รัฐบาลฝ่าย ปชต.พม่าพร้อมร่วมมือศาลโลกในคดีฆ่าล้างโรฮิงญา

เมื่อ 31 พ.ค. 2564 สำนักข่าวเดอะอิรวดีรายงานว่า รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติของพม่า (National Unity Government หรือ NUG) ได้แถลงจุดยืนในฐานะรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายของประเทศ โดยพร้อมให้ความร่วมมือกับศาลโลกในคดีที่พม่าถูกกล่าวหาว่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาอย่างเต็มที่ และกำลังพิจารณาจะให้ศาลโลกดำเนินคดีกับคณะรัฐประหารพม่าที่ก่อการเข่นฆ่าและจำคุกประชาชนพลเรือนผู้บริสุทธิ์เช่นกัน

ภาพพื้นที่หมู่บ้านชาวโรฮิงญาที่ถูกเพลิงไหม้เมื่อปี 2560 ภาพจาก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

คดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นี้เกิดขึ้นหลังกองทัพพม่าเข้าโจมตีทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ในเมื่อ พ.ศ. 2560 ส่งผลให้ชาวโรฮิงยากว่า 700,000 คนต้องหลบหนีข้ามชายแดนไปยังประเทศบังกลาเทศ หลังเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น สาธารณรัฐแกมเบียได้เสนอเรื่องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Court of Justice หรือ ICJ) ในเดือนพฤศจิกายน 2562 ต่อมาอองซานซูจีได้ออกมาปกป้องพม่าและหักล้างข้อกล่าวหาในเดือนธันวาคม2562

ทีมกฎหมายของสาธารณรัฐแกมเบียระบุว่าสิ่งที่กองทัพพม่ากระทำกับชนกลุ่มน้อยมุสลิมในทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ได้แก่ การข่มขืนหมู่ การเผาสมาชิกครอบครัวในบ้านชาวโรฮิงญา และฆ่าเด็กชาวโรฮิงญาอีกหลายสิบคน เนื่องจากคดีนี้อาจใช้เวลานานมากในการพิจารณาไต่สวน แกมเบียจึงขอให้ศาลอาญาระหว่างประเทศออกคำสั่ง “มาตรการเฉพาะหน้า” เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปมากกว่านี้

ศาลอาญาระหว่างประเทศขานรับต่อคำร้องของแกมเบียและดำเนินการไปไกลกว่าข้อเสนอของแกมเบียด้วย โดยในวันที่ 23 ม.ค. 2564 ศาลได้สั่งให้พม่าต้องรายงานการปฏิบัติตามมาตรการเฉพาะหน้าภายใน 4 เดือน และทุก 6 เดือนหลังจากนั้นด้วย ทั้งนี้ รัฐบาลพลเรือนของอองซานซูจีส่งรายงานความคืบหน้าต่อศาลโลก 2 ครั้ง ก่อนที่จะถูกปล้นยึดอำนาจโดยกองทัพพม่าในวันที่ 1 ก.พ. 2564

ในแถลงการณ์ที่ออกเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติของพม่าระบุว่ารู้สึกกังวลอย่างมากเกี่ยวกับสถานการณ์ความยากลำบากที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญา โดยเฉพาะกลุ่มที่หนีไปยังบังกลาเทศในปี 2559-2560 ในฐานะรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติของพม่าพร้อมยืนยันความต่อเนื่องในการเป็นตัวแทนเพื่อไปขึ้นให้การต่อศาลโลก และพร้อมปฏิบัติหน้าที่ตามตารางเวลาที่ศาลอาญาระหว่างประเทศเป็นผู้กำหนด

แถลงการณ์ดังกล่าวยังระบุด้วยว่า รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติของพม่ากำลังพิจารณาจะขอรับการใช้อำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศ ในกรณีที่มีการเข่นฆ่า ทารุณกรรม และอาชญากรรมต่อพลเรือนโดยคณะรัฐประหารพม่าตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. เป็นต้นมาเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ กองทัพพม่าได้ก่อการปล้นอำนาจจากรัฐบาลของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง กักขังหน่วงเหนี่ยวผู้นำพลเรือน และยกเลิกสมาชิกรัฐสภาชุดใหม่ในวันที่จะมีการนัดประชุม

ตั้งแต่เกิดการรัฐประหารเป็นต้นมา ระบอบเผด็จการทหารพม่าได้พรากชีวิตประชาชนไปแล้วกว่า 840 คน และจับกุมประชาชนไปแล้วกว่า 5,500 คน โดยในจำนวนนี้ 4,409 คนยังคงถูกกังขังหน่วงเหนี่ยวโดยรัฐบาล ตัวเลขข้อมูลเหล่านี้สำนักข่าวเดอะอิรวดีอ้างอิงจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง ซึ่งก่อตั้งในปี 2543 และมีสำนักงานตั้งอยู่ที่ อ.แม่สอด จ.เชียงราย (Assistance Association for Political Prisoners)

เรียบเรียงจาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท