Skip to main content
sharethis

เมื่อศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรีประกาศเตรียมใช้กฎหมายปราบปราม ‘ข่าวปลอม’ ขั้นเด็ดขาด พร้อมเปิด 10 บัญชีโซเชียลมีเดียต้องห้ามที่มีรายชื่อนักกิจกรรมอยู่ในนั้น แต่การเผยแพร่ข้อมูลเท็จ หรือส่งต่อข้อมูลที่ผิดพลาดอาจมาจากฝั่งรัฐด้วยก็เป็นได้ ชวนดู 6 ข่าวในรอบ 6 เดือนที่รัฐบาลส่งต่อข้อมูลที่ผิดพลาดให้กับประชาชน

21 พ.ค. 2564 เฟซบุ๊กศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี – PMOC โพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 15 พ.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่า รัฐบาลเคร่งครัดการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และความผิดเกี่ยวกับข่าวปลอม (Fake news) อย่างต่อเนื่อง พร้อมเปิดเผยรายชื่อ 10 บัญชีต้องห้ามตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และแหล่งข่าวปลอม ได้แก่ Pavin Chachavalpongpun, Andrew MacGregor Marshall, รอยัลสิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง, Suda Rangkupan, ป้าหนิง DK, Aum Neko, KTUK-คนไทยยูเค, Pixel HELPER, อานนท์ นำภา และ เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ ParitChiwarak โดยศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรีระบุว่าผู้ใช้งานบัญชีโซเชียลมีเดียเหล่านี้กระทำความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นสถาบันกษัตริย์ และข่มขู่คุกคามการทำงานของศาลรวมถึงผู้พิพากษา ซึ่งทางศูนย์ฯ กำลังดำเนินการขอหมายศาล เมื่อศาลมีคำสั่งออกมา ศูนย์ฯ จะแจ้งไปยังผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและเจ้าของแพลตฟอร์ม จากนั้นจะดำเนินการทางกฎหมายกับเจ้าของบัญชีโพสต์ดังกล่าวทันที หากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหรือเจ้าของแพลตฟอร์มยังไม่ดำเนินการตามคำสั่งศาล ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย

 

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรียังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดว่าโพสต์ใดบ้างในบัญชีเหล่านี้ที่เข้าข่ายการกระทำความผิดดังกล่าว แต่เมื่อพูดถึง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ข้อหาที่มักได้ยินบ่อยครั้งในหน้าข่าว คือ ‘การนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ’ แม้ว่าหลายกรณีจะได้รับการพิสูจน์แล้วว่าข้อมูลบางอย่างเป็นความจริง หรือได้รับการแก้ไขให้ถูกต้องในภายหลัง แต่ส่งส่งข้อมูลที่ผิดพลาด หรือ Misinformation กลับเกิดขึ้นอยู่ตลอด ไม่ใช่แค่จากประชาชนคนใช้อินเทอร์เน็ตทั่วไป แต่ฝ่ายรัฐบาลเองก็เป็นหนึ่งในผู้เผยแพร่ข้อมูลที่ผิดพลาดเหล่านี้ด้วยเช่นกัน ประชาไทจึงรวบรวม “ข้อมูลที่ผิดพลาดของรัฐบาล” ที่เผยต่อสื่อแบบ(ไม่ได้)ตั้งใจในรอบ 6 เดือนมาให้ผู้อ่านได้ดูกัน

 

วอล์กอินฉีดวัคซีน สรุปว่าทำไมหรือไม่ได้?

เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2564 สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติรับทราบนโยบายของรัฐบาลในการจัดการและกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติมีมติเห็นชอบใน 3 แนวทาง คือ เพิ่มจำนวนวัคซีน เร่งการทำงานเชิงรุกเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงวัคซีน และปรับแนวทางการฉีดวัคซีน ด้วยการนัดผ่านหมอพร้อม และองค์กรต่างๆ ที่นำบุคลากรมาฉีดเป็นกลุ่ม รวมถึงการเดินเข้ามารับวัคซีน หากจังหวัดใดพร้อมก็สามารถดำเนินการได้ทันที ซึ่งวันที่ อนุทิน ประกาศอนุญาตให้สามารถดำเนินนโยบายเดินเข้ารับวัคซีนที่จุดบริการได้ ตรงกับวันที่ กทม. เปิดจุดฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล (12 พ.ค. 2564) ทำให้มีประชาชนจำนวนมากเข้าใจคลาดเคลื่อนและเดินทางมาต่อคิวรอรับวัคซีนที่จุดให้บริการ แต่สุดท้ายเจ้าหน้าที่ประจำจุดแจ้งว่าผู้ที่สามารถรับวัคซีน คือ ผู้ที่มีรายชื่อตามข้อมูลของกรมอนามัย ทำให้ประชาชนที่เดินทางมาขอรับวัคซีนโดยไม่ทราบสิทธิ์ต้องเดินทางกลับโดยไม่ได้รับวัคซีน

ต่อมาในวันที่ 16 พ.ค. 2564 สำนักข่าวมติชนรายงานว่า พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวขณะตรวจเยี่ยมจุดฉีดวัคซีนที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลลาดพร้าวว่าขณะนี้ กทม. ยังไม่เปิดให้ประชาชนเดินเข้ารับวัคซีนแบบวอล์กอิน เพราะมีวัคซีนไม่เพียงพอ แต่คาดว่าจะเปิดให้วอล์กอินเข้าฉีดวัคซีนได้อย่างเป็นทางการช่วงเดือน มิ.ย. นี้ แต่ในช่วงเช้าของวันที่ 18 พ.ค. 2564 อนุทิน ยืนยันว่า สามารถเข้ารับวัคซีนแบบวอล์กอินได้ หากจุดให้บริการนั้นมีวัคซีนเหลือ เนื่องจากผู้ที่จองสิทธิ์ไม่มาตามนัด เพราะวัคซีนไม่สามารถเก็บไว้นานได้ ทว่า ช่วงบ่ายของวันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ กลับออกมาบอกว่าให้ระงับมาตรการฉีดวัคซีนแบบวอล์กอินก่อน เพราะเกรงว่าประชาชนจะไปต่อคิวกันจำนวนมากจนเกิดคลัสเตอร์การระบาดขึ้นมา และให้รอฟังมาตรการที่ชัดเจนอีกครั้ง

รองโฆษก รบ. แชร์ต่อข้อข้อมูลเท็จภาพปอดคนฉีด-ไม่ฉีดวัคซีน

เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2564 ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และอดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความพร้อมรูปผ่านทวิตเตอร์ @DrPrakit_ASH ระบุว่าภาพเอ็กซ์เรย์ดังกล่าวเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างระหว่างปอดของผู้ป่วยโควิด-19 ที่ได้รับและไม่ได้รับวัคซีน ซึ่งทวีตดังกล่าวได้รับการแชร์ต่อมากกว่า 2,000 ครั้ง โดยหนึ่งในผู้ที่เผยแพร่ต่อ คือ รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรัฐบาล และมีสื่อโทรทัศน์นำไปเสนอต่ออีกหลายเจ้า แต่ในขณะเดียวกันก็มีผู้ใช้งานทวิตเตอร์หลายรายทักท้วงไปยัง นพ.ประกิตว่าภาพดังกล่าวเป็นภาพเปรียบเทียบปอดปกติและปอดของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งสื่อต่างประเทศเผยแพร่ไปตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของการระบาดและยังไม่มีการคิดค้นวัคซีน

ต่อมาในวันที่ 14 พ.ค. 2564 เวลา 11.46 น. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความพร้อมรูปภาพในเพจเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ชี้แจงว่าภาพดังกล่าวเป็นภาพวาดปอด 3 มิติที่วาดโดย AI โรงพยาบาลและสถาบันวิจัยทางการแพทย์ในประเทศแคนาดานำมาศึกษาเป็นแนวทางเพื่อช่วยทำนายการติดโรคโควิด-19 ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือน เม.ย. ปีที่แล้ว ช่วงเย็นวันเดียวกัน นพ.ประกิต ได้ทวีตข้อความขอบคุณผู้ใช้งานทวิตเตอร์รายหนึ่งที่ทักท้วงว่ารูปที่ตนโพสต์เป็นข้อมูลที่ผิดพลาดพร้อมชี้แจงเหตุผลและโพสต์ข้อมูลใหม่ที่ถูกต้อง ก่อนจะลบทวีตข้อมูลที่ผิดพลาดดังกล่าวไป

* หมายเหตุ มีการแก้ไขข้อมูลจาก 'ภาพซีทีสแกนปอด' เป็น 'ภาพวาดปอด 3 มิติที่วาดโดย AI'

 

ฉีดวัคซีนฟรีที่สหรัฐฯ ไม่มีจริง (ซะที่ไหน)

สำนักข่าวมติชนรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 พ.ค. ที่ผ่านมา นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงประเด็นเรื่องคนไทยบินไปฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ฟรีที่ต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ว่า ‘ไม่เป็นความจริง’ โดยระบุว่า “หากเราใช้สามัญสำนึกเล็กน้อยในการวิเคราะห์ ที่สหรัฐอเมริกายังฉีดคนของเขาได้ไม่ถึงครึ่ง แล้วเขาจะไปแจกฉีดให้คนอื่นได้อย่างไร ถ้าว่าฉีดแบบเสียเงินก็ยังพอมีเหตุผล แต่คนอเมริกาเองก็ยังฉีดไม่ครบแล้วคนชาติอื่นจะฉีดฟรีก็ไม่สมเหตุสมผล โดยกระทรวงการต่างประเทศ ก็ให้ข้อมูลมาว่า ข่าวนี้ไม่เป็นความจริง” นพ.โอภาสกล่าว

ต่อมาในวันที่ 8 พ.ค. 2564 คมชัดลึกออนไลน์ รายงานว่า จักรกฤต โยมพยอม หรือ ‘ครูทอม คำไทย’ ติวเตอร์ภาษาไทยและยูทูบเบอร์ชื่อดัง โพสต์คลิปวิดีโอรีวิวประสบการณ์การฉีดวัคซีนไฟเซอร์ที่สหรัฐอเมริกาในแอคเคานต์ยูทูบ ‘jakkrittomtom’ พร้อมโพสต์ข้อความว่า “ผมอยากฉีดวัคซีนไฟเซอร์ครับ เลยตัดสินใจซื้อตั๋วเครื่องบินมาฉีดที่อเมริกาซะเลย เพราะไม่รู้ว่าที่ไทยจะได้ฉีดเมื่อไหร่” และในวันที่ 15 พ.ค. ที่ผ่านมา มติชนออนไลน์ รายงานว่า นิศามณี เลิศวรพงษ์ หรือ ‘นัท’ บล็อกเกอร์ชื่อดัง เปิดเผยผ่านอินสตาแกรม @nisamanee_nutt ว่าตนฉีดวัคซีนโควิด-19 ของจอห์นสันแอนด์จอห์นสันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากบินไปสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรก เพื่อเชียร์ อแมนด้า ออบดัม มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2020 ซึ่งเป็นตัวแทนประเทศไทยในการประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2020 (ครั้งที่ 69) ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองฮอลลีวูด รัฐฟลอริดา

ก่อนหน้านี้ ประชาไท รายงานว่า กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ ออกแถลงการณ์ยืนยันนโยบายการฉีดวัคซีนฟรีให้แก่ทุกคนที่อยู่ในสหรัฐฯ ตามที่ โจ ไบเดน เคยพูดไว้ตั้งแต่สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งแถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่าจะไม่มีการขอตรวจสอบสถานะการเข้าเมืองและการอยู่อาศัยของผู้เข้ารับวัคซีน อีกทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจะไม่ตั้งจุดตรวจใกล้กับสถานที่ฉีดวัคซีน และจะไม่มีการบุกเข้าจับกุมใดๆ ในสถานฉีดวัคซีนโดยเด็ดขาด ซึ่งผู้สื่อข่าวประชาไทสอบถามไปยังคนไทยที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ และได้รับคำยืนยันว่ารัฐบาลอเมริกันฉีดวัคซีนให้ทุกคนที่อยู่ในประเทศฟรี โดยไม่จำกัดว่าบุคคลนั้นเข้าเมืองมาด้วยวีซ่าประเภทใด หรืออยู่อาศัยในสหรัฐฯ อย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ นอกจากนี้ ช่วงกลางเดือน เม.ย. ผู้ว่าการรัฐอลาสกา ทวีตข้อความยืนยันว่านักท่องเที่ยวทุกคนที่เดินทางเข้ามาในอลาสกาจะได้รับการฉีดวัคซีนฟรี ตามมาด้วยรัฐนิวยอร์ก และเมืองซานฟรานซิสโกในรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งทั้ง 3 รัฐเป็นรัฐใหญ่ที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าออกจำนวนมากในแต่ละปี

‘ไม่มีเที่ยวบินเช่าเหมาลำจากอินเดีย’ มีแต่ ‘เที่ยวบินปกติ’

วันที่ 24 เม.ย. 2564 สำนักข่าวไทยโพสต์ รายงานว่า นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. กล่าวว่าที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กได้รับคำยืนยันจากกระทรวงการต่างประเทศว่าข่าวเครื่องบินเช่าเหมาลำจากอินเดียบินเข้าไทยนั้น ‘ไม่เป็นความจริง’ มีเพียงเครื่องบินที่สถานทูตฯ อนุญาตให้พาคนไทยในอินเดียกลับบ้านเท่านั้น โดยจะมีจำนวน 4 เที่ยวบินในเดือน พ.ค. ส่วนคนต่างชาติจะมีการชะลอออกใบอนุญาตการเข้าประเทศไทยไปก่อน

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ในวันที่ 9 เม.ย. เฟซบุ๊กของสถานทูตไทยประจำกรุงนิวเดลี โพสต์ข้อความระบุว่าจะมีเที่ยวบินของสายการบิน Air India บินมายังประเทศไทยในวันที่ 17 เม.ย. 2564 โดยสถานทูตฯ ขอให้ผู้โดยสารที่ได้รับหลักฐานการชำระเงินจากสายการบิน ตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิ์เดินทางได้ตามลิสต์ด้านล่าง พร้อมระบุว่าผู้โดยสารทุกคนต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ThailandPlus และลงทะเบียนใช้งานก่อนเดินทางเข้าประเทศไทย ซึ่งสังคมออนไลน์ต่างตั้งข้อสังเกตว่ารายชื่อของผู้โดยสารที่ปรากฏในเอกสารนั้นไม่คล้ายกับชื่อของคนไทย อีกทั้งผู้โดยสารบางคนยังมีชื่อกลาง จึงเป็นที่ถกเถียงกันในสังคมออนไลน์เป็นอย่างมาก

 

 Announcement: 17 April 2021 flight Please find below the passenger list for the flight on 17 April 2021. All...

Posted by Royal Thai Embassy, New Delhi on Friday, April 9, 2021

 

ต่อมาในวันที่ 25 เม.ย. ประชาชาติธุรกิจ รายงานว่า สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ยืนยันว่าไม่มีเครื่องบินเช่าเหมาลำจากอินเดียเข้าไทย มีเพียงเที่ยวบินปกติสัปดาห์ละ 1 เที่ยวบิน ซึ่งผู้โดยสารและลูกเรือทุกคนต้องได้รับการอนุญาตจากสถานทูตไทยในกรุงนิวเดลีก่อน และผู้โดยสารจากอินเดียที่เข้าไทยโดยเที่ยวบินเมื่อวันที่ 17 เม.ย. นั้น ตรวจพบเชื้อเมื่อ 21 เม.ย. แต่อยู่ในช่วงกักตัวตามมาตรการ ซึ่งเป็นการยืนยันว่าเที่ยวบินดังกล่าวไม่ใช่การเช่าเหมาลำ แต่เป็นเที่ยวบินปกติที่สถานทูตไทยฯ อนุญาตให้บินเข้าประเทศ

‘วัคซีนมาช้าหรือเร็วไม่มีผลกับไทย’ แต่ สธ. ชี้มีวัคซีนเร็ว 1 เดือน สร้างรายได้ 2.5 แสนล้าน

สำนักข่าว workpointTODAY และหนังสือพิมพ์แนวหน้า รายงานตรงกันว่า เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2564 นพ.ทวีศิลป์ กล่าวในแถลงการณ์ประจำวันของ ศบค. ว่า “ประชาชนเราอยู่อย่างนี้มาโดยตลอด วัคซีนจะมาช้าหรือเร็วแทบไม่ได้มีผลกับคนไทย เพราะสิ่งที่เกิดขึ้น คือ เรามีหน้ากากอนามัยและหน้ากากผ้าในการป้องกันอนามัยส่วนตัว ไม่ต้องเจ็บจากการฉีดวัคซีน ใช้เงินน้อย ขอให้ใส่หน้ากากตลอดเวลาอยู่ในพื้นที่ชุมชน” เป็นเหตุให้ประชาชนตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์วคำพูดของ นพ.ทวีศิลป์พูด ต่อมาในวันที่ 11 พ.ค. 2564 สำนักข่าวมติชน รายงานว่า นพ.ทวีศิลป์ กล่าวในแถลงการณ์ ศบค. ประจำวัน ยอมรับว่าวัคซีนคือทางออกของประเทศ พร้อมย้ำว่าการฉีดวัคซีนสำคัญและจำเป็น จึงขอให้ประชาชนตัดสินใจและสมัครใจเข้ารับการฉีดวัคซีน

ก่อนหน้านี้ ในวันที่ 31 ม.ค. 2564 ประชาไท รายงานว่า อนุทิน รองนายกฯ และรัฐมนตรีกว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงนามในเอกสารของบกลาง 1,000 ล้านบาท เพื่อจัดสรรให้แก่สถาบันวัคซีนแห่งชาติใช้จัดการโควิด-19 เมื่อวันที่ 25 ส.ค. ปีที่แล้ว ซึ่งข้อความในเอกสารระบุชัดเจนว่า “การมีวัคซีนใช้เร็วขึ้น 1 เดือน จะช่วยให้ประเทศสามารถสร้างรายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวประมาณ 2.5 แสนล้านบาท และยังสร้างผลกระทบเชิงบวกทางเศรษฐกิจ รวมทั้งความเชื่อมั่นของประชาชนไทยด้วย”

ไทยจะได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 เป็นชาติลำดับต้นๆ ของโลก

เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2563 เฟซบุ๊กโรงเรียนจิตอาสาพระราชทาน โพสต์วิดีโอ พร้อมข้อความระบุว่า “ประเทศไทยได้รับการคัดเลือกให้เป็นฐานการผลิตวัคซีนป้องกันโรค Covid-19” โดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นถือหุ้น 100% ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทแอสตราเซเนกาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ “กลางปีหน้าคนไทยจะได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 เป็นชาติลำดับต้นๆ ของโลก จากโรงงานผลิตวัคซีนของในหลวง”

ต่อมาในวันที่ 27 พ.ย. 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า “รู้สึกดีใจที่คนไทยจะได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นอันดับแรกๆ ของโลกในปีหน้า วันนี้ได้มีการลงนามสัญญาจัดหาวัคซีน COVID - 19 โดยได้ทำการจองล่วงหน้ากับบริษัท AstraZeneca ไปแล้ว ขอให้พวกเราทุกคนมั่นใจได้ว่า คนไทยจะต้องเข้าถึงยา เข้าถึงการรักษา ได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง รัฐบาลยังคงพร้อมจะสนับสนุนส่งเสริมอย่างต่อเนื่องในการวิจัยและพัฒนาอันเกี่ยวกับสุขภาพ  ขอให้พวกเราทุกคนยังคงรักษาวินัยดูแลตัวเองและคนใกล้ชิดเหมือนเดิม คนไทยทุกคนยังคงต้องร่วมมือกันป้องกันสังคมของเราให้ปลอดภัยอย่างต่อเนื่องนะครับ  ขอบคุณทุกคน ทุกหน่วยงานที่ร่วมกันทำเพื่อให้ประเทศไทยมีวันนี้ #ทีมประเทศไทย #รวมไทยสร้างชาติ #วัคซีนโควิด-19 #AstraZeneca”

 

ทว่า ประเทศที่เริ่มต้นฉีดวัคซีนให้กับประชาชน 10 อันดับแรกของโลก กลับไม่มีชื่อของประเทศไทย โดยสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาเป็น 2 ประเทศแรกที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ประชาชนอย่างเป็นทางการในวันที่ 8 ธ.ค. 2563 ตามมาด้วยแคนาดาและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ในวันที่ 14 ธ.ค. ปีเดียวกัน ส่วนประเทศสมาชิกอาเซียนที่เริ่มแผนฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนเป็นประเทศแรก คือ สิงคโปร์ โดยเริ่มในวันที่ 30 ธ.ค. 2563 ตามด้วยอินโดนีเซีย พม่า กัมพูชา มาเลเซีย ซึ่ง 5 อันดับแรกนี้ไม่มีชื่อของไทย ขัดกับข้อมูลที่นายกรัฐมนตรีเคยระบุไว้ข้างต้น นอกจากนี้ หากอ้างอิงข้อความจากเฟซบุ๊กโรงเรียนจิตอาสาพระราชทานที่ระบุว่า “กลางปีหน้าคนไทยจะได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 เป็นชาติลำดับต้นๆ ของโลก จากโรงงานผลิตวัคซีนของในหลวง” นั้นอาจขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ว่าไทยไม่ใช่ชาติลำดับต้นๆ ของโลกที่ได้รับวัคซีน แต่ถ้านับเฉพาะวัคซีนที่ผลิตโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ก็อาจจะเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง เพราะบริษัทต้องกระจายวัคซีนให้ไทยก่อนตามสัญญาการผลิตที่บริษัทเคยชี้แจงไว้ก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ สำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า ในวันที่ 11 มี.ค. 2564 อนุทิน ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าในวันพรุ่งนี้ (12 มี.ค. 2564) พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐมนตรีอีก 11 คนจะเข้ารับการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา ซึ่งเป็นล็อตที่นำเข้าจากประเทศอิตาลี ตามกำหนดการอย่างแน่นอน แม้จะมีข่าวเรื่องผลข้างเคียงของวัคซีนที่ทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันก็ตาม แต่เมื่อถึงวันจริง พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐมนตรีทั้ง 11 คนกลับไม่เข้ารับวัคซีน ด้านสำนักข่าวประชาชาติธุรกิจ รายงานว่า นพ.ปิยะสกล สกลสัตยากร ที่ปรึกษาด้นยุทธศาตร์และแผนงานการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดต่อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด19) แถลงในภายหลังว่า ต้องเลื่อการฉีดวัคซีนให้ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะกังวลเรื่องผลข้างเคียง โดยทีมงานขอรอการศึกษาจากฝั่งยุโรปเสียก่อน พร้อมระบุว่า “เมื่อมีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ เราไม่จำเป็นต้องรีบฉีด” ต่อมาในวันที่ 16 มี.ค. 2564 สำนักข่าวบีบีซีไทย รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมรัฐมนตรีอีก 19 คน เดินทางเข้ารับวัคซีนของแอสตราเซเนกาเป็นที่เรียบร้อย โดยมี ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ฉีดวัคซีนให้ ทั้งนี้ สื่อมวลชนไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปสังเกตการณ์การฉีดวัคซีนในตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาลแต่อย่างใด

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net