบัน เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2564 เวลา 20.32 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net