Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ตอนที่สลิ่มเกิด เป็นช่วงเวลาของการเพิ่มจำนวนประชากรอย่างรวดเร็วภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง  ตอนนั้นพ่อแม่ของสลิ่มยังอยู่ในวัยรุ่น และอยู่ในวัยที่พึ่งจบมาทำงาน ล้วนสัมผัสได้กับความยากลำบาก ความน่ากลัว และอนาคตที่ไม่แน่นอนในช่วงเวลาที่เลวร้ายในระหว่างสงคราม ความตาย การพลัดพราก ความทุกข์ทรมาน ติดแน่นอยู่ในห้วงลึกของความทรงจำ พ่อแม่ของสลิ่ม จึงใช้ชีวิตอย่างรัดกุม อดออม ประหยัด ขยัน และทำทุกวิถีทางที่จะให้ครอบครัวมีสถานะที่มั่นคง มีเสถียรภาพ  พวกเขาเข้าร่วมในเครือข่ายทางสังคม แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความก้าวหน้า การลงทุน และช่วยกันประเมินความเสี่ยง เพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สินที่คล้ายไต่อยู่บนเส้นลวดของสงครามเย็น สงครามที่อาจจะน่าสะพึงกลัวกว่าสงครามครั้งที่พวกเขายังเป็นวัยรุ่น

โชคดีของพ่อแม่สลิ่ม จำนวนประชากรที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วหลังสงคราม เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สังคมที่ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ขยายตัวอย่างรวดเร็วจากความต้องการในการบริโภคสินค้าจำนวนมหาศาล 

โชคดีที่สงครามตัวแทนที่เกิดขึ้นในเกาหลี เวียดนาม ตะวันออกกลาง ชาด คองโก นิคารากัว และหลายที่ทั่วโลก ไม่ได้ขยายตัวเป็นสงครามเต็มรูปแบบระหว่างมหาอำนาจ ในขณะที่แนวคิดของเสรีนิยมใหม่ ที่พัฒนาขึ้นอย่างแข็งแกร่งในการลดอุปสรรคการค้าระหว่างประเทศ ช่วยให้การขยายตัวของการค้าระหว่างประเทศก้าวกระโดด และนำความรุ่งเรืองมาสู่สังคมของพ่อแม่สลิ่ม แต่ก็แลกด้วยการพึ่งพิงระบบเศรษฐกิจของโลก ที่เป็นหัวรถจักรเดียวที่สำคัญอย่างยิ่งต่อเสถียรภาพของเหล่าพ่อแม่สลิ่ม

พ่อแม่ของสลิ่มเกือบทั้งหมดอยู่ในเมืองใหญ่ ที่โอกาสเปิดกว้างในการประกอบการต่างๆอย่างหลากหลาย พวกเขาเติบโตและปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิตทางการเมืองที่ไม่มีเสรีภาพ และเมื่ออำนาจรวมศูนย์อยู่ที่กลไกรัฐ ความก้าวหน้าในทางธุรกิจจึงขึ้นอยู่กับสายสัมพันธ์ที่ดีกับเหล่าชนชั้นนำในระบบราชการ ส่วนเทคโนแครต นักวิชาการและข้าราชการในรุ่นนั้น ต่างก็รู้ตัวดีว่า อนาคตของตนเองขึ้นอยู่กับการเป็นคนของใคร และใครคือคนที่พวกเขาควรฝากอนาคตไว้

ความทรงจำในยามสงคราม ตามหลอกหลอนพวกเขาคล้ายปีศาจที่พร้อมปรากฎตัวพร้อมฝันร้ายที่จะพรากความสุขของพวกเขาในชั่วข้ามคืน

ความเปลี่ยนแปลงที่ค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆคืบคลานเข้าสู่สังคม จากการปรับเปลี่ยนนโยบายที่ต้องการผลิตเพื่อการส่งออกแทนที่การผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า นำสังคมในทุกภาคส่วนแลกเปลี่ยนและปฏิสังสรรค์กับโลกภายนอกอย่างเข้มข้น  เสรีนิยมที่ต้องการการเปิดกว้างและการลดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ มาพร้อมกับความคิดในด้านอื่นๆที่ต้องการเสรีภาพและที่ทางที่ทุกคนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดเรื่องราวต่างๆทั้งของตนเองและของสังคม 

ในทีแรก พ่อแม่ของสลิ่มจำนวนมากเห็นด้วยกับเสรีนิยมทางเศรษฐกิจที่จะช่วยขยายฐานะทางเศรษฐกิจของตนเองเพิ่มมากขึ้น พวกเขาเฝ้ามองลูกหลานบางส่วนของตัวเองเข้าร่วมการเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แต่ผลสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่อ 48 ปีที่แล้ว นำมาซึ่งความโกลาหลและการตอบโต้กลับของชนชั้นนำอย่างรุนแรงในอีกสามปีต่อมา จนนำไปสู่การฆาตกรรมลูกหลานของพวกเขาจำนวนมากกลางเมือง และสถานการณ์ดูเหมือนจะย้อนกลับไปเป็นฝันร้ายตอนที่พวกเขายังเป็นวัยรุ่น

ถึงตอนนี้พ่อแม่ของสลิ่มบางคนก็แก่เกินกว่าจะเข้าร่วมความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ บางส่วนสับสน และจำนวนมากเฝ้ารอผลของการปะทะกันทางความคิด และพร้อมจะปรับตัวเข้ากับฝ่ายที่ได้เปรียบ  พวกเขาทิ้งมรดกชิ้นใหญ่ให้กับสังคม คือ การขยายตัวเติบใหญ่อย่างมั่นคงของชนชั้นกลาง ที่มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับศูนย์กลางอำนาจ พวกเขาเลี้ยงดูลูกหลานของตนเองซึ่งต่อมาจะกลายเป็นสลิ่ม ให้เติบโตขึ้นมาท่ามกลางอภิสิทธิ์ที่ได้เปรียบคนส่วนใหญ่ในสังคม ลูกหลานของพวกเขาได้รับการศึกษาที่ดี มีสุขภาพกาย ใจ ที่เข็มแข็ง มีชีวิตที่แวดล้อมด้วยความอุดมสมบูรณ์ซึ่งทำให้ชีวิตพวกเขามีความสุขและมีสายสัมพันธ์ที่ยึดเหนี่ยวกันอย่างแน่นแฟ้น สถาบันและเครือข่าย พิธีกรรม เกียรติยศศักดิ์ศรีที่พวกเขาจรรโลงค่านิยมในหมู่พวกเดียวกัน ล้วนทำให้พวกเขารู้สึกมั่นใจและมั่นคงกับสถานภาพและโลกทัศน์ที่แวดล้อมพวกเขา ศีลธรรมและนิยามของความดีตามหลักศาสนาที่ใช้ยึดโยงพฤติกรรมการอยู่ร่วมกันของพวกเขา ใช้แทนการอธิบายโลกของการอยู่ร่วมกันได้โดยไม่จำเป็นต้องตั้งคำถาม ความดีคือสากล คือคำตอบของการแก้ปัญหาในหมู่มวลมนุษย์ พวกเขาล้วนแต่ใช้ความดีในการครองชีวิต หากมีใครในหมู่พวกเขาประสบความยากลำบาก พวกเขาพร้อมจะรวมกันเพื่อช่วยเหลือเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย ที่พวกเขาคิดว่าเกิดจากชะตากรรม ไม่เกี่ยวกับสถาบันและโครงสร้างที่ยึดโยงพวกเขาไว้   ตรงกันข้าม ตราบใดที่ความมั่นคงและความสงบสุขยังดำเนินต่อไป สถาบัน โครงสร้างทางสังคม ค่านิยม ความเชื่อของพวกเขา จะเป็นหลักประกันของชีวิตที่มีเสถียรภาพ

ยิ่งพวกเขามีอภิสิทธิและความได้เปรียบในการเริ่มต้นของชีวิตมากเท่าไหร่  พวกเขาก็ยิ่งก้าวหน้าและเติบโตในทางเศรษฐกิจอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งจะยิ่งทำให้พวกเขามีอภิสิทธิและความได้เปรียบมากยิ่งๆขึ้น และส่งต่อสิ่งเหล่านี้ให้กับลูกหลาน พร้อมกับช่องว่างของความเหลื่อมล้ำที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็วขึ้น  

ครั้งหนึ่ง สลิ่มเชื่ออย่างหัวปักหัวปำว่า การพัฒนาเศรษฐกิจ เหมือนกับน้ำที่ค่อยๆหยดลงในอ่างน้ำ เมื่อสายน้ำด้านบนได้รับปริมาณน้ำจำนวนมากเพิ่มขึ้น ก็จะไหลลงสู่เบื้องล่างในอัตราที่เร็วขึ้นและปริมาณที่มากขึ้น จนน้ำในอ่างด้านล่างมีจำนวนเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ และทุกคนก็จะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาแบบนี้  ซึ่งก็จริงอย่างที่พวกเขาเชื่อ  เพียงแต่ ปริมาณน้ำที่ไหลลงมา ไม่สัมพันธ์กับปริมาณที่อยู่ด้านบน จนในที่สุด คนชั้นล่างที่อยู่ในเมืองและชนบทซึ่งเปรียบเป็นอ่างด้านล่าง ยกฐานะกลายเป็นชนชั้นกลางระดับล่างจำนวนมหาศาลที่ตั้งคำถามถึงความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น ผ่านการเลือกตั้งและนโยบายทางการเมืองที่ตอบสนองต่อผลประโยชน์ของพวกเขา  คนชั้นกลางในบริบทใหม่กำลังบอกว่า ควรจะยกเลิกความคิดว่า การพัฒนาเปรียบเหมือนสายน้ำที่ไหลลงข้างล่าง และแม้ว่าทุกคนจะมีความสามารถไม่เท่ากัน แต่ควรได้รับโอกาสที่จะเข้าถึงศักยภาพและมีโอกาสได้ใช้ความสามารถนั้นอย่างเท่าเทียมกัน ภายใต้สังคมที่พร้อมจะแบ่งปัน

นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค แม้จะเริ่มต้นอย่างทุลักทุเล และถูกปรามาสจากชนชั้นนำและสลิ่ม แต่เพียงไม่กี่ปี กลับกลายเป็นอาวุธที่ทรงประสิทธิภาพในการพลิกขั้วทางการเมืองที่กำหนดนโยบายของสังคมมายาวนาน สั่นสะเทือนชนชั้นนำที่ยึดกุมสภาพการบริหารจัดการของสังคมมาตลอดชั่วอายุขัย หายนะที่กำลังลุกลามของเหล่าอภิสิทธิชน ทำให้พวกเขาต้องเร่งสร้างแนวร่วมและเครือข่ายของเหล่าอภิสิทธิชนอย่างรีบด่วน ยุทธศาสตร์ที่พวกเขาเลือกใช้ในการเกาะกุมความรู้สึกของเหล่าสลิ่มคือ “อำนาจต้องอยู่กับคนดี” และ “คนเกิดมาไม่เท่าเทียมกัน” 

การโหมกระพือความเลวร้ายของผู้นำฝ่ายตรงข้าม ทำให้เหล่าสลิ่มกราดเกรี้ยวกับคนเลว และ หวาดวิตกต่อคนชั้นล่าง ที่ตกเป็นเหยื่อของเหล่าปีศาจ พวกเขาขยายตรรกะของการอธิบายความชอบธรรมที่พวกเขาสร้างขึ้นเป็นเกราะล้อมรอบปราการทางศีลธรรมของพวกเขา คล้ายกับศาสนจักรในยุคมืดอธิบายความชอบธรรมในการบัพชนียกรรมพวกนอกศาสนา  “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” “ ความมั่นคงที่มาก่อนเสรีภาพ”  ความคลั่งชาติ คลั่งเจ้า คลั่งเชื้อชาติ คลั่งศีลธรรม ล้วนเป็นคำอธิบายต่อความอยู่รอดของสังคม

ลึกลงไป พวกเขาไม่เคยเชื่อค่านิยมในเรื่อง ความเท่าเทียม และเสรีภาพ  ดังนั้น ความยุติธรรมจึงจำเป็นต้องตีความใหม่เพื่อใช้อธิบายความชอบธรรมของคนดี แม้ว่าคำอธิบายนั้นจะดูกระท่อนกระแท่น และฟังดูเหมือนนักศึกษาที่สอบตกในวิชากฎหมาย พวกเขากล่าวหาฝ่ายตรงข้ามว่าใช้ความรุนแรงด้วยวิธีการต่างๆ แต่ไม่มีใครในหมู่พวกเขาประท้วงการกระทำที่นับเป็นการใช้ความรุนแรงอย่างสุดโต่งในการบิดเบือนกฎหมายตลอดจนการสังหารชีวิตผู้บริสุทธิ์

ยิ่งพวกเขาต้องใช้ความพยายามอธิบายมากเท่าไหร่ ยิ่งผลักให้พวกเขาติดกับดักของตรรกะที่ตัวเองผลิตขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ยิ่งพวกเขาขาดความรู้ใหม่ๆในการอธิบายเรื่องราวต่างๆอย่างเป็นเหตุเป็นผลและน่าเชื่อถือ ยิ่งทำให้พวกเขาต้องใช้อำนาจมากขึ้น กดขี่มากขึ้น คลั่งชาติ คลั่งเจ้ามากขึ้น บิดเบือนมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่ความรุนแรงและการกวาดล้างทางการเมืองเหมือนในสังคมที่แตกแยกกันอย่างรุนแรง

มนุษย์ไม่มีทางเท่ากันในทางวิวัฒนาการ ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ในความคิดของสลิ่ม คือเรื่องจอมปลอมที่ใช้กันอย่างพร่ำเพรื่อ น่าสะอิดสะเอียน ค่านิยมดังกล่าวนำเข้าจากตะวันตกที่ไม่สอดคล้องกับสังคมไทย ที่มีช่วงชั้นของผู้คนรวมทั้งประวัติศาสตร์แตกต่างจากตะวันตก ศีลธรรมและความดีแบบไทยจึงไม่เกี่ยวกับศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เพราะศีลธรรมและความดีแบบไทย ไม่จำเป็นต้องมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ก็ย่อมได้  

6 ตุลา ราชประสงค์ และ เด็กๆที่อยู่ในคุก คือเรื่องราวที่เหล่าสลิ่มใช้อธิบายแบบรวบรัด

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net