Skip to main content
sharethis

เลขาธิการ The Patani ไลฟ์สดและโพสต์เล่าเหตุ จนท.บุกล้อมบ้านแต่เช้าที่ จ.ยะลา สุดท้ายกลับค่าย-ไม่เข้าบ้านตน พร้อมสะท้อนปัญหาการใช้กฏหมายพิเศษที่ทำให้ จนท.ทำอะไรตามอำเภอใจ เสนอยกเลิกทุกฉบับ ตรวจสอบเจ้าหน้าที่ที่มีพฤติกรรมไม่ดีออกไป รวมทั้งประชาชนต้องกล้าออกมาปกป้องสิทธิของตนเอง

9 เม.ย.2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเช้าวันนี้ (9 เม.ย.64) เวลา 5.11 น. อาร์ฟาน วัฒนะ เลขาธิการ The Patani ประจำภูมิภาค Tenggara โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กตนเองว่า บ้านโดนเจ้าหน้าที่ปิดล้อม ณ เวลานี้ พร้อมกับไลฟ์ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว 

ช่วงบ่าย อาร์ฟาน โพสต์อธิบายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'ArfanWattana - Patani' โดยระบุว่า หน่วยปฏิบัติการพิเศษ หรือ นปพ. ร่วมจากยะลาร่วมกับ ฉก.ทพ.48 นำโดยรอง ผบ.ฉก. ชื่อ รองกฤษกร ได้เข้ามาปิดล้อมบริเวณบ้านตนตั้งแต่ 4.00 น. ของวันที่ 9 เม.ย. 2564  การปิดล้อมในครั้งนี้มีเจ้าหน้าที่ผู้หญิง และผู้ชายทุกคนปิดหน้าประมาณ 40 กว่าคน พร้อมอาวุธครบมือและโล้กำบังพร้อมจู่โจม มาด้วยรถกระบะประมาณ 13-15 คันรถ เวลาประมาณ 5.00 น. มี เจ้าหน้าที่ทหารพรานหญิงเรียกจากนอกรั้วบ้านให้คนในบ้านออกมาอยู่หน้าบ้านด้วยภาษามลายู ซึ่งในขณะนั้นตนและสมาชิกครอบครัวกำลังหลับอยู่ พอได้ยินเสียงดังกล่าวทีแรกเข้าใจว่าเป็นชาวบ้านมาเรียก แต่พอตนออกมาหน้าบ้านปรากฏว่าเป็น เจ้าหน้าที่กำลังเรียกให้ทุกคนที่อยู่ในบ้านให้ออกมาหน้าบ้าน ผมก็ยังมึนๆ เพราะเพิ่งตื่นนอน เลยขอเวลาทำภารกิจส่วนตัว (ล้างหน้าล้างตา เอานำ้ละหมาดเพื่อละหมาดซุบฮี)เจ้าหน้าที่ก็ให้เวลา หลังจากนั้นทุกคนสมาชิกในบ้านก็ออกมาหน้าบ้านพร้อมบัตรประชาชนและทะเบียนบ้าน

"ผมได้เริ่มไลฟ์สดและลงไปหน้าบ้านพร้อมเปิดประตูรั้วบ้าน ผมก็ถามว่ามาทำไม? มาหาใคร? แล้วใครเป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการในครั้งนี้?" อาร์ฟาน โพสต์อธิบาย พร้อมระบุว่าขณะเดียวกันตนโทรถามเลขาธิการ กอ.รมน.ภาค 4 และถามว่าจะเอาอะไรอีกจากตน ซึ่งเลขาธิการ กอ.รมน.ภาค 4 ก็ไม่สามารถตอบได้ และขอให้ตนทำตามที่เจ้าหน้าที่สั่ง

อาร์ฟาน เล่าต่อว่า ตนพยายามที่จะคุยกับหัวหน้าชุดปฏิบัติการในครั้งนี้แต่เขาไม่ยอมมาคุยด้วย อยากจะบอกว่าอารมณ์ตอนนั้นคือโกรธมาก เพราะพวกคุณมาล้อมบ้านตน แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะเอาอย่างไร ขนาดหัวหน้าหน่วยยังไม่กล้าออกมาชี้แจ้ง ได้แต่สั่งเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการให้ทำโน่น ทำนี่ ตนก็แสดงความไม่พอใจไปยังเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการหลายอย่างและพยายามบอกว่า “พวกคุณไม่ใช่หุ่นยนต์ คุณคือมนุษย์ ทำอะไรให้คำนึงถึงความเป็นมนุษย์บ้าง ไม่ใช่ว่านายสั่งอะไรก็ทำอย่างนั้น”

เลขาธิการ The Patani เล่าว่า แรกเจ้าหน้าที่บอกว่ารอผู้ใหญ่บ้านมาก่อน พอผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมาก็ยังไม่เข้าตรวจค้นในบ้าน ตนพยายามจะให้รีบๆ เข้าตรวจค้นในบ้านเพราะตนและคนในบ้ายก็มีกิจวัตประจำวันที่ต้องทำ สุดท้ายพวกเขากลับสับสนว่าจะดำเนินการอย่างไร จึงประชุมด่วนแถวถนนหน้าบ้านตน หัวหน้าหน่วยเองไม่ยอมาคุยด้วย ส่งแต่ลูกน้องและตำรวจให้มาคุยกับตน ซึ่งตอนนั้นหน้าหน่วยปฏิบัติการ รอง ผบ.ฉก 48 อยู่ห่างจากจุดบ้านตนประมาณ 300 เมตร ตนก็ไม่เข้าใจว่ากลัวอะไรกันนักกันหนา ทางตำรวจและลูกน้องทหารพรานก็มาชี้แจ้งให้ตน แต่ก็ไม่แสดงตัวว่าชื่ออะไรมาจากหน่วยไหน สุดท้ายมีคนหนึ่งบอกชื่อ ซึ่งคนนี้เป็นตำรวจ บอกว่ากำลังหาบุคคลตามหมายและทะเบียนบ้านอยู่ที่นี่ ทำให้ตนไม่เข้าใจเนื่องจากในบ้านนี้ไม่มีคนชื่อตามหมายจับที่เขาต้องการและแน่นอนไม่ใช่บ้านหลังนี้ ตนจึงเชิญให้เขาเข้าไปค้นในบ้าน แต่ขอแค่ 3 คน เจ้าหน้าที่ตกลง ซึ่งในระหว่างนั้นหัวหน้าชุดปฏิบัติการสังเกตการณ์อยู่ห่างๆ และมีลูกน้องค่อยอัพเดทสถานการณ์เป็นระยะๆ

"นี่แหละความห่วยของกฏหมายพิเศษเจ้าหน้าที่จะทำอะไรตามอำเภอใจก็ได้ เวลาทำผิดก็ไม่มีคำขอโทษสักคำ" อาร์ฟาน เล่าพร้อมระบุว่า สุดท้ายเจ้าหน้าที่เปลี่ยนบ้านเป้าหมายและบอกว่าทางเราจะไปตรวจค้นบ้านข้างๆ ก่อนแล้วค่อยมาบ้านนี้ต่อ ตนจึงรอจนกระทั่งเขาตรวจค้นบ้านข้างๆ เสร็จ และมีการเก็บสารพันธุกรรม (DNA) ของลูกบ้านดังกล่าวด้วย สุดท้ายเจ้าหน้าที่ทุกคนก็ทยอยขึ้นรถและกลับค่าย สรุปคือไม่เข้าบ้านตน ส่วนหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพราน (ฉก.ทพ.)ในพื้นที่ ถามอะไรก็ไม่รู้เรื่องตลอด ถ้าจะไปประสานงานกับหน่วย นปพ.ร่วม คงยิ่งไม่มีอำนาจอะไรเพราะหน่วยที่มานั้นก็อ้างถึงหน่วยเหนือตลอด ส่วนระดับนโยบายก็บอกให้ตนให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่สรุปคือตนต้องยอมต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าในพื้นที่ใช่ไหม

เลขาธิการ The Patani ยังตั้งข้อสังเกต ด้วยว่า นปข. (หน่วยปฏิบัติการข่าว) มีข้อมูลไม่ชัดเจนเลยเกิดการปิดล้อมผิดบ้าน ซึ่งบ่งบอกถึงความไร้จรรยาบรรณการข่าว ผลกระทบที่ตามมาคือ ช่องว่างระหว่างเจ้าหน้าที่และประชาชนยิ่งห่างขึ้น หลังจากนี้ก็จะได้มีภาพลักษณ์เจ้าหน้าที่สายมวลชนสัมพันธ์เข้ามาทำความเข้าใจต่อ ก็เป็นกันอย่างนี้นี่

"2 วันที่ผ่านมาผมออกมาเคลื่อนไหวเรื่องการปล่อยตัวครูสาวที่โดยควบคุมภายใต้กฏอัยการศึก ผมเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เคลื่อนไหวเรื่องสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง (RSD) เจ้าหน้าที่บางคน บางหน่วย ไม่พอใจเลยคุกคามมาตลอด ผมและครอบครัวโดนคุกคามตั้งแต่ปี 2547 จนท.ก็จะมาในลักษณะที่แต่กต่างกันไป ผมชัดเจนคือ มาดีผมต้อนรับ มาแบบเหี้ยๆ ผมก็จะไล่เหมือนไล่เหี้ย" อาร์ฟาน โพสต์

เลขาธิการ The Patani ยังออกข้อเสนอของตนในฐานะคนที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งปาตานีตลอดระยะเวลา 17-18 ปีที่ผ่านมาว่า 1. ยกเลิกกฏหมายพิเศษทุกฉบับ 2. ตรวจสอบเจ้าหน้าที่ที่มีพฤติกรรมไม่ดีออกไป เพราะสงสารคนดีๆ ที่ต้องมารับบาปแทนเจ้าหน้าที่เหล่านั้น 3. ทบทวนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เนื่องจากหลายคนใช้อำนาจเหนือกฏหมาย 4. คู่กระทำสงครามต้องต่อสู้ภายใต้กฏสงคราม และ 5. ประชาชนต้องกล้าออกมาปกป้องสิทธิของตนเอง

สำหรับ The Patani อธิบายว่าเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สนับสนุนสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองของประชาชนในบ้านเกิดมลายู(ภูมิภาคปาตานี) ซึ่งปัจจุบันคือพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ของประเทศไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net