สรุปเสวนา: พ.ร.บ.งบประมาณปี 2565 สวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า อยู่ตรงไหน?

เครือข่ายเด็กเท่ากันจัดเสวนาวิเคราะห์ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 เรื่องสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า 600 บาท พร้อมพูดคุยถึงเรื่องปัญหาของเด็กและครอบครัวในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ตั้งแต่ระลอกแรกจนถึงปัจจุบัน ผลกระทบและแผลเป็นที่เกิดขึ้นกับตัวเด็กในระยะยาว

25 พ.ค. 2565 วานนี้ (24 พ.ค. 2564) เครือข่ายเด็กเท่ากัน และคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า จัดเสวนาผ่านสื่อออนไลน์เฟซบุ๊กไลฟ์ ในหัวข้อ "วิเคราะห์พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ค้นหาสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้าอยู่ตรงไหน?" โดยมีผู้ร่วมเสวนา คือ พัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.), สมชัย จิตสุชน จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI), เชษฐา มั่นคง จากมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก, ธนพร วิจันทร์ ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี, สุทิน คลังเแสง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย, วรรณวิภา ไม้สน คณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคมพรรคก้าวไกล และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ดำเนินรายการโดย สุนีย์ ไชยรส ผู้ประสานคณะทำงานฯ ขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า

จากมติคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กเล็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2563 เห็นชอบในหลักการในการให้เงินอุดหนุนเด็กอายุ 0-6 ปีแบบถ้วนหน้า โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2565 เป็นต้นไป และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2563 เห็นชอบแนวทางการจัดสวัสดิการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด 0-6 ปีแบบถ้วนหน้าในอัตรา 600 บาท ต่อคนต่อเดือน เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

เงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้าและมาตรการเร่งด่วนต่อเด็กเล็กในสถานการณ์โควิด-19

พัชรี เปิดเผยว่า กระทรวง พม. ได้รับงบประมาณปี 2565 เพิ่มขึ้นในส่วนของเงินที่จะนำไปช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่อยู่ในการดูแล ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการ ก่อนหน้านี้ เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดได้งบประมาณไม่ถึง 17 ล้านบาท แม้ว่าในปีนี้ได้งบประมาณเพิ่มขึ้น แต่อาจยังไม่ได้รับอย่างถ้วนหน้า เนื่องจากรัฐบาลอาจจัดเก็บภาษีและกระจายงบประมาณได้ไม่ทั่วถึงครบถ้วนตามเป้าหมายที่วางเอาไว้

พัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)
 

หลังการพูดคุยกับกระทรวงการคลัง ทาง พม. จำเป็นต้องจัดทำข้อมูลที่ชัดเจนว่าเด็กอายุระหว่าง 0-6 ปีทั่วประเทศมีจำนวนกี่คน มิเช่นนั้นจะเป็นการวางแผนโดยประมาณการ ซึ่ง พม. เคยคาดการณ์ไว้ว่าเด็กอายุระหว่าง 0-6 ปีมีประมาณ 4.1 ล้านคน จึงเป็นหน้าที่ของ พม. ที่ต้องดำเนินการรวบรวมข้อมูลรายชื่อที่แท้จริง เพื่อที่จะได้เสนอต่อกระทรวงการคลังอีกครั้งหนึ่ง

“ในส่วนของงบประมาณได้มีการคุยกับกระทรวงการคลังและหากงบประมาณที่รัฐบาลสนับสนุนมาไม่เพียงพอทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ก็ยินดีที่จะปรับลดงบประมาณในส่วนอื่นเพื่อที่จะมาช่วยให้เงินตรงนี้มันเพิ่มขึ้น” พัชรีกล่าว

พัชรียังกล่าวเพิ่มเติมเรื่องของ พ.ร.ก.เงินกู้ 7 แสนล้านบาทว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบาง โดยมีโครงการที่จะให้เข้าไปดูแลกลุ่มเปราะบางและสั่งการไปยังทุกจังหวัดว่าจังหวัดใดที่ของบประมาณส่วนนี้มาหาก 30% ไม่มีโครงการที่เกี่ยวกับกลุ่มเปราะบางเลยก็จะไม่ให้งบประมาณในส่วนนี้

นโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้าในปีงบประมาณ 2565 รัฐควรมองอย่างไร

สมชัย กล่าวว่าหากดูงบประมาณในปี 2565 จะพบว่าลดลงจากปี 2564 ซึ่งอาจจะท้อนความคิดเรื่องรัดเข็มขัด แต่เมื่อมีเรื่อง พ.ร.ก.เงินกู้ 7 แสนล้านบาทเข้ามาทำให้ภาพรวมถูกมองว่ารัฐบาลไม่ได้รัดเข็มขัดแรงขนาดนั้น อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดวิกฤตการณ์โควิดแล้วผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบางมีความรุนแรง เมื่อมีความรุนแรงจึงจำเป็นต้องเพิ่มงบประมาณการใช้จ่าย เพื่อให้แน่ใจว่าคนกลุ่มนี้ได้ไม่ได้รับผลกระทบแรงจนเกินไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องผลกระทบระยะยาว

“เราอาจจะมองว่าโควิด 2-3 ปี สถานการณ์อาจดีขึ้นหากมีวัคซีน แต่ในระหว่างที่ได้รับผลกระทบ 2-3 ปี บางเรื่องมันส่งผลกระทบลากยาวไปมากกว่า 2 ปี เช่นเรื่องของเด็กไปเรียนไม่ได้หรือพ่อแม่ดูแลได้ไม่ดีเกิดภาวะความเครียดต่างๆบางทีมันเกิดผลกระทบต่อ IQ และ EQ ของเด็กและบางทีตรงนี้มันทำให้เกิดแผลเป็นต่อให้ผ่านไปอีก 5-10 ปีผลกระทบนี้ก็ยังคงอยู่” สมชัย กล่าว

ความสำคัญของนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า

เชษฐา เปิดเผยข้อมูลจากกรมอนามัยว่าในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระลอก 3 ทำให้เด็กเข้ามาใช้บริการคลินิกสุขภาพเด็กลดลง และความครอบคลุมของการบริการการตรวจคัดกรองเรื่องพัฒนาการเด็กมีแนวโน้มลดลง เด็กมีพัฒนาการและสงสัยว่าจะล่าช้าเพิ่มมากขึ้น เมื่อศูนย์เด็กเล็กปิดทำการเด็กที่อาศัยอยู่กับผู้ปกครองในบ้านไม่มีกิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการเด็ก เด็กก็จะเกิดพฤติกรรมก้าวร้าว เอาแต่ใจตัวเอง ขาดระเบียบวินัย สุดท้ายคือภาวะโภชนาการของเด็กปฐมวัยลดน้อยลงและมีการชั่งน้ำหนักวัดส่วนสูงที่ลดน้อยลงด้วย

เชษฐา มั่นคง จากมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก
 

นอกจากนี้ กรมอนามัยยังเปิดเผยว่า เมื่อโรงเรียนหรือศูนย์เด็กเล็กปิดชั่วคราว ทำให้เด็กขาดโภชนาการ และส่งผลให้เด็กต้องออกจากโรงเรียนกลางเทอม เนื่องการพ่อแม่ตกงาน ลูกจึงต้องกลับภูมิลำเนาตามพ่อแม่ที่ตกงาน มีการย้ายถิ่นฐาน หรือพ่อแม่ต้อง Work from home อาจจะทำงานได้ไม่เต็มที่เพราะต้องดูแลลูก การพาลูกไปทำงานด้วยก็เกิดภาวะเสี่ยงที่จะติดเชื้อจากที่ทำงาน ในขณะเดียวกันก็มีความเครียด ความวิตกกังวลในเรื่องการเรียนของเด็ก การขาดบริการด้านสาธารณสุขเช่นการเข้าถึงการดูแลด้านสาธารณสุขค่อนข้างลำบาก

ธนพร เล่าว่า ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภาคแรงงานได้เรียกร้องและพยายามผลักดันให้มีโครงการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้ามาโดยตลอด เพราะเกิดปัญหาเศรษฐกิจย่ำแย่ แรงงานมีรายได้ลดลง เมื่อมาเจอโควิด-19 โรงงานหลายแห่งต้องปิดกิจการ หรือหยุดงานชั่วคราว ซึ่งเป็นปัญหามาตั้งแต่การแพร่ระบาดรอบแรก จนถึงตอนนี้แรงงานยังไม่มีโอกาสได้เข้าไปทำงาน พนักงานโรงงานก็ทยอยออกมาอยู่นอกระบบมากขึ้น เพราะรัฐบาลไม่สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบแรก ทั้งที่กู้เงินมากว่า 1 ล้านล้านบาท ตนคิดว่าปัญหาทั้งหมดนี้มันตอกย้ำให้รัฐบาลได้เห็นภาพชัดขึ้นทุกวันไม่ว่าจะผ่านสื่อ ผ่านการสะท้อนจากคนทุกกลุ่มทุกสาขาอาชีพ

“แต่สิ่งหนึ่งที่เราเห็นจากรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร คือ 7 ปีที่ผ่านมาไม่ได้ให้ความสำคัญกับการจัดสรรสวัสดิการให้กับประชาชน ในช่วงที่เรามีรายได้หรือไม่มีรายได้เราก็ยังต้องเสียภาษีให้กับรัฐ วันนี้ในการจัดสรรงบประมาณในสถานการณ์ที่ประชาชนเกิดวิกฤติไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปากท้อง เรื่องเศรษฐกิจหรือเรื่องเด็กเป็นเรื่องที่สำคัญมาก พวกเราไม่มีงานทำ การมีเงินอุดหนุนเด็กถ้วนหน้าเป็นสวัสดิการที่จะมาช่วยพวกเราให้สามารถลืมตาอ้าปากได้อย่างน้อยก็สามารถดำรงค์ชีวิตได้ตามปกติ” ธนพร กล่าว

ธนพร วิจันทร์ ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี
 

ธนพรยังกล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับนโยบายหาเสียงของพรรคพลังประชารัฐก่อนการเลือกตั้งว่ามีนโยบาย “มารดาประชารัฐ” ซึ่งเป็นนโยบายสวัสดิการของพรรคที่จะมอบให้กับแม่และเด็ก โดยหนึ่งในนโยบายนี้ระบุว่าจะให้ค่าดูแลเด็ก 2,000 บาท/เดือน โดยจะได้รับจนเด็กอายุ 6 ขวบ รวมแล้วเป็นเงิน 144,000 บาท/คน แต่ทุกวันนี้เรากำลังเรียกร้องเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า 600 บาท ก็ยังไม่ได้ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่มีความจริงใจและไม่ได้ให้ความสนใจกับเรื่องนี้ โดยระบุว่า รัฐบาลมีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) เป็นกระทรวงที่ดูแลข้อมูลในรูปแบบออนไลน์ ตนคิดว่าไม่ใช่เหตุผลที่กระทรวง พม. ต้องมาขอรายชื่อเด็กเพื่อที่จะไปของบประมาณ มันเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเห็นแล้วว่าตอนนี้ประเทศมีเด็กอยู่ 4 ล้านกว่าคน ให้เงินคนละ 600 บาท ต้องใช้งบประมาณ 3 หมื่นล้านบาทซึ่งสามารถทำได้

“อยากฝากถึง ส.ส.ฝ่ายค้านให้อภิปรายงบประมาณของปีนี้ให้เข้มข้น ประเด็นในการถามถึงเรื่อง พ.ร.บ.งบประมาณและในภาคประชาชนเองก็ต้องจับตาดูและตั้งคำถามกับการอภิปรายงบประมาณรอบนี้ว่าจะมาถึงประชาชนในรูปแบบไหน” ธนพรกล่าวทิ้งท้าย

พ.ร.บ. งบฯ 65 : นโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเลกแบบถ้วนหน้าอยู่ตรงไหน?

สุทิน มองว่าการไม่ได้รับสวัสดิการถ้วนหน้าถือเป็นสารตั้งต้นของความเหลื่อมล้ำ ตนเข้าใจว่าเงิน 600 บาทที่ได้มาเป็นเรื่องของการเลี้ยงดู แต่เด็กยังมีเรื่องของการศึกษาเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเมื่อตนไปดูงบประมาณเรื่องการศึกษาพบว่าถูกตัดไป 2 หมื่นกว่าล้าน

สุทิน วิเคราะห์ว่าโอกาสที่นโยบายจะเป็นไปได้ต้องมาดูที่กรอบคิดของรัฐบาล ตนมองว่าปัญหาที่พบอยู่ตอนนี้มี 3 ประการ คือ ประการแรก รัฐบาลเป็นเสือจนมุม หมายความว่า การเพิ่มงบประมาณเป็นเรื่องยากเพราะรัฐบาลบริหารงานชนเพดานหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหนี้สาธารณะ เพราะฉะนั้นการหาเงินเพิ่มจะทำให้รัฐบาลจนมุม จึงจำเป็นต้องลดงบประมาณ

สุทิน คลังเแสง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย
 

ประการที่สอง คือ รัฐบาลติดปัญหาเรื่องการระบาดของโควิด-19 เนื่องจากเป็นเรื่องที่ประมาณการณ์ได้ยากว่าจะจบเมื่อไร ซึ่งรัฐบาลต้องสำรองงบประมาณสำหรับส่วนนี้ค่อนข้างมาก ดังนั้นการจัดสรรงบประมาณมาให้โครงการอื่นๆ จึงเป็นเรื่องยาก

ประการที่สาม คือ วิธีคิดของรัฐบาล จากการลดงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงอื่นๆ จะเห็นแนวคิดของรัฐบาลว่างบประมาณด้านความมั่นคงถูกลดน้อยที่สุด ตนคิดว่านายกรัฐมนตรีมองเรื่องอื่นสำคัญมากกว่าเรื่องเด็ก มิเช่นนั้นคงไม่ตัดงบประมาณเรื่องการศึกษาของเด็กออกไป อีกเรื่องหนึ่งคือวิธีการคิดช่วยเหลือของรัฐบาลชุดนี้ไม่นิยมช่วยเป็นระบบ แต่เป็นการช่วยเหลือแบบโปรโมชัน ไม่ว่าจะเป็นโครงการคนละครึ่ง ไทยชนะและอื่นๆ เพราะได้ผลประโยชน์ด้านการเมือง

วรรณวิภา กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีประชากรเด็กที่เกิดขึ้นในแต่ละปีลดลงทุกปี ข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดเมื่อปี 2563 พบว่า มีเด็กอายุ 0-6 ปีจำนวน 4.78 ล้านคน แต่มีเด็กที่ได้รับสวัสดิการในปี 2563 ประมาณ 1.75 ล้านคน หมายความว่าตั้งแต่ปี 2563 มีเด็กไม่ถึง 50% ที่ได้รับเงินอุดหนุนถ้วนหน้า

ในภาพรวมของงบประมาณปี 2565 พบว่าเกือบทุกกระทรวงโดนตัดงบประมาณจะมีในส่วนของกระทรวง พม. และกระทรวงพลังงานที่ได้งบประมาณเพิ่มขึ้น โดยงบของ กระทรวง พม. ที่ตั้งไว้จากเดิม 1.3 หมื่นล้านบาท ได้เพิ่มเป็น 1.6 หมื่นล้านบาท เมื่อนำมาคำนวณดูแล้ว งบประมาณตรงนี้ก็ยังไม่ถ้วนหน้า และเป็นการตั้งงบประมาณที่ขัดกับมติของคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติที่ต้องการให้เงินอุดหนุนเด็กถ้วนหน้าตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไปเนื่องจากงบประมาณที่ตั้งมา เมื่อคูณเข้ากับจำนวนของเด็กจริงๆ แล้วจะครอบคลุมเพิ่มอีกเล็กน้อยคือประมาณ 2.3 ล้านคนเท่านั้นในปี 2565

“เป็นที่น่าเสียใจในหลายเรื่องถึงแม้ว่างบประมาณกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จะเพิ่มขึ้นแต่งบประมาณกองทุนที่เป็นสวัสดิการของประชาชนถูกตัดลดลง เช่น หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประกันสังคม สวัสดิการผู้ด้อยโอกาสทางสังคม กองทุนการออมแห่งชาติเหล่านี้ก็ถูกตัดงบประมาณที่เป็นสวัสดิการสังคมของประชาชนไปด้วย” วรรณวิภา กล่าว

วรรณวิภา ไม้สน คณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคมพรรคก้าวไกล
 

วรรณวิภา มองว่าการลงทุนกับเด็กซึ่งเป็นอนาคตของชาติ เป็นเรื่องที่ควรทำและไม่ได้ใช้งบประมาณเยอะ เพราะประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและมีอัตราเด็กเกิดใหม่ที่ลดลงเรื่อยๆ งบประมาณที่จะสร้างคุณภาพชีวิตให้กับเด็ก 0-6 ปีจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง หากรัฐบาลจริงใจที่จะผลักดันให้เกิดขึ้นจริงตามนโยบายหาเสียง รัฐบาลสามารถตั้งงบไว้ได้และตนเชื่อว่าหากรัฐบาลตั้งงบประมาณตรงนี้ขึ้นมาแล้วจะไม่มีใครกล้าตัดงบประมาณส่วนนี้ออก

“ในสภาวะแบบนี้ งบเด็กถ้วนหน้าจะช่วยส่งเสริมการเยียวยาในด้านการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ประชาชนเผชิญอยู่เพราะว่ารายจ่ายของทุกคนเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการหาอุปกรณ์ป้องกันโรค หรือมีการตกงานมากขึ้น เพราะฉะนั้นเงินเด็กถ้วนหน้าก็ถือเป็นเงินที่ส่งเสริมระยะยาวหากพ่อแม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19” วรรณวิภา กล่าว

ด้าน พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า รัฐบาลยังเข้าใจว่าประชาชนอยู่เพื่อรับใช้รัฐบาล แต่ความจริงแล้วมนุษย์ไม่ได้อยู่เพื่อรับใช้รัฐแต่รัฐต้องอยู่เพื่อรับใช้ประชาชน ดังนั้นในต่างประเทศจึงให้ความสำคัญในการลงทุนด้านมนุษย์สูงมาก เช่น ประเทศสิงคโปร์ รัฐบาลให้เงินอุดหนุนเด็กอายุ 0-7 ปี เพราะรัฐบาลสิงคโปร์เห็นว่าประเทศจะคงอยู่ได้ ไม่ใช่เพราะขนาดของประเทศ แต่เพราะคุณภาพของมนุษย์ จึงได้ลงทุนกับเด็ก ในขณะที่ประเทศไทยกลับคิดว่างบประมาณเป็นของรัฐบาลไม่ใช่ของประชาชน แต่จริงๆ แล้วรัฐบาลเป็นลูกจ้างของประชาชน และรัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณไปเพื่อประโยชน์ของประชาชน

 

นอกจากนี้ จากการวิเคราะห์งบประมาณของ พ.ต.อ.ทวี พบว่า งบประมาณมีการกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และส่วนกลางมากถึง 70-80% มีเพียงงบส่วนน้อยที่กระจายไปยังต่างจังหวัด ซึ่งตนมองว่ามนุษย์ต้องได้รับการพัฒนา ไม่ใช่เป็นปัจจัยของการพัฒนา อีกทั้งจากข้อมูลของทะเบียนราษฎร์ เดือน เม.ย. 2564 มีเด็กอายุ 0-6 ปี จำนวน 4,666,839 คน แต่เมื่อพิจารณาตามกฎหมายแล้ว เด็กหมายถึงผู้ที่มีอายุ 0-18 ปี ซึ่งในประเทศไทยมีเด็กอยู่ 17,562,871 คน โดย พ.ต.อ.ทวี เน้นย้ำว่า เราต้องให้ความสำคัญกับเด็ก เพราะพวกเขาคืออนาคตของชาติ และตนเห็นว่าควรล้มเลิกวิธีคิดที่ว่าเป็น ‘สวัสดิการ’ แล้วเปลี่ยนให้เป็น ‘สิทธิ์เสมอกัน’

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท