Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564 ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนที่ 55 ของประเทศไทย ได้แถลงนโยบาย 12 ข้อในการจัดการศึกษา ต่อคณะผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการและสื่อมวลชน ในโอกาสการเข้ารับตำแหน่งใหม่ ในนามขององค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคมด้านการศึกษา ขอแสดงความยินดีกับท่านตรีนุช ที่ได้เข้ามารับหน้าที่ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเครือข่ายภาคประชาสังคมด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กและผู้ขาดโอกาสทางการศึกษา จะได้มีโอกาสในการมีส่วนร่วมกับท่านรัฐมนตรีและกระทรวงศึกษาธิการ ในการขับเคลื่อนนโยบาย 12 ข้อไปสู่การปฏิบัติที่เป็นจริงต่อไป

ทั้งนี้จากนโยบาย 12 ข้อที่ท่านได้แถลงต่อผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการและสื่อมวลชนดังกล่าวนั้น ผู้เขียนมีข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะและเพิ่มเติม โดยภาพรวม นโยบายการจัดการศึกษาทั้ง 12 ข้อเป็นแนวนโยบายที่จะเป็นธงนำไปสู่การปฏิรูปด้านการศึกษาของประเทศไทยได้ และเข้าใจว่าคงจะบรรจุอยู่ในแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2565-2569 ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กำลังจัดเวทีรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เกี่ยวข้องและภาคประชาสังคมต่างๆ อยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น จึงขอเสนอแนะเพิ่มเติมให้นโยบายการจัดการศึกษามีเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่สอดรับกับแผนการปฏิรูปการศึกษา พ.ศ. 2561-2565 และสามารถสะท้อนตัวชี้วัดในแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2565-2569 ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ดังต่อไปนี้

เป้าหมายการจัดการศึกษา

ผู้เรียนทุกกลุ่มวัยได้รับการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานอย่างหลากหลายตามบริบทของพื้นที่ต่างๆ โดยการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของทุกภาคส่วนในสังคม มีทักษะที่จำเป็นของโลกปัจจุบันและอนาคต สามารถแก้ปัญหา ปรับตัว สื่อสารและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิผล มีวินัย มีนิสัยใฝ่เรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง และเป็นพลเมืองไทยและพลเมืองโลกที่รู้สิทธิและหน้าที่ มีความรับผิดชอบต่อตนเอง สังคมและสิ่งแวดล้อม มีจิตสาธารณะและความสุข

วัตถุประสงค์

เพื่อให้นโยบายชัดเจนในการนำไปกำหนดยุทธศาสตร์ กลยุทธ์และตัวชี้วัดในแผนการศึกษาแห่งชาติ ที่จะเป็นธงนำให้ทุกภาคส่วนในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาตามเป้าหมายการจัดการศึกษาชาติ จึงขอเสนอวัตถุประสงค์เบื้องต้น 3 ข้อและให้จัดกลุ่มนโยบายทั้ง 12 ข้อให้เข้ากับวัตถุประสงค์ตามความเหมาะสม:

จุดประสงค์ที่ 1 เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

จุดประสงค์ที่ 2 เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต  

จุดประสงค์ที่ 3 เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน

สำหรับข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในหลักการสำคัญของนโยบายการจัดการศึกษาในแต่ละข้อ จะขอเพิ่มเติมขยายความ 5 นโยบาย ได้แก่ ข้อที่ 1 (การปรับหลักสูตรและการเรียนรู้ให้เท่าทันศตวรรษที่ 21) ข้อที่ 2 (การพัฒนาสมรรถนะทางภาษาและดิจิทัลของครู) ข้อที่ 3 (การปฏิรูปการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลฝานแพลตฟอร์ม) ข้อที่ 4 (การกระจายอำนาจการบริหารสถานศึกษา) และ ข้อที่ 10 (การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการจัดการศึกษา) ตามลำดับ ดังนี้

นโยบายข้อที่ 1 การปรับปรุงหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ให้ทันสมัย เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 โดยมุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกระดับให้มีความรู้ มีทักษะและคุณลักษณะที่เหมาะสมกับบริบทสังคมไทย

โดยหัวใจ นโยบายนี้เป็นนโยบายที่ดี แต่ควรจะขยายความให้มีความชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ของการศึกษาไทยส่วนใหญ่ตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐานจนถึงอุดมศึกษา ยังติดอยู่กับระบบการใช้รายวิชาเป็นฐาน (Subject-based learning) ที่เน้นการเรียนเป็นรายวิชา ไม่เน้นการฝึกฝนสมรรถนะ ดังนั้น นโยบายข้อนี้ควรปลดล็อกหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นอุปสรรคปัญหา ไปสู่การเรียนรู้ที่ทันสมัยและรู้จริง (Mastery learning) ซึ่งหมายถึง กระบวนการเรียนเพื่อรอบรู้จนเชี่ยวชาญ ด้วยการดำเนินการให้ผู้เรียนทุกคนซึ่งมีความสามารถที่แตกต่างกัน สามารถเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ได้ ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการออกแบบและวางแผนการเรียนรู้ด้วยตนเองของผู้เรียนแต่ละคนตามความชอบ ถนัด สนใจ หรือแต่ละกลุ่มที่มีความต้องการเหมือนกัน บนฐานชุมชนหรือนิเวศการเรียนรู้ของผู้เรียนตามสภาพจริง ด้วยการแสวงหาวิธีการ สื่อ เทคโนโลยี หรือนวัตกรรมต่างๆ มาช่วยจนผู้เรียนสามารถเรียนรู้จนรอบรู้ คือ ”รู้แจ้ง รู้รอบ รู้ลึก รู้จริง รู้กัน (ป้องกัน) รู้แก้ รู้ทำ” ประยุกต์ใช้จนเชี่ยวชาญในแต่ละระดับได้ หากผู้เรียนได้รับเวลาที่จะเรียนรู้เรื่องนั้นๆ อย่างเพียงพอและต่อเนื่อง การที่จะให้ผู้เรียนหรือพลเมืองไทยเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 ได้นั้น จะมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้อย่างเดียวไม่พอ ดังนั้น ต้องระบุว่า ให้มีความรู้และฝึกประยุกต์ใช้ความรู้แบบใช้สมรรถนะเป็นฐาน (Competency-based Learning) นั่นคือ การใช้ผลลัพธ์การเรียนรู้ที่จะเกิดกับผู้เรียนเป็นเป้าหมาย ความสามารถของผู้เรียนในการประยุกต์ใช้ความรู้ ทักษะ เจตคติ และคุณลักษณะต่างๆ อย่างเป็นองค์รวม ในการปฏิบัติงาน การแก้ปัญหา และการใช้ชีวิตที่สามารถใช้การได้จริงและได้ประโยชน์ในชีวิตจริงของผู้เรียนในปัจจุบันและอนาคต

นอกจากนี้ยังต้องขยายความคำว่า “บริบทสังคมไทย” ซึ่งเป็นบริบทที่มีความแตกต่างหลากหลาย บนฐานพหุวัฒนธรรม ปัญญาและหลากหลายชีวภาพที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก ประเทศไทยเป็นพื้นที่ตั้งของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองจำนวนถึง 56 กลุ่ม มีประชากรประมาณ 6.09 ล้านคนหรือร้อยละ 9.68 ของประชากรในประเทศไทย (รายงานของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ พ.ศ. 2555) ที่มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนทั้งในที่สูง ที่ราบลุ่มแม่น้ำ ป่าลุ่มน้ำตะวันตก พื้นที่ราบสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และชายฝั่งทะเลทางภาคใต้และภาคตะวันออก  ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของชุมชนต่างๆ ที่ผูกพันและพึ่งพาวิถีธรรมชาติได้สะสมเป็นองค์ความรู้และภูมิปัญญา เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน แต่น่าเสียดายระบบการศึกษาไทยไม่ได้จัดการเรียนรู้บนฐานสมรรถนะของผู้เรียน ที่ยึดโยงกับบริบทที่หลากหลายของสังคมไทยที่ จึงส่งผลให้ผู้เรียนยิ่งเรียนสูงขึ้น ยิ่งห่างไกลชุมชน ไม่รู้จักรากเหง้าตนเอง ไม่รู้จักพหุภูมิปัญญาของสังคมไทย หรือธรรมชาติในมิติทางนิเวศและวัฒนธรรมที่ลึกซึ้ง

นโยบายข้อที่ 2 – การพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครูและอาจารย์ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและอาชีวศึกษา ให้มีสมรรถนะทางภาษาและดิจิทัล เพื่อให้ครูและอาจารย์ได้รับการพัฒนาให้มีสมรรถนะทั้งด้านการจัดการเรียนรู้ ด้วยภาษาและดิจิทัล สามารถปรับวิธีการเรียนการสอนและการใช้สื่อทันสมัย และมีความรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ทางการศึกษาที่เกิดกับผู้เรียน

นโยบายข้อนี้ควรคำนึงถึงการตอบโจทย์หลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ที่แผนการศึกษาชาติและนโยบายได้ปลดล็อกใหม่ ดังนั้นควรเพิ่มสมรรถนะให้ครูและอาจารย์ได้รับการพัฒนาด้านการจัดการศึกษาที่ใช้สมรรถนะเป็นฐานการเรียนรู้ (Competency-Based Learning) และพัฒนาทักษะการประยุกต์ใช้ความรู้บนฐานพหุปัญญาชุมชน วัฒนธรรม ธรรมชาติตามบริบทของสังคมไทย

นโยบายข้อที่ 3 – การปฏิรูปการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลฝานแพลตฟอร์มการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลแห่งชาติ (NDLP) และการส่งเสริมการฝึกทักษะดิจิทัลในชีวิตประจำวัน เพื่อให้มีหน่วยงานรับผิดชอบพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลแห่งชาติ ที่สามารถนำไปใช้ในกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ทันสมัยและเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้อย่างกว้างขวางผ่านระบบออนไลน์ และการนำฐานข้อมูลกลางทางการศึกษามาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารและการจัดการศึกษา

เนื่องจากปัจจุบัน ฐานข้อมูลกลางทางการศึกษาของชาติที่กล่าวไว้ในนโยบายข้อนี้ ยังไม่เป็นระบบที่สามารถเชื่อมต่อหรือเชื่อมโยงกันได้ในทุกระบบ ทุกประเภทการศึกษา เช่น ระบบฐานข้อมูลของการศึกษาทางเลือก หรือกลุ่มการศึกษาของเด็กนอกระบบและตามอัธยาศัยของสถาบันสังคม (ตามมาตรา 12) ยังไม่มีการรวบรวมจัดเก็บที่ชัดเจน อย่างเป็นระบบและยังไม่เชื่อมต่อกับระบบฐานข้อมูลกลางการศึกษาแห่งชาติ (DMC) ได้ รวมถึงยังไม่เอื้อต่อการสนับสนุนระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิตตามหลักการจุดมุ่งหมายการศึกษาชาติ ดังนั้น จึงขอให้เพิ่มเรื่องการพัฒนาระบบ Big Data ด้านการศึกษาเข้าไปด้วย เพื่อสนับสนุนการค้นหา เฝ้าระวัง ติดตาม ช่วยเหลือผู้เรียนให้เข้าถึงการศึกษาตั้งแต่ปฐมวัยอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ทั้งการศึกษาในระบบ นอกระบบและตามอัธยาศัยทุกประเภทและสามารถเชื่อมโยงกับระบบฐานข้อมูลส่วนราชการอื่นๆได้ตามเงื่อนไขของระบบกฏหมายข้อมูลข่าวสารที่กำหนด

เนื่องจากปัจจุบันการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ได้ขับเคลื่อนไปบนโลกที่เปลี่ยนแปลงในทุกด้านอย่างรวดเร็ว ระบบฐานข้อมูลการศึกษาชาติควรเท่าทันและรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และสร้างสรรค์การศึกษาที่มีเป้าหมายเพื่อเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้ ดังนั้น ระบบฐานข้อมูลกลางการศึกษาชาติ ขอให้ปรับปรุง แก้ไข และพัฒนาเพิ่มเติมดังนี้

  1. ปรับปรุงฐานข้อมูลการจัดการศึกษาชาติ หรือ Data management Center (DMC) ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ให้มีฐานข้อมูลเกี่ยวกับสถานศึกษาประเภทนอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ของสถาบันสังคมตามมาตรา12 (การศึกษาโดยครอบครัวและการศึกษาในศูนย์การเรียนของบุคคล องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน สถานประกอบการ องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา) ด้วย ซึ่งปัจจุบันมีข้อมูลเฉพาะ กศน.จึงทำให้ฐานข้อมูลจำนวนผู้เรียนนอกระบบกว่า 10,000 คนและสถานศึกษานอกระบบกว่า 1,500 แห่งไม่มีอยู่ในระบบฐานข้อมูลการจัดการศึกษาชาติ
     
  2. ฐานข้อมูลสถานศึกษาขนาดเล็กที่สามารถพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้ด้วยตนเอง หรือมีคุณภาพและมาตรฐานที่หลากหลายตามบริบทสังคมไทย
     
  3. ฐานข้อมูลองค์กรภาคประชาสังคมด้านการศึกษาและพัฒนาเด็กเยาวชนของประเทศไทยที่หนุนเสริมและสนับสนุนพัฒนาการศึกษาไทย
     
  4. ฐานข้อมูลครูภูมิปัญญา ครูอาสา ครูชุมชนที่ร่วมสนับสนุนการเรียนการสอนของสถานศึกษาต่างๆ
     
  5. ฐานข้อมูลแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อการศึกษาเรียนรู้ของผู้เรียนทุกเพศวัยและสถานศึกษาทุกระดับ เช่น แหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติ วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญาไทย เกษตรกรรม หัตถกรรม ศิลปะ เทคโนโลยี กีฬา ฯลฯ
     
  6. ฐานข้อมูลเกี่ยวกับระบบการศึกษาไทย นโยบาย กฏหมาย และแผนการศึกษาชาติตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน 

นอกจากนี้ควรเปิดระบบหรือกลไกที่ให้ประชาชน ผู้เกี่ยวข้อง หรือภาคประชาสังคมที่สนใจสามารถเข้าถึงและเข้าใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลการศึกษาดังกล่าวนี้ได้โดยสะดวกมากขึ้น

นโยบายข้อที่ 4 – การพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารและการจัดการศึกษา โดยการส่งเสริมสนับสนุนสถานศึกษาให้มีความเป็นอิสระและคล่องตัว การกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษาโดยใช้จังหวัดเป็นฐาน โดยอาศัยอำนาจตามกฏหมายการศึกษาแห่งชาติที่ได้รับการปรับปรุงเพื่อกำหนดให้มีระบบบริหารและการจัดการ รวมถึงการจัดโครงสร้างหน่วยงานให้เอื้อต่อการจัดการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ สถานศึกษาให้มีความเป็นอิสระและคล่องตัว การบริหารและการจัดการศึกษาโดยใช้จังหวัดเป็นฐาน มีระบบการบริหารงานบุคคลโดยยึดหลักธรรมาภิบาล

ข้อนี้เป็นแนวนโยบายที่สะท้อนถึงการปฏิรูปการศึกษาไทยอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ได้รับการขับเคลื่อนปฏิบัติอย่างจริงจัง ผู้เขียนขอเสนอแนะเพิ่มเติม ดังนี้

  1. ให้มีการศึกษาทบทวน กฏหมายการศึกษาเพื่อปลดล็อก ปรับปรุง และแก้ไขกฏหมายรวมถึง กฏระเบียบ ประกาศ คำสั่ง ของกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวง สถาบันอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่อาจเป็นอุปสรรค ปัญหา และรวมศูนย์อำนาจการจัดการศึกษาไว้ที่ส่วนกลางมานานออกไปโดยเร็ว ตัวอย่างเช่น พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 27 ให้คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นผู้กำหนดหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานฯ โดยขาดการมีส่วนร่วมจากผู้เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึง รัฐธรรมนูญ 2560 หมวด 4 หน้าที่ของปวงชนชาวไทย มาตรา 4 (4) เข้ารับการศึกษาอบรมในการศึกษาภาคบังคับ ซึ่งสะท้อนว่าหน้าที่การจัดการศึกษาเป็นของรัฐโดยกระทรวงศึกษาส่วนกลาง หน้าที่ของบุคคล/ประชาชนมีเพียงต้องเข้ารับการศึกษาอบรมโดยขาดการมีส่วนร่วม สนับสนุน พัฒนาการศึกษา  ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ควรมีศึกษาเรื่องกฏหมายการศึกษาหรืองานวิจัยอย่างจริงจัง
  2. นอกจากการปรับปรุง แก้ไขกฏหมายการศึกษาแล้ว การบริหารและจัดการศึกษาโดยใช้จังหวัดเป็นฐานจะให้สำเร็จได้ต้องเพิ่มเติม กระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของภาคประชาสังคม ชุมชนท้องถิ่น และผู้เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบด้วย

ยกตัวอย่างกระบวนการสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างมีส่วนร่วมของจังหวัดน่าน สมาคมผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็ก จังหวัดน่าน เขต 1 ได้ร่วมดำเนินงานในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่และระดับประเทศร่วมกับมูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย และสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 เริ่มต้นด้วยการขับเคลื่อนและยื่นข้อเสนอต่อนโยบายการยุบ-ควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กในช่วงแรกเริ่ม จวบจนกระทั่งในปี 2559 ได้มียุทธศาสตร์เชิงรุกในการทำงานร่วมกัน ด้านการพัฒนาพื้นที่เชิงรูปธรรมในการเรียนรู้แบบ Active Learning โดยใช้เครื่องมือการสอนคิด หรือ Thinking Tools ซึ่งได้รับนวัตกรรมมาจากโรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย มาทำงานขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนในเขตพื้นที่จังหวัดน่าน สมาคมฯ นำนวัตกรรมเครื่องมือสอนคิดมาขยายผลอย่างเป็นระบบ สร้างความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างเครือข่ายในการออกแบบการสอน อบรมครู ลงมือทำ ติดตามผล รวมถึงสร้างความเข้าใจและแรงสนับสนุนจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาน่านเขต 1 ที่เล็งเห็นความสำคัญ จนรับแนวทางการสอนคิดเข้าเป็นหนึ่งในนโยบายระดับ

ปัจจุบัน สมาคมฯ ยังไม่หยุดการพัฒนาและมุ่งหมายที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในพื้นที่อย่างเป็นระบบ ร่วมขับเคลื่อนกับภาคประชาสังคมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อ ภายใต้โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมภาคประชาสังคมเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา ด้วยกำลังและความตั้งใจในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อคุณภาพของโรงเรียนและคุณภาพของผู้เรียนผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์ วันนี้ สมาคมฯ และสพป. น่าน เขต 1 ได้วางรากฐานความร่วมมือกับ สพป. น่าน เขต 2 ในการขยายผลการเปลี่ยนแปลงไปยังโรงเรียนอีกครึ่งหนึ่งของจังหวัดน่าน

นโยบายข้อที่ 10 – การพลิกโฉมระบบการศึกษาไทยด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการจัดการศึกษาทุกระดับการศึกษา เพื่อให้สถาบันการศึกษาทุกแห่งนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการจัดการศึกษาผ่านระบบดิจิทัล

เพื่อให้สามารถสะท้อนออกเป็นยุทธศาสตร์ กลยุทธ์และตัวชี้วัดในแผนการศึกษาแห่งชาติได้ชัดเจน ขอเสนอแนะเพิ่มเติมว่า การนำและประยุกต์ใช้นวัตกรรมที่หลากหลายและเหมาะสมกับบริบทของผู้เรียนและนิเวศการเรียนรู้ของสถานศึกษาที่ใช้จังหวัดเป็นฐาน และการใช้นอกจากผ่านระบบดิจิทัลแล้วควรผ่านระบบการประยุกต์ใช้ความรู้บนฐานสมรรถนะจริงในปัจจุบันด้วย

ผู้เขียนขอชื่นชมนโยบายข้อที่ 11 นโยบายข้อที่ 12 ที่ให้ความสำคัญในการเพิ่มโอกาสและการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ทางการศึกษาและผู้เรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ แต่ทั้งนี้ ในนโยบายข้อที่ 12 การจัดการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย โดยยึดหลักการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งไม่ใช่เป็นเพียงเฉพาะกลุ่มผู้ด้อยโอกาสเท่านั้น แต่ควรรวมถึงผู้เรียนที่อยู่ระบบการศึกษาทางเลือกที่ประสงค์จะเรียนตามที่ตนเองสนใจ ถนัดและมีความต้องการที่จำเป็นพิเศษอื่นๆ ด้วย

 

 

หมายเหตุ

เกี่ยวกับโครงการ ACCESS School (โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมภาคประชาสังคมเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา)

โครงการระยะเวลา 4 ปี (พ.ศ. 2563-2566) ที่ได้รับทุนสนับสนุนการดำเนินงานโดยสหภาพยุโรป และบริหารโครงการโดย มูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย ร่วมกับสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย และสมาคมไทบ้าน ในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นที่ชนบท โดยมุ่งส่งเสริมให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการเข้าไปมีบทบาทในการบริหารจัดการสถานศึกษาในชุมชนของตนเอง ผ่านการมีส่วนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในระดับท้องถิ่นและส่วนกลาง

เกี่ยวกับสหภาพยุโรปในประเทศไทย (European Union in Thailand)

สหภาพยุโรป (อียู) เป็นการรวมตัวในลักษณะสหภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศในทวีปยุโรป มีสมาชิกในปัจจุบันจำนวน 27 ประเทศ ประเทศสมาชิกได้ร่วมกันสร้างภูมิภาคที่มีความมั่นคง เป็นประชาธิปไตย และมีการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ยังรักษาความหลากหลายทางวัฒนธรรมของประเทศสมาชิก เปิดกว้างในการยอมรับซึ่งกันและกัน และเคารพเสรีภาพของประชาชน ในปี 2555 (ค.ศ. 2012) สหภาพยุโรปได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เนื่องจากเป็นองค์กรที่ธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ ความสมานฉันท์ ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนในยุโรป

สหภาพยุโรปเป็นสมาคมทางการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก รวมถึงเป็นแหล่งทุนและเป้าหมายที่ใหญ่ที่สุดของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ นอกจากนี้สหภาพยุโรปและประเทศสมาชิกยังเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (Official Development Assistance) รายใหญ่ที่สุดในโลก โดยที่มูลค่าการให้ความช่วยเหลือรวมกันเกินครึ่งหนึ่งของยอดรวมทั้งโลก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net