เมืองไทยนี้ดี: จินตภาพสังคมและวัฒนธรรมประเทศในฐานะหมู่บ้าน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

1

ในอดีตที่ผ่านมักมีภาพของสังคมไทย และเมืองไทย ว่า เป็นเมืองที่ดี เมืองที่มีสุข เป็นเมืองที่มีแต่ความสงบสุข มีความสามัคคี ผู้คนที่อยู่ในเมืองนี้จะมีแต่ความเอื้ออาทรกัน ไม่เบียดเบียน ทุกคนจะอยู่อย่างสันติ เคารพซึ่งกันและกัน ใช้ระบบอาวุโสในการไขปัญหาต่างๆ ในสังคม  ภาพเมืองไทยที่ดีนี้เกิดจากจินตภาพของนักคิด ที่สร้างและวาดภาพให้สังคมไทยเป็นอย่างที่ต้องการ เช่น หลวงวิจิตรวาทการ กรมดำรงราชานุภาพและแบบเรียนต่างๆ ของกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น (ดูรายละเอียดใน, สายชล สัตยานุรักษ์ 2545; 2546; 2550)

ภาพที่จำลองสังคมไทยออกเป็นสังคมขนาดเล็ก ทุกคนในสังคมรู้จักกันหมดทุกคน มีความเอื้ออาทรต่อกัน  เมื่อเกิดปัญหาอะไรก็สามารถแก้ได้ด้วยเมตตาธรรม ความเห็นอกเห็นใจ พูดง่ายๆ คือ การลดทอนเมืองไทย ชาติไทย ให้เป็นแค่ชุมชนขนาดเล็ก ไม่มีปัญหาอะไรมาก หรือพูดว่าแทบไม่มีปัญหาอะไรเลยในสังคมไทย เป็นเมืองที่น่าอยู่ และก็จะสอนคนไทยให้รักชาติ ต้องยอมสละทุกอย่างเพื่อชาติ แม้ชีวิตก็ยอมสละได้เพื่อชาติ  (นิธิ เอียวศรีวงศ์ 2557)  

นอกจากนี้ภาพของสังคมไทยยังเป็นภาพที่เสนอในลักษณะมีความหลากหลาย เช่น มีชาวนา ชาวสวน นายทุน ชาวเขา ฯลฯ แต่เป็นความหลากหลายที่ไม่ซับซ้อน เป็นความหลากหลายที่สงบราบเรียบภายใต้การนำของระบบราชการ หรือข้าราชการ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้านนายอำเภอ และคนของภาครัฐเมื่อมีการทอนลดภาพของชาติลงมาอยู่ในระดับหมู่บ้านในระดับชุมชนแล้ว ความสัมพันธ์ที่บอกว่าเมืองไทยนี้ดีก็จะเป็นภาพของความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ เป็นเรื่องบุญคุณ ผ่านสายใยของ “ระบบอุปถัมภ์” 

