Skip to main content
sharethis

'ราษฎร' เดินทะลุฟ้า ถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแล้ว ตั้งเวทีปราศรัยประเด็นปัญหารัฐบาลประยุทธ์ รัฐธรรมนูญ ยกเลิก ม.112 และเรียกร้องให้ปล่อยผู้ต้องขังทางการเมือง 

7 มี.ค.2564 ความคืบหน้ากิจกรรมราษฎรเดินทะลุฟ้ารวมระยะทาง 247.5 กม. จาก จ.นครราชสีมาถึงกรุงเทพฯ ที่นำโดย จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน และ People Go Network วันนี้ (7 มี.ค.64) เวลา 15.25 น ขบวนเดินถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยซึ่งเป็นจุดหมาย เพื่อตั้งเวทีปราศรัยช่วง ตั้งแต่เวลา 17.00-21.00 น. ในประเด็นปัญหารัฐบาลประยุทธ์ รัฐธรรมนูญ ยกเลิก ม.112 และเรียกร้องให้ปล่อยผู้ต้องขังทางการเมือง

สำหรับวันนี้เป็นการเดินวันสุดท้ายตั้งแต่ช่วงสายของวัน จากแยกเกษตรฯ โลตัสลาดพร้าว, บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ สะพานควาย อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยเวลา 13.30 น. เริ่มตั้งขบวนเดินจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเข้าสู่ ถ.พญาไท มุ่งหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จนถึงเวลา 15.25 น ขบวนเดินถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยซึ่งเป็นจุดหมาย 

เวลา 16.00 น. ประชาชนปิดถนนราชดำเนินฝั่งแยกคอกคอกวัวมุ่งหน้าแยกผ่านฟ้าลีลาศได้สำเร็จ โดยปิดถนนตั้งแต่แยกคอกวัวถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

เวลา 16.03 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน. สำราญราษฎร์ และ สน.ชนะสงคราม ประกาศขอให้ประชาชน และทีมขบวนการเดินทะลุฟ้าฯ ยุติการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เนื่องจากกำลังฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.ควบคุมโรค ขณะที่ฝั่งผู้ชุมนุมยืนยันจัดกิจกรรมต่อ พร้อมกับประกาศว่าถ้าจะสลายทุกคนจะนั่งลง

ขณะที่สำนักข่าว Isaan Recorder รายงาน ไผ่ ดาวดิน ปราศรัยผ่านเครื่องเสียงว่า การออกมาครั้งนี้เป็นการออกมาเพราะมีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น ซึ่งสังคมไม่ควรอยู่นิ่งเฉย แต่ควรออกมาร่วมด้วยช่วยกันเพื่อให้สังคมน่าอยู่กว่านี้

“พวกเราต้องขอโทษพี่น้องที่ใช้ถนนด้วย แต่ความลำบากนี้ก็ยังไม่เท่าพี่น้องบางกลอย (จ.เพชรบุรี) ไม่เท่ากับคนที่ติดคุก เพราะการทำแบบนี้รัฐไทยกำลังทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคน” ไผ่ ดาวดิน กล่าว

เวลา 18.35 น. หลังการแสดงของวง Hope Family ต่อด้วยการแสดง ‘ราษฎรลุยไฟ’ และ ‘สีดาลุยไฟ’ โดยเฟมินิสต์ปลดแอก และเล่นทำนองดนตรีโดยคณะราษดรัม โดยการแสดง ‘ราษฎรลุยไฟ’ เพื่อสื่อถึงความอัดอั้นตันใจของราษฎรที่โดนกดขี่โดยรัฐบาล ขณะที่การแสดง ‘สีดาลุยไฟ’ เป็นการแสดงเพื่อรณรงค์ปฏิเสธ Rape Culture (วัฒนธรรมการข่มขืน) ซึ่งไม่ได้เกิดได้แค่กับผู้หญิง แต่กับผู้ชายด้วยเช่นกัน และพวกเธอยังเรียกร้องให้ยุติการโทษเหยื่อในเรื่องการทำให้เกิดการข่มขืน นอกจากนี้ ถ้ามีผู้ใดประสบกับการล่วงละเมิดทางเพศในที่ชุมนุม หรือที่อื่น ๆ สามารถมาแจ้งและปรึกษาได้กับทีม Secure Ranger หรือหน่วยพิทักษ์ความปลอดภัย ที่ก่อตั้งโดยเฟมินิสต์ปลดแอก เพื่อช่วยดูแลความปลอดภัยทางจิตใจแก่ผู้ร่วมชุมนุม

นอกจากนี้ตามกำหนดการยังมีการปราศรัยและการแสดงดนตรีจากหลากหลายวง เช่น วงสามัญชน และ Rap against Dictatorship หรือ RAD โดยไฮไลท์อยู่ช่วงท้ายสุดจะมีการร้องเพลง ‘ถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง’ โดย RAD ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งที่พิเศษ เพราะเพลง ‘ถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง’ จะมีการปรับเนื้อร้องเพลงของแอมมี่ The Bottom Blue แต่จะเป็นอย่างไรนั้น พิธีกรการปราศรัยขออุบไว้ก่อน อยากให้ประชาชนอยู่ฟังจนจบงาน

ทั้งนี้ การจัดกิจกรรม ‘เดินทะลุฟ้า คืนอำนาจให้ประชาชน’ วันนี้เป็นวันที่ 18 และเป็นวันสุดท้ายของการทำกิจกรรม โดยทีมเดินทะลุฟ้าฯ เดินรณรงค์เป็นระยะทางกว่า 247.5 กม. จากจุดเริ่มต้น ลานย่าโม จังหวัดนครราชสีมา จนถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กทม.

การเดินรณรงค์ครั้งนี้ เพื่อเรียกร้องให้ 1. มีการปล่อยตัว 4 นักกิจกรรมที่กำลังถูกคุมขังในช่วงระหว่างพิจารณาคดี มาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์มาเกือบครบ 1 เดือนแล้ว โดยผู้ถูกขังทั้งหมด ประกอบด้วย พริษฐ์ ชีวารักษ์ หรือเพนกวิน จากแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือหมอลำแบงค์, สมยศ พฤกษาเกษมสุข และ อานนท์ นำภา 2. เรียกร้องการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ 3. ยกเลิกการใช้มาตรา 112 และสุดท้าย 4. ประยุทธ์ และองคาพยพต้องลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองทั้งหมด

ขายบริการทางเพศ อาชีพที่ถูกกดทับคุณค่าความเป็นมนุษย์

สมาชิกกลุ่มเอ็มพาวเวอร์ (Empower) เชิญชวนประชาชนที่มาร่วมกิจกรรมเดินทะลุฟ้า เข้าชื่อเสนอกฎหมายยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 สมาชิกคนหนึ่งกล่าวว่า พนักงานบริการเราถูกบุกทลาย ถูกล่อซื้อ ถูกจับ และไม่ได้รับความเป็นธรรมจาก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 แม้จะมีเจตนาเพื่อคุ้มครองพนักงานบริการ แต่กลับไม่ได้รับการคุ้มครองตามเจตนารมณ์ขอกฎหมาย เจ้าหน้าที่เอาแต่ลงโทษ จับ ปรับ

สมาชิกรายนี้เล่าต่อว่า กฎหมายฉบับนี้มีมานานแล้วแต่ไม่ได้ปรับปรุงให้ดีขึ้น ขณะที่พนักงานบริการมีมากขึ้นเรื่อยๆ แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังคงจับ ปรับ ปล่อย และเก็บส่วยจากพนักงานบริการ เราจึงเรียกร้องให้ประชาชนมาร่วมกับเรา ยกเลิก พ.ร.บ. ฉบับนี้ เพื่อให้พวกเราเข้าถึงสิทธิแรงงานเหมือนพนักงานอื่นๆ ทั่วไป

“เราต้องการ 10,000 รายชื่อ ตอนนี้ได้มาแล้ว 5,112 รายชื่อ เหลืออีกครึ่งทาง จึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนร่วมเป็นหนึ่งเสียง เราเข้าใจนะคะว่าอาชีพนี้หลายคนก็ไม่ชอบ เราก็ไม่ได้ขอให้คุณชอบ เพียงแต่เราไม่อยากเป็นอาชญากรอีกต่อไปแล้ว เราไม่อยากถูกจับ หรือเป็นช่องโหว่ให้เจ้าหน้าที่คอร์รัปชั่น เราอยากให้เงินคอร์รัปชั่นส่วนนี้ใช้เป็นภาษีสังคมมากกว่า” สมาชิกกลุ่มเอ็มพาวเวอร์กล่าว

สมาชิกเอ็มพาวเวอร์กล่าวต่อว่า พนักงานบริการเราเลือกแล้วว่าเราก็เป็นประชาชนคนหนึ่ง เป็นราษฎรเหมือนกับประชาชนทุกคนเหมือนกัน ที่ออกมาร่วมเดินทะลุฟ้าเพราะเห็นว่าเป็นการเรียกร้องสิทธิเหมือนกัน พนักงานบริการเรียกร้องสิทธิของตนเอง โดยการยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ส่วนประชาชนก็เรียกร้องให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เราต่างก็อยากยกเลิกกฎหมายเหมือนกัน

ส่วนคนที่มาร่วมลงชื่อยกเลิกกฎหมายอย่าง "พาย"(นามสมมติ) อายุ 22 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งก็มองว่าการประกอบอาชีพควรเป็นสิทธิพื้นฐานถ้าอาชีพนั้นไม่ได้ไปเบียดเบียนใครหรือผิดกฎหมาย และเขาคิดว่าการการขายบริการทางเพศควรทำให้เป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะแม้ประเทศไทยจะอ้างเรื่องศีลธรรมแต่ว่าก็เห็นกันอยู่ว่ามีคนทำอาชีพนี้เป็นอันดับต้นๆ ในอาเซียน

“อาชีพนี้มันโดนกดมานานแล้วในเรื่องของคุณค่าความเป็นมนุษย์เพราะฉะนั้นเนี่ยทางที่ดีก็ควรจะทำให้อาชีพนี้ทำได้ไม่ผิด แล้วส่วนตัวก็เห็นว่าอาชีพนี้มันเสี่ยงแล้วก็ไม่มีอะไรมาปกป้องดูแล ไม่มีกฎหมายมาคุ้มครองคนที่ประกอบอาชีพนี้เลย” พายกล่าว

ไม่แก้ม.112 ก็แก้รัฐธรรมนูญไม่ได้

ชายอายุ 70 ปี(ซ้าย) ที่มาพร้อมกับครอบครัวเรียกร้องยกเลิกมาตรา 112

ชายวัย 70 กว่าที่มาชุมนุมพร้อมครอบครัวที่ถือป้ายรณรงค์ยกเลิกม.112 กันกล่าวถึงเหตุผลที่อยากให้ยกเลิกกฎหมายมาตรานี้ไปเลยเพราะว่าถ้าวิจารณ์คนที่ปกครองประเทศไม่ได้ก็ผิดหลักของการบริหารอยู่แล้ว ไม่มีประเทศไหนที่ประชาชนเขาฉลาดพอจะให้มีกฎหมายแบบนี้อยู่ แต่คนที่อยู่ในอำนาจก็ไม่มีทางที่จะยกเลิกกฎหมายที่ทำให้ได้เปรียบ ก็ต้องให้คนที่ถูกเอาเปรียบหรือถูกปกครองอยู่ขึ้นมาขอเปลี่ยน

เมื่อถามความเห็นชายคนนี้ว่ากลุ่มกษัตริย์นิยมก็ดูจะคัดค้านการแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายข้อนี้ เขาก็ตอบว่าขึ้นอยู่กับว่ามองว่าประเทศนี้เป็นของใคร ถ้าเห็นว่าเป็นของผู้ปกครองก็ต้องรักษากฎหมายนี้ไว้ แต่ถ้ามองว่าประเทศนี้เป็นของประชาชนก็ต้องไม่มีกฎหมายนี้ แต่คนที่บอกว่าต้องมีมาตรา 112 ก็เพราะมองว่าประเทศนี้เป็นของผู้ปกครองมากกว่า

นอกจากนั้นเขายังคิดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เป็นปัญหาเดียวกันเพราะการที่มาตรา 112 ยังอยู่ก็ทำให้ไม่สามารถพูดถึงและวิจารณ์ได้ เมื่อพูดถึงไม่ได้คนก็ไม่ได้รับรู้ปัญหาและไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขระบบการปกครองได้ แล้วผู้มีอำนาจที่กำลังได้เปรียบก็คงไม่มาแบ่งปันอำนาจคืนให้กับประชาชน ซึ่งก็ขึ้นกับประชาชนจะตระหนักรู้หรือไม่ ถ้าไม่ก็รับกรรมไป

“คนที่ตาสว่างหน่อยก็ต้องรับกรรมไป เพราะคนส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมก็คงต้องทนอยู่ไปแล้วก็มาแบบนี้(ชุมนุม) แล้วก็คงไม่ได้มาง่ายๆ หรอก แต่ก็ดีกว่าไม่ทำ ถ้าไม่ทำนะก็คงต้องอยู่กันไปอีกยาว” และเขาคิดว่าพลังในการต่อสู้ก็ต้องมาจากมวลชนเพราะว่าไม่มีอาวุธซึ่งก็เป็นเรื่องยากและต้องรอเวลา

ภาพบรรยากาศกิจกรรม : 

 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net