Skip to main content
sharethis

จากกรณีซีรีส์ 'สโนว์ดรอป' ที่จีซู แบล็กพิงค์นำแสดง เกิดการประท้วงว่าบิดเบือนประวัติศาสตร์ทำให้ฝ่ายรัฐบาลดูดีเกินจริงและให้ร้ายขบวนการประชาธิปไตย สู่การตีแผ่การประท้วงวงกว้างของคนเกาหลีเจนใหม่กับซีรีส์เรื่องอื่นๆ รวมถึงละครที่มีอิทธิพลและการบิดเบือนประวัติศาสตร์เพราะมาจากทุนจีนด้วย

"ตั้งแต่เมื่อศิลปินเริ่มสร้างอะไรขึ้นมาก็ตามโดยอ้างอิงจากประวัติศาสตร์ พวกเขาก็มีพันธกิจที่จะต้องเคารพในบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ และควรจะคำนึงถึงเสมอว่าข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ไม่ใช่ทรัพย์สินส่วนบุคคล แต่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่เป้นปากเสียงในเรื่องสิทธิมนุษยชนสำหรับมวลชน"

ข้อความนี้คือข้อความประท้วงที่ปรากฏบนหน้าจออิเล็กโทรนิคติดรถบรรทุกที่จอดอยู่หน้าสำนักงานของสถานีโทรทัศน์ JTBC ในกรุงโซล ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2564

สิ่งที่ผู้ประท้วงต้องการจะประท้วงในกรณีนี้ คือกรณีเกี่ยวกับละครซีรีส์เรื่อง "สโนว์ดรอป" (Snowdrop) ที่มีกำหนดการจะฉายในเดือน มิ.ย. ที่จะถึงนี้ มีเนื้อหาในเชิง "ให้ร้ายขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย" และทำให้รัฐบาลเผด็จการกับองค์กรข่าวกรองของเกาหลีใต้ที่เรียกว่า "หน่วยงานเพื่อการวางแผนความมั่นคงแห่งชาติ" (ANSP , 국가안전기획부) ดูเป็นฝ่ายดีผิดกับความจริง

สโนว์ดรอปคือซีรีส์ที่เล่าเหตุการณ์ในปี 2530 อันเป็นช่วงที่ขบวนการประชาธิปไตยในเกาหลีใต้เบ่งบานเพื่อต่อสู้รัฐบาลเผด็จการและมีอิทธิพลผลักดันจนมาเป็นสาธารณรัฐเกาหลีในแบบปัจจุบัน

เรื่องนี้ทำให้ชุมชนออนไลน์ที่เรียกตัวเองว่า "ประชาชนผู้ปกป้องประวัติศาสตร์" ที่มีสมาชิกอยู่มากกว่า 200 ราย ระดมทุนเพื่อเคลื่อนไหวประท้วงในเรื่องนี้

ผู้ประท้วงรายหนึ่งที่ใช้นามจอว่า Kim Ye-seo กล่าวว่า เธอได้ยินมาว่าตัวละครพระรองในเรื่องสโนว์ดรอปทำงานเป็นผู้บริหารระดับกลางใน ANSP ซึ่งถูกนำเสนอให้ดูเป็นคนที่มีความซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา Kim Ye-seo ระบุว่าที่เขาเข้าร่วมการประท้วงนี้กังวลเรื่องที่ทำให้ตัวละครที่ทำงานเป็นผู้จัดการ ANSP มีภาพลักษณ์เขิงบวก อาจจะทำให้คนเห็นอกเห็นใจการกระทำของเขา จนกลายเป็นการทำลายเจตจำนงของกระบวนการส่งเสริมประชาธิปไตยในเกาหลีใต้

ฝ่าย JTBC แถลงโต้ตอบกลุ่มผู้ประท้วงว่าพวกเขาได้เห็น "การบิดเบือนข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนเกี่ยวกับละครที่ยังไม่ได้ออกฉาย" นอกจากนี้ยังกล่าวว่าจะมีการเปลี่ยนชื่อของตัวละครหญิงอึนยองโชให้เป้นชื่ออื่นเพราะ "มีส่วนคล้ายกับนักกิจกรรมที่ชื่อ เชินยองโช" แต่เรื่องนี้ก็ไม่ทำให้ประชาชนเลิกสงสัยไม่ไว้วางใจหรือดับความไม่พอใจของพวกเขาได้

ไม่เพียงแค่ละครเรื่องนี้เท่านั้น การประท้วงของติ่งละครในเรื่องการบิดเบือนนั้นยังเคยเกิดขึ้นกับละครเรื่อง "โจซอน เอ็กซอซิสต์" จนกระทั่งทำให้ต้องยกเลิกฉายหลังจากที่ฉายเรื่องนี้ไปได้สองตอน

ความไม่พอใจ "โจซอน เอ็กซอซิสต์" นี้มาจากเรื่องที่มีการใช้ฉากจัดแสดงที่ได้รับอิทธิพลจากจีน และมีการเสิร์ฟอาหารจีนทั้งที่เป็นสมัยราชวงศ์โจซอน รวมถึงมีฉากที่พระราชาแทจองสังหารสามัญชนซึ่งชาวเกาหลีบางส่วนมองว่าเป็นการบิดเบือน

อีกซีรีส์หนึ่งที่อยู่ภายใต้การจับตามองของชาวซีรีส์คือ "อะชิมิ ไปกัล เทคคาจิ" ที่แปลว่า "จนกว่ารุ่งอรุณจะมาถึง" เรื่องนี้มีกำหนดการจะฉายในช่วงปี 2564 นี้ แต่ก็มีปัญหาตรงที่ว่าเป็นเรื่องที่ดัดแปลงจากนิยายจีนที่ชื่อ "ราตรีอันยาวนาน" ซึ่งเป็นนิยายที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นโฆษณาชวนเชื่อสนับสนุนรัฐบาลจีนภายใต้การนำของสีจิ้นผิง

โปรดิวเซอร์ของ "จนกว่ารุ่งอรุณจะมาถึง" ภาคเกาหลีบอกว่าพวกเขาจะปรับเปลี่ยนเรื่องเนื้อหาเกี่ยวกับ "สังคมนิยม คอมมิวนิสต์ และตัวละครที่ปรากฏในเรื่องต้นฉบับให้เข้ากับสถานการณ์ในเกาหลีใต้" และกล่าวถึงเนื้อหาว่า "เกี่ยวกับคนตัวเล็กๆ ที่โค่นล้มองค์กรที่มีอำนาจได้" 

แต่คำอธิบายนี้ก็ยังไม่สามารถขจัดความรู้สึกไม่ไว้วางใจจากชาวซีรีส์ได้ มีชาวซีรีส์ในชุมชนออนไลน์รายหนึ่งแสดงความคิดเห็นว่า ผู้เขียนนิยายต้นฉบับที่เอามาสร้างเป็นซีรีส์เป็นคนที่แสดงความคิดเห็นแย่ๆ ต่อผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง ถ้าหากพวกเขาต้องการจะปรับเปลี่ยนอะไรให้เข้ากับสถานการณ์ในเกาหลีใต้จริงๆ ทำไมถึงไปใช้นิยายที่ถูกกล่าวหาว่ายกย่องรัฐบาลสีจิ้นผิงตั้งแต่แรก

ข้อโต้แย้งเหล่านี้ทำให้โปรดิวเซอร์ที่ทำรายการเกี่ยวกับจีนเกิดความกังวล เช่น รายการ "เพื่อนร่วมห้องของฉันคือกูมิโฮ" ซึ่งเป็นรายงานเกาหลีรายการแรกที่สร้างโดยเว็บไซต์สตรีมวิดีโอ iQIYI มีกำหนดฉายบน tvN ในเดือน พ.ค.นี้ นอกจากนี้ยังมีละครที่สร้างจากนิยายจีนออนลไน์รวมถึงละครที่นำเสนอเรื่องรักสามเส้าระหว่างราชวงศ์จีนกับเกาหลีในช่วงสมัยกษัตริย์เซจอง แห่งราชวงศ์โจซอง

สื่อ Hankyoreh ระบุว่าข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการบิดเบือนประวัติศาสตร์ในละครเกาหลีไม่ใช่เรื่องใหม่ มีการตั้งคำถามแบบนี้เกิดขึ้นอยู่เสนอเวลาที่มีละครดราม่าอิงประวัติศาสตร์หรือละครแนวพีเรียดวางแผนออกอากาศ ข้อโต้แย้งเหล่านี้แทบจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้วในยุคสมัยที่ละครดราม่าอิงประวัติศาสตร์แบบ "ฟิวชั่น" (มีการผสมผสานทั้งเรื่องอิงประวัติศาสตร์และเรื่องแต่งลงไป) ได้รับความนิยมมากขึ้น

การที่เส้นแบ่งระหว่างประวัติศาสตร์ละเรื่องแต่งพร่าเลือนเช่นนี้ไม่ได้แค่สร้างปัญหาให้กับผู้จัดละครเท่านั้น แต่ยังสร้างปัญหาให้กับนักประวัติศาสตร์ด้วย เช่น ในเรื่อง "Deep Rooted Tree" ซึ่งเป็นละครอิงประวัติศาสตร์ที่ออกมาตั้งแต่ปี 2554 และแม้ว่าจะได้รับการชื่นชมเรื่องคุณภาพแต่ก็ถูกวิจารณ์เรื่องนำเสนอการเสียชีวิตขององค์ชายใหญ่กวางพยองแบบผิดๆ นักเขียนของเรื่องนี้บอกว่าพวกเขาวิจัยเกี่ยวกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์มาแล้วแต่พวกเขาก็ขอออกนอกทางเพื่อทำให้การนำเสนอธีมเรื่องดีขึ้น

มีบางกรณีที่ละครก็เปลี่ยนแปลงไปตามคำร้องเรียนของผู้ชม เช่น เรื่อง "กีซึงนัง จอมนางสองแผ่นดิน" (Empress Ki) ออกมาในปี 2556 ที่นำเสนอกษัตริย์ชุงเฮแห่งราชวงศ์โครยอให้ดูเป็นคนเด็ดเดี่ยวและมีความเป็นวีรบุรุษเต็มไปด้วยเสน่ห์ของความเป็นชาย แต่ในข้อมูลประวัติศาสตร์แล้วกษัตริย์ผู้นี้เป็นทรราชย์ที่มีพฤติกรรมชั่วช้าและเสื่อมทราม หลังถูกวิจารณ์ในเรื่องนี้โปรดิวเซอร์ละครก็เปลี่ยนให้ชุงเฮกลายมาเป็นตัวละครสมมุติที่ชื่อวังยูแทน

มีการตั้งข้อสังเกตจากคนที่ทำงานให้กับช่องโทรทัศน์ MBC ซึ่งเป็นผู้นำเสนอละครกีซึงนังในตอนนั้นว่า ในขณะที่มีข้อความทักท้วงเรื่องประวัติศาสตร์มาจากผู้ชมที่เป็นผู้ใหญ่แต่ก็มีคำวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องนี้มาจากกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้นด้วย

ศาสตราจารย์ด้านวรรณกรรมเกาหลีจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติชุงนัม ยุนซอกจิน กล่าวว่าความไม่พอใจมักจะมาจากเรื่องที่ประวัติศาสตร์เกาหลีถูกบิดเบือน วัฒนธรรมเกาหลีถูกฉวยใช้ในเชิงลดทอนคุณค่า สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงที่ประชาชนมีความอ่อนไหวในเรื่องประวัติศาสตร์อยู่แล้วจากกรณีที่หนังสือแบบเรียนของญี่ปุ่นมีการบิดเบือนประวัติศาสตร์ 