ระบบอุปถัมภ์เป็นระบบที่ร้อยรัดความสัมพันธ์ของคนกลุ่มต่าง ๆ และพันธนาการสังคมไทยไว้อย่างเหนี่ยวแน่น ช่วยเชื่อมร้อยคนในสังคมต่างๆ ซึ่งเป็นระบบอุปถัมภ์มีความไม่เท่าเทียมของการเข้าสู่อำนาจ และทรัพยากร ทำให้คนเข้าถึงทรัพยากรได้ไม่เท่าเทียม ทำให้ต้องยึดโยงกับผู้มีอำนาจเพื่อให้เข้าถึงทรัพยากร และผู้มีอำนาจสามารถช่วยเหลือให้เข้าถึงทรัพยากร  พบว่าระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทยเป็นระบบที่เป็นทางการเป็นแนวคิดและแนวทางทางการเมืองภายใต้การปกครองในระบบศักดินาที่แบ่งคนออกเป็น 2 ชนชั้น คือ นาย(ผู้ปกครอง) และไพร่/ทาส(ชนชั้นถูกปกครอง) ระบบนี้ยังมีการอุปถัมภ์ในชนชั้นตัวเองอีกด้วย โดยมีลักษณะเด่น 3 ประการ คือ 1. เป็นระบบที่ไม่มีความเท่าเทียมในการแลกเปลี่ยน 2. เป็นแนวดิ่ง คือ จากผู้อุปถัมภ์ถึงผู้รับอุปถัมภ์โดยตรง 3. เป็นระบบที่ไม่ยั่งยืนขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ส่วนบุคคลคล ส่งผลให้ความภักดีทางการเมือง (political loyalty) ของคนไทยส่วนมากไปกระจุกตัวอยู่ในหมู่คณะ (อคิน รพีพัฒน์ 2527; อมรา พงศาพิชญ์ 2539) แต่อย่างไรก็ดีระบบอุปถัมภ์ก็มิใช่ระบบที่เอาเปรียบ แต่เป็นระบบที่มีคุณธรรม ผู้ปกครองมิได้เอาเปรียบผู้ใต้อุปถัมภ์ แต่คอยช่วยเหลือเกื้อกูล ทำให้ผู้ใต้อุปถัมภ์สำนึกในบุญคุณ ยังมีการแบ่งงานกันทำและการแบ่งงานก็แบ่งกันอย่างเสมอภาค ผู้เข้าถึงทรัพยากรมากก็จะคอยสนับสนุนผู้ที่ด้อยโอกาสเข้าถึงทรัพยากรได้น้อยกว่าคนอื่น   เป็นสังคมของความเอื้ออาทรต่อกัน ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการสร้างว่าเมืองไทย คือ ครอบครัว ซึ่งต้องมีผู้นำ ซึ่งผู้นำก็ต้องเก่ง เด็ดขาด และนำพาเราสู่ความเจริญก้าวหน้า และจากการมองแบบนี้ทำให้สังคมไทยหรือเมืองไทยที่ดีต้องมีผู้นำที่เข้มแข็ง เด็ดขาด มีเมตตาธรรม เช่นในอดีตผู้นำในดวงใจก็อย่างเช่น จอมพลสฤดิ์ ธนะรัชต์  เป็นต้น 

ภาพที่สร้างว่าเมืองไทยนี้ดีทำให้คนไทยถวิลหาผู้นำ เช่น จอมพลสฤดิ์ ธนะรัชต์  แม้ว่าเบื้องหลังจะดีหรือทุจริตอย่างไรคนไทยก็ไม่เป็นไร ส่วนผู้นำที่ทำงานช้า ทำอย่างมีระเบียบ ขั้นตอนมาก อย่าง ม.ร.ว. เสนีย์  ปราโมท, นายชวน หลีกภัย เป็นผู้นำแบบที่ในภาพสังคมไทยมองว่าไม่กล้าตัดสินใจ เป็นเต่าบ้าง  ฤาษี 

ผู้นำอย่าง ทักษิณ ชินวัตน์ เป็นผู้นำที่เด็ดขาด กล้าตัดสินใจ และเอื้ออาทร แต่ชนชั้นนำไทยไม่ต้องการ แม้จะได้รับความนิยมสูงในคนระดับรากฐาน และเคยเป็นผู้นำในอุดมคติของสังคมไทย 

ส่วนประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้นำที่เหล่าสลิ่มผู้ดีต้องการเพราะยึดเอาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แบบเก่าเป็นแก่นแกนของชาติ ที่ต้องคอยปกป้องคุ้มครอง ไม่อาจทำลาย ทำร้าย หรือแตะต้องได้  ถ้าใครลบหลู่ ดูหมิ่น เกลียดชังต่อแก่นแกนของชาติ ผู้นั้นคือ คนทรยศชาติ หรือแม้แต่มีแนวคิดที่แตกต่าง อย่างกรณีคนเสื้อแดง ม็อบนักเรียนนิสิตนักศึกษา (พ.ศ. 2563-2564) ก็คือ คนนอกที่สามารถ “ทำลาย ทำร้าย” และ “ฆ่า” ได้อย่างไม่ผิดบาป เพื่อให้ชาติไทย เมืองที่ดีต้องสงบสุข ร่มเย็น แก้ไขปัญหาได้ ไม่มีความขัดแย้ง แบ่งแยก 

จินตภาพเรื่องเมืองไทยนี้ดียังให้ภาพ “พวกเขา” “พวกเรา” สร้างพวกเขาเพื่อให้พวกเรารวมตัวกันหนาแน่นมากขึ้น เช่น สมัย ร. 6  มีการสร้างคนจีนเป็นพวกเขา เป็นพวกที่คอยกดขี่พวกเรา(คนไทย) ฉะนั้นพวกเราต้องรวมตัวกันเพื่อต่อต้าน และทำลายพวกเขา ที่เข้ามาเบียดเบียนพวกเรา 

หรือกรณี คอมมิวนิสต์ในช่วงทศวรรษที่ 2510 – 2520 ก็คือ คนอื่น ที่ทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์  ที่เป็นศูนย์รวมใจ และเป็นสัญลักษณ์ของชาติ ที่ไม่อาจแตะต้องได้ ฉะนั้น ผู้ที่คิดเปลี่ยนแปลง ทำลาย หรือ ฯลฯ ก็คือ “พวกเขา” และสามารถ “ฆ่าได้” ดังวลี “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป”  เพราะคอมมิวนิสต์ไม่ใช่คน การ “ฆ่า” จึงเป็นการฆ่ามาร 

กรณีปัญหาชายแดนภาคใต้ที่มีการบอกว่าพวกที่ก่อการร้ายหรือพวกที่ก่อความไม่สงบไม่ใช่พวกเราหรือ อีกนัยหนึ่งก็คือ พวกเขานั้นเอง เป็นพวกที่ไม่หวังดีกับชาติ เราต้องทำการปราบปราม หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ต้องฆ่าพวกนี้ให้หมดเพื่อจะได้ไม่เกิดความระแวง โดยบางครั้ง พวกเขาเท่ากับ “ไม่ใช่คน”  

แต่การฆ่าไม่ใช่การแก้ปัญหา เรามีบทเรียนช่วงปราบคอมมิวนิสต์ว่า ฆ่าคนหนึ่งแต่เกิดขึ้นมาแทนเป็นแสน  พูดง่ายๆ ก็คือ ฆ่ามากก็มีคนมาแทนมาก ตราบใดที่เรายังไม่มองรากฐานของปัญหาอย่างแท้จริงว่าเกิดจากอะไร อะไรทำให้เกิด และจะทำเงื่อนไขที่ผลักให้เกิดอย่างไรก็ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ และจากการแบ่งพวกเขา “พวกเรา” ก็ทำให้เราต้องมาทบทวนเรื่องทีเรามองว่าเมืองไทยนี้ดี ยอมรับความหลากหลายที่แท้จริง  หรือเรายอมรับจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงมายาคติที่ใช้หลอกเด็กไปวัน ๆ 

ที่เสนอข้างต้นว่าสังคมไทย หรือเมืองไทยนี้ดี มิได้ยอมรับความแตกต่างหลากหลายอย่างแท้จริง เช่น กรณีชาวเขา ซึ่งมักถูกมองว่าไม่ใช่ไทย  ถูกนำมาล้อเล่นเสมอ ทั้งความไม่รู้ ไม่ทันสมัย ไม่สะอาด มักนำมาเล่าเป็นโจ๊กตลกเสมอ แสดงให้เห็นว่านี่ก็ไม่ใช่พวกเรา เป็นคนอื่น หรืออีกกรณีก็คือ กรณีของเพศที่ 3 ซึ่งมักถูกตั้งข้อรังเกียจต่างๆ จากสังคมทั้งจากสื่อ ทั้งจากระบบราชการเอง เช่น ห้ามพวกเพศที่  3  รับราชการเป็นครู แม้ว่าคนกลุ่มนี้จะมีความรู้มากน้อยแค่ไหน นี้ก็แสดงว่าบนความหลากหลายในภาพเมืองไทยนี้ดี   ก็คือ ภาพทับซ้อน ของ “พวกเขา” “พวกเรา” แล้วนี่จะพูดว่า “หลากหลาย” ได้จริงหรืออย่างไร

นอกจากนี้ภาพเมืองไทยที่ดีจะต้องมีภาพของความมีเอกภาพมีการรวมศูนย์ ซึ่งอดีตรวมศูนย์ที่ตัวของกษัตริย์ว่าเป็นผู้ผลักวิถีทางประวัติศาสตร์ให้เมืองไทยก้าวสู่ความเจริญ สู่ความทันสมัย ถึงยุคที่กษัตริย์หมดบทบาทผู้ผลักวิถีทางประวัติศาสตร์  พวกข้าราชการ พวกนายกฯ พวกรัฐมนตรี นักการเมือง คนชั้นกลาง ชั้นสูง ก็เข้ามาแทนที่ ซึ่งคนเล็กคนน้อยอย่างประชาชนตาดำๆ อย่างพวกเราไม่มีส่วนร่วมในประวัติศาสตร์ เพื่อสร้างเมืองไทยที่ดี ต้องอาศัยเทวดาข้างต้นมาดลบันดาล เมืองไทยจึงเจริญก้าวหน้า ทำให้เป็นปัญหาเรื่อง การมองคนเล็กคนน้อยในสังคม ซึ่งก่อให้เกิดปัญหามากมาย 

2

ภาพเมืองไทยที่ดีมักลดทอนปัจจัยทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม หรือพูดง่ายคือ ปัญหาเชิงโครงสร้างลดเหลือเพียงปัญหาเชิงศีลธรรม  คือ ปัญหาที่เกิดจากคนบางคนขาดศีลธรรม ไม่มีคุณธรรม มองปัญหาในเชิงปัจเจก ไม่มองเงื่อนไขโครงสร้าง เช่น ปัญหาการทิ้งน้ำเน่าลงในแม่น้ำลำคลองของโรงงานบอกว่าเป็นความเห็นแก่ตัวของเจ้าของโรงงาน เป็นความโลภ ตะกละ ไม่มองเชิงเศรษฐกิจ สังคมว่าเขาทำอย่างนั้นเพราะเหตุใด  การตัดไม้ทำลายป่า  เกิดจากความเห็นแก่ตัว ความมักได้ ฯลฯ ซึ่งทำให้ขาดการมองว่าผู้ที่ตัดคือใคร และเงื่อนไขที่ผลักให้เขาทำนั้นเกิดจากอะไร เช่นกรณีนี้นำมาสู่การตีตราว่า ชาวเขาเป็นผู้ตัดไม้ทำลายป่า เพราะต้องการเงินโดยไม่มองมิติอื่นๆ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง หรือวัฒนธรรม 

ฉะนั้น เมืองไทยที่ดีต้องกำหนดตีตราด้วยคำว่า “ศีลธรรม” แต่ว่าศีลธรรมอันนั้นใครเป็นผู้กำหนด และกำหนดด้วยวัตถุประสงค์ใด จินตภาพแบบเมืองไทยที่ดีมักละทิ้ง ลดทอน ไม่มอง ซึ่งบางครั้งกลายเป็นปัญหาต่อสังคมอย่างใหญ่หลวง นำสู่การแก้ปัญหา ทำอย่างไรก็แก้ไม่ได้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างในปัจจุบัน

อย่างกรณีของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ก็มีการกล่าวโทษเหยื่อที่ติดโควิดว่าขาด “ศีลธรรม” อันดีนั้นนี้ โดยลืมมองว่าปัญหามันเกิดจากอภิสิทธิ์ชนที่เป็น Super-spreader จากแหล่งไฮโซอย่างผลับทองหล่อแล้วเดินทางมาเชียงใหม่ ทั้งนักศึกษา/ผู้ประกอบการ/คนเที่ยวอื่น ๆ ไม่รู้ว่าใครจะติดโรคหรือไม่ ไม่พักต้องบอกว่ารัฐก็ไม่ได้ห้ามเที่ยวยังส่งเสริมเสียด้วยซ้ำ การติดโควิดมันจึงเป็นปลายเหตุของปัญหา

ถ้าลองคิดว่าเรามีวัคซีนอย่างที่ควรจะเป็น ไม่ต้องเอาเบื้องบนมาแอบอ้างทำให้ท่านเสื่อมเสียของรัฐบาลและสลิ่มคนดี เราก็สามารถใช้ชีวิตได้เกือบปกติ ไม่ต้องรอโชคชะตาว่าจะติดโควิดวันไหน อย่างไร

เลิกเอา “ศีลธรรมระดับหมู่บ้าน” ไปทุ่มหัวเหยื่อ หรือตามด่าผู้ได้รับผลกระทบได้แล้ว ควรหันไปด่ารัฐบาลที่ไม่มีมาตรการจัดการใด ๆ ทั้งที่ผ่านมาปีกว่า ๆ ปล่อยให้ประชาชนใช้ชีวิตตามมีตามเกิด มีชีวิตล่องลอยเสมือนคนไม่ได้เสียภาษีใด ๆ 

เราทุกคนต่างเป็นเหยื่อของรัฐบาลเฮงซวยและอภิสิทธิ์ชนเหล่า และเราก็อยู่ในรัฐที่ใหญ่กว่าหมู่บ้าน ที่ศีลธรรมบลา ๆ มันไม่ทำงานแบบเก่าแล้ว

จินตภาพเรื่องเมืองไทยนี้ดีจึงต้องการตอกย้ำการสร้างความเจริญรุ่งเรืองแก่ชาติบ้านเมือง การสร้างความเจริญนี้ก็มุ่งพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรม สร้างชาติบ้านเมืองให้ทันสมัยทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ โดยกระบวนการพัฒนาบางครั้งก็กดขี่ ดึงทรัพยากรไปจากคนเล็กคนน้อยในสังคมอย่างไร ในจินตภาพ เมืองไทยที่ดีก็ไม่มองว่าเป็นปัญหากับเป็นการที่คนเล็กคนน้อยเหล่านั้นต้องสละ อุทิศ ถวาย เพื่อความเจริญของชาติ 

หรือกรณี การสร้างเขื่อน แม้เกิดผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่ในการผลิตไฟฟ้า และการชลประทาน แต่แท้จริงอย่างไรไม่รู้ ถ้าไม่อพยพก็ถูกตีตราว่าไม่ให้ความร่วมมือกับชาติบ้านเมือง หรือกรณี การอพยพคนให้ออกจากป่า แล้วประกาศให้เป็นเขตสงวน เขตอนุรักษ์ เพื่อรักษาป่าไม้ของชาติ แม้คนจะอยู่มานานเท่านานก็ต้องออก เพราะนั่นเป็นการให้ชาติรุ่งเรืองพัฒนา เป็นต้น ซึ่งจากจินตภาพนี้ทำให้สังคมไทยที่พัฒนา (หรือไม่) ทั้งคนเล็กคนน้อย หรือเราเรียกว่าคนชายขอบบ้าง คนด้อยโอกาสบ้าง ไว้ข้างหลังของการพัฒนาชาติไทย ที่ดีให้รุ่งเรืองศิวิไลย์ ตามแบบตะวันตก  

จินตภาพเมืองไทยนี้ดีแบบนี้ทำให้สังคมลดทอนทางเลือกของผู้คนในสังคม ทั้งเบียดขับ และกีดกันความแตกต่างอื่น ๆ


 

สร้าง ขยายจินตภาพเรื่อง “เมืองไทยนี้ดี”

เมืองไทยนี้ดีจึงผ่านระบบที่หลากหลายและซับซ้อน เพื่อให้เกิดสังคมแนวเดียว ซึ่งเกิดจากหลายช่องทางที่พอจะเสนอได้ ดังนี้

ช่องทางแรก ระบบการศึกษา ที่เป็นระบบรวมศูนย์ ผ่านหลักสูตรทางการศึกษาที่ส่งออก ส่งตรงจากส่วนกลาง จากกระทรวงศึกษาธิการ คนของส่วนกลาง ทั้งหมดเป็นผู้กำหนดหลักสูตร ว่าควรเรียนอะไรและไม่ควรรู้อะไร สอนให้จำ ไม่สอนให้คิดที่แตกต่าง โดยกำหนดแบบเรียนต่างๆ ตั้งแต่ชั้น ป.1 จนถึง ม.6 มักสร้างภาพของเมืองไทยอย่างตัวแบบที่อภิปรายข้างต้น

คนในท้องถิ่นต่าง ๆ ไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดหลักสูตรหรือไม่มีส่วนในการคิด จินตภาพเมืองไทยจึงมีมิติเดียว และแบบเรียนต่าง ๆ ก็ได้ผลอย่างยิ่ง เด็กไทย 99.99% เรียนอย่างเดียวกัน รับรู้จินตภาพเมืองไทยอย่างเดียวกัน และเมืองไทยก็ดีอย่างว่า แต่แท้จริงแล้วดีหรือไม่เราก็ไม่รู้ ต้องอภิปรายถกเถียงกันต่อไป

ช่องทางที่สอง สื่อส่วนใหญ่ในไทยมาจากส่วนกลาง และบางส่วนสื่ออยู่ในการควบคุมของรัฐ ฉะนั้น “จิตภาพเมืองไทยนี้ดี” จึงเสนอมาอย่างต่อเนื่อง และได้ผลผ่านทางรายการต่างๆ เช่น เพลงก็ใช้ภาษา กรุงเทพฯ ภาษาภาคกลาง การแต่งตัวก็อาศัยวัฒนธรรมของภาคกลาง การนำเสนอปัญหาต่างๆ ก็สรุปอย่างตื้นเขินจนไม่มีทางให้คิดแตกหน่อออกผล จากรายการต่างๆ ก็ล้วนมอมเมาไม่สร้างสรรค์ เช่น รายการละครน้ำเน่าก็เสนอจินตภาพเรื่องชู้สาวเสียจนคนชมไม่คิดอะไรมากกว่านี้ และวัฒนธรรมที่เสนอก็วัฒนธรรมกรุงเทพฯ เสียอีก แล้วจะไม่ทำให้เมืองไทยไม่ดีได้อย่างไรกรอกหูทุกวันว่าดี

