สิทธิมนุษยชนบนซากศพ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

องค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) ออกรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลยูเครนที่กระทำต่อประชาชนของตนเองในสงครามที่ต่อต้านการรุกรานของรัสเซีย ก่อนหน้านั้น ประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ ลงมติท่วมท้นประนามการรุกรานของรัสเซีย และขับไล่รัสเซียออกจากสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ องค์กรสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ออกแถลงการณ์ รายงาน การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงของรัสเซีย ศาลอาญาระหว่างประเทศ (International criminal court) รับคำร้องและอยู่ในระหว่างการไต่สวนเหตุการณ์สังหารหมู่ประชาชนในเมืองบูชา โดยกองทัพรัสเซีย ว่าเป็นการกระทำที่ร้ายแรงในระดับการฆ่าล้างเผ่าพันธ์มนุษยชาติหรือไม่

ตรงข้ามกับรัสเซีย ยูเครนได้รับความเห็นอกเห็นใจ ในชะตากรรมที่กำลังเผชิญอยู่อย่างโหดเหี้ยม มีประชาชนในเมืองต่างๆ ของยูเครน เสียชีวิตทุกวันจากการถล่มด้วยจรวดพิสัยไกลของกองทัพรัสเซีย รัสเซียใช้ยุทธศาสตร์การทำสงครามด้วยวิธีคิดที่เรียบง่ายและชัดเจน scorched earth หรือ ทำลายให้เรียบ ยุทธศาสตร์นี้ใช้แล้วได้ผลดีและบรรลุเป้าหมายในหลายดินแดนที่รัสเซียเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้ง ในเชชเนีย อับคาเซีย จอร์เจีย ซีเรีย ในยูเครน มีเหตุการณ์อย่างน้อยสองสามครั้ง ที่จรวดพิสัยไกล ตั้งใจถล่มที่หลบภัยของประชาชนที่เข้าไปอัดกันอยู่ในพื้นที่เล็กๆ หรือถล่มตรงกลางสถานีรถไฟที่ฝูงชนกำลังเบียดเสียดเพื่อหลบหนีออกไปจากเมือง รวมทั้งโรงพยาบาลที่มีผู้บาดเจ็บกำลังรักษาตัวอย่างเนืองแน่น ไม่ต้องมีสติปัญญามากนัก ก็พอจะแยกแยะคำกล่าวอ้างของรัสเชียว่า กองทัพยูเครนจงใจฆ่าประชาชนของตนเองเพื่อป้ายความผิดให้รัสเซีย นั้น เป็นเรื่องที่เกินกว่าจินตนาการ 

แต่ครั้งนี้ ยูเครนตกเป็นจำเลยจากการออกรายงานฯ ขององค์การนิรโทษกรรมสากล รายงานฯ ดังกล่าว กล่าวหาว่า ยูเครน จงใจจัดที่หลบภัยของประชาชนในบริเวณที่ใกล้กับโรงพยาบาล โรงเรียน และยังใช้บริเวณดังกล่าว เป็นฐานยิงจรวดเพื่อต่อต้านกองทัพรัสเชีย การกระทำดังกล่าวเป็นการจงใจที่จะใช้ประชาชนเป็นโล่กำบังในการทำสงคราม ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้ ก่อนหน้านั้น เคยมีรายงานจากสื่อตะวันตก กล่าวหาทหารยูเครนทรมานเชลยศึกรัสเชีย ซึ่งถือเป็นการก่ออาชญากรรมทางสงคราม

รัฐบาลยูเครนตอบโต้องค์กรนิรโทษกรรมสากลด้วยท่าทีแข็งกร้าว “รายงานขององค์การนิรโทษกรรมสากล ทำให้ผู้ก่อสงคราม กลายเป็นผู้ที่มีความชอบธรรม ในขณะที่ผู้ที่ต่อสู้เพื่อปกป้องประชาชนของตัวเอง กลับกลายเป็นผู้ที่เข่นฆ่าประชาชนของตนเอง” ผู้อำนวยการองค์กรนิรโทษกรรมสากลประจำยูเครน ประกาศลาออกเพื่อเป็นการประท้วงรายงานฉบับดังกล่าว โดยกล่าวภายหลังว่า ตนพยายามคัดค้านการออกรายงานดังกล่าวแต่ไม่เป็นผล

รัฐบาลยูเครน ไม่ได้ตอบคำถามของรายงานฯ ดังกล่าว แต่เลือกที่จะตอบโต้กับรายงานฯ  ด้วยท่าทีทางการเมือง มากกว่าการแถลงข้อเท็จจริง มีคำแก้ตัวได้มากมายในระหว่างสงคราม ว่าการกระทำบางอย่างเป็นเรื่องที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ในระหว่างสงคราม แผนการทางการทหารและแผนการทางการเมืองต้องดำเนินไปอย่างสอดคล้องเพื่อชัยชนะในท้ายที่สุด แม้ว่าจะต้องสูญเสียชีวิต ทรัพย์สิน และหลักการ แนวความคิดและหลักการบางอย่าง ใช้ได้เฉพาะในยามสันติ ไม่อาจใช้ได้ในยามสงครามที่ล้างผลาญชีวิตผู้คนจำนวนมหาศาล มีแต่นักสิทธิมนุษยชนซื่อบื้อเท่านั้น ที่ยึดมั่นในหลักการบางอย่างอย่างเถรตรง ซึ่งอาจทำให้มีผู้คนล้มตายเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมหาศาล

ภาพของประธานาธิบดีสหรัฐ โจ ไบเดน สัมผัสข้อศอกกับ มกุฎราชกุมารของซาอุดิอารเบีย เมื่อเร็วๆ นี้ เป็นภาพตัดที่สะท้อนสีเทาของแนวคิดสิทธิมนษยชนของตะวันตก สื่อตะวันตกกล่าวหา มูฮัมหมัด บิน ซาลามาน (MBS) มกุฎราชกุมาร คือผู้ออกคำสั่งฆ่าหั่นศพคอลัมน์นิสต์วอชิงตันโพสต์ คาชอกกี ที่เป็นมือหนึ่งในการวิพากษ์นโยบายและเปิดโปงความเลวร้ายของการเมืองในซาอุฯ ในระหว่างการหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ไบเดน ยังกล่าวว่า ซาอุฯ คือรัฐซ่องโจร และMBS คือฆาตกร แต่สถานการณ์สงครามในยูเครน และวิกฤติการณ์ราคาน้ำมัน ทำให้ประธานาธิบดีสหรัฐต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ด้วยการร่วมมือกับซ่องโจร เพื่อแก้ปัญหาที่มีผลกระทบกับคนทั่วโลกจำนวนมหาศาล

เงินเฟ้อจากราคาพลังงาน กำลังก่อหายนะในระบบเศรษฐกิจของประเทศยากจนจำนวนมาก โดยเฉพาะในแอฟริกา ที่ซึ่งธัญพืชขาดแคลนจากผลกระทบของสงคราม และซ้ำเติมด้วยราคาสินค้าที่ถีบตัวสูงขึ้นจากราคาน้ำมัน แอฟริกากำลังหิวโหย และยิ่งหิวโหยหนักขึ้นเมื่อเข้าใกล้ฤดูหนาว 

เป็นเรื่องง่ายที่เราจะกล่าวหาโจ ไบเดน เป็นพวกทรยศต่อหลักการ แต่ประธานาธิบดีสหรัฐที่อยู่ในสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจเลือกระหว่างหลักการกับชีวิตของมนุษย์จำนวนมาก คงเป็นเรื่องยากถึงยากมาก

คุณยืนอยู่บนที่สับรางรถไฟ เห็นคนงานห้าคนกำลังซ่อมรางฝั่งซ้าย อีกหนึ่งคนกำลังซ่อมรางฝั่งขวา รถไฟเบรคแตกกำลังวิ่งตรงไปที่รางของคนงานห้าคน คุณจะตัดสินใจสับรางและคร่าชีวิตคนงานหนึ่งคน เพื่อช่วยชีวิตคนงานห้าคนหรือไม่

การทดลองทางความคิดของนักปรัชญาชาวอังกฤษ ฟิลิปปา ฟุต ทำให้เราเข้าใจภาวะอิหลักอิเหลื่อทางศีลธรรมได้ดียิ่งขึ้น การสับรางเพื่อช่วยชีวิตคนจำนวนมากด้วยการเสียสละของคนจำนวนน้อย มีเหตุผลที่อธิบายได้ในทางศีลธรรม
 
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ทั่วโลกยินดีอย่างยิ่งกับข่าวการลอบสังหารฮิตเลอร์ และหดหู่สิ้นหวังเมื่อพบว่า ฮิตเลอร์รอดจากการวางระเบิดอย่างปาฏิหารย์ ดังนั้น ถ้าคนงานคนเดียวที่อยู่บนรางทางขวานั้น เป็นสายลับของเกสตาโป เหตุผลทางศีลธรรมของเรายิ่งหนักแน่นเพิ่มขึ้นในการสับรางอย่างไม่ลังเล และไม่มีข้อสงสัยใดๆ
 
องค์การนิรโทษกรรมสากล ชัดเจนว่า ภารกิจขององค์กรฯ ไม่เกี่ยวข้องกับผลของสงคราม หน้าที่ขององค์กรฯ คือการรายงานเรื่องราวการละเมิดสิทธิฯ ที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา ส่วนผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการรายงานฯ อยู่นอกเหนือการควบคุมขององค์กร เป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่จะตอบโต้กับสิ่งที่เกิดขึ้น มีแต่วิธีที่โปร่งใสและตรงไปตรงมาแบบนี้เท่านั้น ที่จะช่วยทำให้เกิดกระแสการปกป้องสิทธิมนุษยชนในทุกมิติ 

ประธานาธิบดีเซเรนสกี้ของยูเครน ยืนอยู่บนที่สับราง ยิ้มเล็กน้อยให้กับความไร้เดียงสาของรายงานการละเมิดสิทธิฯ ก่อนที่จะสับรางอย่างเด็ดเดี่ยว โดยไม่ลังเล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท