Skip to main content
sharethis

'พวงทอง นักวิชาการรัฐศาสตร์ จุฬาฯ' ชี้ทางออกของปัญหา ม.112 คือต้องดึงนักการเมืองให้เดินทันมวลชน 'ยิ่งชีพ iLaw' เปิด 4 เรื่องแปลกคดี 112 ชี้แก้มาตรานี้ไม่ใช่แค่เรื่องกฎหมายแต่มันมีมิติทางการเมือง พลวัตในสังคมเป็นปัจจัยสำคัญ

29 เม.ย.2564 เครือข่าย People Go Network จัดกิจกรรมเสวนาหน้าศาล จากศาลอาญารัชดาในหัวข้อ "มาตรา 112 กับการรณรงค์ยกเลิก" ร่วมสนทนาโดยยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จาก โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และ พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.114) ที่เคยรณรงค์เข้าชื่อประชาชนเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ช่วงปี 2555 

ทั้งนี้ กลุ่ม People Go Network จัดงานเสวนาชุด "เสวนาหน้าศาล" ขึ้นทุกวัน ในเวลา 19.00 น. หลังเสร็จกิจกรรม ยืน หยุด ขัง ซึ่งจัดขึ้นทุกวันที่หน้าศาลอาญาระหว่างเวลา 17.30-18.42 โดย เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ จากเครือข่าย People Go Network ทำกิจกรรมอดอาหารที่หน้าศาลมาตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา และการเสวนาในวันนี้จัดขึ้นเป็นวันที่ 4 แล้วนั้น

'พวงทอง' ชี้ทางออกของปัญหา ม.112 คือต้องดึงนักการเมืองให้เดินทันมวลชน

พวงทอง เริ่มต้นโดยกล่าวถึง สเตตัสที่เคยเขียนบนเฟซบุ๊กเกี่ยวกับเรื่องการมีจุดยืนที่ต่างจากอำนาจรัฐของศาลในต่างประเทศว่า เรามักเคยได้ยินประชาชนด้วยกันเรียกร้องกันเองว่าให้ทุกคนที่เห็นต่างกัน อยู่ร่วมกันได้โดยไม่ต้องฆ่าแกงกัน การเรียกร้องลักษณะนี้กับคนที่ถืออำนาจดูจะเป็นเรื่องยาก เพราะเรากำลังบอกให้พวกเขาเลิกคิดว่าจะปกป้องระบบระบอบโดยไม่สนใจประชาชน โดยสามัญสำนึกข้อเรียกร้องนี้อาจดูเป็นเรื่องพื้นฐานและไม่น่าใช่เรื่องที่เข้าใจยาก แต่สำหรับกลไกรัฐอย่างกระบวนการยุติธรรมมันคือเรื่องที่ยากเพราะพวกเขาถือว่าตัวเองคือกลไกสำคัญที่จะพิทักษ์ไว้ซึ่งระบบ ระบอบ พิทักษ์ไว้ซึ่งรัฐ ซึ่งในทางหนึ่งการคงอยู่ของระบบระบอบเหล่านี้คือสิ่งที่ประกันชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของพวกเขาเอง

การเรียกร้องให้คนในกระบวนการยุติธรรมเห็นต่างจากรัฐหรืออำนาจอื่นเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน สำหรับคนในกระบวนการยุติธรรมก็คงเป็นเสือนการเรียกร้องให้พวกเขาเป็นขบถซึ่งคงยากที่จะเกิดขึ้น แต่เมื่อคนในกระบวนการยุติธรรมไม่มีความกล้าหาญนั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชนก็จะถูกกดทับอยู่เรื่อยไป

ในสังคมใหญ่ เราเจอกับกลุ่มคนที่มีความเห็นต่างจากเราแบบสุดขั้ว มองทุกอย่างต่างกันชนิดที่เหมือนกับเราอยู่ในโลกคู่ขนานหรือโลกคนละใบ ในห้องพิจารณาคดีก็เหมือนกัน มันเป็นเสมือนโลกขนานที่ถูกย่อส่วนลง

ในขณะที่เราเรียกร้องสิทธิการประกันตัวของผู้ถูกกล่าวหาที่ยังไม่ถูกตัดสินว่ามีความผิด ในขณะที่เราคำนึงว่าการกระทำของพวกเขามีข้อเท็จจริงรองรับไหม สิ่งที่คนในกระบวนการยุติธรรมคิดกับคดีมาตรา 112 มันต่างไปโโยสิ้นเชิง พวกเขาไม่ได้สนข้อเท็จจริง พวกเขาสนแค่ว่าสิ่งที่คนเหล่านี้ทำกระทบต่อระบบระบอบที่เขาสมาทานตัวว่าเป็นผู้พิทักษ์หรือไม่ และคงไม่แปลกที่เมื่อกฎหมายมาตรา 112 อยู่ในหมวดความมั่นคง เมื่อมีคนวิจารณ์สถาบันฯก็ถือว่าไปกระทบกับความมั่นคงเมื่อเป็นเช่นนั้นก็คงไม่ต้องสนใจว่าสิ่งที่เขาพูดจะเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ ดังเช่นกรณีของคุณเอกชัยที่ถูกดำเนินคดีเพราะขายซีดีสารคดีจากต่างปแระเทศกับเอกสารของวิกิลีกส์

พวงทอง กล่าวต่อว่า คุณเอกชัยเคยขอให้เรียกตัวองคมนตรีมาเป็นพยานในศาลเพื่อยืนยันว่าเขาพูดกับทูตดังที่เอกสารวิกิลีกส์ระบุหรือไม่ ศาลก็บอกว่าไม่ต้องสืบในประเด็นนั้นเพราะสิ่งที่พูดต่อให้จริงก็ผิด กับคดีมาตรา 112 ข้อเท็จจริงดูจะไม่สำคัญแม้ว่ามันจะเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของสาธารณะก็ตาม เพราะในทรรศนะของรัฐการวิจารณ์สถาบันถือสิ่งที่อันตรายที่สุด การฆ่าคนอาจทำให้คนคนหนึ่งหรือคนหลักสิบคนตาย แต่การวิจารณ์สถาบันที่รัฐมองว่าเป็นอาชญากรรมทางความคิด อันตรายกว่าเพราะคุณอาจเปลี่ยนคนหลักร้อยหลักพันได้ ระบอบจะอยู่ไม่ได้หากคนเลิกจงรักภักดี เราจึงได้เห็นสถานะพิเศษของมาตรา 112 ในขณะที่กฎหมายอื่นคุณจะเป็นเป็นผู้บริสุทธิ์ก่อนถูกพิสูจน์ว่ามีความผิด แต่กับมาตรา 112 แค่พูดออกมาหรือแสดงออกมามันก็ผิดไปก่อนแล้ว จึงไม่แปลกที่เขาจะกำหนดเงื่อนไขประกันตัวในลักษณะว่าห้ามทำอีก ก็เพราะเขาตัดสินไปแล้วว่าสิ่งที่ทำมันผิด ขณะที่กรณีของกปปส.แม้จะถูกตัดสินว่ามีความผิดแต่ก็ได้ประกันตัวเพราะถูกมองว่าเป็นการก่อความวุ่นวายแต่ไม่เป็นอันตรายเพราะเป็นการต่อสู้เพื่อรักษาระบอบเดิม

