Skip to main content
sharethis

ชาวบ้านหลายพันกลายเป็นผู้พลัดถิ่น และต้องหาที่หลบภัยริมแม่น้ำสาละวิน หลังทัตมาดอทิ้งระเบิดพื้นที่กองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง กองพล 5 อย่างต่อเนื่อง เครือข่ายภาคประชาชน ชี้กองทัพพม่าตั้งใจโจมตีเป้าหมายพลเรือน

 

29 เม.ย.2564 สำนักข่าวเมียนมา ‘Myanmar Now’ รายงานวันนี้ (29 เม.ย.64) ผู้อพยพจากรัฐกะเหรี่ยงกว่า 300 คน อพยพหนีความตายมาชายแดนไทย จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อหาที่หลบภัย เมื่อวันที่ 28 เม.ย.64 หลังจากกองทัพพม่า หรือทัตมาดอ เปิดปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ

เครือข่ายกะเหรี่ยงสนับสนุนสันติภาพ (Karen Peace Support Network-KPSN) รายงานผ่านสื่อออนไลน์เมื่อวันที่ 29 เม.ย.64 ระบุว่า กองทัพพม่าใช้เครื่องบินรบทิ้งระเบิดในเขตมือตรอ หรืออีกชื่อหนึ่งคือเขตผาปูน ระหว่างวันที่ 27-28 เม.ย.64  

มีการโจมตีหลายครั้งในบริเวณใกล้กับค่ายผู้พลัดถิ่นภายใน ‘อิตูทา’ (IDPs) ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับแม่น้ำสาละวิน KPSN กล่าง พร้อมระบุว่า เสียงระเบิดนั้นดังมาถึงฝั่งไทย

คะเนียวปอ สมาชิก KPSN และเลขานุการองค์กรสตรีกะเหรี่ยง (Karen Women’s Organization - KWO) กล่าวว่า ถ้ากองทัพพม่ายังโจมตีทางอากาศในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงต่อไป จะมีประชาชนประมาณ 7,000 คน ที่มาหลบภัยอยู่ริมแม่น้ำสาละวินฝั่งรัฐกะเหรี่ยง ต้องลี้ภัยเข้ามาในเขตแดนไทย

"เราต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และเราต้องการให้ทางการไทยเปิดรับและจัดเตรียมความช่วยเหลือให้ผู้พลัดถิ่นภายในที่กำลังหลบหนีอยู่" คะเนียวปอ กล่าว

เมื่อปลายเดือน มี.ค. กองทัพพม่าใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดในพื้นที่กองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ KNLA รัฐกะเหรี่ยง มากกว่า 20 ครั้ง มีรายงานผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 19 ราย และบาดเจ็บ 16 รายในการโจมตีทางอากาศ ตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค.-1 เม.ย.2564 ขณะที่กลุ่ม ฟรีเบอร์มาเรนเจอร์ หรือ FBR ซึ่งเป็นองค์กรช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม รายงานผู้บาดเจ็บจากการทิ้งระเบิดทางอากาศมากกว่า 40 ราย 

อ้างอิงการประมาณการของเครือข่าย KPSN ระบุว่า การโจมตีทางอากาศในเขตมือตรอ ร่วมกับการยิงปืนใหญ่ซึ่งมีขึ้นแทบจะทุกวันในเขตกองพล 5 KNLA ทำให้มีชาวบ้านพลัดถิ่นแล้วกว่า 45,000 คน และผู้พลัดถิ่นเกือบ 4,000 คน ขณะนี้ต้องหลบภัยอยู่ในเขตของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) เมืองญ่องเลปิ่น ในเขตพะโค และเมืองสะเทิม ในรัฐมอญ

ยังไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บในเขตมือตรอ หลังพม่าทิ้งระเบิดรอบล่าสุด แต่ตัวแทน KPSN กล่าวว่า การโจมตีตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค. เจาะจงไปที่เป้าหมายพลเรือนอย่างต่อเนื่อง  

“เขา (ผู้สื่อข่าว-กองทัพพม่า) พุ่งเป้าไปที่หมู่บ้าน ประชาชนต้องหลบตามถ้ำ ในหุบเขา และใต้หินผา หรือที่ไหนก็ตามที่เขาหาได้” คะเนียวปอ กล่าว พร้อมระบุว่า “เมื่อ 2 วันที่แล้ว พวกเขาโจมตีเป้าหมายตามพื้นที่หุบเขา ไม่ใช่หมู่บ้าน เราคิดว่าเขาเห็นรูปภาพ และรู้ว่าคนซ่อนอยู่ตรงไหน” 

คะเนียวปอ กล่าวเพิ่มว่า ทุกครั้งก่อนที่จะมีการโจมตี จะมีการใช้โดรน และเครื่องบินกองทัพลาดตระเวนในพื้นที่นั้นก่อน “ทั้งกลางวัน และกลางคืน ของทุกวัน”

ตัวแทนของ KPSN ให้สัมภาษณ์กับ Myanmar Now ระบุว่า พวกเขาจดบันทึกว่ามีเครื่องบินบินผ่านเหนือหมู่บ้านในภูมิภาคพะโค และรัฐกะเหรี่ยง เมื่อช่วงต้นเดือน เม.ย.

ภาพผู้ลี้ภัยจากรัฐกะเหรี่ยง (ที่มา Metta Charity)

ยังแน่ใจว่าผู้ลี้ภัยหลายร้อยคนจากค่ายอิตูทา ที่อพยพหนีความตายมาที่ จ.แม่ฮ่องสอน จะถูกทางการไทยผลักดันกลับประเทศเมียนมาหรือไม่ ซึ่งทางการไทยเคยผลักดันผู้ลี้ภัยจากรัฐกะเหรี่ยงกว่า 2,000 คน กลับไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปลายเดือน มี.ค.

ในครั้งนั้น สิทธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าจังหวัดแม่ฮ่องสอน แถลงว่า ผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา หรือ ผภสม. ที่พักอาศัยอยู่บริเวณริมแม่น้ำสาละวิน ในเขตประเทศไทย ที่บริเวณอุทยานท่าตาฝั่ง อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ได้เริ่มเดินทางกลับไปประเทศเมียนมาทั้งหมดโดยความสมัครใจ

อย่างไรก็ตาม องค์กรภาคประชาสังคมของไทย ‘เพื่อนไร้พรมแดน’ ออกมาวิจารณ์รัฐบาลไทย ละเมิดหลักจารีตประเพณีสากล ‘ห้ามผลักดันผู้ลี้ภัยกลับไปเผชิญอันตราย’ และตั้งข้อกังขากับวิธีการผลักดันผู้ลี้ภัยของรัฐไทยว่า อาจไม่ใช่โดย ‘สมัครใจ’ ของผู้ลี้ภัย 

คะเนียวปอ ตัวแทน KPSN กล่าวว่า “ชาวบ้านต่างหวาดกลัว และกังวลว่าพวกเขาจะถูกผลักดันกลับ ชาวบ้านอยากจะอยู่ที่ชายแดนไทยจนกว่าจะไม่มีการทิ้งระเบิด”

สมาชิก KPSN ระบุเพิ่มว่า ผู้ลี้ภัยจากอิตูทาใช้ที่กำบังจากผ้าใบกันฝนที่ได้รับบริจาคมาอยู่ในพื้นที่แรกรับของกองกำลังไทย พวกเขาอยู่ได้ด้วยเสบียงอาหารที่พวกเขานำติดตัวมาตอนที่หนีออกมาจากค่าย IDP และไม่สามารถเข้าถึงที่หลบภัยอื่นๆ และไม่ได้รับความช่วยเหลือตั้งแต่มาเหยียบที่ชายแดนไทย 

การโจมตีทางอากาศครั้งล่าสุดของกองทัพพม่าเกิดขึ้นหลัง KNLA สามารถยึดฐานซอแลท่า เขตมือตรอ ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามท่าเรือแม่สามแลบ ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 27 เม.ย.64 ในวันเดียวกัน KNLA กองพลที่ 5 สามารถบุกยึดฐานกองทัพพม่าที่เมนูทา ได้อีกด้วย

อนึ่ง รายงานจาก KPSN ระบุว่า มีฐานของกองทัพพม่าตั้งอยู่ ในเขตมือตรอ ประมาณ 80 แห่ง

 

แปลและเรียบเรียง

Hundreds seek refuge in Thailand following junta airstrikes in Karen State

 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net