กระแสต้านจีน หลังจากที่บริษัทจีนเข้ามามีอิทธิพลต่อสื่อบันเทิงเกาหลีใต้

นอกจากปัจจัยที่ว่ามาแล้วสื่อยังมองว่ามาจากกระแสการต่อต้านจีนที่เกิดขึ้นในเกาหลีใต้หลังจากที่จีนพยายามปลุกความเป็นชาตินิยมในปี 2563 ด้วยการฉวยใช้แบบลดทอนชุดฮันบกซึ่งเป็นเครื่องแต่งกายดั้งเดิมประจำชาติเกาหลีและผักดองกิมจิซึ่งเป็นอาหารเกาหลี ในโครงการที่ชื่อว่านอร์ทอีสต์โปรเจกต์ เรื่องนี้เกิดขึ้นช่วงเดียวกับที่มีซีรีส์เกาหลีได้รับทุนจากนักลงทุนชาวจีนมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงมีการให้ความช่วยเหลือด้านโปรดักชั่นจากบริษัทจีนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ในกรณีของเรื่อง "โจซอนเอ็กซ์ซอซิสต์" นั้นมีหลายบริษัทเป็นผู้ให้ทุนทั้งบริษัทในเกาหลีและบริษัทจากจีน แต่ผู้ชมก็เน้นย้ำในเรื่องที่มีการถือหุ้นร้อยละ 5.78 โดยบริษัทวายจีเอ็นเตอร์เทนเมนต์ซึ่งเป็ยบริษัทแม่ของสตูดิโอเฟล็ก และเป็นการร่วมทุนกันระหว่างบริษัทจีนสองบริษัทคือเทนเซนต์และเว่ยอิง

ยุนซอกจินกล่าวว่าเรื่องนี้ทำให้ชาวเกาหลีเคลือบแคลงใจว่าซีรีส์เหล่านี้อาจจะเน้นผลิตโดยนึกถึงตลาดชาวจีนและชาวเอเชียเป็นหลักแทนที่จะเป็นชาวเกาหลี

อิทธิพลจีนยังสะท้อนออกมาในแง่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการใส่ผลิตภัณพ์จีนเข้าไปในฉากของซีรีส์ "ความลับของนางฟ้า" (True Beauty) ที่ออกอากาศใน tvN ในฐานะส่วนหนึ่งของสัญญากับสปอนเซอร์จีน ทำให้ในเรื่องนี้มีฉากที่ตัวละครทานหม้อไฟสำเร็จรูปที่ร้านสะดวกซื้อและมีโปสเตอร์ภาษาจีนอยู่ที่ป้ายรถเมล์

ละครอีกเรื่องหนึ่งคือ "วินเซนโซ ทนายมาเฟีย" (Vincenzo) ก็มีฉากที่ตัวละครเอกซงจุงกิทานบิบิมบับหรือข้าวยำ แต่เป็นข้าวยำในรูปแบบของจีนแทนที่จะเป็นข้าวยำเกาหลี เรื่องนี้ทำให้ผู้ชมรายหนึ่งตัดพ้อว่า "มันทำให้รู้สึกเหมือนถูกทำลายศักดิ์ศรีเมื่อได้เห็นซงจุงกิทานบิบิมบันที่มีภาษาจีนเขียนอยู่บนบรรจุภัณฑ์"

ละครวินเซนโซได้รับเงินค่าโฆษณาจากการใส่ผลิตภัณฑ์เข้ามาในแบบที่เรียกว่า "โปรดักเพลสเมนต์" นี้ถึง 200-300 ล้านวอน (ราว 5.6-8.4 ล้านบาท) แต่เมื่อมีข้อโต้แย้งในเรื่องนี้เกิดขึ้น โปรดิวเซอร์ก็ยกเลิกการใช้โปรดักเพลสเมนต์นี้แล้วลบฉากที่มีปัญหาออก

อีกกรณีหนึ่งที่ผู้ชมแสดงความไม่พอใจคือการที่ซีรีส์ "รหัสลับข้ามเวลา" (Sisyphus: The Myth) ที่ฉายช่อง JTBC มีการใช้ฉากส่วนใหญ่เป็นร้านค้าขายผลิตภัณฑ์จีนที่ชื่อ "เอเชียมาร์ท" โดยที่ผู้จัดซีรีส์นี้คือ JTBC สตูดิโอได้รับงานทุนจากบริษัทจีนเทนเซนต์ถึง 100,000 ล้านวอน (ราว 2,800 ล้านบาท)

นอกจากเรื่องที่ว่าชาวเกาหลีจะไม่ยอมให้ศักดิ์ศรีของประเทศตัวเองถูกขายทอดให้กับทุนนิยมจีนแล้ว การประท้วงละครเหล่านี้ยังสะท้อนอะไรบางอย่างในคนรุ่นใหม่ของเกาหลี นั่นคือการที่ซีรีส์เหล่านี้เผยแพร่ออกไปภายนอกเกาหลีพร้อมกับดารานักแสดงนำซึ่งเป็นที่นิยมในที่อื่นๆ ของโลก (เช่น จีซู จากวงแบล็กพิงค์รับบทนำในเรื่อง "สโนว์ดรอป") ทำให้ชาวเกาหลีกังวลว่าคนต่างประเทศจะรับรู้ประวัติศาสตร์เกาหลีแบบผิดๆ ได้ ผู้คนจึงหันมาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้

มีนักวิเคราะห์บางส่วน เช่น นักวิจารณ์บันเทิงเกาหลี คิมซุนยัง มองว่าคนรุ่นใหม่ในเกาหลีที่พวกเขาเรียกว่าคนรุ่น MZ (เกิดในช่วงระหว่างปี 2523 ถึงประมาณปี 2543) เป็นผู้นำการใช้โซเชียลมีเดีย มีการใช้โซเชียลฯ แสดงความคิดเห็นอย่างแข็งขันในฐานะเครื่องมือการแสดงออก คนกลุ่มนี้มีความห้าวหาญมากในการรณรงค์บอยคอตต์ทางโซเชียลมีเดียเมื่อใดก็ตามที่บริษัทร่วมกับอะไรที่ไม่เหมาะสมหรือในเรื่องอื่นๆ 

ในอีกมุมหนึ่งของฝ่ายผลิตละคร บรรยากาศของการผลิตรายการโทรทัศน์เกาหลีในตอนนี้เริ่มมีสเกลที่ใหญ่ขึ้นและยากขึ้นในการที่จะผลิตด้วยงบประมาณของช่องโทรทัศน์แต่เพียงอย่างเดียว ทำให้ผู้จัดมองการให้ทุนจากจีนว่าเป็นของขวัญจากสวรรค์ ทำให้เงินทุนจากจีนกลายเป็นมาตัวขับเคลื่อนให้เกิดการผลิตเนื้อหารายการโทรทัศน์เกาหลีใต้

สภาพการณ์เช่นนี้เองที่ทำให้เกิดการบิดเบือนเกิดขึ้นได้ เพราะผู้สร้างละครก็ต้องพยายามจัดทำเนื้อหาให้เข้ากับสนิยมของผู้ลงทุน การยอมตามเช่นนี้อาจจะส่งผลให้คนทั่วโลกได้รับข้อมูลที่ผิดๆ ได้ เช่นข้ออ้างที่ว่าขบวนการประชาธิปไตยกวางจูมีหัวหอกเป็นสายลับจากเกาหลีเหนือ

ขณะเดียวกันฝ่ายผู้จัดละครก็โต้แย้งว่าการทำให้ละครโทรทัศน์ต้องถูกถอดออกจากผังออกอากาศเพราะแรงกดดันจากผู้ชมนั้นอาจจะก่อให้เกิดอิทธิพลแบบเซนเซอร์ตัวเองในงานสร้างสรรค์ ทำให้ขาดโอกาสในการผลิตงานจนนำมาซึ่งการที่งานแนวอิงประวัติศาสตร์ลดลง ผู้จัดละครบอกอีกว่า "การวิจารณ์อย่างพอเหมาะพอควรนั้นเป็นเรื่องดี แต่มันไม่ใช่เรื่องดีถ้าหากคุณจะต้องเลิกผลิตงานไปเลยทั้งหมดเพรราะงบประมาณการลงทุนถูกตัดออกไป"

ทั้งนี้ ครูสอนประวัติศาสตร์ในโรงเรียนไฮสคูล ปาร์กมยองกู กล่าวว่าถึงความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องความแม่นตรงทางประวัติศาสตร์ว่า เป็นเพราะในหลายกรณีนักเรียนก็เชื่อในประวัติศาสตร์ที่ปรากฏในวิดีโอเกมหรือทีวีซีรีส์  ทำให้ในขณะที่พวกเขาต้องการละครหรือภาพยนตร์ที่ส่งเสริมให้คนสนใจและรู้สึกสนุกไปกับประวัติศาสตร์ แต่การเข้าถึงประวัติศาสตร์เหล่านี้โดยอาศัยความบันเทิงอย่างเดียวก็อาจจะกลายเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงได้

 

เรียบเรียงจาก

Vigilant TV fans take action against historical distortions, Hankyoreh, 11-04-2021
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net