ช่องทางที่สาม หน่วยงานราชการ หรือเทวดาจากบนฟ้าเสียอีกออกมาแก้แล้ว ประชาชนไม่ต้องห่วง แล้วอย่างนี้คนเล็กคนน้อยในสังคมจะมีช่องว่างช่องไหนเล่าในการกลายเป็นผู้แสดงเองบ้างแทบไม่มีเลย จะมีก็พวกขูดต้นกล้วยหาหวยบ้าง บ้านนี้งูออกลูก 3 หัวบ้างละ พอได้แสดงก็ถูกตรีตราเสียอีกว่าแบบนี้ไม่พัฒนา ไม่ทันสมัย งมงาย ไม่ควรเชื่อ จินตภาพเมืองไทยนี้ดีก็มีผู้แสดงเมืองไทยไม่ดีเพื่อย้ำว่าเมืองไทยนี้ดีเสียอีก

ตัวแสดงทั้ง 3 ตัวที่ยกตัวอย่างถือว่ามีอิทธิพลอย่างสูงในการสร้างภาพเมืองไทยนี้ดี นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอีกหลายปัจจัยที่ช่วยสร้างภาพเมืองไทยนี้ดี เช่น นักวิชาการ งานเขียนต่าง ๆ ซึ่งจะไม่ขอกล่าวในที่นี้

จินตภาพ “เมืองไทยนี้ดี” บางครั้งสร้างความแตกแยก และบางครั้งนำมาสู่การแก้ปัญหาและสร้างปัญหาอีกปัญหาหนึ่ง บางครั้งยัดเหยียดคนบางกลุ่มให้กลายเป็นคนชายขอบ และเมืองไทยก็มิได้ดีเสียทุกอย่างดังที่เข้าใจกัน

จินตภาพของสังคมไทยที่ทำให้หยุด นิ่ง ตายตัว ทำให้ไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง เบียดขับ ผลักไส ให้ผู้คนจำนวนมากต้องกลายเป็นคนชายขอบ รวมถึงการพัฒนาที่เข้าข้างภาคเมือง และชนชั้นนำ ทำให้ “คนเล็กคนน้อย” ในสังคมเป็นคนที่ไม่มีตัวตน แม้ว่าสังคมไทยจะพัฒนาไปมากเท่าใดแแต่จินตภาพนี้ก็ยังคงอยู่ผ่านการกล่อมเกลาของการศึกษา สื่อ (ละครน้ำเน่าที่ทำให้เห็นความสวยงาม บรรเจิดของสังคมไทย โดยละทิ้งความขัดแย้งเชิงโครงสร้าง

 

เอกสารอ้างอิง

นิธิ เอียวศรีวงศ์.  (2557).  ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียนและอนุสาวรีย์ : ว่าด้วยวัฒนธรรม, รัฐ และรูปการจิตสำนึก.  กรุงเทพฯ : มติชน.

สายชล สัตยานุรักษ์.  (2545).  ความเปลี่ยนแปลงในการสร้าง "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" โดย

หลวงวิจิตรวาทการ.  กรุงเทพฯ: มติชน.  

______.  (2546).  สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ การสร้างอัตลักษณ์ "เมืองไทย" และ "ชั้น"ของชาวสยาม.  กรุงเทพฯ: มติชน.

______.  (2550).  โครงการ ประวัติศาสตร์วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทยของปัญญาชน (พ.ศ.2435-2535) : รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์.  กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

อคิน รพีพัฒน์, ม.ร.ว.  (2527).  สังคมไทยในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2325-2416.  กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ; มูลนิธิตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

อมรา   พงศาพิชญ์  และปรีชา  คุวินทร์พันธุ์,  บรรณาธิการ.  (2539).  ระบบอุปถัมภ์.  กรุงเทพฯ :

สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท