Skip to main content
sharethis

กฤตยา นักวิชาการผู้ทำวิจัยเกี่ยวกับเรือนจำ ไม่แปลกใจกรณีการแพร่ระบาดของโควิดในเรือนจำ เพราะสภาพคุกไทยที่แสนแออัดเอื้อให้เกิดการระบาด ข้อเสนอคือต้องรีบตรวจเชิงรุก มีอุปกรณ์ป้องกันเพียงพอ และเร่งฉีดวัคซีน ซึ่งทำไม่ได้แน่นอนด้วยงบ 750,000 บาท และในระยะยาวกระบวนการยุติธรรมต้องปรับเปลี่ยน

จากการออกมาเปิดเผยการติดเชื้อโควิดจากภายในเรือนจำของปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง ผู้ต้องหาคดี ม.112 เป็นผลให้ต่อมาทางกรมราชทัณฑ์ออกมายอมรับว่ามีผู้ต้องขังติดเชื้อโควิด ซึ่งเรือนจำบางแห่งจำนวนผู้ติดเชื้อสูงกว่าครึ่งทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

กฤตยา อาชวนิจกุล

“มีความเป็นไปได้สูงว่ามีการปิดบังข้อมูล” กฤตยา อาชวนิจกุล นายกสมาคมนักวิจัยประชากรและสังคม และผู้เขียนหนังสือ ‘ก้าวแรกของปฐมภูมิในเรือนจำกับชีวิตต้องขังที่กำหนดสุขภาพ’ ร่วมกับกุลภา วจนสาระ กล่าว

“ถ้ารุ้งไม่ออกมาเขียนโพสต์ว่าตัวเองติดโควิดในเรือนจำ เพราะเขาพยายามจะบอกว่ารุ้งไปติดข้างนอก ขณะเดียวกันรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอส เขาก็พยายามพูดว่าคนข้างนอกที่เข้ามาเราปฏิเสธไม่ได้ เขาเอาโควิดเข้ามา ข้อเท็จจริงก็คือคุณจะต้องกักตัวทุกคนที่ออกไปนอกเรือนจำหรือที่ถูกส่งเข้ามา 14 วันหรือ 21 วัน แล้วก็ต้องสวอปเพื่อดูว่าเขาติดเชื้อหรือไม่ เพราะฉะนั้นคำตอบของรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ใช้ไม่ได้ที่บอกว่าคนใหม่เป็นคนเอาโควิดเข้ามา จริงๆ แล้วคนที่อยู่ในเรือนจำปัจจุบันก็คือคนใหม่คนใดคนหนึ่งที่เพิ่งเข้ามา ประเด็นคือวิธีการจัดการ”

ปี 2535 คือปีสุดท้ายที่ผู้ต้องขังในเรือนจำไทยมีจำนวนต่ำกว่า 1 แสนคน ตัวเลขเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดเดือนพฤษภาคม 2564 มีต้องขังรวม 3.1 แสนคน

ถ้านึกภาพไม่ออกว่าแออัดขนาดไหน? อัตราความจุมาตรฐานของกาชาดสากลกำหนดที่ 3.4 ตารางเมตรต่อผู้ต้องขัง 1 คน มาตรฐานรองลงมาคือ 2.25 ตารางเมตร แต่พื้นที่สำหรับผู้ต้องขัง 1 คนที่กรมราชทัณฑ์มีให้ได้ ณ เวลานี้คือ 0.85 ตารางเมตร กฤตยาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าโดยข้อเท็จจริงแล้วเรือนจำมากกว่าครึ่งหนึ่งมีพื้นที่น้อยกว่า 0.85 ตารางเมตรต่อคน

ไม่มีที่ให้เว้นระยะห่าง ไม่มีอุปกรณ์ให้ป้องกัน

ด้วยความแออัดยัดเยียดชนิดต้องนอนตะแคงและเสยขาสลับกัน บวกกับต้องใช้ชีวิตบนเรือนนอนอย่างต่ำ 14 ชั่วโมงต่อวัน ไม่มีการระบายอากาศที่ดี เป็นไปไม่ได้ที่จะให้มีการเว้นระยะห่าง งานวิจัยของกฤตยาพบว่าโรคที่ผู้ต้องขังเป็นอันดับ 1 คือโรคทางเดินหายใจ โดยเฉพาะการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน รองลงมาคือไข้หวัดใหญ่ หอบหืด และแพ้อากาศ มิพักต้องกล่าวถึงโควิด

“ปัญหานี้เป็นปัญหาโลกแตกเพราะกรมราชทัณฑ์เป็นหน่วยงานปลายน้ำ คือเขาส่งคนมาให้คุณก็ต้องรับเพราะฉะนั้นเราก็ต้องดูภาพรวมทั้งหมด โรคระบาดในเรือนจำเกิดเสมอ โรคไข้หวัดต้องระดมคนไปฉีดเป็นปัญหาอยู่เสมอ โรคไข้หวัด โรคตาแดง โรคที่หายไปจากสังคมภายนอกแล้วอย่างหิด เรื้อน เรายังพบในเรือนจำ”

ประเด็นต่อมาคือการขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกัน จากตัวเลขที่มีการเปิดเผยออกมางบประมาณของกรมราชทัณฑ์ในปี 2564 เฉพาะเรื่องโควิดเท่ากับ 750,000 บาทสำหรับเรือนจำ 143 แห่ง เมื่อตัดโรงพยาบาลราชทัณฑ์ออกไป 1 แห่งเหลือ 142 แห่ง คิดออกมาจะตก 2.41 บาทต่อผู้ต้องขังหนึ่งคน

“ค่าหน้ากากชิ้นหนึ่งยังไม่พอ สิ่งที่เขาทำคือถ้าเป็นเรือนจำขนาดใหญ่มี 10 แห่งได้แห่งละ 10,000 บาท เรือนจำขนาดรองลงมาได้ 8,000 บาท ขนาดกลางได้ 5,000 บาท ขนาดเล็กสุดได้ 3,000 บาท จะเห็นได้ว่าอุปกรณ์ป้องกันไม่เพียงพอแน่นอน”

เรื่องเฉพาะหน้าที่ต้องทำ

กฤตยาเสนอว่าทางเรือนจำต้องหาวิธีทำให้ผู้ต้องขังนอนกระจายและไม่แออัดให้ได้มากที่สุด เนื่องจากในเรือนจำหลายแห่งมีพื้นที่มาก แต่พื้นที่ในการสร้างเรือนนอนน้อยเพราะเป็นโมเดลของกรมราชทัณฑ์ จึงจำเป็นต้องเอาพื้นที่ที่มีอยู่มาทำโรงพยาบาลสนามและเรือนนอนสำรองให้เร็วที่สุด และมีหน้ากากและเจลให้ผู้ต้องขังอย่างเพียงพอ

“สิ่งที่ควรต้องทำทันทีเลยคือต้องตรวจเชิงรุก 100 เปอร์เซ็นต์ ถ้าไม่ได้ ต้องตรวจให้มากที่สุด อันนี้เป็นเรื่องวิกฤตมากในแง่คลัสเตอร์ในเรือนจำกับคลัสเตอร์ในแคมป์คนงาน จำเป็นต้องมีวอร์รูมในการทำงานเรื่องนี้ รัฐบาลทำเหมือนไม่มีแผนไม่ได้ เราไม่เห็น ศบค. (ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019) ออกมาพูดในลักษณะแบบนี้ และต้องกำหนดระยะเวลาว่าจะตรวจเชิงรุกในเรือนจำให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ภายในเมื่อไหร่ เสร็จแล้วเมื่อวัคซีนมา สำหรับดิฉันเรือนจำต้องอยู่ในลำดับความสำคัญแรกๆ เพราะว่าเขาเป็นชุมชนปิด ซึ่งจริงๆ แล้วจัดการปัญหาง่ายกว่าชุมชนแออัดเพราะชุมชนแออัดเป็นชุมชนเคลื่อนไหว ยกเว้นว่าคุณจะไม่ทำอะไรหรือทำไม่เป็น”

เนื่องจากอัตราผู้ติดเชื้อโควิดสูงมาก ในทัณฑสถานหญิงกลางที่เปิดเผยตัวเลขออกมาคือ 1 ใน 3 ในเรือนจำกรุงเทพมากกว่าร้อยละ 50 ซึ่งกฤตยาสันนิษฐานว่าในพื้นที่เรือนจำที่มีผู้ต้องขังแออัดสัดส่วนของผู้ติดเชื้อน่าจะสูงประมาณร้อยละ 50

อีกข้อเสนอหนึ่งคือการทำทางเบี่ยงหรือ diversion หมายถึงการทำให้จำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำลดน้อยลง กฤตยายกตัวอย่างสถิติของผู้ต้องขังระหว่าง 3 กลุ่มคือกลุ่มที่อยู่ระหว่างอุทธรณ์-ฎีกา กลุ่มที่อยู่ระหว่างการไต่สวนพิจารณา และกลุ่มที่อยู่ในชั้นสอบสวน ซึ่งมีอยู่ประมาณร้อยละ 20 เปอร์เซ็นต์ของผู้ต้องขังทั้งหมดหรือประมาณ 60,000 คน ถ้าผู้ต้องขังเหล่านี้เข้าถึงสิทธิการประกันตัวก็จะช่วยลดความแออัดลงได้

“เขาต้องทำทุกอย่างพร้อมกัน เราเสนอว่าการตรวจเชิงรุกต้องจบภายในเดือนมิถุนายน ต้องรู้ภาพรวมให้เร็วที่สุด วัคซีนถ้ามาถึงระดมฉีดให้ในเรือนจำก่อนให้มากที่สุด เพราะในเรือนจำก็มีผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้เจ็บป่วยในโรคอื่นๆ อยู่แล้ว”

ประเด็น ณ เวลานี้คือ วัคซีนอยู่ไหน ซึ่งยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนจากฝ่ายรัฐแต่อย่างใด

เหตุการณ์หลังจากนี้

เป็นการรับมือเฉพาะหน้าเพื่อลดผลกระทบให้เร็วที่สุด ทว่า สถานการณ์โรคอุบัติใหม่จะยังคงเกิดขึ้นอีกแน่นอนในอนาคต แผนการรับมือระยะยาวที่ต้องมองทั้งระบบคือความจำเป็น กฤตยากล่าวว่า

“สิ่งที่เราต้องทำคือเราต้องเปลี่ยนนโยบายการเอาคนเข้าคุกอย่างง่ายๆ วิธีคิดในกระบวนการยุติธรรมของเรา เราเอาคนขังคุกง่ายเกินไป โดยเฉพาะกรณียาเสพติดที่เราทำอยู่มันผิดหมดเพราะเราไปลอกอเมริกา ผู้ต้องขัง 70 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้ต้องขังในคดียาเสพติดและส่วนใหญ่ใน 70 เปอร์เซ็นต์นี้เป็นผู้เสพ เป็นรายเล็กรายน้อย ถ้าเรามีนโยบายยาเสพติดใหม่ยึดโมเดลของยุโรป มีสถานที่ให้เสพ จะทำให้ยาเสพติดราคาลดลงทันที การทำเป็นขบวนการก็ลดน้อยลง และมุ่งจับเฉพาะรายใหญ่เท่านั้น”

ประเด็นสำคัญประการต่อมาคือการให้สิทธิประกันตัวและรวดเร็ว การกักขังแทนค่าปรับควรต้องยกเลิก ทุกวันนี้ยังมีคนจนหลายคนต้องติดคุกเพราะไม่มีเงินจ่ายค่าปรับและใช้วิธีอื่นแทน เช่น การบำเพ็ญประโยชน์ ความผิดลหุโทษไม่ต้องติดคุก

“ตามหลักการแล้วผู้ต้องขังระหว่าง ผู้ต้องขังที่ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ ต้องแยกเขาออกมาจากผู้ต้องขังเด็ดขาด แต่บ้านเราไม่มีพื้นที่มันต้องเอาไปรวมกัน และต้องทำให้การตัดสินลงโทษจำคุกให้คนเสียเสรีภาพต้องมีหลักการที่แน่นอน พิสูจน์ทราบได้ว่าเขาผิดจริงๆ และสมควรที่จะต้องจำคุกให้เสียเสรีภาพ”

ในด้านสภาพแวดล้อม กฤตยาเสนอให้นำแนวคิดสาธารณสุขมูลฐานเข้าไปใช้ในเรือนจำ ทุกคนต้องเข้าถึงบริการสุขภาพ มีพื้นที่ให้พักผ่อน มีพื้นที่สีเขียวระดับหนึ่ง เพราะจากการสำรวจพบว่าเรือนจำมีพื้นที่สีเขียวน้อยมาก

“เรือนจําควรต้องคิดถึงเรื่องความเป็นมนุษย์ให้มากขึ้นและต้องชัดเจนว่าเรือนจำไม่ใช่พื้นที่การลงโทษอีกแล้ว แต่เป็นพื้นที่ในการเยียวยาและฟื้นฟูผู้ต้องขัง”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net