พวงทอง ระบุว่าการชุมนุมหน้าศาลที่เกิดขึ้นในวันนี้ หรือการวิพากษ์วิจารณ์ศาลที่เกิดขึ้นเป็นระยะก่อนหน้านี้นับเป็นความพยายามที่ดีแต่คงยากที่ศาลจะฟัง ที่ผ่านมาเคยมีเหตุการณ์ของอดีตผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ ที่เคยแสดงเพื่อสะท้อนปัญหาของกระบวนการยุติธรรม ปรากฎว่าเขาถูกโดดเดี่ยวโดยเพื่อนร่วมอาชีพ ไม่มีใครออกมาปกป้องเขาจนสุดท้ายเขาก็ตัดสินใจฆ่าตัวตายอีกครั้งจนสำเร็จ ซึ่งการกระทำอย่างเด็ดเดี่ยวของเขามันก็คือการประจานระบบยุติธรรมให้อายแต่ก็ไม่แน่ใจว่าระบบยุติธรรมจะอายจริงไหม

การเปลี่ยนแปลงภายในของกระบวนการยุติธรรมคงไม่เกิดขึ้นแบบทันทีทันใด การกระทำของผู้พิพากษาคณากร รวมถึงการอดอาหารรวมถึงการยืนหยุดขังที่เกิดขึ้น ล้วนเป็นความ พยายามในการ shaming กระบวนการยุติธรรม แน่นอนเราไม่อาจหวังได้ว่าคนในกระบวนการยุติธรรมจะเป็นผู้ริเริ่มเปลี่ยนแปลง เราเห็นบทเรียนในอเมริกาใต้ที่ตอนเผด็จการทหารในอาร์เจนตินาเรืองอำนาจศาลก็เป็นกลไกรับใช้ที่สำคัญ กระทั่งเมื่อเผด็จการพ้นจากอำนาจเพราะไม่สามารถจัดการกับปัญหาเศรษฐกิจได้ ศาลก็เริ่มเปลี่ยนท่าทีจนนำไปสู่การนำเอาทหารที่เกี่ยวข้องกับการเข่นฆ่าอุ้มหายประชาชนมาลงโทษ แต่แน่นอนไม่มีคนในกระบวนการยุติธรรมที่เคยเป็นเครื่องมือของเผด็จการทหารถูกลงโทษ จึงเชื่อว่าในกรณีของไทยหากการเมืองเปลี่ยน คนในกระบวนการยุติธรรมที่หูไวตาไวก็จะเปลี่ยนท่าทีไปและแน่นอนท้ายที่สุดอาจมีเจ้าหน้าที่รัฐทหาร ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่อื่นๆถูกลงโทษ จากการละเมิดสิทธิประชาชนแต่คงไม่มีคนในกระบวนการยุติธรรมที่ถูกลงโทษไปด้วย

พวงทอง กล่าวอีกว่า เมื่อพูดถึงแนวทางการแก้ปัญหาหรือความเป็นไปได้ในการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 พวงทองระบุว่าก่อนหน้านี้ครก.112 เคยมีความพยายามที่จะเสนอให้มีการแก้ไขมาตรา 112 และก็สามารถรวบรวมรายชื่อผู้สนับสนุนร่างกฎหมายได้มากกว่า 20000 คน แต่ปรากฎว่าสภาก็ปัดตกทันที แต่ถึงกระนั้นกลไกในสภาก็ยังเป็นสิ่งสำคัญเพราะเป็นช่องทางเดียวที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโดยสันติ สิ่งหนึ่งที่จะพอทำได้คือต้องสนับสนุนพรรคการเมืองและนักการเมืองที่กล้าที่จะพูดหรือผลักดันการแก้ปัญหา ส่วนคนที่สนับสนุนพรรคการเมืองอื่นคุณไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนพรรคที่สนับสนุนแต่สิ่งที่คุณทำใดคือเรียกร้องให้นักการเมืองก้าวหน้าขึ้นมาทัดเทียมกับประชาชนอย่างสมัยคนเสื้อที่แดงคนเสื้อแดงเองก็ดูจะมีความก้าวหน้ากว่านักการเมืองพรรคเพื่อไทย นอกจากนั้นการหาความพยายามที่จะพูดคุยกับคนที่อยู่ใน "โลกคู่ขนาน" ก็มีความสำคัญอยู่ไม่น้อย ซึ่งทางหนึ่งก็ต้องสื่อสารให้เขาเห็นว่าประเด็นของสถาบันฯ กระทบต่อผลประโยชน์สาธารณะ อย่างกรณีงบปกป้องหรือส่งเสริมสถาบันที่หน่วยราชการมักนำไปทำกิจกรรมหรือสร้างซุ้มเฉลิมพระเกียรติต่างๆ ซึ่งมีกฎว่าต้องไม่ให้ชำรุดหรือเก่า เปิดช่องให้มีการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง บางทียังไม่ทันเก่าหรือชำรุดก็เบิกงบมาซื้อใหม่ งบเหล่านี้จึงเพิ่มขึ้นทุกปีๆ โดยไม่ได้คำนึงถึงช่วงเวลาที่ประชาชนประสบปัญหาอย่างเช่นช่วงเวลานี้ หากสามารถวิจารณ์เรื่องเหล่านี้ได้อย่างตรงไปตรงมาก็ย่อมส่งผลกระทบในทางบวกต่อประชาชนแต่ก็ยอมรับว่าการไปคุยกับคนในจักรวาลคู่ขนานคงไม่ง่ายและต้องใช้เวลา

'ยิ่งชีพ' เปิด 4 เรื่องแปลกคดี 112 ชี้แก้มาตรานี้ไม่ใช่แค่เรื่องกฎหมายแต่มันมีมิติทางการเมือง พลวัตในสังคมเป็นปัจจัยสำคัญ

ยิ่งชีพ ระบุว่า การดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เท่าที่ติดตามเกิดขึ้น 3 ระลอกใหญ่ๆ ระลอกแรกคือช่วงการชุมนุมคนเสื้อแดงปี 52 - 53 ระลอกที่สองคือช่วง คสช.ยึดอำนาจ และระลอกที่สามคือหลังเดือนพ.ย.ปี 63 หลังคุณประยุทธ์แถลงว่าจะใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตรา ซึ่งในระลอกที่สามนี้ เราเห็นเรื่องแปลกๆ หลายอย่าง เรื่องแรก ตั้งแต่ปี 2561 มีการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายมาตรา 112 ถูกยุติการบังคับใช้ไป เรื่อยมาจนปี 63 ไม่ว่าใครจะพูดอะไรก็ไม่มีคดีนี้ แต่พอหลังคุณประยุทธ์ออกมาพูดกลายเป็นคดีที่เกิดขึ้นก่อนนั้นแล้ว เช่น คดีการชุมนุม 19 กันยา ก็มาย้อนตั้งข้อหา 112 ตามหลัง

แปลกที่สองคือสมัยคสช.ช่วงเวลาประมาณสามถึงสี่ปี มีคนโดนคดีนี้ไป 98 คน แต่ในระลอกที่สามนี้ ภายในช่วงเวลาเพียงสามถึงสี่เดือนมีคนถูกตั้งข้อหาไปแล้ว 88 คน เกือบเท่าจำนวนของตลอดยุคคสช. แล้วเราก็ได้เห็นการขยายตัวของการบังคับใช้ทั้งในแง่การตีความที่กว้างขึ้น และจำนวนคดีที่เพิ่มขึ้น

แปลกที่สาม มันเหมือนเขาจะรู้อะไรๆล่วงหน้ากันแล้ว อย่างวันที่ทนายอานนท์ นำภา สมยศ พฤกษาเกษมสุข เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ และปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หมอลำแบงค์ไปรายงานตัว ทุกคนก็ไปตามปกติคิดว่าเส็จกระบวนการก็กลับบ้าน ปรากฏว่าพอไปถึงหน้าอัยการ คฝ (เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน) เต็มเลยแล้ววันนั้นก็ไม่ได้ประกัน ไม่ได้กลับบ้าน แล้วพอวันอื่นพอไม่มีเจ้าหน้าที่คฝ. คนที่ไปพบอัยการหรือไปศาลก็ไม่ถูกฟ้องหรือได้ประกัน ก็เลยมีข้อสังเกตล่วงหน้าว่าต่อไปนี้ถ้าเห็นการจัดกำลังก็เดาได้เลยว่าต้องเข้าคุก หรือกรณีของฟ้าพรหมศร ที่พอเข้าเรือนจำเจ้าหน้าที่บอกรออยู่ตั้งแต่บ่ายแล้วทั้งๆ ที่ตอนบ่ายตัวฟ้าเพิ่งไปถึงสน.กลายเป็นว่าคนในเรือนจำรู้แล้ว คนในกระบวนการยุติธรรมอื่นๆรู้แล้ว แต่ตัวผู้ต้องหาไม่รู้

แปลกที่สี่คือเรื่องการประกันตัว อย่างคดี 19 กันยา สมยศ หมอลำแบงค์ แล้วก็ไผ่ ยื่นประกันตั้งแต่วันที่ 5 เมษาแต่ศาลบอกยังไม่สั่ง ค่อยไปสั่งวันที่ 9 เมษา แล้วพอถึงวันที่ 9 ก็ยังเปลี่ยนเวลานัดอีกสามครั้ง ซึ่งก็สงสัยว่าทำไมต้องรอข้ามวัน อย่างวันนี้ก็เหมือนกัน ตอนแรกพอเห็นคนมาชุมนุมก็บอกจะเลื่อนไปอ่านคำสั่งวันพรุ่งนี้ แต่พอเห็นคนที่มาชุมนุมประกาศจะค้างรอในศาลก็มาเปลี่ยนเป็นว่าอ่านคำสั่งเลย ซึ่งปกติการตัดสินใจให้ประกันไม่ให้ประกันก็ไม่น่าจะต้องใช้เวลานาน คดีปกติก็มักจะมีคำสั่งภายในวันเดียวกัน แต่พอเป็นคดี 112 เราก็ได้เห็นอะไรแปลกๆอย่างการนัดมาฟังคำสั่งอีกสามสี่วันให้หลังหรือการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาว่าจะอ่านคำสั่งวันไหนกันแน่

ความแปลกนี้ ผู้พิพากษาคณากรดูจะทำมันให้กระจ่างด้วยชีวิตของเขา ก็คือออกมาเปิดเผยเรื่องการส่งสำนวนให้ผู้ใหญ่พิจารณา ทำให้เราได้รู้ว่าผู้พิพากษาที่นั่งฟังการสืบพยาน ได้เห็นการทำข้อเท็จจริงให้ปรากฎ ไม่ได้เป็นคนมีอำนาจในการตัดสินคดีอย่างแท้จริง ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่รู้ว่าการทำข้อเท็จจริงให้ปรากฎมันจะมีประโยชน์อะไร

ยิ่งชีพ กล่าวต่อว่า เรื่องการประกันตัวคดี ม.112 เท่าที่เห็นมาคนที่ได้ประกันตัวมักจะต้องยอมแลกกับอะไรบางอย่าง เช่น หมอลำแบงค์ ยอมรับเงื่อนไขของศาลทุกอย่างจะไม่ร่วมชุมนุม ไม่แสดงออกทางการเมืองหรือร่วมชุมนุมที่ทำให้สถาบันเสียหาย ซึ่งเชื่อว่าหากศาลไม่ตั้งเงื่อนไขแบบนี้ เราก็อาจเห็นหมอลำแบงค์มาร้องหมอลำวันนี้ กรณีของสมยศและไผ่ ก็ยอมรับเงื่อนไขว่าจะไม่แสดงออกในลักษณะที่ทำให้สถาบันเสื่อมเสีย แต่ยังชุมนุมวิจารณ์รัฐบาลได้ สิ่งนี้ทำให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมมันบีบให้คนต้องยอมทิ้งอะไรบางอย่างไปเพื่อแลกกับอิสรภาพ หมอลำแบงค์ต้องยอมแพ้ทางการเมือง สมยศกับไผ่ ต้องยอมรับเงื่อนไขบางอย่าง แต่ก็น่าสนใจเหมือนกันว่ากรณีของฟ้าที่ก็แถลงว่ายอมรับเงื่อนไขแล้วแต่กลับไม่ได้รับการประกันตัว ส่วนไมค์ที่ได้ไปเจอมาในเรือนจำก็บอกว่ามีคนมาถามเหมือนกันว่าจะยอมรับเงื่อนไขหรือไม่ซึ่งไมค์ก็ไม่ยอม ไมค์บอกว่าเขาทิ้งมวลชนไม่ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ทำให้เห็นได้ชัดว่ามาตรา 112 มันไม่ใช่การบังคับใช้กฎหมายตามปกติแต่มันเป็นการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมือง ซึ่งก็เชื่อว่าคนในกระบวนการยุติธรรมก็รู้เรื่องนี้อยู่แก่ใจ แต่อาจเป็นเพราะความกลัวอะไรบางอย่างก็เลยยอมให้เป็นแบบนี้ ซึ่งอยากบอกว่าประชาชนก็เข้าใจและเห็นใจคนในกระบวนการยุติธรรม แต่ถ้าคนในกระบวนการยุติธรรมเองไม่ลุกขึ้นมาปกป้องศักดิ์ศรีของตัวเอง ประชาชนก็คงช่วยอะไรไม่ได้

ยิ่งชีพ กล่าวว่า ปัญหามาตรา 112 เชื่อว่าถึงวันนี้ก็คงเป็นที่รับรู้โดยทั่วไปแล้ว ซึ่ง ส.ส.พรรคก้าวไกลเคยเสนอแก้ไขมาตรา 112 พร้อมกับทำข้อเสนอเพื่อการปรับปรุงกฎหมายหมิ่นประมาทใหม่ทั้งระบบ แต่ข้อเสนอนี้สภามีมติไม่รับไปแล้วโดยระบุว่าการแก้ไขมาตรา 112 ถือเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ เท่ากับว่ากระบวนการแก้ไขปัญหาตามระบบอย่างเป็นทางการถูกปิดทางไปแล้ว คงคล้ายๆ สมัยที่ ครก.112 เคยเข้าชื่อเสนอแก้ไขมาตรา 112 แล้วประธานสภาปัดตกโดยบอกว่าเป็นกฎหมายหมวดพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่กฎหมายหมวดสิทธิเสรีภาพที่ประชาชนมีสิทธิแก้ การปักดตกทั้งสองรอบเป็นเรื่องที่เข้าใจได้เพราะมาตรา 112 มันไม่ใช่แค่เรื่องกฎหมายแต่มันมีมิติทางการเมือง ซึ่งการจะแก้ไขกฎหมายแบบนี้พลวัตในสังคมเป็นปัจจัยสำคัญ ทุกวันนี้คนที่อยู่ในจักรวาลคู่ขนานเขาอาจแค่ติดใจท่าทีของนักปราศรัยอย่างเพนกวิน ผู้ใหญ่คนหนึ่งที่ยิ่งชีพนับถือเองก็ไม่เห็นด้วยกับกลุ่มราษฎรแต่เมื่อได้ฟังข้อเรียกร้องหรือประเด็นที่มายด์ ภัสราวลีปราศรัยเขาก็ตั้งคำถามว่ามันผิดได้อย่างไร

ยิ่งชีพทิ้งท้ายว่าท่าทีของคนรู้จักที่เขายกมาทำให้เห็นว่าหากเราสามารถหาช่องทางสื่อสารหรือรูปแบบการสื่อสารที่ดี การพูดคุยกับคนในโลกคู่ขนานก็อาจยังพอเป็นไปได้ และอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพราะท้ายที่สุดหากพลวัตของสังคมเปลี่ยนไป ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็จำเป็นต้องปรับตามและไม่อาจฝืนกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net